ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

คุณธรรมความกล้าหาญ

ประสบการณ์ชีวิตประการหนึ่งที่เราทุกคนคงเคยประสบกับสถานการณ์ที่ทำให้ท่านยุ่งยากลำบากใจในการตัดสินกระทำสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าท่านจะรู้อย่างเต็มอกว่าอะไรเป็นอะไร มีเหตุผลผลมากมายที่จะคอยฉุดยั้งท่านว่า “ทำดีไปทำไม” ดังนั้นเพื่อที่จะอยู่อย่างเข้มแข็งในการทำสิ่งที่ดีได้นั้น เราต้องใช้คุณธรรม “ความกล้าหาญ”  ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ช่วยให้เรายืนหยัดมั่นคง เข้มแข็ง เพียรทนในการทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางความยากลำบากเพียงใด



ความหมาย

“ความกล้าหาญ” เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมที่แสดงความเข้มแข็งในความยากลำบากและความมั่นคงในการทำความดี คุณธรรมประการนี้สร้างความมั่นคงเมื่อเผชิญการผจญและเอาชนะอุปสรรคในการดำเนินชีวิตตามศีลธรรม คุณธรรมความกล้าหาญทำให้เรามีความสามารถที่เอาชนะความกลัวแม้กระทั่งความตาย สามารถเผชิญกับการทดลองและการเบียดเบียน ทำให้พร้อมที่จะก้าวหน้าไปจนยอมเสียสละและถวายชีวิตของตนเพื่อความถูกต้อง “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพละกำลังและเป็นบทเพลงของข้าพเจ้า” (สดด. 118:14) “ในโลกนี้ท่านจะมีความทุกข์ยาก แต่อย่าท้อแท้ เราชนะโลกแล้ว” (ยน. 16:33) (คำสอนพระศาสนจักรฯ ข้อ 1808)

ประโยชน์ของคุณความกล้าหาญ

ประโยชน์ของคุณความกล้าหาญ

          “ความกล้าหาญ” ช่วยให้เราเอาชนะอันตราย อุปสรรค และความกลัว ช่วยเราให้ยืนหยัดต้านทานความยุ่งยากลำบากที่อาจจะขัดขวางเราไม่ให้บรรลุถึงเป้าหมายแท้จริงที่วางไว้ ความกล้าหาญเป็นคุณธรรมที่ทำให้คนมีใจสู้และสู้แม้กระทั่งยอมตายในสงคราม ดูคล้ายๆ กับคุณธรรมของทหาร ที่ตัดสินใจอุทิศชีวิตเพื่อเห็นแก่ความดีที่ยิ่งใหญ่ เราคาทอลิกเองเชื่อว่าเราก็คือทหารหาญของพระเจ้า ที่จะต้องออกสงคราม แต่ไม่ใช่สงครามสู้รบกับศัตรูของบ้านเมือง แต่เป็นการสู้รบทางจิตวิญญาณ ต่อสู้เพื่อเอาชนะความชั่วร้ายและสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ คือ เราเองต้องอุทิศชีวิตของเราเพื่อความดีที่ยิ่งใหญ่ นั้นคือ เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า

        ในสมัยของคริสตชนรุ่นแรก ๆ และในภาคส่วนต่าง ๆ ของโลกในปัจจุบันนี้ ยังมีคนจำนวนมากที่ยอมถูกฆ่าตายเพื่อยืนยันความเชื่อในพระเจ้า และพระศาสนจักรได้ให้เกียรติโดยประกาศเกียรติคุณให้สาธารณะชนได้รับทราบถึงความกล้าหาญนี้ โดยเรียกพวกเขาว่า “มรณสักขี”

          นี้คือกระแสเรียกของเราคาทอลิกทุกคน คือ มีความกล้าหาญที่จะมอบถวายชีวิตของเราเพื่อพระเจ้าและพระศาสนจักร แม้ว่าจะไม่ได้ถูกฆ่าตามตัวอักษรแต่เราต้องเตรียมพร้อมที่อุทิศตนเพื่อยืนยันถึงความเชื่อและเอกลักษณ์การเป็นคาทอลิก

