บทที่ 6 คำสอนของพระเยซูเจ้า : ความสุขแท้จริง
เป้าหมาย
ยอมรับว่าคำสอนของพระเยซูเจ้าเป็นคำสอนที่ให้ความสุขที่แท้จริง ที่แตกต่างคำสอนหรือค่านิยมของคนในโลก และมีความจำเป็นสำหรับการเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า
จุดมุ่งหมาย : เมื่อสิ้นสุดบทเรียนแล้วนักเรียนสามารถ
1. บอกได้ว่าคำสอนเรื่องความสุขแท้จริง 8 ประการของพระเยซูนั้นมีอะไรบ้าง
2. เปรียบเทียบได้ว่าความสุขที่พระเยซูเจ้าทรงสอนกับความสุขประสาโลกแตกต่างกันอย่างไร
3. ดำเนินชีวิตตามคำสอนเรื่องความสุขแท้จริงของพระเยซูเจ้าอย่างสม่ำเสมอ
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ร้องเพลง “บุญลาภ” หรือเปิดเพลง บุญลาภให้นักเรียนฟัง เงียบๆ 2-3 รอบ ให้ผู้เรียนตั้งใจฟังและหาข้อความหรือคำที่ประทับใจ 1 คำ หรือ 1 ข้อความ เสร็จแล้วให้ผู้เรียนแบ่งปัน ข้อความหรือคำที่ประทับใจนั้นกับเพื่อสมาชิก ให้เวลา 10 นาที (ถ้าร้องไม่ได้ให้อ่านเนื้อเพลงแล้วเลือกคำที่ประทับใจก็ได้: คำว่า “บุญลาภ” พระคัมภีร์ฉบับคาทอลิกใหม่ใช้คำว่า “ความสุขแท้”)
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูถามนักเรียนในแนวทางนี้
• รู้สึกอย่างไรเมื่อฟัง/อ่าน/ร้องเพลงนี้
• และเมื่อได้แบ่งปันคำที่ประทับใจให้กับเพื่อน ๆ มีความรู้สึกอย่างไร
• บุญลาภ(หรือความสุขแท้) ที่ได้ฟังนั้นมีกี่ประการ อะไรบ้าง
• พวกเธอรู้ถึงประวัติของคำสอนเรื่องบุญลาภ(ความสุขแท้จริง) ไหม เช่นใครเป็นคนสอนเรื่องบุญลาภนี้ให้กับใครและที่ไหน (ครูเล่า หรืออ่านพระคัมภีร์ตอนนี้ให้นักเรียนฟัง มธ 5, 3-10)
สรุป ทั้งหมดนี้เป็นโอวาทครั้งแรกของพระเยซูเจ้าทรงให้แก่ประชาชนชาวอิสราแอล และเป็นศูนย์กลางของการสั่งสอนทั้งหมดของพระเยซู (คำสอน) เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราขอมอบบัญญัติใหม่แก่ท่าน คือ จงรักกันและกัน เหมือนอย่างที่เรารักท่าน” (ยน 13,34) และคำสอนนี้เป็นเสมือนกติกาสำหรับผู้ที่จะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าที่พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้ามาเป็นสมาชิก
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. คำเทศนาเรื่อง “บุญลาภ” นี้สวนทางกับจิตตารมณ์ทางโลกอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่ร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่ยากจน
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่มีความสุขสนุกสนาน แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่โศกเศร้า
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่เสวยอำนาจวาสนา แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่สุภาพอ่อนโยน
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่ได้ทุกอย่างสมใจนึก แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่หิวกระหายความชอบธรรม
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่กอบโกยใส่ตัวเองได้มากที่สุด แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่มีใจเมตตากรุณา
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่ปล่อยตัวหาความสุขทุกอย่าง แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่มีใจบริสุทธิ์
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่ใช้กำลังสยบคนอื่น แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่มีใจใฝ่สันติ
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่เบียดเบียนรังแกคนอื่นได้ แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่ถูกเบียดเบียนข่มเหง
บุญตามจิตตารมณ์ของโลกตกอยู่กับคนจำนวนน้อยนิด แต่บุญตามบุญลาภคือคนส่วนใหญ่ของโลก บุญลาภจึงเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่นี้ได้ลืมตาอ้าปาก มีศักดิ์ศรีของตนขึ้นมา (ccc 544)
2. พระเยซูคริสต์ยังทรงสอนว่าคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์อยู่ที่จิตใจภายใน มิใช่อยู่ที่การกระทำภายนอก พระองค์ทรงต่อต้านคัดค้านการกระทำเยี่ยงฟาริสีอย่างหนัก พระองค์ตรัสว่า “พวกอาจารย์พระคัมภีร์และพวกฟาริสีนั่งบนที่นั่งของโมเสส ฉะนั้นทุกสิ่งที่พวกเขาสอนท่านจงปฏิบัติตาม แต่อย่าทำตามความประพฤติของพวกเขาเลยเพราะพวกเขาเป็นแต่เพียงเพื่ออวดคนอื่นเท่านั้น” (มธ3,2-3,5) ตรงกันข้ามพระองค์สอนว่า “เมื่อท่านจะทำทานอย่าเป่าแตรประกาศเหมือนคนหน้าซื่อใจคดทำเพื่อให้คนสรรเสริญ.....เมื่อทำทานอย่าให้มือซ้ายรู้ว่ามือขวาทำอะไร ทานของท่านต้องเป็นทานลับ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงล่วงรู้และจะประทานบำเหน็จให้ท่าน” (มธ 6,2-4) และ “เมื่อท่านจะอธิษฐานภาวนา อย่าทำเหมือนคนหน้าซื่อใจคดที่ชอบยืนอธิษฐานภาวนาในศาลาธรรมและตามถนนเพื่อให้คนทั้งปวงได้เห็น..แต่ท่านจงเข้าไปในห้องชั้นในปิดประตูแล้วอธิษฐานต่อพระบิดาผู้ทรงเห็นในที่เร้นลับและจะประทานบำเหน็จแก่ท่าน”(มธ 6,5-6)
พระองค์ตรัสกับหญิงชาวสะมาเรียว่า “เวลานั้นใกล้เข้ามาแล้วและบัดนี้ก็ถึงเวลานั้นแล้วที่ผู้นมัสการพระเป็นเจ้าอย่างถูกต้องจะนมัสการพระองค์ด้วยจิตใจและความจริง เพราะพระเป็นเจ้าทรงแสวงหาคนที่นมัสการพระองค์เช่นนั้น” (ยน 4,23)
3. พระเยซูคริสต์ทรงสอนมุมมองใหม่ของความทุกข์ยากลำบาก ซึ่งเป็นปัญหาคู่ชีวิตมนุษย์ตลอดมา ใครๆ ก็มองความทุกข์ยากลำบากเป็นพิษเป็นภัยเป็นโทษที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงหรือขจัดออกไป แต่พระองค์สอนว่า “ผู้ใดอยากตามเรามาก็ให้ผู้นั้นเอาชนะตนเอง แบกกางเขนของตน แล้วตามเรามา” (มก 8,34) ความทุกข์ (กางเขน) กลายมาเป็นเครื่องหมายของการเป็นศิษย์ของพระองค์ และยังนำไปสู่ชีวิตใหม่ด้วย “ถ้าเมล็ดข้าวตกลงดินแล้วไม่เปื่อยสลายไปมันก็จะคงอยู่เมล็ดเดียว แต่ถ้ามันเปื่อยสลายไปมันจะงอกเป็นต้นข้าวใหม่ให้ผลเป็นอันมาก” (ยน 12,24)
พระองค์ตรัสให้ความหวังว่า “ท่านจะร้องให้คร่ำครวญ แต่โลกจะชื่นชมยินดี ท่านจะทุกข์โศก แต่ความทุกข์โศกของท่านจะกลับเป็นความชื่นชมยินดี” (ยน 16,20) คำสอนของพระองค์ได้ปลุกเร้าใจบรรดามรณสักขีนับตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบันให้ยินดีรับทรมานและพลีชีพเพื่อพระเจ้าเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน และบัดนี้ความทุกข์ทรมานของพวกเขานั้นได้กลายเป็นความชื่นชมยินดีในสวรรค์ไปแล้ว
4. แต่คำสอนที่เป็นหัวใจของคำสอนทั้งหลายก็คือคำสอนเรื่องความรัก พระองค์ตรัสว่า “จงรักพระเจ้าของเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจและสิ้นสุดความคิดของเจ้า นี่เป็นบัญญัติข้อใหญ่และข้อแรก บัญญัติข้อที่ 2 ก็เหมือนกันคือ จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติและคำของประกาศกทั้งหลายก็ขึ้นอยู่กับบัญญัติทั้งสองประการนี้” (มธ 22,37-40) (CCC 577)พระองค์ทรงสั่งสอนวิธีปฏิบัติความรักมากมาย เช่น “จงวางเครื่องบูชาไว้........กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน (มธ 5,24) “ ผู้ใดตบแก้วขวาของท่าน ก็จงยื่นแก้มซ้ายให้เขาตบด้วย” (มธ 5,39) “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน (มธ 5,44) “ เราให้บัญญัติใหม่แก่ท่าน คือให้ท่านรักกันและกัน (ยน 23,34) (CCC 578)
5. สาวกบางคนเริ่มตีห่างจากพระองค์เพราะทนฟังคำสั่งสอนเรื่องเนื้อของพระองค์เป็นอาหารและโลหิตของพระองค์เป็นเครื่องดื่มไม่ได้ พระเยซูคริสต์จึงถามอัครสาวกสิบสององค์ว่า “ท่านไม่ไปกับเขาด้วยหรือ ? “ เปโตรตอบแทนคนอื่นๆว่า “เราจะไปหาใครพระเจ้าข้า พระองค์แต่ผู้เดียวมีวาจาทรงชีวิต” (ยน 6,60-68) นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่าคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์มีคุณค่าสำหรับผู้ฟังสักเพียงไร ทุกวันนี้ผู้คนก็ยังได้อาศัยพระวาจาของพระองค์นี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ช่วยให้พลังในการฝ่าฟันอุปสรรค ช่วยปลุกปลอบใจในยามเป็นทุกข์ ช่วยเยียวยาบาดแผลใจในยามพลาดล้มช่วยให้ความสว่างในยามมืดมน
