บทที่ 17 อย่าใส่ความนินทา
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าและเกียรติภูมิของการพูดความจริง หลีกเลี่ยงการกล่าวเท็จ หรือการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ซึ่งเป็นการทำลายชื่อเสียงของเขา
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ครูเล่านิทานต่อไปนี้ให้นักเรียนฟัง
เทพารักษ์กันคนตัดฟืน
ชายคนหนึ่ง เป็นคนอยากจน หากินทางตัดฟืนในป่าไปขาย วันหนึ่งเขาแบกขวานคู่ชีพเข้าป่าไปตัดฟืนตามปกติ ขณะที่กำลังตัดฟืนอยู่นั้น เขาเกิดพลาดทำขวานตกลงไปในหนองน้ำข้างๆ เขารู้สึกเป็นทุกข์เสียใจยิ่งนักเพราะขวานเล่มนั้นเป็นเครื่องมือหากินของเขา ถ้าไม่มีมันเขาก็ต้องอดตาย จะลงไปงมก็ว่ายน้ำไม่เป็น เขาจึงนั่งร้องไห้อยู่ริมหนองน้ำนั้น
ทันใดนั้นเทพารักษ์ที่รักษาป่าก็ปรากฎองค์ลงมากล่าวกับชายคนนั้นว่า “เจ้าร้องไห้ทำไม ?” ชายคนนั้นก็ตอบว่า “ผมตัดฟืนแล้วทำขวานตกลงไปในหนองน้ำ ผมจะลงไปงมก็ลงไปไม่ได้เพราะว่ายน้ำไม่เป็นถ้าไม่มีขวานผมก็คงอดตาย” เทพารักจึงลงไปในหนองน้ำงมขวานทองขึ้นมาเล่มหนึ่งถามว่า “ขวานของเจ้าคือเล่มนี้ใช่ไหม ?” ชายคนนั้นตอบว่า “ไม่ใช่” เทพารักษ์จึงงมขวานเงินขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งถามว่า “ขวานของเจ้าคือเล่มนี้ใช่ไหม ?” ชายคนนั้นก็ตอบว่า “ไม่ใช่” อีก เทพารักษ์จึงงมขวานเหล็กขึ้นมาถามว่า “แล้วเล่มนี้เล่า ใช่ของเจ้าหรือไม่ ?” ชายคนนั้นดีใจตอบว่า “ใช่ครับ ขวานเล่มนี้แหละคือขวานของผม” เทพารักษ์จึงกล่าวกับชายคนนั้นว่า “เจ้าเป็นคนซื่อตรง ไม่โกหกพกลม ดังนั้นข้าจะยกทั้งขวานทองและขวานเงินให้แก่เจ้าด้วย” ชายคนนั้นจึงแบกขวานสามเล่มกลับบ้านด้วยความยินดี
ข่าวนี้ไปถึงหูเพื่อนบ้านที่มีฐานะดี เขาจึงเกิดความโลภ อยากได้ขวานเงินขวานทองบ้าง เขาจึงแบกขวานออกไปตัดฟืนในป่าแล้วแกล้งเหวี่ยงขวานลงไปในหนองน้ำแล้วนั่งร้องไห้บีบน้ำตาอยู่ ทันใดเทพารักษ์ก็ปรากฏองค์ลงมาถามว่า “เจ้าร้องไห้ทำไม ?” เขาก็ตอบว่า “ผมตัดฟืนอยู่ดีๆ ขวานเกิดหลุดมือตกลงไปในหนองน้ำครับ” เทพารักษ์ก้ลงไปในหนองน้ำงมขวานทองขึ้นมาถามว่า “ขวานของเจ้าคือเล่มนี้ใช่ไหม ?” ชายคนนั้นพอเห็นขวานทองก็นัยน์ตาวาว เกิดความอยากได้สุดขีด รีบตอบว่า “ใช่ครับ เล่มนี้แหละขวานของผม” เทพารักษ์จึงกล่าวว่า “เจ้าเป็นคนใจคด โกหกพกลม ฉะนั้นอย่าคิดว่าจะได้ขวานเงินขวานทองจากข้าเลย แม้ขวานเหล็กของเจ้าข้าก็จะไม่งมให้ เจ้าจงงมเอาเองเถิด” ว่าแล้วเทพารักก็หายตัวไป ชายคนนั้นก็เดินคอตกกลับบ้านด้วยความผิดหวัง
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูถามผู้เรียนว่า
- รู้สึกอย่างไรต่อชายคนที่หนึ่ง ? ทำไม ?
- รู้สึกอย่างไรต่อชาคนที่สอง ? ทำไม ?
- นิทานเรื่องนี้มีบทสอนอะไร ?
