ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

คุณธรรมความรัก (Charity)
คุณธรรมที่เกี่ยวกับพระเจ้า
หรือ รักอย่างที่พระเจ้าทรงรัก

           เราได้ยินคนพูดคำว่ารักบ่อย ๆ เช่น ฉันรักการค้าขาย ฉันรักการเล่นฟุตบอล ฉันรักประเทศ ฯลฯ ความรักที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี แต่รักเช่นนี้เป็นรักที่มีความหมายทางศาสนาหรือทางคุณธรรมหรือไม่ มีหลักการตรวจสอบที่ง่าย ๆ ก็คือ รักแบบไหนที่เป็นเหมือน “ความรักของพระเจ้า” หรือ “รักอย่างที่พระเจ้าทรงรัก” นั่นแหละเป็นความรักที่เป็นคุณธรรม ซึ่งเราเองมีส่วนร่วมในความรักเช่นนี้ได้

          เราได้เรียนรู้มาแล้วว่าคุณธรรมที่เกี่ยวกับพระเจ้า หรือที่เรียกว่าคุณธรรมทางเทววิทยานั้น หมายความว่าการเข้ามีส่วนร่วมกับกิจการของพระเจ้า เช่น คุณธรรมความเชื่อคือการมีส่วนร่วมในกิจการที่เกี่ยวกับความรู้ของพระเจ้า ใครที่มีความเชื่อเขาก็มีความรู้ในเรื่องที่พระเจ้าทรงรู้ คุณธรรมความหวังก็คือการมีส่วนร่วมในความปรารถนาของพระเจ้า บุคคลที่มีคุณธรรมความหวังก็จะมีความปรารถนาสิ่งเดียวกับที่พระเจ้าทรงปรารถนา ก็คือการเข้าชิดสนิทกับพระเจ้าในเมืองสวรรค์ คุณธรรมความรัก (Charity) ก็เช่นเดียวกันคือการมีส่วนร่วมในกิจการความรักของพระเจ้าซึ่งเป็นกิจการที่สูงสุด เราสามารถรักตามแบบอย่างที่พระเจ้าทรงรักเรา เรารักอย่างพระเจ้าทรงรักได้

ความรักตามคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก (ข้อ 1822-1823)

ความรักตามคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก (ข้อ 1822-1823)

          ความรักเป็นคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าที่ช่วยให้เรารักพระเจ้าเหนือสิ่งใดเพราะเห็นแก่พระองค์และรักเพื่อมนุษย์เหมือนรักตนเองเพราะเห็นแก่ความรักของพระเจ้า ...พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความรักเป็นบัญญัติใหม่ของพระองค์ พระองค์ทรงรักบรรดาศิษย์ของพระองค์ “จนถึงที่สุด” (ยน 13:1) ทรงแสดงความรักของพระบิดาที่ทรงรับมา เมื่อบรรดาศิษย์รักกันเขาก็ประพฤติตามแบบความรักของพระเยซูเจ้าที่เขารับเข้ามาในตนด้วย ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “พระบิดาทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด” (ยน 15:9) และยังตรัสอีกว่า “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

ความรักของพระเจ้า – ความไม่เห็นแก่ตัวและความรักที่เสียสละ

ความรักของพระเจ้า – ความไม่เห็นแก่ตัวและความรักที่เสียสละ

            มีคำถามที่น่าสนใจ พระเจ้าทรงรักเราอย่างไร ความรักของพระเจ้ามีคุณลักษณะอย่างไร ทางเดียวที่จะรู้คำตอบก็คือการพิจารณาว่าพระเจ้าทรงรักเราอย่างไร เป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างยิ่งถ้าเราจะได้ไตร่ตรองถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์ในเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่สองประการ คือ “การสร้างโลก” และ “การรับเอากายมาบังเกิดเป็นมนุษย์”

             “การสร้างโลก” นับได้ว่าเป็นการเผยแสดงให้เห็นความรักของพระเจ้าที่เป็นรูปปรากฏอยู่ในสิ่งสร้างต่างๆ พระองค์ทรงรักท่านและตัวฉัน และเพราะความรักนี้เราจึงได้เกิดมาและเป็นอยู่ในขณะนี้ แล้วทำไมพระองค์จึงทรงรักเรา ทำไมพระองค์จึงประทานชีวิต ความเป็นอยู่ และสิ่งดีต่างๆ ให้เรา นั้นก็เป็นเพราะพระองค์ต้องการเรา หรือเราทำให้พระองค์มีความสุขมากกว่าที่พระองค์ไม่มีเราหรือเปล่า หรือถ้าไม่มีเราอยู่รายรอบพระองค์แล้วจะทำให้พระองค์ทรงความดีน้อยลง ยิ่งใหญ่น้อยลง มีความสุขน้อยลงหรือไม่ แน่นอน “เปล่าเลย” พระเจ้าเองโดยตัวของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงมีความสุขที่บริบูรณ์ครบครัน ทรงความดีและความยิ่งใหญ่ที่ไม่สิ้นสุด ดังนั้นเราไม่มีอะไรจะไปเติมเต็มพระองค์ได้อีกแล้ว

