บทที่ 14 อย่าฆ่าคน
จุดมุ่งหมาย เพื่อเน้นให้เห็นว่าชีวิตเป็นสิ่งประเสริฐ เป็นของประทานจากพระบิดา ควรแก่การเคารพ บำรุงรักษา ละเว้นกระกระทำใดๆที่เป็นอันตรายหรือทำให้สูนเสียชีวิตนั้น
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ครูนำนักเรียนไปสัมผัสสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต (คือตายแล้ว)
ได้แก่
- ต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และ ต้นไม้ที่ตายแล้ว
- สัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ และ สัตว์ที่ตายแล้ว
- คนที่ยังมีชีวิตอยู่ และ คนที่ตายแล้ว
พิจารณาดูคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตว่ามีอะไรบ้าง
พิจารณาดูคุณสมบัติของสิ่งที่ไม่มีชีวิต (คือตายแล้ว) ว่ามีอะไรบ้าง
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ให้นักเรียนเปรียบเทียบคุณสมบัติของทั้งสองดูว่า
- อะไรดี อะไรไม่ดี
- อะไรดีกว่า
สรุป การมีชีวิตย่อมเป็นสิ่งประเสริฐกว่าไม่มีชีวิต สิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายจึงรักและหวงแหนชีวิตของตน พยายามปกป้องและรักษาไว้จนสุดกำลัง
ขั้นที่ 3 คำสอน
- ชีวิตเป็นสิ่งประเสริฐเพราะเป็นของประทานจากพระเป็นเจ้า พระคัมภีร์ภาคพันธะสัญญาเก่ากล่าวไว้ตั้งแต่ในบทแรกว่า “....แผ่นดินจงเกิดพืชพันธุ์ คือผักหญ้าที่มีเมล็ดและต้นไม้ที่ออกผล มีเมล็ดผลตามชนิดของมันบนแผ่นดิน” (ปฐก. 1,11) “....พระเจ้าทรงสร้างสัตว์ทะเลขนาดใหญ่และสัตว์ทะเลนานาชนิดแหวกว่ายอยู่ในน้ำเป็นฝูงๆมชนิดของมัน” (ปฐก. 1,21) “....พระเจ้าทรงสร้างสัตว์ป่าตามชนิดของมัน สัตว์ใช้งานตามชนิดของมัน และสัตว์ต่างๆ ที่เลื่อยคลานบนแผ่นดินตามชนิดของมัน” (ปฐก. 1,25)
เหล่านี้คือชีวิตของต้นไม้และสัตว์ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงสร้างขึ้นมา และ “ทรงเห็นว่าดี” ชีวิตของต้นไม้และสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ดีดังที่พระเป็นเจ้าทรงเห็นนั้น
- แต่ที่ประเสริฐที่สุดก็คือชีวิตมนุษย์ซึ่งพระเป็นเจ้าได้ประทานมาในแบบพิเศษสุด คือ “พระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเจ้านั้นพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น” (ปฐก. 1,27) และพระเจ้าเมื่อทอดพระเนตรสิ่งสร้างทั้งปวงโดยมีมนุษย์สุดยอดแล้ว “ก็ทรงเห็นว่าดีนัก” (ปฐก. 1,31) แสดงว่าชีวิตมนุษย์นั้นประเสริฐนัก ประเสริฐยิ่งกว่าชีวิตใดๆ ที่พระองค์ทรงสร้างมาก่อนนั้น
- เพราะชีวิตมนุษย์เป็นของประเสริฐ และเป็นของประทานจากพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าจึงบัญญัติไว้ในข้อที่ 5 ว่า “อย่าฆ่าคน” การฆ่าคนเป็นการทำลายชีวิตที่พระเป็นเจ้าประทานให้ ซึ่งเราไม่มีอำนาจหรือสิทธิที่จะทำเช่นนั้นได้ เรามีหน้าที่ต้องเคารพชีวิตมนุษย์ทุกชีวิต เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจนตาย เราต้องเคารพชีวิตของเราเองก่อน แล้วชีวิตของคนอื่นๆด้วย เราเคารพชีวิตมนุษย์โดย
- กินอาหารให้เพียงพอและถูกหลักอนามัย และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแลช่วยเหลือคนที่ไม่มีอาหารจะกินด้วย ตามความสามารถ
- ต้องบำรุงรักษาชีวิตให้มีความสุข และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย หมั่นสำรวจตรวจตราและรักษาเมื่อเจ็บป่วย หลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ชีวิตหรือสุขภาพทั้งของตนเองและของคนอื่น
- ไม่ทำร้ายหรือทำอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของผูใดทั้งสิ้นแม้จะไม่ถึงแก่ชีวิตก็ตาม
- กระนั้นก็ดี มีบางกรณีที่มีเหตุผลสมควรยกเว้น คือ