ทุกคนนิยมชมชอบชายคนที่หนึ่งเพราะเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่พูดโกหกเพราะความโลภ อยากได้ ส่วนชายคนที่สองนั้นไม่มีใครชอบเพราะเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ พูดโกหกเพราะความละโมบ อยากได้ ผลจึงออกมาแตกต่างกัน คือคนซื่อสัตย์ได้รับรางวัลตอบแทน ส่วนคนที่ไม่ซื่อสัตย์จะได้รับโทษ
สรุป เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ยกย่องคนซื่อสัตว์ คือคนที่พูดความจริง และประณามคนที่ไม่ซื่อสัตย์ คือคนที่พูดความเท็จ อันได้แก่คนที่โกหกพกลม
ขั้นที่ 3 คำสอน
- สังคมมนุษย์ทั่วไปยึดความจริง ความถูกต้อง เป็นคุณธรรมชั้นยอดควบคู่กับความเป็นมนุษย์ที่เดียว อดีตยายกรัฐมนตรีพลเอกชิชาย ชุณหะวัณได้กล่าวไว้ว่า “ก่อนพูดเราเป็นนายของวาจา หลังพูด วาจาเป็นนายเรา” หมายความว่าเราต้องเป็นคนมีวาจาสัตย์ พูดคำไหนคำนั้น ไม่ตลบตะแลง เปลี่ยนแปลงไปมา วงการลูกเสือก็เทิดทูนความสัตย์ยิ่งชีวิต ดังคำขวัญที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” คือแม้ตายก็ไม่ยอมตระบัดสัตย์
นิทานเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สอนว่า คนโกหกที่ก็อยู่ร่วมโลกกับใครไม่ได้ ไม่มีใครคบค่าสมาคมด้วย ไม่มีใครไว้วางใจ
- พระบัญญัติของพระเป็นเจ้าประการที่ 8 บัญญัติไว้ว่า “อย่าใส่ความนินทา” ซึ่งกินความถึงคุณธรรมหลักสองประการคือ ความจริง และ ชื่อเสียงเกียรติยศ
เกี่ยวกับความจริงนั้น พระเยซูคริสต์ตรัสไว้ว่า “ใช่ก็จงบอกว่าใช่ ไม่ใช่ก็จงบอกว่าไม่ใช่ ถ้าผิดไปจากนี้ก็มาจากปีศาจ (มธ. 5,37) หมายความว่าเราจะต้องเป็นคนมีวาจาสัตย์ ไม่โกหกพกลม หลอกลวง หรือตระบัดสัตย์ เหมือนนิทานที่กล่าวถึงข้างต้น ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระเป็นเจ้าทรงเป็นองค์ความจริง “พระองค์ไม่รู้จักหลง และไม่รู้จักหลอกลวง” (บทแสดงความเชื่อ) “พรองค์สัญญาและถือตามเสมอ” (บทแสดงความไว้ใจ) ดังนั้นใครอยู่ฝ่ายความจริงก็อยู่ฝ่ายพระเป็นเจ้า ดังที่พระเยซูคริสต์ได้ตรัสกับปีลาตว่า “เราเกิดมาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานความจริง ใครอยู่ฝ่ายความจริงนั้นย่อมฟังเสียงเรา” (ยน. 18,37)
ตรงกันข้ามกับความจริงก็คือ ความเท็จ หรือความหลอกลวงซึ่งมาจากปีศาจ (เทียบ มธ. 5,37) เพราะปีศาจคือเจ้าของความเท็จและความหลอกลวง ดังที่มันเคยหลอกลวงเอวาในอุทยานสวรรค์ว่า “เจ้าจะไม่ตายเพราะกินผลไม้นั้นดอก เพราะพระเป็นเจ้าทรงทราบว่าถ้าเจ้ากินผลไม้นั้นวันใด ตาของเจ้าก็จะสว่างขึ้นวันนั้น แล้วเจ้าจะเป็นเหมือนพระเป็นเจ้า คือจะรู้ดีรู้ชั่ว” (ปฐม. 2,4) เอวาหลงเชื่อมันจึงกินผลไม้ต้องห้าม และผลที่ตามมาเป็นอย่างไรเราคงทราบกันดี
- ส่วนเรื่องชื่อเสียงเกียรติยศนั้น มีคุณค่าเท่ากับชีวิตของคนเราที่เดียว เราคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คนเราฆ่าได้ แต่หยามไม่ได้” คำว่า “หยาม” หมายถึงการทำลายชื่อเสียงเกียรติยศ ซึ่งถือว่าร้ายยิ่งกว่าทำลายชีวิตเสียอีก ใครทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงเกียรติยศจึงถือเป็นการล่วงละเมิดต่อผู้นั้นอย่างมหันต์ทีเดียว พระบัญญัติของพระเป็นเจ้าประการที่ 8 จึงบัญญัติไว้ว่า “อย่าใส่ความนินทา” คือห้ามอ้างความเท็จเพื่อให้ร้ายผู้อื่น ซึ่งนอกจากจะผิดจากความจริงแล้ว ยังผิดต่อชื่อเสียงเกียรติยศของผู้อื่น ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าชีวิตอีกด้วย
