ไปวัดทำไม ? ไปวัดแล้วได้อะไร?
ขอเริ่มจากการที่ท่านคิดที่จะไปวัดเลยนะครับ
ทุกครั้งที่เราคิดจะไปวัดหรือตั้งใจจะไปวัด เราก็ “ได้บุญ” แล้วครับ โดยปรกติเราคาทอลิกไปวัดก็เพื่อร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ เราอาจจะคุ้นเคยกับการไปร่วมมิสซาฯจนอาจจะลืมความหมายดีๆของพิธีไป ดังนั้น ผมจึงอยากจะรื้อฟื้นความเข้าใจเรื่องการไปร่วมมิสซาฯโดยเริ่มต้นจากการมาร่วมพิธีจนกระทั่งจบพิธีกลับบ้าน
มิสซาฯคืออะไร ความหมายแรกที่อยากจะให้ทุกท่านได้พิจารณาก็คือ “การร่วมชุมนุมกันของสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า” เราทุกคนต่างเป็นบุตรของพระเจ้า โดยอาศัยน้ำแห่งศีลล้างบาป เราทุกคนต่างได้รับการหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันในพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า เราแต่ละคนต่างเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในพระกายทิพย์นี้ ดังนั้นจะมีความสุขมากสักเพียงไรที่เราพี่ๆน้องๆได้มาพบปะพร้อมหน้ากันในพิธีมิสซาฯ
มิสซาฯเหมือน “งานเลี้ยงรวมญาติ” เราเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พระเจ้าเองทรงเป็น “เจ้าภาพ” งานเลี้ยงศักดิ์สิทธิ์นี้ พระองค์ทรงเชิญเราด้วยตัวของพระองค์เอง และไม่ใช่แต่ตัวเราเท่านั้น พระองค์ทรงเชิญลูกๆของพระองค์ที่กระจัดกระจายกันอยู่ในที่ต่างๆให้มาพร้อมหน้ากัน เราจึงได้ “รับเกียรติ” อย่างมากที่ได้มาในงานเลี้ยงอันทรงเกียรติของพระเจ้า
ความรู้สึกแห่งการเป็นพี่น้องกันในครอบครัวของพระเจ้านี้แหละที่เราจะต้องสำนึกให้มากเป็นพิเศษในทุกๆครั้งที่มาร่วมมิสซาฯ เพราะงานเลี้ยงนี้ไม่ใช่งานเลี้ยงธรรมดาๆ แต่เป็นงานเลี้ยงอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นงานเลี้ยงที่ทำให้เราได้ “ลิ้มรสงานเลี้ยงในเมืองสวรรค์”
ในพระคัมภีร์เราจะเห็นพระเยซูเจ้าทรงไปร่วมในงานเลี้ยงหรือพูดถึงงานเลี้ยงอยู่บ่อยๆ และในงานเลี้ยงนี้เองที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เพื่อเผยแสดงความจริงของการดำเนินชีวิต หรือเพื่อชี้แนะอะไรบางอย่างให้เราให้รับรู้ข่าวดีของพระองค์
ตัวอย่างที่เราได้รับคำสอนจากพระเยซูเจ้า เช่น การเชิญแขกหรือการคบคน ‘เมื่อท่านจัดเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารค่ำ อย่าเชิญมิตรสหาย พี่น้องหรือเพื่อนบ้านที่มั่งมี เพราะเขาจะเชิญท่านและท่านจะได้รับการตอบแทน แต่เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้าเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต (ลก 14:12-14)
เราเห็นหัวใจของพระเยซูเจ้าในการเชิญคนมางานเลี้ยงของพระองค์หรือมาร่วมมิสซาฯ พระองค์ทรงเชิญทุกคน พระองค์ไม่ได้เลือกเฉพาะคนที่ร่ำรวย คนที่มีชื่อเสียง คนที่มีอำนาจ พระองค์ไม่ทรงเลือกชนชั้น วรรณะ สีผิว ชาติตระกูล แต่ทรงเรียกเราทุกคนในฐานะที่เราเป็นบุตรของพระองค์ บุตรที่ได้รับการชุบเลี้ยงด้วยพระหรรษทานหรือพระพรแห่งความเชื่อ เราทุกคนจึงเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง
ข้อไตร่ตรองและข้อปฏิบัติ
1. ลักษณะเด่นชัดของคนไทยประการหนึ่งก็คือ การให้ความสำคัญกับ ครอบครัว กับตระกูล ชื่อแซ่ ชนเผ่า ถิ่นกำเนิด และเวลาที่มีการชุมนุมกันไม่ว่าจะเป็นงานมงคล เช่น งานวันเกิด งานแต่งงาน หรืองานเศร้าโศกต่างๆก็มักจะมีการกินเลี้ยง การกินเลี้ยงดูจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย ดังนั้น ทุกครั้งที่เรามาร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ เราจะต้องมีความยินดีและมีส่วนทำให้งานลี้ยงศักดิ์สิทธิ์เป็นโอกาสให้เกิดความรักความผูกพันต่อกันและกัน ในบ้านของเรา ในหมู่คณะของเรา ในหมู่บ้านของเรา ฯลฯ เราต้องสร้างบรรยากาศครอบครัวในทุกที่ที่เราอยู่ให้ได้ เป็นต้นพระศาสนจักรประเทศไทยของเรา เน้นการสร้างกลุ่มคริสตชนย่อย(BEC) การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มิสซาฯนี้แหละเป็นโอกาสให้เราได้ทำให้ความมุ่งหวังของพระศาสนจักรเป็นความจริง
2. เราไม่ควรถือว่าตนเองดีกว่าคนอื่น เราทุกคน “เท่าเทียมกัน” เพราะ เราต่างเป็นสิ่งสร้างที่พระเจ้าทรงสร้างเราขึ้นมาด้วยกันทุกคน เรามีจิตวิญญาณ มีเสรีภาพเท่าเทียมกัน ได้รับการไถ่บาปจากพระโลหิตของพระเยซูเจ้าด้วยกัน มีสิทธิที่จะได้รับสวรรค์เป็นรางวัลเช่นเดียวกัน ต้องตายและรับคำพิพากษาเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราทุกคนจึงเป็นพี่น้องกัน มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เป็นบุตรของพระเจ้าเท่าเทียมกัน เราแต่ละคนจะต้องให้ความเคารพต่อกันและกัน ไม่ควรมีการแบ่งชนชั้นระหว่ากัน ตรงกันข้ามเราจะต้องให้ความสำคัญแก่กันและกัน ไม่ว่าพี่น้องของเราจะมีอาชีพอะไร ยิ่งพี่น้องที่มีความยากลำบากกว่าเรา เราจะต้องให้ความสนใจ และความรักมากกว่าพี่น้องที่สามารถช่วยตนเองได้ เราต้องให้การต้อนรับหรือทักทายทุกๆคนที่มาร่วมมิสซาฯด้วยกัน
3. ในสภาพของสังคมไทยของเราที่มีความแตกต่างกันทางความคิดอย่างรุนแรงในขณะนี้ การมาร่วมพิธีมิสซาฯ ควรจะเป็นโอกาสให้เราได้ไตร่ตรองถึงความแตกต่างระหว่างกันในเรื่องนี้ ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน พยายามหาทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และขอให้ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ “สร้างสันติ” ให้กับสังคม ให้สติให้กันและกัน โดยนำเอาคำสั่งสอนของพระเจ้ามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วยกัน