ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

บทที่  40 ไฟชำระ

จุดมุ่งหมาย    เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้โทษบาปในโลกนี้อยู่เนืองๆ ซึ่งเปรียบเหมือนกับไฟที่ชำระตนให้บริสุทธิ์ สมจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดร

ขั้นที่ 1  กิจกรรม    ครูเล่าเรื่องแม่พระประจักรษ์ที่ฟาติมาแก่เด็กๆสามคนให้ผู้เรียนฟัง ดังต่อไปนี้
แม่พระประจักรษ์ที่ฟาติมา
           แม่พระประจักษ์มาหาเด็กๆสามคนที่ฟาติมาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1917 สิ่งสำคัญที่แม่พระบอกกับเด็กทั้งสามก็คือให้สวดภาวนามากๆเพื่อให้คนบาปกลับใจ และให้กระทำพลีกรรมมากๆเพื่อชดเชยบาปความผิดของมนุษย์ เด็กทั้งสามก็ปฏิบัติตามคำบอกเล่าของแม่พระอย่างจริงจัง ต่อไปนี้เป็นคำเล่าของลูเซียเองเกี่ยวกับการพลีกรรมใช้โทษบาปที่เขาทั้งสามได้กระทำ (ให้ผู้เรียนคนหนึ่งอ่านให้เพื่อนๆฟัง)

         “ไม่กี่วันต่อมา ขณะที่เราทั้งสามกำลังเดินต้อนฝูงแกะไปตามทางดิฉันก็พบเชือกเส้นหนึ่งหล่นอยู่ จึงเก็บมาพันแขนเล่น ซักพักดิฉันก็รู้สึกเจ็บที่แขน จึงพูดกับอีกสองคนว่า “ดูนี่ซิ ฉันพบวิธีพลีกรรมใหม่แล้ว เรามาเอาเชือกพันรอบเอวของเราเป็นการพลีกรรมถวายพระกันเถอะ” แล้วเราจึงเอาหินที่มีคนคมมาตัดเชือกแบ่งกัน แล้วเอาเชือกผูกรอบเอวของแต่ละคนอย่างแน่นหนาจนรู้สึกเจ็บ ยาชินทาถึงกับน้ำตาไหล ดิฉันจึงบบอกให้เธอแก้เชือกออกเสียเถิด แต่เธอก็ไม่ยอมกล่าวว่า “ไม่ ฉันขอถวายความเจ็บปวดนี้แด่พระเป็นเจ้าเพื่อชดเชยบาป และเพื่อให้คนบาปกลับใจ”

           วันรุ่งขึ้นเรา เด็ดต้นไม้ที่ขึ้นยั้วเยี้ยบนกำแพงมาบีบเล่น มีเสียงเป๊าะแป๊ะเวลามันแตก สนุกดี ยาชินทาบีบไปพบขนแหลมคมเหมือนหนามทิ้มมือเอารู้สึกเจ็บ แทนที่เธอจะทิ้งมัน กลับบีบแน่นยิ่งขึ้นกล่าวว่า “นี่แน่ะ ฉันพบวิธีพลักรรมใหม่อีกแล้ว” เราจึงเก็บต้นไม่นั้นมาฟาดขาฟาดแขนตัวเอง ทั้งเจ็บ ทั้งแสบ ทั้งคัน แต่ก็ยอม

           ถ้าดิฉันจำไม่ผิด ในเดือนนี้เองที่เราจะเอาอาหารเที่ยงของราไปให้เด็กอยากจนกิน ส่วนเราก๋ยอมอดเพื่อพลีกรรม..............
           คุณพ่อคุณแม่ของฟรังซิสโกและยาชินทารู้สึกรำคาญที่มีผู้คนมารบกวนถามหาตัวเด็กทั้งสองอยู่ตลอดเวลา จึงกักตัวเด็กทั้งสองไว้ แล้วให้พี่ชายไปเลี้ยงแกะแทน และที่สุดก็ตักสินใจขายแกะไปหมดทั้งฝูง ดิฉันจึงต้องออกไปเลี้ยงแกะแต่เพียงลำพัง รู้สึกเหงาเพราะขาดเพื่อนแต่ดิฉันก็ยกถวายพระและรู้สึกเป็นสุขใจที่ได้อยู่คนเดียวเงียบๆกับธรรมชาติ.......แต่แล้วจู่ๆพี่สาวของดิฉันก็โผล่มาบอกว่า “กลับไปบ้านเร็ว มีคนมาหาเต็มไปหมด” ดิฉันรู้สึกผิดหวัง และหมดความสุขทันที แต่ก็ยินดียกถวายพระและกลับบ้านโดยดี