ความกล้าหาญยืนอยู่ระหว่างความสุดโต่งสองขั้ว

ความกล้าหาญยืนอยู่ระหว่างความสุดโต่งสองขั้ว

คุณธรรมหลัก (cardinal virtues) ทุกประการอยู่ในรูปแบบของการรักษาความสมดุล และต้องแยกแยะด้วยความระมัดระวังในคุณธรรมแต่ละประการ ในกรณีคุณธรรมความกล้าหาญนี้ เราอาจจะหลงตกอยู่ในความสุดโต่งสองประการนี้  

  • ประการแรก คือ กล้าแบบความบ้าบิ่น หรือ หุนหันพลันแล่น ซึ่งเป็นความกล้าที่จะกระทำอะไรลงไปโดยขาดความเอาใจใส่ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น เราอาจจะพูดว่าคนนี้กล้าหาญแต่บ้าบิ่น ไม่รอบคอบ ไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดีเสียก่อน ลักษณะนี้เป็น ความสะเพร่า ไม่รอบคอบ คนที่บ้าบิ่นเป็นคนกล้าที่เกินขนาด พุ่งเข้าหาอันตรายและปัญหาอย่างโง่ๆ แม้ว่าจะมีทางหลีกเลี่ยงอื่นก็ตาม เขาจะเป็นคนหนึ่งที่มองหาปัญหาและสนุกที่จะเสี่ยงกับปัญหานั้น โดยที่ไม่มีความจำเป็นอะไรหรือไม่คุ้มค่าอะไร จึงเป็นคนบ้าบิ่นไม่ใช่คนกล้าหาญ

  • ประการที่สอง คือ ความขลาดกลัว คือ พฤติกรรมของคนที่ปฏิเสธที่จะทำอะไรหรือไม่ยอมเสี่ยงทำอะไรเลย พวกเขาละทิ้งการทำความดีที่ยิ่งใหญ่กว่าเนื่องมาจากความหวาดกลัว กลัวจะสูญเสีย กลัวความเจ็บปวด กลัวเหนื่อย กลัวคนว่า กลัวความผิดหวัง  จึงทำให้เขาเก็บตัวไม่เปิดตัวเองสู่ความสัมพันธ์กับโลก โลกที่ไม่ได้เพียงแต่เสนอโอกาสให้เราบรรลุถึงความดีต่าง ๆ  

                บุคคลเช่นนี้จะไม่ได้รับประโยชน์จากความสุขและความยินดีต่าง ๆ ในชีวิต คุณธรรมความกล้าหาญช่วยทำให้เราได้เดินอยู่ในสายกลาง เอาชนะความกลัวและช่วยยับยั้งชั่งใจในความกล้าหาญที่มากเกินไป  เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าคนที่บ้าบิ่นหรือคนที่หวาดกลัวจะไม่สามารถเข้าใจเรื่องความกล้าหาญได้ คนที่กลัวมากเกินไปมักจะบอกคนที่กล้าหาญว่า "คุณเป็นบ้าไปแล้วหรือ เสี่ยงทำอย่างนั้นทำไม บ้าบอสิ้นดี” ในขณะที่คนกล้าจนบ้าบิ่นมักจะพูดกับคนที่กล้าหาญว่า “คุณเป็นคนขี้ขลาด ทำอะไรก็ระวังไปหมด เหมือนลูกไก่ขี้กลัว” เรามักจะพูดว่าคนที่มีคุณธรรมคือคนที่ทำอะไรแบบมีสมดุล ไม่มากหรือน้อยเกินไป หรือทำอะไรแบบสุดโต้ง

ความกล้าหาญ ความกลัว และความรัก

ความกล้าหาญ ความกลัว และความรัก

          หลักการที่จะช่วยให้เราเข้าใจคุณธรรมความกล้าหาญ มีดังนี้เพื่อที่จะมีความกล้าหาญ เราต้องมีความกลัวและเพื่อจะมีความกลัวเราต้องมีความรัก ให้เราพิจารณาความคิดนี้สักเล็กน้อย

          ความกล้าหาญเอาชนะความกลัวเพื่อจะได้บรรลุถึงความดีที่ยิ่งใหญ่กว่า ความกลัวมีพื้นฐานมาจากความรักในอะไรบางสิ่งบางอย่าง และไม่อยากที่จะสูญเสียสิ่งนั้นไป แต่ถ้าคนหนึ่งไม่รัก ไม่ให้คุณค่าในสิ่งหนึ่งแล้วเขาจะยอมเสี่ยงไปเพื่ออะไร ตัวอย่างเช่น คนคลั่งไคล้ฆ่าตัวตาย เราไม่เรียกว่าเป็นคนกล้าหาญเพราะเขาไม่ยอมเสี่ยงอะไรรักษาชีวิตไว้ เขาไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของชีวิต เขาจึงเลือกที่จะทำอันตรายชีวิตของเขาเอง

         คนกล้าหาญมีประสบการณ์กับความกลัวเพราะเขารักสิ่งที่เขายอมเสี่ยงให้ และดังนั้นเขาจึงกล้าหาญที่จะยืนหยัดมุ่งมั่นทำทุกอย่างเพื่อรักษามันไว้

          ความกล้าหาญหมายถึงความมุ่งมั่นปรารถนาที่เสียอะไรบางอย่างเพื่อจะได้อะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่หรือดีกว่า ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงสอนเราโดยเล่าเรื่องเปรียบเทียบถึงมุ่งมั่นปรารถนาสิ่งที่ดีกว่าสองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือเรื่องที่ชายคนหนึ่งขายทุกสิ่งเพื่อซื้อทุ่งนาทีมีทรัพย์สินซ่อนอยู่และเรื่องที่สองคือพ่อค้าที่ขายทุกอย่างเพื่อซื้อไข่มุกเม็ดงาม (เทียบ มธ. 15:44-46) เรื่องเปรียบเทียบทั้งสองนี้ไม่ได้บอกเราว่าทั้งสองคนทำแบบหุนหันพลันแล่นยอมขายทุกอย่างเพื่อครอบครองสิ่งนั้น แต่ทั้งสองรอบคอบพอที่จะตัดสินใจว่าอะไรมีคุณค่ามากกว่าในชีวิตของเขา จึงกล้าหาญที่จะกระทำลงไป     

         ที่จริงแล้ว ก้าวแรกที่จะมีความกล้าหาญในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเราต้องถามตนเองว่า “อะไรเป็นสิ่งที่ฉันให้ความสำคัญมากที่สุดในชีวิต” หรือในทำนองเดียวกัน “อะไรเป็นสิ่งที่ฉันกลัวว่าจะสูญเสียไปมากที่สุด” เราต้องชั่งน้ำหนักหรือจัดลำดับความสำคัญด้วยตัวของเราเอง อะไรมีความสำคัญเป็นลำดับหนึ่ง และจากนั้นเราจึงมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งนั้น ดังนั้นจงถามตนเองว่าอะไรเป็นเป้าหมายลำดับหนึ่งในชีวิต การศึกษาสูงหรือการได้เกรดที่ดีหรือ การรับใช้ช่วยเหลือสังคมหรือ ความสนุกสนานตื่นตาตื่นใจในความเพลิดเพลินบันเทิงใจหรือ ความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือ ความร่ำรวยหรือ ความสุขทางเพศหรือ หรือความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า สิ่งไหนล่ะที่ท่านรักและให้คุณค่ามากที่สุด สิ่งไหนล่ะที่ท่านจะยอมอุทิศชีวิตให้ด้วยความกล้าหาญ    