- ความจำเป็นในการป้องกันชีวิต หรือป้องกันทรัพย์สินที่มีค่ามากจากผู้ที่กำลังคุกคามนั้นอาจตอบโต้ถึงแก่เอาชีวิตของผู้คุกคาม หรือทำอันตรายอย่างหนักแก่ผู้คุกคาม ทั้งนี้โดยมีเจตนาโดยตรงเพื่อป้องกันชีวิตของตนเอง หรืออันตรายอย่างหนักต่อชีวิตของตนเอง
- ความจำเป็นในการป้องกันภัย หรืออันตรายอย่างหนักต่อส่วนรวม ผู้มีอำนาจโดยชอบธรรมสามารถใช้อำนาจนั้นลงโทษถึงชีวิตต่อผู้มีภัยต่อส่วนรวมอย่างร้ายแรงหรือในการปกป้องประเทศชาติจากศัตรูผู้รุกราน ก็สามารถเอาชีวิตศัตรูนั้นได้
- การกระทำให้สูนเสียชีวิต หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตโดยมิได้เจตนา แม้ไม่ผิดในแง่ศีลธรรม แต่ก็อาจผิดในแง่กฎหมายได้
- ทุกวันนี้คำว่า “สิทธิมนุษยชน” กำลังเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไป โดยเนื้อแท้แล้วก็คือการเคารพต่อชีวิตมนุษย์ และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์นั่นเอง นับว่าเป็นกระแสที่มาจากเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ โดยอาศัยพระจิตทรงดลบันดาล ที่สำนึกในคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่เป็นของประทานอันประเสริฐสุดจากพระเป็นเจ้า และมุ่งรักษาและเทิดทูนชีวิตมนุษย์ไว้อย่างสูงสุด และใช้ชีวิตนั้นประกอบคุณงามความดี แผ่เมตตา เป็นการเทิดพระเกียรติพระเป็นเจ้า
สำหรับต้นไม้และสัตว์ แม้ว่าจะมีชีวิตชั้นต่ำกว่ามนุษย์ แต่ก็ควรได้รับการปฏิบัติด้วยเคารพและด้วยความเมตตา นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์เพื่อการยังชีพแล้ว ก็ไม่สมควรกระทำการใดๆอันเป็นการทำลายหรือทำร้ายทารุณให้เกิดการเจ็บปวดทรมานอย่างไร้เหตุผล
“บุญของผู้ที่มีใจใฝ่สันติ เหตุว่าเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า” (มธ. 5,9)
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
- ข้อควรจำ
- อย่าฆ่าคน
- ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งประเสริฐ เพราะพระเป็นเจ้าทรงสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระองค์
- เรามีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาชีวิตให้เจริญสุขและยาวนาน เราไม่มีสิทธิอันใดจะทำลายชีวิต หรือทำอันตรายของชีวิต ทั้งของตนเองและของผู้อื่น
- “สิทธิมนุษยชน” คือการเทิดทูนคุณค่าชีวิตมนุษย์ไว้อย่างสูง มิยอมให้มีการคุกคามหรือย่ำยีไม่ว่าในรูปแบบใด
- เราควรส่งเสริมชีวิตให้มีคุณค่าโดยประกอบคุณงามความดี แผ่เมตาแก่ผู้ที่มีชีวิตตกอับ เพื่อเทิดพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้า
- “บุญของผู้มีใจใฝ่สันติ เหตุว่าเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า” (มธ. 5,9)
กิจกรรม เชิญชวนผู้เรียนให้เลือกกระทำ “เมตตากิจ” ต่อเพื่อนมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะกับตน ได้แก่
1.ให้อาหารแก่ผู้อดอยาก
2.ให้ที่อยู่อาศัยแก่แขก
3.ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ขัดสน
4.เยี่ยมคนไข้
5.เยี่ยมนักโทษในคุก
6.ไถ่ทาสให้เป็นไท
7.ช่วยงานศพ
อ่านพระคัมภีร์ภาคพันธะสัญญาเก่า “บุตรสิรา” บทที่ 17 ข้อ 1 – 12 ขับร้องเพลง “ชีวิตคนเรา”
ชีวิตคนเรา
ชีวิตคนเราเหมือนข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในนาและแล้ว ชาวนาก็คัดเลือกไว้
ข้าวเลวนั้นเก็บแล้วก็โยนทิ้งไฟ ข้าวดีก็เก็บไว้ใช้ให้เป็นอาหารประทังชีวา
ชีวิตคนเราเหมือนปลาน้อยใหญ่ ว่ายติดแหอวนปลาไหนดีควรล้วนคัดเลือกมา
ปลาเลวนั้นแยกโยนทิ้งธารา เหลือไว้แต่เพียงหมู่ปลาที่มี คุณค่าหล่อเลี้ยงชีวี
นี่คือวาจาขององค์ชุมพาพระเจ้า เตือนร่ำเช้าให้กระทำความดี
เตรียมตัวพร้อมสิ้นดังคนใช้ที่ดี รอคอยนาทีที่นายกลับคืนมา
ชีวิตคนดีแม้มีทุกข์ยาก ลำบากลำบนชีวิตบางคนต้องทนสุดฝืน
แต่ชีวิตหน้าสุดแสนยั่งยืน ที่ร้ายจะกลายร่มรื่นชีวิตขมขื่นจะชื่นชมเอย (ซ้ำ)