คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก
เรื่อง การใช้อำนาจ
เนื่องจากเราต้องอยู่ในสังคม และสังคมต้องมีผู้นำและผู้ตาม การเป็นผู้นำหรือผู้มีอำนาจนั้นในคำสอนของคริสตชนเป็นอย่างไรและในส่วนของผู้ตามนั้นจะต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร
1. พระศาสนจักรคาทอลิกสอนอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจ
• ก่อนอื่นมนุษย์เราต้องอยู่ในสังคม เมื่ออยู่รวมกันมากกว่าสองคนขึ้นไปสังคมจำเป็นต้องมีระเบียบแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน คือ ต้องมีผู้นำและผู้ตาม ผู้นำคือผู้ที่ได้รับอำนาจอย่างถูกต้องจากสังคมในการบริหารจัดการเพื่อให้สังคมนั้นดำเนินไปอย่างสันติสุข ดังนั้นสังคมหรือชุมชนจึงจำเป็นต้องต้องมีผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องมีอำนาจในการปกครอง
2. คุณลักษณะของผู้มีอำนาจมีอะไรบ้าง
• ต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม อุทิศตน และเอาใจใส่เพื่อความดีของส่วนรวมหรือทุกคน เพราะผู้มีอำนาจจะต้องปกครองสมาชิกในสังคม จะต้องออกกฎระเบียบหรือกฎหมายหรือคำสั่งแก่คนทั้งหลาย
3. หน้าที่ของเราคริสตชนต่อผู้ปกครองจะต้องเป็นอย่างไร
• เราคริสตชนจะต้องนอบน้อมต่อผู้ปกครอง เพราะเราถือว่าผู้มีอำนาจนั้นได้รับอำนาจมาจากพระเจ้า เราต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพและกตัญญู ในพระบัญญัติประการที่ 4 สั่งให้เรานับถือบิดามารดา ใจความของพระบัญญัตินี้บิดามารดารวมถึงผู้ปกครองบ้านเมืองของเราด้วย
4. แล้วถ้าผู้ปกครองที่ไม่ดีหรือไม่ถูกต้องเราจะต้องให้ความเคารพหรือไม่
• เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่การได้มาของอำนาจ พระศาสนจักรสอนว่า การเลือกระบอบการเมืองกับการเลือกผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นให้เป็นเรื่องที่พลเมืองทำโดยเสรี(พระศาสนจักรฯข้อ74) พระศาสนจักรไม่ได้กำหนดให้เราปกครองด้วยระบอบออะไร แต่มีหลักการว่าขอให้ระบอบการปกครองนั้นไปด้วยกันได้กับประโยชน์ของชุมชน ไม่ขัดต่อสิทธิพื้นฐานหรือระเบียบสาธารณะ ต้องไม่เผด็จการ แต่ต้องปกครองเพื่อความดีของส่วนรวมเสมือนเป็น “กำลังฝ่ายธรรมที่ขอพึ่งอำนาจเสรีภาพและความสำนึกในภาระหน้าที่ที่ได้รับ” ถ้าจะตอบอย่างตรงๆก็คือถ้าผิดไปจากนี้เราไม่ควรให้ความเคารพ
5. หลักการใช้อำนาจเป็นอย่างไรบ้าง
• อำนาจมีไว้เพื่อรับใช้ พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่าคนต่างชาติที่เป็นหัวหน้า ย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้ใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่ จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในบรรดาท่านทั้งหลาย ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ เหมือนกับที่บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์”(มธ 20:25-28)
• การใช้อำนาจอย่างถูกต้องคือการแสวงหาความดีส่วนรวมของชุมชนด้วยความรอบคอบ โดยยึดเอาหลักทางศีลธรรมมาใช้
• ถ้าหากผู้มีอำนาจทำอะไรที่ผิดศีลธรรมหรือผิดต่อมโนธรรมของตนเอง ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจที่ผิดนั้น ดังนั้นอำนาจนั้นจะต้องมีการถ่วงดุลกันเพื่อความรอบคอบ
6. ท่านพูดถึง “ความดีส่วนรวม” บ่อยๆ อะไรหรืออย่างไรจึงนับว่าเป็นความดีส่วนรวม
