ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

การภาวนาในชีวิตประจำวันของครู
1. พระเยซูเจ้าทรงวางแบบอย่างให้เรา
           พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลแห่งการภาวนา ชีวิตทั้งชีวิตของพระองค์คือการภาวนา เราลองพิจารณาชีวิตของพระองค์ดังนี้
            ก่อนเริ่มต้นการออกมาปฏิบัติพันธกิจชีวิตเปิดเผยพระองค์ทรงไปภาวนาในที่สงัดเงียบ 40 วัน 40 คืน(มัทธิว 4:1-11)
           แม้งานยุ่งยังทรงปลีกตัวจากประชาชนเพื่อภาวนา(ลูกา 5:16)
           พระองค์ภาวนาในตอนเช้า(มาระโก 1:35)
           ทรงภาวนาก่อนที่จะลงมือกระทำงานสำคัญๆเป็นพิเศษ เช่น การเลือกสาวก(ลูกา 6:12)
           ทรงภาวนาหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ(ยอห์น 6:15)
           ภาวนาเพื่อขอบพระคุณพระบิดา(ยอห์น 11:41)
           ภาวนาในขณะที่เพชิญกับความยากลำบาก(ยอห์น 12:27-28; ลูกา 23:34; มาระโก 15:34; ลูกา 23:46)
          ในชีวิตภาวนาของพระเยซูเจ้าพระจิตสถิตกับพระองค์ตลอดเวลา(มัทธิว 18:19-20; ยอห์น 14:18-31)
การภาวนาของพระเยซูเจ้าแสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพระบิดาพระบุตรและพระจิต

2. การภาวนาคืออะไร
          การภาวนาคือการยก “ความคิด” และ “จิตใจ” ขึ้นหาพระเจ้า
– ใช้เวลาอยู่กับพระเจ้า
- เป็นวิธีการสื่อสารที่เรามนุษย์ปฏิบัติเมื่อเราต่อการติดต่อกับพระเจ้า
– เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์
– เป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่เรามีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า
– เป็นการพูดคุยอย่างเปิดใจระหว่างพ่อ/แม่กับลูก
– เป็นโอกาสที่เราพบปะกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัว
 
3. ทำไมต้องภาวนา
          จากความจริงของชีวิต - เราเป็นสิ่งสร้าง พระเจ้าทรงเป็นผู้สร้าง ทุกอย่างมาจากพระเจ้า ปราศจากพระเจ้าเราทำอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างเราต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ลองนึกดูซิแม้แต่การเกิดมาและการมีชีวิตอยู่ในขณะนี้
           พระเจ้าเป็นพ่อ/แม่ของเรา ทรงรักเราอย่างที่ไม่มีใครรักเราได้ เราทุกคนเป็นลูกรักของพระเจ้า “มีพ่อคนใดที่ลูกขอปลาจะให้งู ขอขนมปังจะให้ก้อนหิน....” (มัทธิว 7:7-11) ดูเรื่อง เพื่อนบ้านที่สร้างความรำคาญ(ลูกา 11:5-13) หญิงม่ายที่กวนใจ(ลูกา 18:1-8) ฟาริสีและคนเก็บภาษี(ลก 18:9-14)

4. ภาวนาอย่างไร
           ให้ “หัวใจ” ของเราพูดกับพระเจ้า – เรามีอะไรก็บอกพระเจ้า – เราต้องการความช่วยเหลืออะไรก็บอกพระเจ้า - เรามีทุกข์ร้อนอะไรก็บอกพระเจ้า – เป็นการเล่าเรื่องต่างๆทั้งสุขและทุกข์ให้พระเจ้าซึ่งเป็นพ่อ/แม่ของเรา - การภาวนาจึงไม่ใช่การขอสิ่งต่างๆจากพระเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องขอบพระคุณ และสรรเสริญ นมัสการพระองค์ด้วย
            เรามักจะใช้เวลาช่วงไหนในการภาวนา สถานการณ์ใดในชีวิตที่เราสวดภาวนาได้ดีที่สุด

5. การภาวนาในช่วงเวลาและสถานการณ์ต่างๆในชีวิต
            ให้อ่าน มาระโก 1:14-35 แล้วแยกแยะว่าในหนึ่งวันพระเยซูเจ้าทำอะไรบ้าง พระองค์ทรงจัดเวลาเพื่อการภาวนาอย่างไร แล้วจงวางแผนชีวิตของเราในการภาวนาด้วย

6. เครื่องมือในการภาวนา
            เรามีอุปกรณ์และโอกาสที่ช่วยให้เราได้คิดถึงพระเจ้าและสวดภาวนาได้อยู่เสมอ เช่นหนังสือสวด สายประคำ บทเพลง/ดนตรี รูปพระต่างๆ สัญลักษณ์ ธรรมชาติ เหตุการณ์ต่างๆในชีวิต การเฝ้าศีลฯ การเดินรูป 14 ภาค การเดินสมาธิ การแสวงบุญ/การเดินทางท่องเที่ยว การอ่านพระคัมภีร์ การอ่านหนังสือประวัตินักบุญ การร่วมพิธีกรรมและวจนพิธีกรรมต่างๆ การฉลอง การแห่ การเขียน/การวาดภาพ/การถ่ายภาพ ฯลฯ

7. บทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอน “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”
            เป็นบทสรุปพระวรสารทั้งหมด
             สามประโยคแรกเป็นหน้าที่ของเราต่อพระเจ้า จากนั้นเป็นการวอนขอพระพรจากพระเจ้าเพื่อเราจะได้ทำหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบให้ให้สำเร็จไปตามพระประสงค์

8. บทวันทามารีอา
            มาจากคำทักทายของทูตสวรรค์คาเบรียล เราต้อนรับพระมารดาของพระเยซูเจ้าเข้ามาในบ้านของเราเหมือนศิษย์ที่พระองค์ทรงรัก เพราะพระแม่กลายเป็นมารดาของทุกสิ่งที่มีชีวิต
เราสามารถภาวนากับพระนางและภาวนาถืงพระแม่ คำภาวนาของพระแม่ช่วยค้ำจุนคำภาวนาของพระศาสนจักร เราดูบทบาทของพระแม่ในเรื่องอัศจรรย์ที่เมืองคานา(ยอห์น 2:1-10)

(คุณพ่อวัชศิลป์ : โอกาสอบรมครูคาทอลิกสังฆมณฑลราชบุรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2009)

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์