มโนธรรม
เรามักจะพูดกันว่า "คนนี้มีมโนธรรม คนนั้นไม่มีมโนธรรม"
“มโนธรรม” สำหรับคาทอลิกคืออะไรและสำคัญอย่างไร
1. มโนธรรมคืออะไร ?
• การประทับอยู่ของพระเจ้าในส่วนลึกของจิตใจของมนุษย์
• เป็นเสียงของจิตวิญญาณ ในขณะที่ความปรารถนาทางอารมณ์และความรู้สึกเป็นเสียงของร่างกาย ซึ่งไม่ต้องแปลกใจที่ทั้งสองมักจะขัดแย้งกัน
• เป็นรากเหง้าของความกล้าหาญที่แท้จริง ถ้าคนเราจะได้ชื่อว่าเป็นคนกล้าที่แท้จริงเขาจะต้องปฏิบัติตามเสียงนี้
“ลึกๆลงไปในใจของสำนึกของคนเรา เขาจะพบกฎ ๆ หนึ่งที่เขาเองไม่ได้เป็นผู้ตั้ง แต่เขาจะต้องนบนอบ เสียงของกฎนี้จะเรียกร้องเขาอยู่เสมอ ๆ ว่า “จงมีความรักและจงทำสิ่งที่ดี และจงหลีกหนีชั่ว” ซึ่งเสียงนี้จะบอกกับส่วนลึกในใจของเขาในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม
พระเจ้าทรงจารึกเสียงนี้ไว้หัวใจของมนุษย์ และเสียงนี้จะเป็นเสียงที่ทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับเกียรติหรือจะถูกพิพากษา
เสียงของพระเจ้านี้จะอยู่ในส่วนลึกและลี้ลับที่สุดของมนุษย์ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในตัวมนุษย์ ณ ส่วนนี้เองที่เขากับพระเจ้าจะอยู่กันตามลำพัง ด้วยว่าเสียงของพระองค์นั้นจะก้องสะท้อนอยู่ในส่วนลึกในใจของเขา เสียงนี้เองที่ทำให้ความรักของพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์สมบูรณ์” (พระศาสนจักรในโลกปัจจุบันข้อ 16)
2. มโนธรรมทำงานอย่างไร ?
• เป็นเสียงที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกระทำกิจการต่าง ๆ ของเรามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นกิจการหรือคำพูด ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด
• “ก่อน” การกระทำ/พูดสิ่งใด เป็นการแนะนำให้กระทำในสิ่งที่เป็นธรรมถูกต้องและดีงามและให้ละเว้นในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม ไม่ได้เป็นเผด็จการข่มขู่แต่เชิญชวน
• “ระหว่าง” เป็นเสียงที่คอยให้กำลังใจหรือตักเตือน
• “ภายหลัง” เป็นเสียงที่วินิจฉัยให้กำลังใจหรือลงโทษ ถ้าทำผิดก็จะเป็นคำขอร้องให้กลับใจและมีความหวัง
• เสียงนี้จึงเป็นเสมือนตัวแทนที่แท้จริงของพระเจ้าในตัวมนุษย์ ถ้าเราปฏิบัติตามก็จะทำให้เรามีศักดิ์ศรี แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามเราก็ทำลายศักดิ์ศรีและความรักที่พระเจ้ามีต่อเรา
• การฟังเสียงมโนธรรมจะช่วยทำให้เราสามารถรับผิดชอบต่อการกระทำของเราเองได้อย่างดี การทำดีตามมโนธรรมของตนเองมโนธรรมนี้จะเป็นพยานต่อความดีของเขา
3. การฟังเสียงมโนธรรมหรือมโนธรรมสำคัญอย่างไรในชีวิตของคนเรา ?