• ความดีของส่วนตัวแต่ละคนมีความสัมพันธ์กับความดีของส่วนรวม ถ้าส่วนตัวดีส่วนรวมก็ต้องดีไปด้วย แต่ถ้าเราแต่ละคนไม่มีคุณงามความดีเลย แล้วมาอยู่รวมกัน คงจะลำบาก
• ความดีส่วนรวมมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ ต้องมีความเคารพส่วนบุคคล ต้องเป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและการพัฒนาชุมชน และเพื่อสันติสุข
7. ความเคารพส่วนบุคคลหมายความว่าอะไร
• อำนาจของรัฐต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานของคนแต่ละคน ต้องให้ความคุ้มครอง เช่น สิทธิในสถานะบุคคลในการเกิด การมีสัญชาติ การมีสุจิบัตร สิทธิในการศึกษา สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการเดินทาง เป็นต้นสิทธิในการนับถือศาสนา
8. ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและการพัฒนาชุมชนหมายความว่าอะไร
• เราจะถือว่าการกระทำที่เป็นไปเพื่อความดีส่วนรวมเราจะต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อให้สมาชิกในสังคมกินดีอยู่ดีหรือไม่ ผู้บริหารจะต้องจัดให้แต่ละคนได้รับสิ่งต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับการเป็นมนุษย์ ได้แก่ มีอาหาร เสื้อผ้า สุขภาพอนามัย การงาน การศึกษาและวัฒนธรรม รวมถึงข้อมูลต่างๆที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาตนเอง
9. เพื่อสันติสุขหมายความว่าอย่างไร
• กิจการใดๆไม่ว่าที่ให้แก่สังคมจะต้องนำมาเพื่อสันติสุขไม่ใช่เพื่อการแตกแยก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมหรือการออกกฎหมายระเบียบหรือคำสั่งใด จะต้องมีจุดประสงค์เพื่อความสันติ
10. การทำเพื่อความดีส่วนรวมนี้จะต้องมีความร่วมมือกันและขยายตัวออกไปนอกชุมชนของตนเอง
• ใช่แล้ว การที่ทุกคนต่างมุ่งหน้าทำความดีเพื่อส่วนรวม เหมือนกับการที่เราใช้ตะเกียบยาวๆคีบอาหารป้อนให้กันและกัน ซึ่งต่างกับการทำอะไรเพราะเห็นแก่ตัว ถ้าบ้านแต่บ้าน เมืองแต่เมือง ประเทศแต่ละประเทศยึดหลักเช่นนี้ สันติสุขเกิดขึ้นได้แน่นอน
11. อยากพูดถึงเรื่องการรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมตามคำสอนของเราคาทอลิก
• การมีส่วนร่วมคือการรับผิดชอบต่อสังคมโดยการแลกเปลี่ยนกันทางสังคมด้วยความสมัครใจและด้วยใจกว้างขว้าง โดยที่แต่ละคนมีพระพรที่แตกต่างกันเหมือนอวัยวะในร่างกายเดียวกัน ที่ต้องค้ำจุนกันเพื่อความดีส่วนรวม
• การมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อแต่ละคนได้รับผิดชอบหน้าที่ของตนเองให้ดีเสียก่อน รับผิดชอบตนเองให้ได้ จากนั้นรับผิดชอบครอบครัวของตนเอง รับผิดชอบผู้อื่น สังคม และสุดท้ายสาธารณะ
12. เป็นหน้าที่ของใครที่จะต้องฝึกฝนเด็กและเยาวชนของเราให้รู้จักรับผิดชอบและมีส่วนร่วม
• เรื่องนี้สำคัญมาก หน้าที่นี้ต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว โรงเรียน และผู้มีอำนาจที่จะปลูกฝังค่านิยมทำอะไรเพื่อสังคมนี้ให้กับบรรดาเด็กและเยาวชนของเรา เพราะชะตากรรมของสังคมอยู่ที่เยาวชนของเรา
13. ขอให้เราตระหนักถึงความสำคัญของเราเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นต้นบรรดาผู้มีอำนาจในการวางนโยบายหรืออกคำสั่ง และบรรดาผู้ให้การฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ถ้าเราปล่อยปละละเลย สังคมของเราจะกลายเป็นสังคมของคนเห็นแก่ได้หรือเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะตน