ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

บทที่  41 นรก

จุดมุ่งหมาย    เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจสภาพและความหมายของนรกที่แท้จริง กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะกระทำคุณงามความดีให้มากยิ่งขึ้น

ขั้นที่ 1  กิจกรรม    ครูถามผู้เรียนว่า
ครูเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ผู้เรียนฟังในหัวข้อต่อไปนี้ “ครั้งหนึ่งครูมีความเสียใจมากที่สุด”
หาอาสาสมัครจากผู้เรียนสัก 2 – 3 คนมาเล่าประสบการณ์เดียวกันให้เพื่อนฟังหน้าชั้น

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์
ครูถามผู้เรียนว่า
- ได้ฟังเรื่องเสียใจเหล่านี้แล้วรู้สึกอย่างไร ?
- มีใครชอบเสียใจ หรือไม่ชอบเสียใจหรือไม่ ? ทำไม ?
- ระหว่าง “เสียใจ” กับ “ดีใจ” ปกติคนเราจะเลือกอะไร ? ทำไม ?
- ชีวิตคนเราไม่เสียใจเลยได้หรือไม่ ? ทำไม ?
สรุป ไม่มีใครชอบเสียใจ เพราะเสียใจเป็นความทุกข์ แต่หลายครั้งเราก็ต้องพบกับความเสียใจทั้งที่เราไม่ชอบ

ขั้นที่ 3  คำสอน
       
1. ความเสียใจเป็นความทุกข์ที่เกิดจากบาป เมื่อเราเป็นคนบาปและทำบาป ผลที่ตามมาคือเราต้องเป็นทุกข์เสียใจอยู่เนืองๆ เช่น เสียใจที่ได้กระทำผิดพลาดก่อให้เกิดผลเสีย เสียใจที่ต้องประสบเคราะห์กรรมจากความประมาทเลินเล่อ หรือปล่อยเนื้อปล่อยตัวสู่อบายมุขต่างๆ เสียใจที่ต้องสูญเสียสุขภาพ ทรัพย์สินเงินทองเพราะความผิดของตนเอง เสียใจที่ต้องสูญเสียญาติพี่น้อง ผู้ที่ตนรักเพราะขาดความดูแลเอาใจใส่ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีความเสียใจที่เกิดขึ้นแก่เราเพราะเคราะห์กรรมของบุคคล สถาบัน หรือสิ่งอื่นๆ ทั้งๆที่ตัวเรามิได้เป็นต้นเหตุ

       2. ความเสียใจที่กล่าวมาข้างต้นนั้นนับว่า เป็นความทุกข์ที่ใหญ่หลวง ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อยๆและหนักหนาสาหัส แต่มันก็อยู่เพียงชั่วคราว ในไม่ช้าเราก็ลืมมันไปพร้อมกับวันเวลา
           ยังมีความเสียใจที่เป็นทุกข์สาหัสสากรรจ์มากจนหาที่เปรียบมิได้ ทั้งความหนักหน่วงของมัน และความยาวนานของมันด้วย ลองนึกดูซิว่าเป็นความเสียใจเป็นความทุกข์อะไร ? ที่ไหน? อย่างไร ?
           คงไม่ใช่เรื่องอื่นนอกจาก “สภาพของการแยกตัวอย่างสิ้นเชิงและเด็ดขาดของมนุษย์จากพระเป็นเจ้าผู้ทรงเป็นจุดหมายสูงสุดของสรรพสิ่งทั้งหลาย” หรือที่เรียกว่า “นรก” นั่นเอง

       3. พระเยซูคริสต์ได้ตรัสถึง “นรก” และ “ไฟที่ไม่มีวันดับ” ที่มีไว้สำหรับผู้ที่ปฏิเสธพระเป็นเจ้าและไม่ยอมกลับใจ ในสภาพเช่นนั้นเขาจะต้องประสบความเสียใจเป็นทุกข์ตลอดไป
พระองค์ทรงประกาศอย่างเปิดเผยว่า พระองค์จะทรงส่งเทวดาของพระองค์ไปรวบรวมบรรดาผู้กระทำผิดทั้งหมาย และโยนลงไปในขุมไฟที่ลุกโพลง และจะทรงประกาศโทษคนเหล่านั้นว่า “ไปให้พ้นจากเราพวกเจ้าที่ถูกสาปแช่ง จงไปในไฟนิรันดร” (มธ. 25,41)

      4. พระศาสนจักรยืนยันว่ามีนรกจริง และเป็นนรกที่คงอยู่ชั่วนิรันดรด้วย คำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับนรกคือ
ก. ไฟ จากพระวาจาของพรพะเยซูคริสต์เอง
- “.....บุตรมนุษย์จะใช้เทวดาของพระองค์ไปรวบรวมบรรดาผู้กระทำผิดทั้งหลายและโยนลงไปในขุมไฟที่ลุกโพลง” (มธ. 13,41 – 42)
- “......ไปให้พ้นจากเรา พวกเจ้าที่ถูกสาปแช่ง จงไปในไฟนิรันดร” (มธ. 25,41) ไฟนรกแต่งต่างจากไฟอื่นๆรวมทั้งไฟชำระด้วย เป็นไฟนิรันดรด้วย ไม่มีวันดับ

ข. ที่มืด ทั้งๆที่มีไฟ แต่นรกก็เป็นที่มืด ณ ที่นั้นนักโทษไม่เห็นความสว่างเลย
- “.....จงมัดมือมัดเท้าคนนี้เอาไปทิ้งเสียในที่มืดข้างนอก ซึ่งจะมีแต่การร้องให้ ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน” (มธ. 22,13)

ค. แยกจากพระ เป็นความเสียใจเป็นทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะเป็นการพลาดไปจากจุดหมายสูงสุด จุดหมายที่ให้ความหมายแก่ชีวิตและความเป็นอยู่ของตน

ง. นิรันดร ทั้งไฟ ทั้งที่มืด ทั้งการแยกจากพระ จะดำรงอยู่ชั่วนิรันดร ทั้งนี้เพราะความจงใจของนักโทษเอง

จ. พระมหากรุณาของพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้ามิได้ทรงเป็นผู้สร้างนรก แต่นรกเกิดจากบาปของมนุษย์เองเมื่อมนุษย์ทำบาป และจงใจอยู่ในสภาพบาปโดยไม่ยอมกลับใจ ก็ต้องตกอยู่ในสภาพนรกซึ่งเป็นผลตามมา ทั้งๆที่รู้แต่ก็จงใจที่จะเลือกและรับสภาพอย่างนั้น แม้ว่าพระเป็นเจ้าจะทรงมหากรุณา

       5. พระสงฆ์เยสุอิตองค์หนึ่งประกาศในพระวิหารนอเตรอดาม กรุงปารีสว่า “เย็นวันนี้จะมีเรื่องเทศสำคัญ คือ นรกไม่มี ขอเชิญผู้สนใจมารับฟังได้” เย็นวันนั้นมีผู้คนหลั่งไหลมาฟังกันเนืองแน่นเพราะความอยากรู้ พอได้เวลาพระสงฆ์องค์นั้นก็ขึ้นธรรมมาสน์และเริ่มเทศว่า “พี่น้องทั้งหลาย พ่อขอยืนยันว่า นรกไม่มี ไม่มีจริงๆ.....ไม่มีสำหรับคนที่หมั่นสวดภาวนา สำหรับคนที่ถือตามพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าและของพระศาสนจักรอย่างซื่อสัตย์ สำหรับคนที่มีความศรัทธาต่อแม่พระ.......ฯลฯ” ผู้คนก็รู้สึกสบายใจ หายอึดอัดไปตามๆกัน

           นักบุญเอากุสตินกล่าว่า “เราจงไปนรกขณะที่ยังมีชีวิตกันเถิด จะได้ไม่ต้องไปเวลาตายแล้ว” หมายความว่า เราจงใช้ประโยชน์จากคำสอนเรื่องนรกนี้โดยใช้อิสรภาพของเราด้วยความรับผิดชอบเพื่อนำชีวิตไปสู่จุดหมายนิรันดร คือ พระเป็นเจ้าให้ได้ “จงพยายามเข้าทางประตูแคบให้ได้ เพราะประตูกว้าง ทางสะดวกนั้นนำไปสู่ความพินาศ และมีคนเป็นอันมากยื้อแย่งกันเข้าไป ส่วนประตูแคบ ทางลำบากนั้นนำไปสู่ชีวิตและมีน้อยคนที่ค้นพบ” (มธ. 7,13 – 14)

 ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
    1. นรกคือสภาพของผู้ที่แยกตัวอย่างสิ้นเชิงและเด็ดขาดไปจากพระเป็นเจ้าผู้ทรงเป็นจุดหมายสูงสุดของสรรพสิ่งทั้งหลาย
    2. พระเป็นเจ้ามิได้ทรงสร้างนรก แต่เป็นผลที่เกิดจากบาปที่มนุษย์กระทำโดยรู้ตัวและจงใจ
    3. พระเป็นเจ้าทรงรักมนุษย์ยิ่งนัก ทรงปรารถนาให้มนุษย์ทุกคนรอดไปสวรรค์
    4. นรกไม่มีสำหรับคนที่หมั่นสวดภาวนา สำหรับคนที่ถือตามพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าและของพระศาสนจักรอย่างซื่อสัตย์สำหรับคนที่มีความศรัทธาต่อแม่พระ ฯลฯ
  • กิจกรรม

    ให้ผู้เรียนประดิษฐ์ถ้อยคำต่อไปนี้ให้สวยงาม
    “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ”
    นำมาติดไว้หน้าชั้น เสร็จแล้วนำไปติดไว้ที่บ้านด้วย


    การบ้าน  อ่านพระวรสาร ลก. 12,41 – 48 แล้วตอบคำถามต่อไปนี้
    1. บ่าวสัตย์ซื่อมีลักษณะอย่างไร ?
    2. บ่าวสัตย์ซื่อได้รับอะไรตอบแทน ?
    3. บ่าวไม่สัตย์ซื่อมีลักษณะอย่างไร ?
    4. บ่าวไม่สัตย์ซื่อได้รับอะไรตอบแทน ?
    5. คริสตชนที่สัตย์ซื่อมีลักษณะอย่างไรตอบแทน ?
    6. คริสตชนที่สัตย์ซื่อได้รับอะไรตอบแทน ?

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์