• เราจะรับฟังเสียงมโนธรรมได้ก็โดยการอยู่กับตนเองอย่างเงียบ ๆ หรือคิดก่อนตัดสินใจกระทำอะไรลงไป คิดในเชิงศีลธรรมไม่ใช่คิดเพื่อการกำไรขาดทุนได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เป็นเรื่องของชีวิตภายในซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในสังคมปัจจุบันที่เราไม่มีเวลาไตร่ตรองชีวิตของเรา
• ไพธากอรัส นักปราชญ์กรีกผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งได้เรียกร้องให้ศิษย์ของท่านทุกคนได้พิจารณาตัวเองทุกคืนก่อนนอนถึงความก้าวหน้าในการศึกษาของตนเองด้วยการตอบคำถามเหล่านี้ “วันนี้ ฉันประสบผลสำเร็จในการเรียนวันนี้ได้อย่างไร” “ฉันสามารถเรียนรู้ได้มากกว่านี้อีกหรือไม่ ฉันสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่านี้ได้อีกหรือไม่” “มีอะไรที่ฉันได้ละเลยไปหรือไม่” ผลของการกระทำเช่นนี้ทำให้ลูกศิษย์ของท่านได้กลับเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการเรียนรู้
• การทบทวนตนเองหรือการฟังเสียงของตนเองนั้นเป็นประโยชน์ต่อทุก ๆ วงการทั้งการเรียนรู้และการธุรกิจ แต่ที่สำคัญคือเรื่องของศีลธรรม ทุกวันก่อนนอนเราควรตรวจสอบมโนธรรมของตนเองว่าเราได้ทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร เราจะทำให้ดีกว่าเดิมได้หรือไม่ ในเวลาเดียวกันก็ให้ทบทวนตนเองว่ามีอะไรที่เราละเลยไปบ้างเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป
• คนเราจะต้องซื่อสัตย์ต่อมโนธรรมของเรา ตัวอย่างของนักแสดงท่านหนึ่งที่จริงจังกับการแสดงมาก บางครั้งก็เหนื่อยมากเพราะต้องแสดงหลายรอบ มีอยู่รอบหนึ่งที่มีผู้ชมมากนัก มีคนแนะนำเขาว่ารอบนี้ไม่ต้องแสดงให้ครบหรอกเก็บแรงไว้บ้าง เขาบอกกับเพื่อนผู้หวังดีคนนั้นว่า “ไม่ได้หรอกเพื่อนคนดูเขาจ่ายเงินมาแล้วและเขามีสิทธิที่จะได้ชมการแสดงที่ดีที่สุดของฉัน และทุกครั้งที่ฉันกำลังแสดงนั้น ฉันจะลืมโลกนี้หมดสิ้นและจะแสดงตามบทที่ฉันได้รับอย่างเต็มทีเสมอ”
4. เราจะสร้างมโนธรรมที่ถูกต้องได้อย่างไร ?
• มโนธรรมจะต้องได้รับหล่อหลอมตั้งแต่เด็กเรื่อยไปจนตลอดชีวิต
• สำหรับเด็กต้องสอนให้รู้จักคุณธรรมต่าง ๆ ของศาสนา ให้รู้จักคิด วิเคราะห์ ให้รอบคอบ ให้ฝึกตัดสินใจว่าอะไรถูกอะไรผิด ให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งผู้ใหญ่จะฝึกเด็ก ๆ ได้โดยการให้รางวัลหรือการลงโทษ การชมเชย การตักเตือน ฯลฯ
• และที่สำคัญ เนื่องจากมโนธรรมคือเสียงของพระเจ้าในใจของเรา เราจะต้องใช้ “พระวาจา” ของพระเจ้าเป็นหลักในการสร้างมโนธรรมให้กับเด็กและตัวของเราอยู่เสมอ เราต้องให้พระวาจาซึมซาบในตัวของเรา เราต้อง “ภาวนา” อยู่เสมอ และเราต้องนำเอาพระวาจาของพระเจ้าไป “ปฏิบัติ” ในชีวิตประจำวันของเรา
5. บางครั้งเกิดปัญหาในการตัดสินเลือกปฏิบัติ เรามีหลักในการเลือกปฏิบัติอย่างไร ?
• ในการตัดสินใจเลือกกระทำนั้น เราจะต้องใช้คุณธรรมความรอบคอบ อาศัยการปรึกษาจากผู้ใหญ่ผู้ที่มีประสบการณ์ และที่สำคัญคือการขอความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้าและพระพรต่าง ๆ จากพระองค์
• เรามีหลักการบางอย่างเพื่อช่วยเราในการตัดสินใจ คือ หนึ่ง ห้ามทำความชั่วเพื่อหวังให้เกิดผลดีจากความชั่วนั้น (เราต้องทำสิ่งที่ดีและด้วยเจตนาดี) สอง สิ่งใดที่ท่านอยากให้คนอื่นทำต่อท่าน ก็พึงกระทำสิ่งนั้นแก่เขาก่อน” สาม ต้องให้ความเคารพคนอื่นและเคารพมโนธรรมของเขา...จงงดทุกสิ่งที่เป็นเหตุทำให้พี่น้องของท่านไม่สบายใจ (รม. 14:21)
6. มโนธรรมมีผิดพลาดได้หรือไม่และจะต้องรับผิดชอบอย่างไร ?
ความผิดพลาดของมโนธรรมอาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีต่าง ๆ ต่อไปนี้
• เรื่องที่เราทำผิดโดยไม่รู้ ไม่มีเจตนา หรือไม่รู้โดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าไม่รู้แล้วสามารถรู้ได้แต่ไม่ยอมเรียนรู้ถือว่าผิด
• การเรียนรู้หรือการเอาแบบอย่างที่ผิด ๆ ตามกันมาไม่ผิดแต่จะต้องปรับปรุงหรือให้ความรู้ที่ถูกต้อง
• การปฏิเสธอำนาจและคำสอนของพระศาสนจักรเป็นเรื่องผิด
• การไม่ยอมกลับใจและไม่มีความรักต่อเพื่อนพี่น้องเป็นเรื่องที่ผิด