ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

คุณธรรม ความรู้ประมาณ (Temperance)
ประสบการณ์อย่างหนึ่งในชีวิตของเราที่ทุกคนคงต้องพบเจอ คือการต่อสู้กับการผจญในเรื่องที่เรารู้ว่าเมื่อทำไปแล้วจะเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเราและต่อผู้อื่น “ความรู้ประมาณ” จึงเป็นคุณธรรมที่ช่วยต้านทานการผจญเหล่านี้ เพราะความรู้ประมาณจะช่วยให้เราสามารถหลุดพ้นจากการกระทำผิดนั้นได้แม้ว่าเรามีความรู้สึกอย่างรุนแรงในเรื่องนั้นก็ตาม หรืออีกนัยหนึ่งความรู้ประมาณเป็นคุณธรรมที่ช่วยไม่ให้เรากระทำบาปแม้ว่าเราจะมีความต้องการจะกระทำก็ตาม


ความหมายของความรู้ประมาณ
(คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1809)

ความรู้ประมาณ เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมที่คอยควบคุมให้ความสุขการใช้สิ่งสร้างที่คอยดึงดูดเราอยู่ในสมดุล ช่วยเสริมกำลังเจตนาให้เข้มแข็งสามารถควบคุมสัญชาตญาณและความปรารถนาไว้ภายในขอบเขต บุคคลที่รู้ประมาณจัดระเบียบความต้องการตามประสาทของตนให้มุ่งหาความดี รู้จักแยกแยะว่าอะไรดีไม่ดีและไม่ดำเนินตามแรงที่ผลักดันให้ทำตามที่ใจของตนปรารถนา ความรู้ประมาณได้รับคำชมเชยบ่อย ๆ ในพันธสัญญาเดิม (บสร 18:30) ในพันธสัญญาใหม่ ความรู้ประมาณยังได้ชื่อว่า “สติสัมปชัญญะ” อีกด้วย เราต้อง “ดำเนินชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะด้วยความชอบธรรมและความเคารพเลื่อมใสพระเจ้าในโลกนี้” (ทต 2:12)

คุณธรรมความรู้ประมาณกับคุณธรรมอื่นๆ

คุณธรรมความรู้ประมาณกับคุณธรรมอื่น ๆ

               เป็นที่สังเกตว่าความรู้ประมาณเป็นคุณธรรมประการสุดท้ายของคุณธรรมหลักสี่ประการของคำสอนคาทอลิก ทั้งนี้เพราะว่าความรู้ประมาณคือ การรักษาความดีไว้ แต่ท่านจะรักษาความดีได้นั้นท่านจะต้องรู้ว่าอะไรเป็นความดีและรู้วิธีที่จะรักษาความดีนั้นไว้ได้อย่างไรก่อน นี่แหละทำไมเราจึงต้องทำความเข้าใจคุณธรรมความรอบคอบ (ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าอะไรเป็นความดี) และความยุติธรรม และความกล้าหาญ  ก่อนที่จะเรียนรู้คุณธรรมความรู้ประมาณ ซึ่งก็คือ การรู้จักหลีกหนีความชั่ว หรือการไม่ยอมสูญเสียความดี

                ปัญหาก็คือคนส่วนใหญ่เห็นว่าเป้าหมายใหญ่ของชีวิตคริสตชนคือ การหลีกหนีบาป ถ้ามีคนถามว่า “คริสตชนที่ดีคือใคร” คนส่วนใหญ่อาจจะตอบด้วยถ้อยคำที่เป็นเชิงลบ เช่น “คริสตชนที่ดีคือคนที่ไม่เป็นชู้ ไม่ผิดทางเพศ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เสพสิ่งเสพติด หรือเป็นคนเลว พูดจาลามก โกหกพกลม หรือขโมย” นี่เป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้องเพราะคนที่อยู่ในอาการโคม่าใกล้จะตายก็ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ (แม้แต่สุนัขที่ท่านเลี้ยงก็ไม่ได้ทำชั่วช้าได้เช่นนี้) เมื่อเราคิดถึงคริสตชนในอุดมคติ หวังว่าเราคงไม่คิดถึงคนที่อยู่ในอาการโคม่า หรือสุนัข หรือคนชั่ว หรือพวกเทวดาตกสวรรค์เช่นนี้