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจดจำ
1. “ ความสุขแท้จริง 8 ประการ” คือคำสอนแรกและสำคัญที่สุดของพระเยซูคริสต์ ช่วยยกจิตใจของเราให้ดำเนินชีวิตโดยมีความหวังมากขึ้น
2. “ มนุษย์ดูที่รูปร่างภายนอก แต่พระเจ้าทอดพระเนตรจิตใจ” (1 ซมอ 16,7)
3. “ ท่านจะร้องไห้คร่ำครวญ แต่โลกจะชื่นชมยินดี ท่านจะทุกข์โศก แต่ความทุกข์โศกของท่านจะกลับเป็นความชื่นชมยินดี” (ยน 16,20)
4. “ จงรักพระเจ้าของเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจและสิ้นสุดความคิดของเจ้า และจงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มธ 22,37-39)
ข. กิจกรรมสรุปบทเรียน
ร้องเพลง “ เพลงรัก “ เพลงคำสอนชุด รักที่อบอุ่น
1. รัก รัก รัก รัก 2 . พระเจ้าทรงมีพระบัญชาให้
3. รักผู้อื่นดั่งรักตนเอง 4. เพราะพระรักเราทุกคน
ค. กิจกรรมที่บ้าน
ให้นักเรียนแสดงสุภาพถ่อมตนกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง โดยไม่เถียง ไม่เกเร เชื่อฟัง ไม่ดื้อ กับเพื่อน ๆ โดย พูดวาจาไพเราะ ไม่ด่า ไม่นินทา
นักเรียนที่โต ๆ ให้เลือกคำสอนเรื่องความสุขแท้ข้อใดข้อหนึ่งไปปฏิบัติ แล้วกลับมาแบ่งปันกับเพื่อนๆในครั้งหน้า
คำสอนเพิ่มเติมบทที่ 6
พระอาณาจักรของพระเจ้า
1. คำสอนอะไรที่เป็นข่าวดีเพื่อที่มนุษย์จะได้สามารถเข้าไปสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า
คำสอนเรื่อง “ความสุขแท้” เป็น “ข่าวดี” ที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศให้กับมนุษย์ ตามที่พระองค์ได้ทรงเทศนาไว้ว่า “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด” (มธ.1:15) พระองค์ทรงเริ่มพระอาณาจักรสวรรค์บนแผ่นดิน โดยทรงเชิดชูมนุษย์ขึ้นมาให้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตของพระองค์ ทรงรวบรวมมนุษย์ทั้งหลายเข้ามาไว้รอบองค์พระบุตรของพระองค์(เทียบ CCC 541-542)
2. ใครคือผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกให้เข้ามาสู่พระอาณาจักรของพระองค์
มนุษย์ทุกคนได้รับการเรียกให้เข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า เป็นต้นคนยากจนและผู้ต่ำต้อยทั้งหลาย รวมทั้งคนบาปด้วย (เทียบ CCC 543-545)
3. อะไรเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้ว
เครื่องหมายที่แสดงว่าพระอาณาจักรมาถึงแล้ว ก็คือตัวของพระเยซูเอง ที่ทรงเทศนาสั่งสอนด้วยพระวาจา และยังทรงทำอัศจรรย์ ต่างๆควบคู่ไปด้วย เช่น การรอดพ้นจากสิ่งเลวร้ายบนแผ่นดิน ความหิวโหย ความอยุติธรรม ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความตาย ทรงปลดปล่อยมนุษย์จากการเป็นทาสของบาป และที่สำคัญ คือ การที่พระองค์ทรงมีชัยชนะต่อปีศาจ (เทียบ CCC 547-550)
4. มนุษย์จะเข้าสู่พระอาณาจักรสวรรค์ได้โดยทางใด
มนุษย์จะเข้าเป็นสมาชิกในพระอาณาจักรสวรรค์ได้โดยผ่านทางพระศาสนจักร เพราะ “พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบอำนาจหน้าที่นี้ให้แก่พระศาสนจักรโดยอาศัยการปฏิบัติงานในตำแหน่งของอัครสาวกทั้งหลาย และโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นผู้เดียวที่พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบกุญแจแห่งอาณาจักรไว้ให้อย่างชัดเจน” (CCC 553)
5. พระเยซูเจ้าได้ให้อัครสาวกของพระองค์ลิ้มรสความสุขแห่งพระอาณาจักรสวรรค์เมื่อใด
พระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงพระสิริโรจนาแห่งพระอาณาจักรสวรรค์ โดยสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาสูงแห่งหนึ่งต่อหน้าพยานสามคนที่พระองค์ทรงเลือกไว้ คือ เปโตร ยากอบและยอห์น คือ พระพักตร์และพระภูษาของพระองค์เปลี่ยนไป เปล่งรัศมีแวบวับระยับตา..(CCC 554)