บทที่ 6 พระเยซูคริสต์ทรงสอนอย่างผู้มีอำนาจ
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนรับทราบข่าวดีของพระองค์ นำไปใคร่ครวญและปฏิบัติตามเพื่อจะได้เข้าสู้พระอาณาจักรของพระเจ้า
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
อุปกรณ์ เขียน “บุญลาภ” แต่ละประการลงในกระดาษแต่ละชิ้น (ดูในเฉลย)
ตัดกระดาษแต่ละชิ้นออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหัวของ “บุญลาภ”
และส่วนหางของ “บุญลาภ” ตามตัวอย่าง
บุญของผู้มีใจยากจน เหตุว่าพระอาณาจักรเป็นของเขา
บุญของผู้ที่เป็นทุกข์โศกเศร้า เหตุว่าเขาจะได้รับการปลอบโยน
ฯลฯ ฯลฯ
นำชิ้นส่วนที่ตัดมาคลุกเคล้าปะปนกัน แล้วแยกไว้เป็นชุดๆ แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 4 - 5 คน แจกชิ้นส่วน “บุญลาภ” ให้กลุ่มละ 1 ชุด ให้แต่ละกลุ่มเรียง “บุญลาภ” ให้ถูกต้องโดยนำชิ้นส่วนมาต่อกัน
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
เฉลย
บุญของผู้ที่มีใจยากจน เหตุว่าพระอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
บุญของผู้ที่เป็นทุกข์โศกเศร้า เหตุว่าเขาจะได้รับการปลอบโยน
บุญของผู้ที่มีใจอ่อนโยน เหตุว่าเขาจะได้เป็นเจ้าของแผ่นดิน
บุญของผู้ที่กระหายความชอบธรรม เหตุว่าเขาจะได้อิ่มหนำสำราญ
บุญของผู้ที่มีใจเมตตา เหตุว่าเขาจะได้รับความเมตตากรุณาเช่นกัน
บุญของผู้ที่มีใจบริสุทธิ์ เหตุว่าเขาจะได้เห็นพระเป็นเจ้า
บุญของผู้ที่มีใจใฝ่สันติ เหตุว่าเขาจะได้ชื่อเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า
บุญของผู้ถูกเบียดเบียนข่มแหงเพราะความชอบธรรม เหตุว่าพระอาณาจักสวรรค์เป็นของเขา
“บุญลาภ” ทั้ง 8 ประการนี้คือคำเทศนาแรกและสำคัญที่สุดที่พระคริสต์ทรงแสดงบนภูเขา เป็นการประกาศโฉมหน้าใหม่ของผู้ที่นับถือพระเป็นเจ้า เราจึงเรียกพระคัมภีร์ภาคหลังนี้ว่า “พระธรรมใหม่” เพราะพระเยซูคริสต์ทรงเผยแสดงสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมให้แก่สิ่งเก่าๆ เพื่อให้บรรลุความสมบูรณ์
พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เรามิได้มาเลิกล้มพระธรรมบัญญัติและคำของบรรดาประกาศก แต่มาทำให้สมบูรณ์ขึ้น” (มธ. 5,17)
สรุป พระเยซูคริสต์นอกจากทรงประกอบภารกิจของพระเป็นเจ้าพระบิดาแล้ว ยังทรงเทศนาสั่งสอนประชาชนอย่างหามรุ่งหามค่ำ จนแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนรับประทานอาหาร และคำสั่งสอนของพระองค์ก็คอยซึมซับ และเกิดผลในจิตใจของผู้ที่รับฟัง โดยเฉพาะบรรดาสาวก
ขั้นที่ 3 คำสอน
- คำเทศนาเรื่อง “บุญลาภ” นี้สวนทางกับจิตตารมณ์ทางโลกอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น
โลกสอนว่าบุญของผู้ร่ำรวยเป็นเศรษฐี
แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่ยากจน
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่มีความสนุกสนาน
แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่โศกเศร้า
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่เสวยอำนาจวาสนา
แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่สุภาพอ่อนโยน