                 บางคนไม่ได้เป็นคริสตชนที่ดี หรือแม้กระทั่งเป็นคนดี เพราะเขาไม่ได้ทำบางอย่าง แต่เขาก็ได้ทำหลายอย่าง เช่น แสวงหาความดี มุ่งมั่นในการส่งเสริมความงดงาม สุขภาพถ่อมตน แสวงหาความศักดิ์สิทธิ์ มีมิตรภาพ พูดความจริง ฯลฯ เราต้องมั่นใจว่าจุดเน้นของเราคือเน้นการทำดีมากกว่าการหลีกหนีหรือละเว้นความชั่ว เรื่องการดำเนินชีวิตในคุณธรรมความดีนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือการทำความดี นี่แหละทำไมความรู้ประมาณจึงเป็นคุณธรรมสุดท้ายในลำดับของคุณธรรม และเป็นคุณธรรมที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกับคุณธรรมอื่น ๆ

                 ในจุดนี้ เพื่อช่วยให้เราเข้าใจคุณธรรมหลักทั้งสี่ประการได้ดียิ่งขึ้นจึงขอเปรียบเทียบกับการเรียนขับรถยนต์ ถ้าท่านต้องการเรียนขับรถยนต์ สิ่งแรกท่านต้องเรียนการควบคุมรถ นี่ตรงกับคุณธรรมความรอบคอบ จากนั้นท่านต้องเรียนรู้เรื่องการระมัดระวังสภาพแวดล้อมของการจราจร การใช้รถร่วมกันกับคนอื่นบนท้องถนน ทักษะนี้ตรงกับคุณธรรมความยุติธรรม ประการที่สาม ท่านต้องเรียนรู้วิธีที่ใช้คันเร่ง การออกรถ การเหยียบคันเร่งอย่างไรให้เหมาะสมเพื่อให้รถวิ่งไปสู่จุดหมาย นี่ตรงกับคุณธรรมความกล้าหาญ สุดท้ายท่านต้องเรียนรู้วิธีที่จะหลีกเลี่ยงการชนและความเสียหาย ขับให้ปลอดภัย ความสามารถนี้ตรงกับคุณธรรมการรู้ประมาณ

                  แน่นอน จุดมุ่งหมายของรถไม่เพียงแต่หลีกเลี่ยงการชนเท่านั้นแต่เป็นการไปให้ถึงที่หมาย เช่นเดียวกันจุดหมายหลักของชีวิตไม่ใช่เพียงหลีกเลี่ยงบาป แต่ต้องไปให้ถึงความสุขที่เที่ยงแท้ ถึงกระนั้นถ้ารถยนต์ชนหรือคว่ำ มันก็พาท่านไปไหนไม่ได้ เช่นเดียวกันถ้าท่านไม่หลีกเลี่ยงบาป ท่านก็จะไม่ได้รับความสุขเช่นกัน ดังนั้นความรู้ประมาณจึงช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข

เอาชนะความปรารถนาทางเพศที่รุนแรง (Concupiscence)

เอาชนะความปรารถนาทางเพศที่รุนแรง (Concupiscence)
               
ความปรารถนาทางเพศที่รุนแรง เป็นความต้องการของมนุษย์ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เหมือนคนเป็นโรคเบาหวานก็ยังชอบกินของหวาน คนที่ติดเหล้าก็อยากดื่มเหล้า เราทุกคนในบางช่วงบางเวลาก็มีความปรารถนาที่จะทำสิ่งที่เป็นบาป ความรู้ประมาณป้องกันการปลุกเร้าจากอันตรายเหล่านี้ ช่วยควบคุมความปรารถนาของเรา แทนที่จะให้ความปรารถนาควบคุมเรา สำหรับคนที่ไม่รู้ประมาณ คนที่ปล่อยให้แรงขับเหล่านี้ออกมาแผลงฤทธิ์ในชีวิตจะทำให้คนนั้นมองเห็นความจริงได้ยาก และยากที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นชีวิตของคนที่ใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นตัวนำแทนที่จะใช้ความรอบคอบ ความยุติธรรมและความกล้าหาญ ความรู้ประมาณช่วยควบคุมแรงกระตุ้นและทำให้เราย้อนกลับใช้คุณธรรมสามประการแรกนั้น เราพูดได้ว่าการรู้ประมาณช่วยทำให้คุณธรรมอื่นดำเนินงานได้