ต่อไปนี้เป็นความผิดต่อชื่อเสียงเกียรติยศของผู้อื่น เช่น
การตัดสินโดยเบาความ คือไม่พินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน ไม่สืบสาวราวเรื่องให้ชัดเจน และไม่มีหน้าที่ที่จะตัดสิน
การนินทา คือเอาความผิดบกพร่องของผู้อื่นไปเล่าสู่กันฟังโดยมีเจตนาไม่ดี หรือ เพื่อความสนุกปากสนุกคอ
การให้ความ คือเอาความผิดหรือความเลวร้ายไปป้ายให้แก่ผู้อื่น ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้กระทำ โดยมีเจตนาไม่ดี หรือเพื่อแก้แค้น
- การกระทำผิดต่อความจริง โดยการโกหกหลอกลวงก็ดี หรือการกระทำผิดต่อชื่อเสียงเกียรติยศของผู้อื่น โดยการตัดสินแบบเบาความ การนินทา การใส่ความก็ดี ทำให้ผู้อื้นเสียหายเพราะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิตามความยุติธรรม แม้ความผิดนั้นจะได้รับการอภัยแล้ว แต่ผู้กระทำความผิดเช่นนี้ก็ยังมีข้อผูกมัดที่จะต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้เสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่สามารถชดเชยอย่างเปิดเผย ก็ต้องชดเยอย่างลับๆ ถ้าไม่ชดเชยโดยตรง ก็ต้องชดเชยโดยอ้อม
- การเป็นองค์พยานให้แก่ความจริง ความถูกต้อง มิใช่เพียงด้วยวาจา แต่ด้วยการยอมพลีชีวิตโดยไม่ยอมก้มหัวให้กับความเท็จความหลอกลวงนั้น ถือว่าเป็นยอดวีรกรรม ดังเช่นบรรดามรณสักขีได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้เราได้เห็น พระศาสนจักซึ่งอยู่ฝ่ายความจริงจึงยกย่องเทิดทูนมรณสักขีเหล่านี้โดยแต่งตั้งให้เป็นนักบุญเพื่อเป็ฯกำลังใจให้แก่คริสตชนจะได้ประพฤติปฏิบัติตาม และเพื่อประกาศให้ชาวโลกทั้งหลายได้รับรู้ และหันมาช่วยกันผดุงความจริงและความถูกต้องให้คงอยู่คู่โลกตลอดไป
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
- ข้อควรจำ
- อย่าใส่ความนินทา
- เกิดเป็นคนต้องมีวาจาสัตย์ พูดคำไหนคำนั้น ไม่ตลบตะแลง เปลี่ยนแปลงไปมา
- “ใช่ก็จงบอกว่าใช่ ไม่ใช่ก็จงบอกไม่ใช่ ถ้าผิดไปจากนี้ก็มาจากปีศาจ” (มธ. 5,37)
- “เราเกิดมาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานความจริง ใครอยู่ฝ่ายความจริงย่อมฟังเสียงของเรา” (ยน. 18,37)
- “อย่ากล่าวโทษเขา แล้วพระเป็นเจ้าจะไม่กล่าวโทษท่าน เพราะว่าท่านกล่าวโทษเขาอย่างไร พระเป็นเจ้าก็จะกล่าวโทษท่านอย่างนั้น” (มธ. 7,1 – 2)
- มรณสักขีคือผู้ที่ยอมพลีชีวิตเพื่อปกป้องความจริงและความถูกต้อง โดยไม่ยอมก้มหัวให้แก่ความเท็จและความหลอกลวง
- กิจกรรม เล่นเกม “เวียนกล้องของขวัญ” (จะใช้ลูกบอลแทนก็ได้)
วิธีเล่น ผู้เล่นนั่งเป็นวงกลม ผู้เล่นคนหนึ่งถือกล้องของขวัญไว้ เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่มก็ให้ส่งกล้องของขวัญไปให้ผู้เล่นทางขวา แล้วส่งต่อกันไปเรื่อยๆ เมื่อได้ยินสัญญาณหยุดก็ให้หยุด กล้องของขวัญอยู่ที่ใครก็ให้คนนั้นออกมากระทำตามคำสั่ง เช่น ร้องเพลง เต้นรำ ฯลฯ
บทสอน
- เราไม่อยากได้กล้องของขวัญ เพราะมันนำภาระมาให้เรา
- เราปัดภาระนี้ไปให้พ้นตัว โดยรีบส่งกล้องของขวัญไปให้ผู้อื่น
- การเอาภาระ หรือโทษ ส่งไปให้ผู้อื่นเพื่อให้พ้นตัว เมื่ออยู่ในเกมก็สร้างความสนุกสนาน เฮฮา แต่ถ้าเป็นชีวิตจริง การทำดังกล่าวก็เท่ากับสร้างความเดือดร้อน ความอับอายขายหน้าให้แก่ผู้อื่น
การโกหก ใส่ความ นินทา ก็เป็นเช่นนี้แหละ
การบ้าน ละเว้นการกล่าวคำหยาบ คำสบประมาท ด่าแช่ง โกหก หัดกล่าวคำสุภาพ ยกย่อง ชมเชย เตือนเพื่อนๆ ให้ทำเช่นเดียวกันด้วย