          เพื่อที่จะมีความกล้าหาญ จึงขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญโดยตรง คนที่แสวงหาความดีที่น้อยกว่าความดีที่ใหญ่กว่าไม่ได้เป็นคนกล้าหาญ แต่เป็นคนโง่ เขายอมเอาเงินร้อยมาแลกกับเหรียญบาท และไม่มีประโยชน์ใดที่จะได้โลกทั้งโลกมาเป็นกรรมสิทธิ์แต่ต้องสูญเสียวิญญาณ (เทียบ มธ. 16:26)

         ความกล้าหาญยังเป็นการจัดระเบียบหรือลำดับความรักและความกลัวของเรา เรากลัวสิ่งที่จะสูญเสียไปมากที่สุดก็เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดอย่างแท้จริง ด้วยวิธีนี้เราจึงจะสามารถเอาชนะความกลัวที่น้อยกว่าเพื่อกระทำในสิ่งที่ถูกต้องกว่าต่อไป จงภาวนาวอนขอพระจิตเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประทานพระพรแห่งความ "ยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้า” (Fear of the Lord) ซึ่งจะทำให้เรากลัวที่จะสูญเสียความรักของพระองค์ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น

ความกล้าหาญสองรูปแบบ คือ เชิงรุก (Attack) และเชิงรับ ( Endurance)

ความกล้าหาญสองรูปแบบ คือ

เชิงรุก (Attack) และ เชิงรับ (Endurance)

             ความกล้าหาญแสดงออกได้ในหลายรูปแบบโดยขึ้นขึ้นอยู่กับแต่สถานการณ์ รูปแบบแรกเป็น “เชิงรุก” คือ การบุกเข้าหาอะไรที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไม่ส่งเสริมความดีโดยตรงเลย ความกล้าหาญประเภทนี้บางทีเรียกว่า “โมโหที่ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งการกระทำนี้คริสตชนมักจะมองข้ามไป เพราะว่าคริสตชนจำนวนมากรู้สึกว่าการโกรธเป็นความผิด และไม่ใช่เอกลักษณ์ของคริสตชน พวกเขาลืมไปว่าพวกเขาสามารถ “โกรธศักดิ์สิทธิ์” ได้ เป็นการฉุนเฉียวที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่โหดร้าย พวกเขาลืมว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องกำจัดความชั่วร้าย และถ้าเราเมินเฉย เราก็จะไม่ได้ทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงมันเลย พระเยซูเจ้าเองได้ “โมโหศักดิ์สิทธิ์” ในหลายโอกาสด้วยกัน เช่น ทรงใช้เชือกเป็นแส้เฆี่ยนขับไล่บรรดาฟาริสีที่มาค้าขายและตั้งโต๊ะแลกเงินหน้าพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงเข้าหาคนที่ทำชั่วร้ายและลงมือขับไล่พวกนั้นออกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (เทียบ มธ. 21:12-15) เราก็เช่นเดียวกันเราก็ต้องต่อสู้กับความชั่วในโลกเช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ เช่น การต่อต้านการทำแท้ง การค้าประเวณี สื่อลามก ความหยาบคาย ฯลฯ โดยที่ไม่หันหนี และลงมือต่อสู้กับชั่วร้ายเหล่านั้น  

          ตัวอย่างเช่น ร้านเช่าวีดีโอใกล้บ้านเริ่มนำเอาภาพยนตร์ลามกมาตั้งให้ลูกค้าได้เช่า มีนักเรียนสองคนเดินวนเวียนร้านเช่าวีดีโอนั้น ที่สุดทั้งสองตัดสินใจไปบอกชาวบ้านให้ช่วยกันเรียกร้องให้เจ้าของร้านนั้นเก็บสื่อที่ไม่เหมาะสมนั้น การเรียกร้องของเด็กและชาวบ้านทำให้ร้านเช่าวีดีโอได้ทำตามมาตรฐานที่ควรทำ ถ้าไม่ได้การริเริ่มจากเด็กทั้งสองเรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น ประเด็นนี้คือความเชื่อของเราไม่ใช่ความเชื่อที่อยู่นิ่งเฉยๆ หรือปล่อยความไม่ถูกต้องให้เกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไร ความกล้าหาญเรียกร้องให้เราต้องพร้อมที่จะลงมือกระทำ หรือยืนหยัดในสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้อง

          รูปแบบที่สองของความกล้าหาญที่มีความจำเป็นเมื่อเป็นทางเลือกที่ทำได้ก็คือ การทนทุกข์และความอดทนต่อการทดลองที่รุมเร้า ในสถานการณ์เหล่านี้ เมื่อการมุ่งเข้าหาปัญหาความชั่วร้ายโดยตรงไม่ได้ผลสิ่งที่เรียกร้องให้ทำได้คือ การแสวหาความดีด้วย “ความเพียรทนศักดิ์สิทธิ์” ที่จริง ความเพียรทนเป็นการทดลองขั้นสูงสุดของความกล้าหาญ เพราะว่าเมื่อคนหนึ่งวิ่งหนีออกไปหาทางเลือกอื่น แต่คนที่มีความเพียรทนยังคงยึดเป้าหมายของเขาไว้แม้ว่าจะมีความยากลำบากเพียรใด ดังนั้นเครื่องวัดของความกล้าหาญก็คือความเพียรทน

          ดังนั้น ให้ถามตนเองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยากลำบากในชีวิตของท่านในปัจจุบันและมันยังไม่ผ่านพ้นไป มีอะไรที่ท่านยังเสพติดอยู่และไม่สามารถเลิกได้ มีความผิดหวังอะไรที่ท่านยังไม่สามารถเอาชนะได้ ท่านยังมีปัญหาเรื้อรังอะไรบ้างไหม ความสัมพันธ์ในครอบครัวของท่านหรือกับเพื่อนๆ ยังคงดีอยู่หรือไม่ ยังมีอะไรที่ท่านรู้สึกว่ายังไม่ดีบ้างไหม ท่านมีความหดหู่ใจไหม ท่านมีอะไรที่คิดไม่ออกเกี่ยวกับงานอาชีพของท่านบ้างหรือไม่ มีปัญหาหรือความยากลำบากอะไรที่ท่านไม่สามารถแก้ไขได้แม้ว่าจะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตามหรือไม่ เพราะว่าความยุ่งยากลำบากใจเหล่านี้เป็นโอกาสพิสูจน์ความกล้าหาญในตัวของท่าน ท่านยังคงทำดีต่อไป แม้ว่าปัญหายังคงรุมเร้าท่าน ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดว่าท่านไม่สามารถจัดการกับพยศชั่วได้ แต่ท่านยังคงไปสารภาพบาปและยังพยายามทำดีให้มากขึ้น ถ้าทำเช่นนี้แสดงว่าท่านกล้าหาญ หรือในชีวิตครอบครัวในฐานะที่ท่านแต่งงานแล้ว เมื่อครอบครัวมีปัญหาไม่มีความสุข มีความขัดแย้งระหว่างคู่ครองของท่าน ท่านพยายามขจัดปัญหาออกไป และยังคงพยายามรักคู่ครองและลูกๆ ต่อไปและภาวนาวอนขอพระหรรษทานจากพระเจ้าเพื่อความสุขของครอบครัว ถ้าเป็นเช่นนี้ ท่านได้แสดงความกล้าหาญออกมาแล้ว และท่านจะไดรับรางวัลยิ่งใหญ่สำหรับความกล้าหาญของท่าน และยังเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องจดจำไว้ว่าความอดทนหรือความพากเพียรไม่ใช่คุณธรรมของคนเศร้าหมอง คนที่มองในแง่ร้าย หรือคนที่ใจแตกสลาย คนที่พากเพียรไม่ใช่บุคคลที่มักจะพูดว่า "เฮ้อ..คุณจะรู้อะไร ฉันไม่สนอะไรทั้งนั้นล่ะ ไม่ว่าอะไรก็ตาม” แต่ตรงกันข้ามกับความเศร้าหมอง “ความอดทนหมายความถึงรักษาความร่าเริงและความสงบของจิตใจแม้จะได้รับบาดเจ็บที่เป็นผลจากการสำนึกในความดี”