           อยู่มาวันหนึ่ง มีสุภาพบุรุษสามคนมาหาเราทั้งสาม แรกๆทีเดียวก็พูดจาอ่อนหวานน่าฟัง แต่แล้วก็ทิ้งท้ายก่อนจากไปว่า “หวังว่าเธอทั้สามคงจะพูดความจริงนะ ไม่เช่นนั้นนายอำเภอจะเอาเธอตายแน่ๆ” ยาชินทาได้ยินดังนั้นก็มีหน้าตาเบิกบานอย่างเห็นได้ชัดพูดว่า “ยอดจริงๆฉันรักพระเป็นเจ้าและแม่พระมาก อย่างนั้นเราคงจะได้พบท่านทั้งสองในไม่ช้านี้” ข่าวลือว่านายอำเภอจะฆ่าเราแพร่สะพัดไปทั่ว จนคุณป้าที่อาศัยอยู่อีกเมืองหนึ่งรีบเดินทางมาหาบอกว่าจะพาเราไปหลบภัยอยู่กับท่าน เพราะนายอำเภอที่นี่ไม่มีอำนาจจะไปจับคนที่เมืองอื่น แต่เราทั้งสามก็ปฏิเสธบอกว่า “ถ้าเขาฆ่าเราจริงก็ดีซิ เราจะได้ไปสวรรค์”

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์
ครูถามผู้เรียนว่า
- ได้ฟังเรื่องนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ?
- ข้อใหญ่ใจความสำคัญของคำเล่านี้เกี่ยวกับเรื่องอะไร ?
- เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิต ?
- เปรียบเทียบกับคนสมัยนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ?
สรุป การพลีกรรมใช้โทษบาปเป็นสิ่งที่สำคัญและมีประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม ทำให้คนเข้มแข็ง อดทน เห็นแก่ผู้อื่น

ขั้นที่ 3  คำสอน
       
การพลีกรรมใช้โทษบาป คือการน้อมรับความยากลำบากต่างๆด้วยความพากเพียรอดทน เพื่อผลประโยชน์ของตัวเราเอง และของคนอื่นด้วย กฎสูงสุดที่คนเรายอมรับ คือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้นเป็นความจริงตลอดกาล และจะเกิดขึ้นแก่ทุกคน ไม่ในชีวิตนี้ก็ชีวิตหน้า

        สำหรับการ “ทำดีได้ดี” นั้นทุกคนรับได้ และพอใจรับเป็นอย่างยิ่ง เพราะใครๆก็ชอบรับสิ่งดีๆ แต่พอมาถึงการ “ทำชั่วได้ชั่ว” ชักจะเป็นเรื่องลำบาก ไม่มีใครอยากจะรับ เพราะหมายถึงต้องรับเอาสิ่งเลวๆร้ายๆมาใส่ตัว เช่น การลงโทษ การเบียดเบียนข่มเหง ความทุกข์ยาก ซึ่งไม่มีใครชอบเลย แต่เมื่อมันเป็นกฎสูงสุดของชีวิตแล้ว ใครๆก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

        พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “ถ้าท่านไม่เป็นทุกข์กลับใจ ท่านจะต้องพินาศ” (ลก. 13,3) การเป็นทุกข์กลับใจ คือการรับผิด ชดเชยความผิด และเริ่มชีวิตใหม่
ตัวอย่างของศักเคียสจะช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อท่านได้พบพระเยซูคริสต์ท่านก็เกิดสำนึกถึงความผิดบาปต่างๆที่ท่ารนได้ทำมา จึงเป็นทุกข์กลับใจกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะมอบทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของข้าพเจ้าให้แก่คนยากจน และถ้าข้าพเจ้าได้ฉ้อโกงใครมา ข้าพเจ้าจะชดเชยให้สี่เท่า” พระเยซูคริสต์จึงตรัสว่า “วันนี้ความรอดได้เข้ามาสู่บ้านนี้แล้ว” (ลก. 19,8 – 9)

        เราทุกคนได้ทำบาปจึงมีหน้าที่ต้องใช้โทษแม้ว่าบาปนั้นจะได้รับการอภัยแล้วก็ตาม เราอาจชดเชยใช้โทษบาปในชีวิตนี้หรือในชีวิตหน้า คือในไฟชำระ
        ไฟชำระตามความเชื่อคาทอลิก ก็คือสภาพของผู้ที่ถึงแก่ความตายในศีลในพรของพระเป็นเจ้าแต่ยังมีโทษบาปติดค้างอยู่ จำเป็นจะต้องชำระให้หมดเสียก่อนจึงจะเข้าสวรรค์ได้ และสิ่งที่ชำระโทษบาปนั้นก็คือไฟ ซึ่งมีลลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากไฟนรก เพราะมันจะอยู่เพียงชั่วคราว และจะจบสิ้นไปในวันพิพากษาหร้อมกัน ตามที่พระเยซูคริสต์ได้ตรัสไว้ว่า “.......ท่านจะถูกขังไว้ในเรือนจำ และท่านจะออกจากที่นั่นไปไม่ได้จนกว่าจะใช้หนี้ครบ” (มธ. 5,25 – 26) อย่างไรก็ตาม ไฟชำระเป็นสภาพของการพลีกรรมใช้โทษบาปที่ยากลำบากมาก พระศาสนจักรจึงเตือนสติคริสตชนทั้งหลายให้กระทำพลีกรรมใช้โทษบาปในชีวิตนี้จะดีกว่า

