ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

คุณธรรมความยุติธรรม (Justice)

หรือ ความรับผิดชอบต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

 ถ้าท่านถามเพื่อน ๆ ว่า “คิดอย่างไรเมื่อได้ยินคำว่าความยุติธรรม” ท่านอาจจะได้ยินคำตอบในเชิงที่ว่าคิดถึงการลงโทษผู้ที่ทำผิดกฎหมายหรืออาชญากรรม คำตอบเช่นนี้เป็นคำตอบที่ดูน่าเศร้าและเป็นความเข้าใจเชิงลบเกี่ยวกับความยุติธรรม ซึ่งในทางตรงกันข้าม ความเข้าใจที่ได้รับการยอมรับแต่ดั้งเดิมก็คือ เป็นคุณธรรมชั้นสูงที่เราให้ผู้อื่นตามสิทธิของเขา เราแน่ใจได้เลยว่าคนที่ยุติธรรมนั้นจะเป็นคนที่ปฏิบัติหน้าที่ของเขาต่อทุกคนอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและเสมอภาค เพราะเขาคิดว่าเขาไม่สมควรที่จะละเมิดสิทธิของผู้ใด 

 

ความหมายตามคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก

ความหมายตามคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก

          ความยุติธรรม เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมที่มีเจตนามั่นคงที่จะให้แก่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์  สิ่งที่เป็นสิทธิของพระองค์และของเขา ความยุติธรรมต่อพระเจ้าจึงได้ชื่อว่า “คุณธรรมของศาสนา” คุณธรรมต่อมนุษย์จัดให้เราเคารพสิทธิของแต่ละคนและจัดให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มีความสามัคคีกลมเกลียวกันที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลและความดีส่วนรวม ความยุติธรรม (หรือ “ผู้ชอบธรรม”) ซึ่งได้รับการกล่าวถึงบ่อย ๆ ในพระคัมภีร์ เห็นได้ชัดจากอุปนิสัยความคิดที่ถูกต้องของเขาและวิธีปฏิบัติที่ตรงไปตรงมาของเขาต่อเพื่อนพี่น้อง “ท่านจะต้องไม่ลำเอียงเข้าข้างคนจนหรือคนมีอำนาจ แต่จงตัดสินคดีของเพื่อนบ้านอย่างยุติธรรม” (ลนต. 19:15) “ท่านที่เป็นเจ้านาย จงให้ทาสของท่านได้รับความยุติธรรมตามความเหมาะสม ท่านรู้แล้วว่าท่านก็มีเจ้านายองค์หนึ่งในสวรรค์เช่นเดียวกัน” (คส. 4:1)

(คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1807)

พื้นฐานของความยุติธรรม

พื้นฐานของความยุติธรรม

           ความหมายของการให้ผู้อื่นตามสิทธิของเขา หรือของใครก็คืนให้คนนั้นมีคำถามให้คิดต่อว่า คนเรามีอะไรที่เป็นสิทธิหรือเป็นของของตนเองบ้าง เราจะพูดได้อย่างไรว่า “ฉันเป็นเจ้าของสิ่งนี้ ฉันมีสิทธิในสิ่งนั้น” แม้แต่สิงห์สาราสัตว์และธรรมชาติก็ยังมีสิทธิและกฎหมายรับรองเพื่อคุ้มครองสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น แต่ในที่นี้จะพูดถึงความยุติธรรมที่คนหนึ่งจะต้องปฏิบัติกับอีกคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุว่าเมื่อไรก็ตามคนกลุ่มหนึ่งกระทำการอย่างอยุติธรรมกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขามักจะอ้างเหตุผลกับการกระทำที่เลวร้ายของพวกเขาโดยปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายนั้น ตัวอย่างเช่น เจ้าของทาสและการค้าทาสมักอ้างว่าคนผิวดำต่ำชั้นกว่ามนุษย์ นาซีใช้วิธีการเดียวกันเพื่ออ้างความถูกต้องในการปฏิบัติอย่างโหดร้ายกับชาวยิว  ในกรณีเช่นนี้เราถูกผจญให้คิดว่าเราเป็นพวกที่เจริญแล้ว เราศิวิไลซ์แล้วซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่เป็นข้ออ้างที่ไร้สาระและเลวร้ายมาก อะไรเป็นมาตรฐานที่จะปกป้องการกระทำในสมัยปัจจุบันเรื่องการทำแท้ง คือความคิดว่าตัวอ่อน (fetus) ทารกที่อยู่ในครรภ์ยังไม่ได้เป็นบุคคลที่แท้จริง แม้ว่ามนุษย์ทุกชีวิตเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้ามีจิตวิญญาณเพื่อที่เป็นภาพลักษณ์และความเหมือนกับพระเจ้า นี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องปฏิบัติความยุติธรรมกับมวลมนุษยชาติ เพราะสถานะพิเศษของพวกเขาในความสัมพันธ์กับพระเจ้า

            ในแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา ความตอนหนึ่งว่า "พวกเขาได้รับการรับรองโดยพระผู้สร้างของพวกเขาด้วยสิทธิที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” และด้วยสิทธิเหล่านี้จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

            บรรดาบิดาผู้ก่อตั้งชาติอเมริกาตระหนักดีถึงแก่นแท้ของความจริงที่ว่า พระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดแห่งสิทธิของมนุษย์และความยุติธรรมนี้ขึ้นอยู่กับความสำนึกถึงความรักและพระพรที่ประทานไว้ให้แก่มนุษยชาติ ถ้าเรามองคนแค่เป็นที่รวมของอะตอมแทนที่จะเป็นบุตรของพระเจ้า เราก็จะไม่สามารถรักษาความยุติธรรมไว้ได้  โดยประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อไรก็ตามที่สังคมพยายามตัดตัวเองออกจากพระเจ้าและศาสนา ขั้นตอนแรกที่เกิดขึ้นคือการแพร่กระจายของความอยุติธรรม ดังนั้นพระเจ้าจึงเป็นผู้ปกป้องความยุติธรรม

ความยุติธรรมและความสัมพันธ์

ความยุติธรรมและความสัมพันธ์

          ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมที่โดยตัวเองแล้วจะต้องเกี่ยวข้องกับคุณธรรมอื่น ๆ ด้วย ความสำคัญของความยุติธรรมจึงถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่สองในคุณธรรมหลักสี่ประการตามคำสอนของคาทอลิก (คุณธรรมหลัก 4 ประการ ได้แก่ ความรอบคอบ ความยุติธรรม ความกล้าหาญ และความรู้ประมาณ) ความยุติธรรมทำให้เราคิดถึงไม่เฉพาะสิทธิและสิ่งของของตนเองเท่านั้น แต่ยังคิดถึงสิทธิและสิ่งของของผู้อื่นอีกด้วย จึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เป็นการให้ความสำคัญกับผู้อื่น ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมที่กว้างกว่าและครอบคลุมมากกว่าความกล้าหาญและความรู้ประมาณ ซึ่งทั้งสองเน้นไปที่เรื่องของตัวเอง

            ดังนั้นความยุติธรรมจึงเป็นความจำเป็นหลักในการปฏิบัติต่อกันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หากปราศจากความยุติธรรมแล้ว เราก็ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ กล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่น่าสงสารและเจ็บปวดมากไปกว่าที่คน ๆ หนึ่งจะถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย เหมือนถูกจับให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่แคบ ๆ ของตนเอง ปิดกั้นตัวเอง อ้างว้าง ไม่มีความสุข

           พลาโต (นักปรัชญากรีก) ตระหนักดีถึงความทุกข์ของคนที่ไม่มีความยุติธรรม เขาประกาศชัดเจนว่า “คนที่ไม่ยุติธรรมมีความน่าสงสารมากกว่าคนที่ต้องทนทุกข์เพราะความไม่ยุติธรรม” ตรงกันข้าม คนที่ยุติธรรมมีความสัมพันธ์ในลำดับที่ดีและถูกต้องกับทุกคน และมีพื้นที่ที่จะหลุดพ้นจากความเหงาและความแห้งแล้งในชีวิต มีความตื่นเต้นกับความดีงามของเพื่อน ๆ และสังคม

            ในทางปฏิบัติคุณธรรมความยุติธรรมนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในสามระดับ คือ ความสัมพันธ์กับพระเจ้า ความสัมพันธ์กับแต่ละบุคคล และความสัมพันธ์กับสังคม นอกจากนั้นยังมีบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ในบทความนี้ขอเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของสองระดับแรก

ยุติธรรมต่อพระเจ้า

ยุติธรรมต่อพระเจ้า

       ความยุติธรรมเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราเป็นหนี้ที่ต้องชำระให้ผู้อื่น คำถามก็คือ เราเป็นหนี้อะไรต่อพระเจ้า แน่นอนเราเป็นหนี้พระเจ้าในทุกสิ่ง พระองค์ประทานทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา ความเป็นอยู่ของเรา ตัวตนของเรา ความรอดพ้นจากบาปของเรา รวมถึงพระพรต่าง ๆ ที่เรามี พระเจ้าจึงมีสิทธิในชีวิตของเราอย่างเต็มที่ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ เราเป็นหนี้ชีวิตพระเจ้า เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ เราได้แสดงความยุติธรรมที่แท้จริงต่อพระเจ้าแล้วหรือยัง เราได้จ่ายหนี้ก้อนโตของเราคืนแด่พระเจ้าหรือยัง “คนเรา” ไม่สามารถพูดกับพระเจ้าได้ว่า “เราหายกันนะ” หรือ “จ่ายคืนให้พระองค์หมดแล้วนะ” เรามีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายคืนพระองค์ หมายความว่าเราต้องถวายทุกสิ่งที่เรามีและเราเป็น ทั้งร่างกาย จิตวิญญาณ และจิตใจ รวมถึงทุกสิ่งที่เรามีแด่พระเจ้า นี่เป็นหลักการปกติของความยุติธรรม แต่ในการปฏิบัติจริงนั้น สิ่งที่เราได้ทำให้พระเจ้านั้นพูดได้ว่ามันน้อยกว่าความยุติธรรมเสียอีก เพราะเรายังไม่ได้ทำอะไรให้พระเจ้าเหมือนกับที่พระองค์ทรงทำให้เราเลย สิ่งที่เราสามารถกระทำได้คือ ขอให้เราถวายการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันของเราแด่พระเจ้าด้วยความสุภาพ ตามคำสอนของพระองค์ที่ว่า “เมื่อท่านได้ทำตามคำสั่งทุกประการแล้ว จงพูดว่า ‘ฉันเป็นผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ เพราะฉันทำตามหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น” (ลก 17:10) เราจะอวดอะไรไม่ได้เลย การตอบแทนพระคุณพระเจ้าเป็นหน้าที่เบื้องต้นของเราทุกคน

            ดังนั้น สิ่งที่เราทุกคนต้องกระทำก็คือ นบนอบเชื่อฟังพระเจ้า ขอบพระคุณพระองค์ นมัสการพระองค์ นักบุญโทมัสยืนยันว่าศาสนาพูดอย่างจริงจังเรื่องความยุติธรรม  จึงไม่แปลกเลยที่เราอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ แต่ความจริงก็คือเรามีหน้าที่ที่จะต้องกระทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า และปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินชีวิตทุกประการที่พระองค์ทรงมอบให้ เรื่องหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงความยุติธรรมต่อพระเจ้า ก็คือการถวายหนึ่งในสิบแด่พระเจ้า เป็นที่น่าเสียใจที่ความยุติธรรมในเรื่องนี้ไม่ค่อยได้ปฏิบัติกันมากนัก พวกเขาลืมว่าพระเจ้ามีสิทธิที่ได้รับรายได้ส่วนหนึ่งของเรา ซึ่งความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์เรียกร้องของถวายที่เป็นเงินเช่นเดียวกับของถวายอื่น ๆ ในชีวิตของเรา คำว่า “หนึ่งในสิบ” ในทางปฏิบัติคือการถวายอย่างน้อยร้อยละสิบของรายได้แด่พระเจ้า โดยผ่านทางพระศาสนจักรหรือในกิจการศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ (ตามหลักการแล้วการการถวายหนึ่งในสิบนี้ผู้ถวายจะต้องไม่ออกนามและไม่หวัง ผลประโยชน์ใด ๆ กลับคืนมา)

            เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของความชอบหรือไม่ชอบ หรือทำอะไรพิเศษเกินกว่าปกติ เราเป็นหนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต่อพระเจ้า ดังนั้นเราจึงต้องคืนพระองค์ อย่างน้อยในเรื่องที่เราสามารถกระทำได้ สิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการไม่ใช่สิ่งของแต่พระองค์ทรงต้องการหัวใจของเรา จึงไม่เป็นความยุติธรรมอย่างแน่นอนถ้าเราไม่ได้ถวายพระเกียรติแด่พระองค์ ไม่ขอบพระคุณพระองค์ และไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ไม่เป็นความยุติธรรมอย่างแน่นอน ถ้าเราจะนำเอาพระนามของพระองค์ไปใช้ในทางที่ผิด เพราะการทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นการให้เกียรติพระองค์ ไม่เป็นความยุติธรรมอย่างแน่นอน ถ้าเราไม่รักษาวันของพระเจ้าให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ตามที่พระองค์ทรงขอ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพระศาสนจักรคาทอลิกยังคงสอนว่าการขาดพิธีมิสซาฯ วันอาทิตย์เป็นบาปหนัก ทำไมจึงเป็นความผิดหนัก ก็เพราะว่าพระเจ้าทรงให้วันเวลาแก่เรา แต่เรากลับปฏิเสธที่จะให้วันหนึ่งในสัปดาห์คืนแด่พระองค์

ความยุติธรรมต่อปัจเจกชน

ความยุติธรรมต่อปัจเจกชน

เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น อาจจะมีคำถามว่า "ฉันเป็นหนี้อะไรกับเพื่อนบ้าน" แน่นอน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเป็นหนี้เพื่อนบ้านของเรา มีเรื่องมากมายที่เป็นสิทธิองพวกเขาที่เราจะต้องให้ความเคารพเขา ลองพิจารณากรณีต่างๆ เหล่านี้  

  • บุคคลที่บริสุทธิ์มีสิทธิในชีวิตของตน การฆาตกรรมเป็นการละเมิดสิทธินั้น นี่จึงเป็นความอยุติธรรม
  • ก่อนที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศต่อกันได้นั้น คู่กรณีของเรามีสิทธิที่จะรักษาความบริสุทธิ์ มีสิทธิที่จะได้รับความรัก ความผูกพันและคำมั่นสัญญาจากกันและกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยผ่านการแต่งงานเท่านั้น การผิดประเวณีและการมีชู้เป็นการละเมิดสิทธินั้น จึงเป็นความอยุติธรรม
  • บุคคลมีสิทธิที่จะครอบครองทรัพย์สินของตน การขโมยหรือการฉ้อโกงเป็นการละเมิดสิทธินั้น (รวมถึงการหลอกลวงทุกชนิด เพื่อแสวงหาผลประโยชน์บนการสูญเสียของผู้อื่น) จึงเป็นความอยุติธรรม
  • ทุกคนมีสิทธิที่จะรักษาชื่อเสียงที่ดีของตน การนินทาหรือการพูดให้ร้ายเป็นการละเมิดสิทธินั้น จึงเป็นความอยุติธรรม
  • ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่สุภาพ ความหยาบคายเป็นการละเมิดสิทธินั้น จึงเป็นความอยุติธรรม
  • แต่ละบุคคลมีสิทธิที่จะได้รับความเคารพนับถือ การเยาะเย้ยถากถาง (การทำให้บางคนกลายเป็นตัวตลกเพื่อเป็นการทับถมเขา) เป็นการละเมิดสิทธินั้น จึงเป็นความอยุติธรรม
  • บุคคลมีสิทธิในศักดิ์ศรีทางจิตวิญญาณของตน นั้นคือ การชื่นชมยินดีในคุณค่าของการเป็นบุคคล (ซึ่งตรงกันข้ามกับการถูกปฏิบัติแค่เป็นวัตถุธาตุเท่านั้น) สื่อลามกเป็นการละเมิดสิทธินั้น จึงเป็นความอยุติธรรม
  • คนอื่นๆ มีสิทธิที่จะได้เห็นตัวอย่างที่ดี การเป็นที่สะดุดเป็นการละเมิดสิทธินั้น จึงเป็นความอยุติธรรม
  • คนอื่น ๆ มีสิทธิในความจริง การโกหกเป็นการละเมิดสิทธินั้น จึงเป็นความอยุติธรรม

            แน่นอนยังมีความอยุติธรรมในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมายที่อยู่นอกเหนือจากที่ได้ยกตัวอย่างไว้นี้ ในการแสวงหา คุณธรรมความยุติธรรมนั้นจะเกิดประโยชน์ถ้าเราพิจารณาถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของความอยุติธรรมที่เรากระทำต่อผู้อื่น เพื่อเราจะได้วางฐานการปฏิบัติความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จงจำไว้ว่าความยุติธรรมและความอยุติธรรมไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหรือการละเมิดกฎ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสร้างและรักษาชุมชนให้ยั่งยืนกับบุคคลต่าง ๆ ในชีวิตของเรา การตระหนักถึงความจริงนี้จะช่วยเรากำจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อรักษาความยุติธรรมไว้ได้

ความยุติธรรมและความเมตตา

ความยุติธรรมและความเมตตา

           เราทุกคนต่างรู้ดีว่าความยุติธรรมและความเมตตาเป็นความจริงที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงกันที่ลึกซึ้งระหว่างกัน บุคคลหนึ่งที่เข้าใจถึงความสัมพันธ์อย่างดีก็คือ นักบุญยอห์น ปอล ที่สอง พระสันตะปาปา พระองค์ทรงยืนยันว่าความเมตตา "เผยแสดงความยุติธรรมอย่างครบครัน" ถ้าอย่างนั้นแล้วอะไรคือความแตกต่างและความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องทั้งสอง ที่จริงแล้วความแตกต่างเป็นเรื่องที่พูดได้ง่าย ๆ ดังนี้ ความยุติธรรม หมายถึง การให้ผู้อื่นตามสิทธิของเขา ในขณะที่ ความเมตตา หมายความว่า การให้ผู้อื่นมากกว่าสิทธิที่เขาควรได้

นอกจากนั้น ความยุติธรรมไม่เพียงพอแค่ทำให้ความสัมพันธ์เติบโตขึ้นเท่านั้น แต่เรียกร้องให้การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมอีกด้วย สิ่งนี้ชัดเจนจากความจริงที่ว่าเราเป็นหนี้มากกว่าที่เราจะสามารถจ่ายคืนได้หมด ตัวอย่างเช่น เราเป็นหนี้ชีวิตพ่อแม่ของเรา และไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่าเท่ากับการตอบแทนบุญคุณของท่านด้วยชีวิต หรือการให้อาหารแก่คนที่อดอยากในยามที่ต้องการ สิ่งที่เราให้กับบุคคลเช่นนี้ เขาไม่สามารถจ่ายคืนเราได้ แต่ในกรณีเหล่านี้ เช่นเดียวกับการใจดีอื่น ๆ เป็นความจำเป็นสำหรับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี (ซึ่งอย่างที่เราได้บอกแล้ว เป็นหนึ่งของความดีที่เราทำแล้วเกิดความสุข) ดังนั้น คุณธรรมความยุติธรรมจะต้องเสริมให้สมบูรณ์ด้วยความเมตตาต่อเพื่อนบ้านของเรา

            ยิ่งกว่านั้น อย่างที่ความเชื่อสอนเราว่า ไม่มีความยุติธรรมถ้าไม่มีความเมตตา เพราะพระเจ้าทรงเมตตาเราจึงทรงสร้างเรามา เรามนุษย์จึงมีความสัมพันธ์กับพระองค์ เราเป็นหนี้ชีวิตพระองค์ พระองค์ไม่ได้เป็นหนี้อะไรเรา ความยุติธรรมคือเราต้องตอบแทนหรือจ่ายหนี้ชีวิตคืนพระองค์ แต่พระองค์ทรงเมตตาเรา ทรงยกโทษและให้อภัยเรา ถ้าพระองค์มิได้ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อไถ่บาปเรา เราก็จะไม่มีอิสระ หลุดพ้นจากการเป็นทาษของบาป นี่แสดงให้เห็นความเมตตาของพระเจ้าที่มาก่อนและไปไกลกว่าความยุติธรรมของพระองค์

