ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

 ignatian03ทักษะการสอนตามแนวคิดอิกญาเชี่ยน    
การเรียนการสอนตามแนวคิดอิกญาเชี่ยนประกอบทักษะ 5 ประการ ได้แก่ บริบท (Context) ประสบการณ์ (Experience) การไตร่ตรอง (Reflection) การปฏิบัติ (Action) และการประเมินผล (Evaluation) โดยรายละเอียดดังนี้

1.บริบท (Context)
บริบท หมายถึง การรู้จักผู้เรียน รู้สภาพที่แท้จริงของผู้เรียน บริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมแบบสถาบันของโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้ แนวคิดที่ผู้เรียนได้เรียนรู้และรับเอาไว้ก่อนเข้ากระบวนการเรียนรู้ การทำความเข้าใจตัวผู้เรียน ความพร้อม ประสบการณ์ ความรู้ เจตคติ เป็นการแสดงความสนใจและความห่วงใยเป็นรายบุคคล ทำความรู้จักและคุ้นเคยเรื่องส่วนตัว ครอบครัว เพื่อน สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศิลปะ ดนตรี ความใฝ่ฝัน ฯลฯ ปฏิบัติด้วยความเคารพ สร้างไว้วางใจ เป็นเพื่อนแท้ในการเรียนรู้

2.ประสบการณ์ (Experience)
ประสบการณ์ หมายถึง การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้เรียน สิ่งที่พวกเขารู้แล้ว ข้อเท็จจริง ความคิด มุมมอง ทฤษฎีใหม่ ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในแต่ละวัน ประสบการณ์อาจจะมาจาก ประสบการณ์โดยตรง หรือจากการบอกเล่าจากผู้อื่นก็ได้ แนวปฏิบัติ เช่น การนำเข้าสู่บทเรียน ด้วยการถามเชื่อมโยง การให้แสดงความคิดเห็นก่อนการเรียนการสอน การชี้แจ้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน การพูดถึงเรื่องที่เป็นที่สนใจของผู้เรียน บอกถึงเบื้องหลังหรือที่ไปที่มาของเนื้อหาที่จะเรียนรู้ในวันนี้ ชี้ให้ผู้เรียนเห็นประเด็นสำคัญของการเรียน การใช้ทักษะการตั้งคำถาม กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนลงมือกระทำด้วยตนเอง การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ การเรียนด้วยการค้นคว้า การใช้กระบวนการกลุ่มย่อย การให้เพื่อนช่วยเพื่อน

3.การไตร่ตรอง (Reflection)
การไตร่ตรอง หมายถึง การนำเอาประสบการณ์ของผู้เรียนมาพินิจพิจารณาแยกแยะ โดยการ    ตั้งคำถาม เพื่อทำความเข้าใจความหมายและคุณค่าที่สำคัญที่กำลังเรียนรู้ เพื่อค้นหาความสัมพันธ์กับ    ด้านอื่น ๆ ของความรู้และกิจกรรมของมนุษย์ เป็นการหล่อหลอมและปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ช่วยสร้างจิตสำนึกของผู้เรียนในลักษณะที่ผู้เรียนจะได้รับการกระตุ้นให้ก้าวพ้นจากการรับรู้ไปสู่การลงมือปฏิบัติ    แนวปฏิบัติ เช่น การให้คำปรึกษา การบันทึกประจำวันของผู้เรียน รูปแบบการกระทำซ้ำ กรณีศึกษา    การอภิปรายกรณีที่มีความขัดแย้ง การเล่นละคร การแสดงบทบาทสมมุติ การโต้วาที การสัมมนาเชิงวิชาการ

4.การปฏิบัติ (Action)
การปฏิบัติ หมายถึง แบบทดสอบของความรัก ซึ่งเป้าหมายของการหล่อหลอมอบรมหนุ่มสาว    คือการอุทิศตนอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สุขของสังคม การปฏิบัติยังหมายถึง   การเจริญเติบโตภายในของมนุษย์ อันมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ที่ผ่านการไตร่ตรองและแสดงให้เห็นภายนอก มีสองส่วนคือการเลือกที่เกิดขึ้นภายในกับการเลือกที่แสดงออกภายนอก แนวปฏิบัติเช่น ให้ทำโครงการ การมอบหมายงาน ให้มีประสบการณ์ในการรับใช้บริการ ให้ทำข้อเขียนและคำถามเพื่อคำตอบ   ในการเรียงความ การวางแผนและการนำไปปฏิบัติ ทางเลือกด้านงานอาชีพ

5) การประเมินผล (Evaluation)
การประเมินผล หมายถึง การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทดสอบ การประเมินตนเองของผู้เรียน การประเมินขอบเขตของพฤติกรรมผู้เรียน แฟ้มประวัติผู้เรียน การประชุมเพื่อปรึกษาหารือกับคณะครู การตั้งคำถาม การสำรวจประวัติ ผลงานของผู้เรียน ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสให้ผู้สอนได้แสดงความยินดีและให้กำลังใจแก่ผู้เรียน

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์