        ผู้ที่ชำระตนอยู่ในไฟชำระไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จำเป็นจะต้องชำรพจนกว่าจะใช้หหนี้ครบ แต่จากพระคัมภีร์เราทราบว่าเราที่ยังอยู่ในโลกนี้สามารถช่วยเหลอคนเหล่านั้นได้ เช่น ยูดาส มัคคาบี ได้เรี่ยไรเงินจากบรรดาทหาร ได้สองพันดรักมาส แล้วส่งเงินนี้ไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อจัดให้มีการถวายบูชาชดเชยบาป นับว่าเป็นการกระทำที่ประเสริฐยิ่งนัก ด้วยเหตุที่ว่าท่านนึกถึงหารกลับคืนชีพของคนตาย เพราะถ้าท่านไม่หวังให้คนตายฟื้นขึ้นมาจากตายแล้วท่านก็คงไม่สวดอธิฐานให้คนตาย แต่ที่ท่านทำไปเพราะคิดว่าผู้ที่ตายในศีลในพรจะได้รับบำเหน็จที่ดีประเสริฐ เป็นความคิดที่ดีท่านได้ถวายเครื่องบูชาชดเชยบาปของคนตายเพื่อให้เขาพ้นจากบาป (2 มคบ. 12,43 – 46)

        พระศาสนจักร ตั้งแต่แรกเริ่มก็ปฏิบัติหลายอย่างเพื่อเป็นกุศลอุทิศให้ผู้ตาย เช่น สวดภาวนา ถวายมิสซา ทำบุญให้ทาน พลีกรรม และเป็นต้น โปรดพระคุณการุญในโอกาสพิเศษเพื่อชดเชยบาปของผู้ตายที่ยังติดค้างอยู่ในไฟชำระ เขาจะได้ขึ้นสวรรค์เร็วขึ้น ธรรมเนียมการระลึกถึงผู้ตายหลังสมโภชนักบุญทั้งหลายก็เป็นการส่งเสริมให้คริสตชนระลึกคิดถึงปู่ย่าตายาย พ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว และสร้างบุญกุศลทิศให้ท่านเหล่านั้นเป็นพิเศษในโอกาสนั้น โดยปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้น

 ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
    1. “ถ้าท่านไม่เป็นทุกข์ กลับใจ ท่านจะต้องพินาศ” (ลก. 13,3)
    2. เรามีหน้าที่ต้องชดเชยบาปความผิดของเรา ไม่ชีวิตนี้ก็ในชีวิตหน้า คือในไฟชำระ
    3. ไฟชำระคือสภาพของผู้ตายที่ตายในศีลในพรของพระ แต่ยังมีโทษบาปที่ติดค้างอยู่ ยังต้องชำระด้วยไฟให้บริสุทธิ์เสียก่อน จึงจะเข้าสวรรค์ได้
    4. พระศาสนจักรยืนยันความเชื่อเรื่องไฟชำระ โดยส่งเสริมให้มีการสวดภาวนา ถวายมิสซา ทำบุญให้ท่าน พลีกรรม โปรดพระคุณการุญ อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ และยังกำหนดให้วันหลังสมโภชนักบุญทั้งหลายเป็นวันระลึกถึงผู้ตายเป็นพิเศษอีกด้วย
    4. จงใช้วันเวลาที่เหลืออยู่สร้างสมความดีงามเพื่อวันพิพากษาเถิด
  • กิจกรรม

    ชวนเชิญผู้เรียนให้อยู่ในความสงบ คิดถึงบรรพบุรุษ ผู้มีพระคุณ ผู้ที่ตนรัก ที่ล่วงลับไปแล้วสักครู่หนึ่ง ร้องเพลง “วิญญาณรำลึก”

    วิญญาณรำลึก
    ขอพระองค์ได้ทรงเมตตา แก่เหล่าวิญญาณ์ที่สูญชีพจากไป
    โปรดอภัยความผิดล้นเหลือ จุนเจือให้ความคุ้มครอง
    ขอพระองค์ได้ทรงปราณี ต่อเหล่าข้านี้ชั่วช้าเหลือประมาณ
    ดังคนพาลเดินผิดทางสวรรค์ สมควรโทษทัณฑ์แต่ขอพระองค์เมตตา
    ข้าขอพระองค์ยกโทษ โปรดยกความผิดของข้า
    อีกวิญญาณ์ที่ยังทุกข์ทน ในไฟชำระขอจงหลุดพ้น
    ขอพึ่งบุญคริสต์ราชา ผู้เสด็จมาทุกข์ทนไถ่เราพ้นมาร
    โปรดบันดาลดวงวิญญาณ์ทั้งหลาย พ้นภัยทรมานได้พบพระองค์ทรงธรรม

    วางหรีด (ที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า) ณ แทบเชิงไม้กางเขนเป็นการแสดงคารวะต่อผู้ล่วงลับ


    การบ้าน  เพิ่มบทสวดอุทิศแก่วิญญาณในไฟชำระเวลาภาวนาค่ำ

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์