            พระบิดา พระบุตร และพระจิตทรงมีพระเมตตาต่อมนุษย์เราเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเราพิจารณาถึงบทบาทของพระบุคคลที่สองในพระตรีเอกภาพที่ได้ทรงเสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์และสิ้นพระชนม์เพื่อกอบกู้ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ที่ได้สูญเสียไปเพราะบาปกลับคืนมา เราได้รับการคาดหวังให้กระทำเช่นเดียวกัน คือ ต้องไปให้ไกลกว่าความจำกัดของความยุติธรรมและขอมีใจกว้าง มีเมตตา และการให้อภัย

            พระเมตตาของพระเจ้าเป็นรูปแบบชีวิตของเรา เหมือนกับคำสอนเปรียบเทียบเรื่องคนใช้ไร้เมตตา และบทภาวนาข้าแต่พระบิดาฯ "โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น" คริสตชนทุกคนจะต้องให้ผู้อื่นมากกว่าที่พวกเขาเป็นหนี้เรา ถ้าเราจะปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ อีกคำสอนหนึ่งจากพระวรสาร “ท่านเคยได้ยินเขากล่าวว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า อย่าโต้ตอบคนชั่ว ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย ผู้ใดฟ้องท่านที่ศาลเพื่อจะได้เสื้อยาวของท่าน ก็จงแถมเสื้อคลุมให้เขาด้วย ผู้ใดจะเกณฑ์ให้ท่านเดินไปกับเขาหนึ่งหลัก จงไปกับเขาสองหลักเถิด ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมจากท่าน” (มธ 5:38-42) ศิษย์ที่จงรักภักดีขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะไม่เพียงแต่พอใจกับความยุติธรรมเท่านั้น เขาจะต้องคิดให้ไกลกว่าและพัฒนาไปสู่ความเมตตา

ความยุติธรรมและความรัก

ความยุติธรรมและความรัก

          ความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งที่เราควรทำความเข้าใจระหว่างความยุติธรรมกับความรัก ความแตกต่างอยู่ในความจริงที่ว่าความยุติธรรมเกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านของเรา คือ ความยุติธรรมช่วยให้เราได้ทำหน้าที่ของเราที่มีต่อผู้อื่นให้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือ ความยุติธรรมบอกฉันว่าฉันจะต้องทำอะไรเพื่อเธอ อย่างไรก็ตาม ในความรัก เราได้เชื่อมโยงผู้อื่นกับตัวของเราเอง เราเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขาเพื่อให้ความสุขของพวกเขาได้กลับกลายเป็นหนึ่งเดียวกับความสุขของเราเอง ในความรัก จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวฉันกับตัวของเธอ แต่เป็นเรื่องของเรา

            ดังนั้นเมื่อเรารักคนหนึ่งคนใด เราไม่ได้พูดว่าเราเป็นหนี้อะไรกัน หรือพูดเรื่องหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อความยุติธรรม ความหมายของพันธะหน้าที่ หรือการเป็นหนี้ ไม่ได้เข้ามาในอยู่ในกรอบความคิดคำนึงของความรัก เพราะด้วยความรักมีเพียงความปรารถนาที่จะรับใช้ช่วยเหลือผู้ที่เรารัก ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ชายคนหนึ่งรักหญิงคนหนึ่งอย่างแท้จริง เขาคงไม่คิดว่า "ฉันเป็นหนี้อะไรเธอ" ยิ่งไปกว่านั้น เขาจะต้องคิดว่า  "ฉันจะทำให้เธอมีความสุขได้อย่างไร” เพราะความสุขของเธอได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับความสุขของเขา ด้วยเหตุนี้ทั้งสองจึงแยกจากกันไม่ได้

            นี่คือเป้าหมายในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าและกับเพื่อนบ้าน ให้เราควรก้าวข้ามความยุติธรรมออกไป เราจำเป็นต้องพยายามอย่างที่สุดที่จะก้าวไปให้พ้นความคิดของคำว่าเป็นหนี้และหน้าที่ และไปให้ถึงคุณค่าในความสุขกับพระเจ้าก่อนสิ่งใด และคิดถึงคุณค่าในความสุขกับเพื่อนบ้านซึ่งก็คือความสุขของเราเอง นี่คือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตขอเรา  

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์