           ความเพียรทนในบางครั้งอาจจะทำให้ดูความเศร้าหรืออ่อนแอ แต่แท้จริงคือความแข็งแกร่งและความยินดี นักบุญอีเดการ์ดกล่าวว่า “ความอดทนเป็นดั่งเสาที่ไม่มีอะไรมาทำให้อ่อนนุ่มได้”  เหตุผลก็คืออะไรที่จูงใจให้อดทนได้ ก็สามารถจูงใจให้เกิดคุณธรรมอื่น ๆได้ทั้งหมด เพราะคุณธรรมก็คือความปรารถนาบรรลุถึงความดีนั้นเอง ความอดทนมาจากความสำนึกที่ชาญฉลาดว่า “ เป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การรอคอย”

          แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรเราควรจะแสดงกล้าหาญเชิงรุกด้วยการเข้าหาหรือเชิงรับด้วยการอดทน คำตอบสำหรับปัญหานี้พูดง่าย แต่ยากสีกหน่อย หมายความว่า เพื่อที่จะแสดงความกล้าหาญ เราต้องอาศัยคุณธรรมความรอบคอบ (คือคุณธรรมที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์)

          ส่วนความรอบคอบนั้นมาจากความสัมพันธ์กับพระเจ้าโดยอาศัยคำภาวนา การภาวนาประจำวันที่เราวอนขอคุณธรรมคู่นี้คือความรอบคอบและความกล้าหาญมีดังนี้ “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดประทานความเพียรทนเพื่อให้ลูกได้ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่ลูกไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โปรดประทานความกล้าหาญเพื่อให้ลูกสามารถเปลี่ยนสิ่งที่ลูกสามารถเปลี่ยนได้ และปรีชาญาณเพื่อให้รู้ได้รู้ว่าลูกควรทำสิ่งใด ลูกวอนขอในพระนามของพระเยซูเจ้าและพระจิตผู้ศักดิ์สิทธิ์ อาแมน”

ความกล้าหาญและความหวัง (ความไว้ใจ)

ความกล้าหาญและความหวัง (ความไว้ใจ)

          ก่อนที่คนหนึ่งจะบรรลุถึงความดีที่ยิ่งใหญ่ด้วยความกล้าหาญนั้น เขาต้องเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่าความดีสูงสุดนั้นมีอยู่จริงและสามารถบรรลุถึงได้ นี่คือ “ความหวัง” คือ การยอมรับว่ามีความดีที่ยิ่งใหญ่ มีความดีสูงสุด และทุกคนสามารถไขว่คว้าไปถึงได้ สิ่งที่ตรงกันข้ามคือความหมดหวัง ซึ่งก็คือ ลักษณะของคนที่ไม่เชื่อในความสุขสูงสุด แต่คิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่คนเราจะไขว่คว้ามาได้คือความเพลิดเพลินเจริญใจหรือความตื่นเต้นในชีวิตนี้เท่านั้น

          โศกนาฏกรรมก็คือ มีคนจำนวนมากที่คิดว่า "เอาเลยพวกเรา เวลานี้แหละดีที่สุด สนุกให้เต็มที่ ความสุขแท้จริงไม่มีหรอก” คนประเภทนี้มีชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวัง และคนที่สิ้นหวังอย่างนี้จะไม่มีความเพียรทนหรือความกล้าหาญที่จะทำอะไรเพื่อความดีที่ดีกว่า เพราะเขาไม่เชื่อว่าความดีสูงสุดหรือความสุขนิรันดร์มีอยู่จริง