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่ได้ทุกอย่างสมใจนึก
แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่หิวกระหายความชอบธรรม
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่กอบโกยใส่ตัวเองได้มากที่สุด
แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่มีใจเมตตากรุณา
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่ปล่อยตัวหาความสุขทุกอย่าง
แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่มีใจบริสุทธิ์
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่ใช้กำลังสยบคนอื่น
แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่มีใจใฝ่สันติ
โลกสอนว่าบุญของผู้ที่เบียดเบียนรังแกคนอื่นได้
แต่บุญลาภสอนว่าบุญของผู้ที่ถูกเบียดเบียนข่มเหง
บุญของจิตตารมณ์ของโลกตกอยู่กับคนจำนวนน้อยนิด แต่บุญตามบุญลาภคือคนส่วนใหญ่ของโลก บุญลาภจึงเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่นี้ได้ลืมตาอ้าปาก มีศักดิ์ศรีของตนขึ้นมา
- พระเยซูคริสต์ยังทรงสอนว่าคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์อยู่ที่จิตใจภายใน มิใช่อยู่ที่การกระทำภายนอก เพราะพระองค์ทรงต่อต้านคัดค้านการกระทำเยี่ยงฟาริสีอย่างหนัก พระองค์ตรัสว่า “พวกอาจารย์พระคัมภีร์และพวกฟาริสีนั่งบนที่นั่งของโมเสส ฉะนั่นทุกสิ่งที่พวกเขาสอนท่านจงปฏิบัติตาม แต่อย่าทำตามความประพฤติของพวกเขาเลยเพราะพวกเขาดีแต่สั่งสอน แต่หาได้ปฏิบัติตามไม่................การกระทำของพวกเขาเป็นแต่เพียงเพื่ออวดคนอื่นเท่านั้น” (มธ. 23,2 – 3 และ 5) ตรงกันข้ามพระองค์สอนว่า “เมื่อท่านจะทำทานอย่าเป่าแตรประกาศเหมือนคนหน้าซื่อใจคดทำเพื่อให้คนสรรเสริญ................เมื่อทำทานอย่าให้มือซ้ายรู้ว่ามือขวาทำอะไร ทานของท่านต้องเป็นทานลับ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงล่วงรู้และจะประทานบำเหน็จให้ท่าน” (มธ. 6,2 – 4) และ “เมื่อท่านจะอธิษฐานภาวนา อย่าทำเหมือนคนหน้าซื่อใจคดที่ชอบยืนอธิษฐานภาวนา ในศาลาธรรมและตามถนนเพื่อให้คนทั้งปวงได้เห็น……………..แต่ท่านจงเข้าไปในห้องชั้นในปิดประตูแล้วอธิษฐานต่อพระบิดาผู้ทรงเห็นในที่เร้นลับ และจะประทานบำเหน็จแก่ท่าน” (มธ. 6,5 – 6)
- พระเยซูคริสต์ทรงสอนมุมมอมใหม่ของความทุกข์ยากลำบาก ซึ่งเป็นปัญหาคู่ชีวิตตลอดมา ใครๆก็มองความทุกข์ยากลำบากเป็นพิษเป็นภัยเป็นโทษที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงหรือขจัดออกไป แต่พระสอนว่า “ผู้ใดอยากตามเรามาก็ให้ผู้นั้นเอาชนะตนเอง แบกกางเขนของตน แล้วตามเรามา” (มก. 8,34) ความทุกข์ (กางเขน) กลายมาเป็นเครื่องหมายของการเป็นศิตย์ของพระองค์ และยังนำไปสู่ชีวิตใหม่ด้วย “ถ้าเมล็ดข้าวตกลงดินแล้วไม่เปื่อยสลายไปมันก็จะคงอยู่เมล็ดเดียว แต่ถ้ามันเปื่อยสลายไปมันจะงอกเป็นต้นข้าวใหม่ให้ผลเป็นอันมาก” (ยน. 12,24)
พระองค์ตรัสให้ความหวังว่า “ท่านจะร้องไห้คร่ำครวญ แต่โลกจะชื่นชมยินดี ท่านจะทุกข์โศก แต่ความทุกโศกของท่านจะกลับเป็นความชื่นชมยินดี” (ยน. 16,20) คำสอนของพระองค์ได้ปลุกเร้าใจบรรดามรณสักขีนับตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบันให้ยินดีรับทรมานและพลีชีพเพื่อพระเป็นเจ้าเป็นจำนวนเพื่อนับไม่ถ้วน และบัดนี้ความทุกข์ทรมานของพวกเขานั้นได้กลายเป็นความชื่นชมยินดีในสวรรค์ไปแล้ว