                นอกจากนั้น การู้ประมาณยังช่วยปกป้องความดีทุกอย่างที่เรากำลังกระทำ ถ้าคนหนึ่งทำดีแต่ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ที่สุดเขาก็จะจบลงด้วยความเกลียดสิ่งที่ดีนั้น เช่น แอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ดี ไม่มีใครเกลียดแอลกอฮอล์แต่เกลียดคนขี้เหล้า คนเกลียดเพราะมันทำให้เขาต้องเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป เสียครอบครัวของเขา เสียหน้าที่การงาน เสียการเคารพตนเอง ฯลฯ

               เรื่องเพศก็เช่นกัน เพศเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่น่ากลัวคือการมีอาการ “นิมโฟมาเนีย” หรือความผิดปกติทางด้านร่างกายและสภาพจิตที่พร้อมจะมีกิจกรรมทางเพศ หรือเป็นทาสของความต้องทางเพศ ซึ่งนำไปสู่การลดศักดิ์ศรีของตนเองโดยประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่มิชอบนั้น ประเด็นคือเขาเสพติดกับความพึงพอใจที่นำความพินาศมาให้ตนเอง คือไม่สามารถควบคุมตนในการดำรงตนเป็นคนดี และยังเป็นสาเหตุทำให้ผู้อื่นสูญเสียความดีไปด้วย ดังนั้นการรู้ประมาณช่วยนำทางความปรารถนาของเราให้อยู่ในทางที่ถูกต้องและเอาชนะความปรารถนาทางเพศที่รุนแรง ปกป้องความดีและความสุขของมนุษย์โดยรวม

ความรู้ประมาณยืนอยู่ระหว่างความสุดโต่งสองขั้ว

ความรู้ประมาณยืนอยู่ระหว่างความสุดโต่งสองขั้ว

               เช่นเดียวกับกรณีของความกล้าหาญ ความกล้าหาญก็ต้องกล้าหาญแบบรู้ประมาณ ดังนั้นความสุดโต่งประการแรกของความรู้ประมาณคือ ความไม่รู้ประมาณ หรือ การขาดการควบคุมตนเอง หรือการไม่ยับยั้งชั่งใจ เราได้พูดเรื่องของพยศชั่วนี้มาแล้ว นั้นคือ เมื่อคนหนึ่งไม่สามารถควบคุมแรงผลักดันอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นและยินยอมพร้อมใจกระทำตามแรงขับนั้น การปล่อยเนื้อปล่อยตัวแบบนี้จะนำไปสู่ความหายนะ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องการขับรถ ผลของการไม่ควบคุมตนคือรถต้องพัง ชีวิตต้องพินาศ

               ความสุดโต่งประการที่สองคือ ความเมินเฉย หรือการไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่มีความปรารถนาที่จะทำดี หรือแม้กระทั่งไม่มีแรงจูงใจที่มีชีวิตที่ดี ธรรมดาแล้วคน ๆ หนึ่งอาจจะถูกดึงดูดด้วยเรื่องทางเพศ อาหารการกิน ความสำเร็จ ชีวิตทางสังคม ฯลฯ แต่คนประเภทนี้กลับเฉย ๆ ไม่คิดอะไร ดังนั้นความรู้ประมาณจึงช่วยดึงเขาขึ้นมาให้คิดที่จะทำให้เกิดสิ่งดี ๆ กับชีวิต ความรู้ประมาณจึงอยู่สายกลางระหว่างการทำอะไรอย่างไม่ยับยั้งชั่งใจกับการไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรในชีวิต

รูปแบบของความไม่รู้ประมาณ

รูปแบบของความไม่รู้ประมาณ

             เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในความรู้ประมาณ จึงควรที่จะทบทวนสิ่งที่เป็นอุปสรรคพื้นฐานในชีวิตของเรา
             ความไม่รู้ประมาณในเรื่องของการกินการดื่มเรียกว่า “โลภอาหาร” (gluttony) ปัญหาไม่ใช่เรื่องที่ว่าคนหนึ่งควรกินมากน้อยเท่าไร (ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย) แต่มันจะเป็นบาปเมื่อคนหนึ่งพิถีพิถันมากเกินไป หรือยึดติดกับอาหารบางอย่างมากเกินไป หลายคนไม่ยอมกินอะไรเลยนอกจากสิ่งที่ตนเองชอบเท่านั้น “ทุกครั้งที่เราไม่พอใจ ไม่อดทน ไม่มีรักและเมตตา หรือห่วงแต่ตนเอง เพราะกระเพาะอาหารของตน กรณีเหล่านี้แหละ คือ การโลภอาหาร”

             พยศชั่วหรือความโน้มเอียงให้เกิดความชั่วที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์เรียกว่า “ความขี้เหล้าเมายา” (รวมถึงการเสพติดสิ่งที่ผิดกฎหมายอื่นๆด้วย) การติดเหล้าเมายาทำให้เราสูญเสียธรรมชาติที่งดงามน่ารักของตัวเราในฐานะที่เป็นสิ่งสร้างชั้นยอด ให้กลับกลายเป็นคนที่น่ารังเกลียด เราทำให้ศักดิ์ศรีและเกียรติยศของการเป็นบุตรของพระเจ้าต่ำลง กลับกลายเป็นสิ่งสร้างที่ไม่ใช้สติสัมปชัญญะ ควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นการลดคุณค่าของตนเองโดยตรง และเป็นอุปสรรคต่อความสามารถที่จะทำความดีขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ของมนุษย์

               รูปแบบของความไม่รู้ประมาณที่คนส่วนใหญ่สนใจคือ ความไม่รู้ประมาณตนที่เกี่ยวกับเรื่อง “เพศ” แน่นอนเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ดีเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ทำให้มนุษย์เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นความปรารถนาทางร่างกายที่จะได้มีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับคนที่ตนรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับพลังด้านความรัก สมรรถภาพที่จะรักและมีบุตรสืบสกุล

                อย่างไรก็ตาม “ตัณหา” (Lust) เป็นการแสวงหาความสนุกสนานทางเพศอย่างไร้ระเบียบและมากเกินไปความต้องการทางเพศเป็นพยศชั่วได้ ถ้าต้องการใช้ผู้อื่นเพื่อความพึงพอใจทางเพศของตนเท่านั้น ตัณหาทำให้มองข้ามความดีที่แท้จริงของผู้อื่น (และของตัวเอง) เพื่อจะได้รับในสิ่งที่ตนต้องการ ที่จริงแล้วเพื่อทดสอบว่าท่านกำลังมีตัณหาหรือไม่ให้ถามตนเองว่า “ฉันกำลังคิดถึงความสุขของคนอื่นจริง ๆ หรือเพียงแค่ต้องการความเพลิดเพลินของตัวฉันเอง”

               ตัณหาอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองกรณี ความเป็นได้ประการแรก เป็นตัณหาที่เกิดขึ้นก่อนการแต่งงาน เช่น “เพศสัมพันธ์นอกการสมรส” (fornication) คือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการแต่งงานระหว่างชายและหญิงที่อาจแต่งงานกันได้ การเสพ “สื่อลามก” คือการดูกิจกรรมทางเพศทั้งที่ปฏิบัติจริงหรือเป็นเพียงการแสดงเพื่อความสนุกสนานและกระตุ้นอารมณ์ ทำให้จมกับความเพ้อฝัน และการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความไม่รู้จักประมาณตนในเรื่องเพศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับคุณค่าและความดีของความรักระหว่างบุคคลและเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความสุขแท้ของมนุษย์
สำหรับผู้ที่แต่งงานแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไม่มีตัณหาเกิดขึ้น แน่นอนโอกาสที่จะล้มเหลวในความรู้จักประมาณทางเพศ เรื่องของการผิดประเวณี สื่อลามก และการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองยังคงเกิดขึ้นได้ และบุคคลที่แต่งงานแล้วควรที่จะดำรงตนด้วยความระมัดระวัง เพราะยังคงมีความเห็นแก่ตัว การแสวงหาความพึงพอใจกับคู่ครองของตนโดยไม่ได้กระทำเพราะความรักเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ดังนั้นสามีจึงควรภาวนาต่อนักบุญโยเซฟผู้เป็นแบบอย่างของผู้แต่งงานที่บริสุทธิ์ เพื่อขอพลังพิเศษที่จะเอาชนะการผจญในเรื่องเหล่านี้

               ความไม่สงบเสงี่ยม (Immodesty) หรือการไม่รู้จักอาย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของความรู้ประมาณหรือการควบคุมตนเอง เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมของเราขณะนี้คือการแต่งตัว ผู้หญิงจะต้องถามตนเองเมื่อแต่งตัวออกสู่สาธารณะว่า “คนที่เห็นฉันแต่งตัวแบบนี้ พวกเขาจะว่าฉันทำถูกกาลเทศะหรือไม่” ถ้าคำตอบคือ "มันกระตุ้นทางเพศเกินไป” ทางที่ดีที่สุดคือเราก็ไม่ควรแต่งตัวเช่นนั้นออกสู่สายตาของคนอื่น แน่นอนทุกคนต้องการให้มีคนสนใจหรือเป็นที่ปรารถนาของใครสักคนหนึ่ง แต่คำถามคือจะให้ใครสนใจเรา สนใจเราอย่างไรและสนใจในแง่ใด ให้พระเจ้าพอใจในฐานะที่ท่านเป็นลูกที่น่ารักของพระองค์ หรือให้คนที่ท่านรักและเคารพ หรือใครก็ได้ที่ต้องการใช้ร่างกายของท่านเพื่อความพึงพอใจของเขา เราไม่ควรให้ความสนใจใครอื่นใดนอกจากเพื่อพระเจ้าและบุคคลที่เราเคารพรักเท่านั้น

                เรื่องของ “ความโมโห” อาจจะเหมาะกับบางสถานการณ์ เราอาจจะใช้เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิด หรือจูงใจเราให้จัดการกับเรื่องที่ไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตามความโมโหจะเป็นความไม่รู้ประมาณได้เมื่อ 1) ไม่เหมาะสม เช่น โมโหนานเกินไปหรือรุนแรงเกินไป หรือ 2) มุ่งทำร้ายผู้อื่น แก้แค้น ปกป้องตนเอง แสดงอำนาจ หรือแสดงว่าตนสำคัญ การโมโหเช่นนี้ไม่สร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อความดี เป็นการทำลายมากกว่า ดังนั้นจึงต้องมีความรู้ประมาณซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ และเกิดความระมัดระวังตนมากขึ้น

                 “ความหยิ่ง” เป็นพยศชั่วประการหนึ่งที่นับว่าเป็นบาปที่ขัดแย้งกับความรู้ประมาณ คนที่หยิ่งคือคนที่ให้ความสำคัญกับตนเองมากเกินจริง คิดว่าตนสำคัญกว่าคนอื่น ความรู้ประมาณที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่แท้จริงของตนเองเรียกร้องให้มีความสุภาพ ทุกคนต่างมีความผิดบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น อย่างน้อยต้องมีความหยิ่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลองพิจารณาคำสอนที่ให้หลักในการควบคุมความหยิ่งผยองของตนเองจากนักบุญโยเซมารีอา เอสคริวา (St. Josemaria Escriva)

                  "ต้องการได้อะไรตามใจของท่านเสมอ คิดว่าเรื่องที่ท่านทำหรือพูดนั้นดีกว่าเรื่องที่คนอื่นทำหรือพูด โต้เถียงเมื่อท่านไม่ถูกต้อง โต้เถียงเมื่อท่านเองถูกต้องด้วยท่าทีที่เลวร้ายหรือยืนหยัดแบบหัวชนฝา แสดงความคิดเห็นโดยไม่มีใครร้องขอ หรือแสดงความรักที่ไม่มีใครต้องการให้ท่านกระทำ ดูหมิ่นความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ตระหนักว่าพระพรทั้งหมดและคุณภาพชีวิตของท่านเป็นของที่กู้ยืมมา (จากพระเจ้า) ท่านรู้สึกกระวนกระวายใจและกลัว (ขาดความไว้วางใจ) พูดไม่ดีเกี่ยวกับตัวท่านเองเพื่อให้คนอื่นแสดงความคิดเห็นดี ๆ ถึงตัวท่าน แก้ตัวเมื่อถูกตำหนิ รู้สึกเจ็บปวดเมื่อคนอื่นได้รับการนับถือมากกว่าตนเอง ปฏิเสธที่จะปฏิบัติภารกิจที่ไม่ชอบ แสวงหาหรือต้องการที่จะแยกตัว ยกย่องตนเองในการสนทนา หรือพูดเพื่อแสดงภูมิปัญญาหรือทักษะ หรือความเป็นมืออาชีพของตน รู้สึกอายถ้าไม่มีอะไรที่คนอื่นมี”

                    คุณลักษณะเหล่านี้เป็นอาการของการยกย่องตนเองเพื่อทำความเสียหายให้กับความดีของผู้อื่น แต่ละคนจะต้องไตร่ตรองอย่างสุภาพกับความเย่อหยิ่งของตน และหวังว่าการไตร่ตรองนี้จะนำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจังด้วยการยืนยันและด้วยมโนสำนึกของตนเอง

                   ในประเด็นสุดท้ายของการไม่รู้ประมาณที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของการบันเทิงสมัยใหม่ ในวัฒนธรรมของไอปอต ดีวีดี สมาร์ตโฟน วีดีโอเกมส์ แชทไลน์ ฯลฯ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อความบันเทิงส่วนตัว จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราทุกคนต่างใช้เวลาในแต่ละวันเพื่อหย่อนใจโดยอุปกรณ์เหล่านี้

                   คำถามก็คือ เราแสวงหาความบันเทิงใจที่เป็นการทำลายแทนที่จะเป็นการสร้างสรรค์หรือไม่ เราได้ชมภาพยนตร์ที่ไม่ดีหรือเข้าร่วมนินทาว่าร้ายบุคคลต่าง ๆ หรือไม่ แน่นอนความสนุกสนานที่เสื่อมถอยเหล่านี้ย่อมไม่ทำให้เราสดชื่นหรือฟื้นฟูชีวิตของเราให้ดีขึ้น แต่จะทำให้การแสวงหาความสุขที่แท้ของเราลดน้อยลงไป ในอีกแง่มุมหนึ่งของการบันเทิง โดยตัวของมันเองแล้วไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย แต่ถ้าเราใช้เวลามากเกินไป หรือหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป จนทำให้เราเสียงานหรือหน้าที่ไป นี้แหละเป็นปัญหา เช่น การชมการแข่งขันฟุตบอลทุกนัดไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาหรือหน้าที่ต่อครอบครัวได้ เช่นเดียวกับการเสพข่าวและการเฝ้าติดตามเรื่องราวของทั่วโลก (ซึ่งบางเรื่องก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของเรา) หรือเรากลายเป็นคนที่เสพติดการบันเทิงที่ไร้คุณภาพและคุณธรรม บางครั้งเราใช้เรื่องเหล่านี้เพียงเพื่อฆ่าเวลา แทนที่เราจะใช้เวลาที่มีค่าเพื่อการยกระดับจิตใจ ใฝ่หาคุณธรรม หรือเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำประโยชน์ต่อชีวิตของตนและสังคม

                    เราไม่ได้ปฏิเสธความจำเป็นของสันทนาการหรือความพักผ่อนหย่อนใจที่ถูกต้อง เราทุกคนต้องการที่จะมีเวลาเพื่อหยุดพัก สบายๆ และทำกิจกรรมอะไรที่ผ่อนคลายความเครียด แต่กิจกรรมนั้นควรมีคุณค่า ไม่ขัดกับศีลธรรมอันดี หรือไม่ใช่แค่ให้หมดเวลาไปวันๆ ที่สำคัญการใช้เวลาว่างเพื่ออะไรก็ตาม ความรู้ประมาณเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเราจะได้ไม่เสพติดในเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่จะช่วยทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ด้วยการทำสิ่งที่เหมาะสมมากขึ้น

                  ดังนั้นท่านมีเรื่องอะไรที่ทำไปโดยความไม่รู้ประมาณบ้าง มีความปรารถนาหรือแรงกระตุ้นอะไรที่ครอบงำจนทำร้ายความสามารถในการปฏิบัติตามคุณธรรมและความดีได้ ขอท่านจงภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อเผยแสดงความอ่อนแอในเรื่องการควบคุมตนเอง และเพื่อพระองค์จะได้ประทานพละกำลังเพื่อจะได้หลุดพ้น เป็นอิสระจากการเสพติดต่างๆ โดยอาศัยคุณธรรมแห่งความรู้ประมาณ

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์