ความกลัวของเราและความกล้าหาญและการเป็นประจักษ์พยานต่อหน้าสาธารณชน

ความกลัวของเราและความกล้าหาญและการเป็นประจักษ์พยานต่อหน้าสาธารณชน

             เมื่อพูดถึงความกล้าหาญ ทำให้คิดถึงความกลัว จากการศึกษาหลายสำนักพบว่า สิ่งที่ชาวอเมริกันกลัวมาก ๆ คือ การที่ต้องพูดเรื่องที่สำคัญ ๆ หรือเรื่องที่ต้องมีการถกเถียงกันต่อหน้าสาธารณะ เพราะว่าการพูดคุยกันเช่นนั้นทำให้รู้สึกอึดอัด เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้อึดอัดคือการพูดคุยกันเรื่องความเชื่อในศาสนาของกันและกัน ซึ่งเราคาทอลิกไม่มากก็น้อยก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกัน บางคนอาจจะไม่เคยพูดคุยเรื่องความเชื่อทางศาสนาของตนเองกับใครเลย

           ในฐานะคาทอลิก การพูดเรื่องความเชื่อไม่ใช่ทางเลือก เพราะพระเยซูเจ้าทรงส่งบรรดาสาวกรุ่นแรกของพระองค์ให้ออกไปเผยแผ่คำสอนและข่าวดีเรื่องการไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ และเช่นเดียวกันพระองค์ทรงมุ่งหวังให้เราได้ออกไปเผยแผ่ด้วยเช่นกัน เราคาทอลิกหลายคนชอบอ้างอิงคำพูดของนักบุญฟรังซิสที่ว่า “จงเทศนาอยู่เสมอ และเมื่อจำเป็นจึงให้ใช้คำพูด” นี้เป็นคำกล่าวที่สวยหรู ซึ่งหมายความว่า การเทศนานั้นไม่ใช่แค่การพูดเท่านั้น แต่ชีวิตทุกเวลานาทีในชีวิตประจันของเราคือการเทศนา แต่คำพูดเป็นเครื่องมือประกาศข่าวดีเพื่อให้เกิดความเข้าใจเหตุผลของการกระทำของเรา

           เราต้องเริ่มตระหนักถึงเป็นการเป็นพยานพระคริสต์ด้วยการพูดเรื่องความเชื่อของเรา แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนพูดต่อต้านพระศาสนจักรหรือคำสอนเรื่องศีลธรรม เมื่อมีคนละเมิดศักดิ์ศรีสตรีด้วยคำพูดที่ไม่ให้เกียรติ การกล่าวร้ายกับพระสงฆ์นักบวช เรามีหน้าที่ที่จะต้องยืนยันหรือชี้แจงหรือปกป้องความเชื่อในศาสนาของเรา  

         เรื่องสำคัญที่สุดที่เราจำเป็นต้องมีความกล้าหาญคือการเชิญคนมารู้จักพระเยซูคริสต์และพระศาสนจักร แน่นอนเราอาจจะถูกปฏิเสธหรือถูกดูถูก แต่อย่ากลัวหน้าที่ของเราคือเชิญชวนส่วนที่เหลือให้พระจิตเจ้าทรงดูแลเรา ถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ เราจะพูดได้อย่างไรว่าเราเป็นคาทอลิกที่อุทิศตน

          ฟูลตัน ชีน เล่าเรื่องเพื่อนรักสอง คนแรกเป็นคาทอลิกอีกคนหนึ่งไม่ ต่อมาเพื่อนที่ไม่มีความเชื่อป่วยหนัก เพื่อนคาทอลิกได้ไปเยี่ยมและได้ถามเขาว่า  "เพื่อนต้องการความสงบสันติกับพระเจ้าก่อนที่จะจากโลกนี้ไปหรือไม่” ผู้ป่วยตอบว่า “ตลอดเวลาที่เราคบกันมา เพื่อนไม่เคยพูดเรื่องศาสนากับฉันเลย ถ้าความเชื่อของเพื่อนมีความสำคัญเพียงน้อยนิด แล้วจะมีประโยชน์อะไรกับความตายของฉัน”  

          จงภาวนาวอนขอพระพรจากพระเจ้าให้เราสามารถเอาชนะความอึดอัด เพื่อจะได้มีพลังและความกล้าหาญที่จะเป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์ด้วยคำพูดของเรา ก่อนที่จะสายเกินไป

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์