- แต่คำสอนที่เป็นหัวใจของคำสอนทั้งหลายก็คือคำสอนเรื่องความรัก พระองค์ตรัสว่า “จงรักพระเป็นเจ้าของเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ และสิ้นสุดความคิดของเจ้า นี่เป็นบัญญัติข้อใหญ่และข้อแรก บัญญัติข้อที่ 2 ก็เหมือนกันคือ จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติและธรรมของประกาศกทั้งหลายก็ขึ้นอยู่กับบัญญัติทั้งสองประการนี้” (มธ. 22,37 – 40) พระองค์ทรงสั่งสอนวิธีปฏิบัติความรักไว้มากมาย เช่น
“จงวางเครื่งบูชาไว้............กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน...” (มธ. 5,24)
“ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ก็จงยื่นแก้มซ้ายให้เขาตบด้วย” (มธ. 5,39)
“จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” (มธ. 5,44)
“เราให้บัญญัติใหม่แก่ท่าน คือให้ท่านรักกันและกัน” (ยน. 23,34)
- สาวกบางคนเริ่มตีห่างจากพระองค์เพราะทนฟังคำสั่งสอนเรื่องเนื้อของพระองค์เป็นอาหารและโลหิตของพระองค์เป็นเครื่องดื่มไม่ได้ พระเยซูคริสต์จึงถามอัครสาวกสิบสองของพระองค์ว่า “ท่านไม่ไปกับเขาด้วยหรือ ?” เปโตรตอบแทนคนอื่นๆว่า “เราจะไปหาใครพระเจ้าข้า พระองค์แต่เพียงผู้เดียวมีวาจาทรงชีวิต” (เทียบ ยน. 6,60 – 68) นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่าคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์มีคุณค่าสำหรับผู้ฟังสักเพียงไร ทุกวันนี้ผู้คนก็ยังได้อาศัยพระวาจาของพระองคี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ช่วยให้พลังในการฝ่าฟันอุสรรค ช่วยปลุกปลอบใจในยามเป็นทุกข์ ช่วยเยียวยาบาดแผลในใจยามพลาดล้ม ช่วยให้ความสว่างในยามมืดมน
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ข้อควรจำ
- “บุญลาภ 8 ประการ” คือคำสอนแรกและสำคัญที่สุดของพระเยซูคริสต์ ช่วยยกจิตใจของเราให้ดำเนินชีวิตโดยมีความหวังมากขึ้น
- “มนุษย์ดูที่รูปร่างภายนอก แต่พระเป็นเจ้าทอดพระเนตรจิตใจ” (1 ชมอ. 16,7)
- “ท่านจะร้องให้คร่ำครวญ แต่โลกจะชื่นชมยินดี ท่านจะทุกข์โศก แต่ความทุกข์โศกของท่านจะกลับเป็นความชื่นชมยินดี” (ยน. 16,20)
- “จงรักพระเป็นเจ้าของเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจและส้นสุดความคิดของเจ้า และจงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มธ. 22,37 – 39)
ข. กิจกรรม ร้องเพลง “รักแท้”
ความรักรวมเราเข้าเป็นหนึ่งเดียว ความรักสร้างความกลมเกลียวสัมพันธ์
ความรักแท้ไม่เปลี่ยนแปรผัน ความรักนิรันดร์นั้นรักยิ่งใหญ่
ความรักแท้เราต้องเสียสละ ความรักจะต้องมอบกายใจ
ความรักเราต้องรักทรงชัย ความรักถวายกายใจมอบแด่พระองค์
ความรักแด่องค์ทรงชัย มอบกายใจพร้อมทุกสิ่งประสงค์
เป็นความรักแท้ซื่อตรง มั่นคงดำรงไม่เปลี่ยนแปรผัน
ความรักเราต้องรักผู้อื่น ทนฝืนความเกลียดเดียดฉันท์
ฝึกตนสร้างความสัมพันธ์ ด้วยยึดมั่นแบบอย่างองค์ทรงชัย (ซ้ำ)