             ในทางตรงกันข้าม พระเจ้าไม่ทรงหวังประโยชน์อื่นใดจากการสร้างโลก สิ่งสร้างทั้งหลายที่ดำรงอยู่ล้วนแต่เป็นของขวัญที่บริสุทธิ์ที่พระองค์ทรงมอบให้มนุษยชาติ การสร้างเป็นกิจการหนึ่งของความรักที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เห็นแก่ตัวอย่างที่สุดของพระองค์

             ความรักที่พระเจ้าทรงมอบให้มนุษยชาติที่ชัดเจนที่สุดอีกประการหนึ่งปรากฏอยู่ในพระธรรมล้ำลึกของ “การรับเอากายมาเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้า” หลังจากที่มนุษยชาติได้ตอบสนองพระทัยดีของพระองค์ด้วยอกตัญญู ความเย่อหยิ่ง และความไม่นบนอบเชื่อฟังแล้ว จึงถูกลงโทษเพราะบาปของตนเองโดยให้ตกอยู่ในอ้างว้างและความทุกข์เวทนา โลกฝ่ายร่างกายมนุษย์จะต้องได้รับความเจ็บป่วย ความทุกข์ทรมาน และความตาย ส่วนจิตวิญญาณนั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจของจิตชั่วร้ายหรือมารปีศาจ มนุษย์เราได้ทิ้งตนเองลงในหลุมแห่งบาปและความตาย และไม่มีวิธีการใดที่จะหวนกลับมาสู่ความสุขได้

             แต่จากความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า พระองค์ทรงเลือกที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ด้วยท่าทีที่สุภาพถ่อมตน พระองค์ทรงยอมรับทนทรมานที่น่าสะพรึงกลัวอย่างแสนสาหัสและยอมตายบนไม้กางเขน หลังจากนั้นสามวันทรงกลับฟื้นคืนชีพ พระองค์ทรงกระทำทั้งหมดนี้เพราะเห็นแก่เรามนุษย์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเป็นการส่วนพระองค์ แม้ว่าเราจะดูถูกเหยียดหยามของพระประทานที่พระองค์มอบให้ นอกจากนั้นเรายังได้เห็นความรักของพระเจ้าในรางหญ้าที่แสดงให้เห็นความสุภาพถ่อมตนและความไม่เห็นแก่ตัวของพระองค์ และยังทรงเสียสละอย่างมากมายเพื่อเรา

ความรักสองประเภท

ความรักสองประเภท

           คุณลักษณะสำคัญสองประการของความรักของพระเจ้า คือ “ความไม่เห็นแก่ตัว” และ “ความเสียสละ” ความรักของเราจะต้องรวมเอาคุณลักษณะทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน แน่นอนเป็นความจริงที่ว่าเราต้องไม่เห็นแก่ตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะคิดถึงความต้องการและความปรารถนาส่วนตัวของเราเองไม่ได้ เราจะเห็นได้ว่า คุณธรรมความหวังมีพื้นฐานอยู่ที่ความสำเร็จตามความประสงค์ของเราแต่ละคนคือ "ฉันต้องการได้เมืองสวรรค์” ความหวังจึงเป็นความปรารถนาถึงความดีเหนือธรรมชาติที่ทำให้เราแต่ละคนมีความสุข โดยตัวเองแล้วเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ต้องได้รับการเสริมให้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมความรัก ซึ่งเป็นความปรารถนาความดีเหนือธรรมชาติเพื่อทำให้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้องมีความสุข

           เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่ามีความรักอยู่สองแบบ ความรักเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย และคนเรามักจะใช้โดยไม่ได้ไตร่ตรองถึงความหมายที่ถูกต้อง นิยามโดยทั่วไปของความรักคือ ความต้องการทำดีเพื่อผู้อื่น เป็นเรื่องที่งดงามทุกครั้งที่คนเราพูดคำว่า “รัก” มันเป็นคำที่รวมถึงการกระทำดีเพื่อใครสักคนหนึ่ง

          ในการทำดีนั้นมีสองแบบ แบบแรกคือ ทำดีเพื่อตนเอง เช่น “ฉันรักการกินขนมไทย” "ฉันรักการท่องเที่ยว" หรือ "ฉันรักความสนุก" สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นการทำแบบแรกคือการทำดีที่มีพื้นฐานอยู่บนความสุขของตนเอง แต่ยังมีการทำดีอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นการทำดีเพื่อคนอื่น ตัวอย่างเช่น "ฉันรักลูกชายของฉัน ฉันทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเขา” นี่แสดงให้เห็นว่าฉันปรารถนาให้ลูกของฉันมีความสุข ตัวอย่างที่สองนี้เป็นการทำดีที่พ่อแม่แสดงความรักต่อลูก เป็นวิธีที่แม่เทเรซาได้แสดงความรักต่อคนยากจน หรือวิธีแสดงความรักต่อศัตรูของเรา จึงเป็นความสุขที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสนุกสนานเพลินเพลินของตัวเราเอง แต่เป็นความปรารถนาที่จะทำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีหรือความผาสุกของคนอื่น

           ความรักด้วยการทำดีทั้งสองแบบนี้ แบบแรก “เน้นตนเอง” ส่วนแบบที่สอง “เน้นผู้อื่น” ซึ่งทั้งสองจะต้องเติมเต็มซึ่งกันและกัน โดยทั่วไปแล้วคนเราจะต้องมีประสบการณ์ทั้งสองแบบ มาแล้ว ให้เรานึกถึงความรักของสามีกับภรรยา เมื่อฝ่ายชายพูดว่า "ฉันรักเธอ" กับฝ่ายหญิง ซึ่งโดยปรกติแล้วหมายความว่า 1) "เธอทำให้ฉันมีความสุข" และ 2) "ฉันจะพยายามทำให้เธอมีความสุข” อย่างไรก็ตาม ถ้าความรักนี้ลดฐานะลงอยู่แค่แบบแรก คือความรักที่ “เน้นตัวเอง” ความรักเช่นนี้น่าเวทนาและไร้คุณค่า ความรักเช่นนี้จะไม่สมหวังและจะล่มสลายในที่สุด ในความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของเรานั้นเราควรส่งเสริมความรักแบบที่สองให้เข้มข้นขึ้น

           เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า ที่จริง ความรักที่เน้นตนเองควรผลักดันหรือพัฒนาเราให้มุ่งไปสู่การมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า ซึ่งก็คือ ความหวัง ความหวังช่วยจูงใจคริสตชนให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อจะได้บรรลุถึงเมืองสวรรค์ซึ่งเป็นการคิดถึงความสุขนิรันดร อย่างไรก็ตามคุณธรรมความรักเป็นความรักประเภทที่สอง (เน้นความสุขของผู้อื่น) และจูงใจคริสตชนให้ทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ในความรักเราพูดกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องว่า "ฉันจะพยายามทำให้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้องมีความสุข ฉันจะพยายามรับใช้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ฉันจะทำดีเพื่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องเป็นลำดับแรก"

          แน่นอน ความไม่เห็นแก่ตัวรวมเอาความเสียสละเข้าไว้ด้วย ถ้าท่านคิดจะทำให้ผู้อื่นมีความสุขเป็นลำดับแรกท่านจะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จริงแล้วเครื่องพิสูจน์ความรักคือการเสียสละ ถ้าเรามีความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวต่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง เราจะยอมรับความทุกข์เพื่อรับใช้พวกเขา นี้เป็นการพิสูจน์ขั้นสูงสุดของความรัก เหมือนที่องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงยืนยันว่า "ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย"(ยน 15:13)

รักพระเจ้า

รักพระเจ้า

           ในทางปฏิบัติแล้วเรื่องทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร เราจะมีความรักแบบไม่เห็นแก่ตัวและเสียสละได้อย่างไร ก้าวแรก ก็คือให้เราหยุดคิดเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องศาสนาของเรา และชีวิตของเราในฐานะคาทอลิกและอะไรที่เกี่ยวกับตัวเรา เราต้องระลึกไว้ว่าจุดประสงค์แรกในชีวิตของเราคือ “การรับใช้พระเจ้า” เราต้องไม่คิดอะไรที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตนเองไม่คิดว่าเราจะได้อะไรจากการทำความดีนี้ มีหลายคนที่เลิกการสวดภาวนา หรือการไปสารภาพบาป หรือการไปร่วมพิธีมิสซา เพราะพวกเขา "ไม่ได้รับอะไรจากสิ่งนั้น" นี่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาขาดคุณธรรมความรัก ความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระเจ้าเป็นความรักที่เห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน

          เราจึงควรอธิษฐานภาวนาและเข้ารับศีลศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ โดยไม่หวังว่าจะได้รับอะไรเป็นส่วนตัว นอกจากจะทำเพื่อให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ทำให้พระองค์มีความสุข ความรักหมายความว่าการเต็มใจที่จะเสียสละทั้งเวลา พละกำลัง และสิ่งที่ชื่นชอบเพื่อเข้าหาพระเจ้าด้วยการภาวนา การร่วมพิธีมิสซา และรับศีลอภัยบาปเพื่อแสดงความรักของเราต่อพระองค์ นี้คือเรื่องที่สำคัญ เราไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อตัวของเราเอง แต่เพื่อพระผู้สร้าง พระบิดาสุดที่รักของเรา

            นี่ยังหมายความว่าคำภาวนาของเราควรหลีกเลี่ยงความโน้มเอียงที่จะยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง บ่อยครั้งเราภาวนาในลักษณะที่วนอยู่กับตนเอง เช่น "โปรดประทานสิ่งนี้" "โปรดช่วยลูกในเรื่องนั้น" "เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของลูก" "ลูกควรทำสิ่งใด" ฯลฯ คำภาวนาเช่นนี้เป็นเรื่องที่ดี มีความจำเป็น และไม่ได้ลบหลู่พระเจ้า พระองค์ประสงค์ให้เราบอกสิ่งที่เราต้องการ และความเดือดเนื้อร้อนใจให้พระองค์ฟัง อย่างไรก็ตาม เราควรภาวนาโดยมุ่งไปยังพระเจ้า (มิใช่ตัวเองเท่านั้น) เช่น "ลูกขอขอบพระคุณพระเจ้า" "พระองค์ทรงพระทัยดี" "พระองค์ประทานสิ่งต่างๆ ให้ลูกตลอดมา” ฯลฯ เพื่อรักษาคุณธรรมความรักให้มีชีวิตชีวาอยู่ตลอดเวลา เราต้องจำไว้ว่าการภาวนาไม่เพียงแต่วอนขอเท่านั้น เรายังต้องสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าอีกด้วย

รักเพื่อนพี่น้อง

รักเพื่อนพี่น้อง

         ขอย้ำอีกครั้งว่า มาตรฐานความรักของเราที่มีต่อคนรอบข้างนั้นคือ “ความรักของพระเจ้า” เป็นความจริงที่พระคริสตเจ้าทรงเปิดเผยอย่างชัดเจนถึงมาตรฐานนี้ให้เรารู้โดยคำสอนที่ว่า “เราให้บัญญัติใหม่ใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34) นี้คือความไม่เห็นแก่ตัวและการเสียสละ สิ่งที่ตามมา คือความรักที่เราแสดงออกกับเพื่อนพี่น้องนั้นเป็นความรักที่แท้จริงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ว่าเราได้ทำแบบไม่เห็นแก่ตัวและเสียสละโดยเห็นแก่พวกเขาหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงมอบหลักการนี้ให้เป็นแค่คำแนะนำ แต่นี่เป็น “คำสั่ง” หรือ “พระบัญชา” เป็นเงื่อนไขสำคัญที่เราจึงต้องรักแบบไม่เห็นแก่ตัวและเสียสละ ในฐานะคริสตชนเราจะต้องใช้เวลากับคนที่เราไม่ชอบหรือเป็นศัตรูกับเราด้วย เราต้องหาทางคืนดีกับสมาชิกในครอบครัวที่เหินห่างกันไป และแสดงความรักกับคนที่เราไม่ชอบด้วย

         นอกจากนี้ยังหมายความว่า เราต้องเรียนรู้และปฏิบัติ “กิจเมตตา” ทั้งฝ่ายร่างกายและจิตใจ กิจเมตตาฝ่ายกายเป็นการเอาใจใส่ความต้องการฝ่ายกายของเพื่อนพี่น้องชายหญิงของเราซึ่งมีเจ็ดประการด้วยกัน คือ ให้อาหารแก่ผู้หิวโหย ให้น้ำแก่ผู้กระหาย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มีนุ่งห่ม ให้ที่พักแก่ผู้ไร้ที่อยู่ เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมคนติดคุก และฝังศพผู้ล่วงลับ เรื่องเหล่านี้เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุปัจจัยกับบุคคลที่มีความยากลำบาก บริจาคเงินเพื่อช่วยคนยากจนเป็นการแสดงความรักฉันพี่น้องอย่างแท้จริง และเป็นงานที่พอพระทัยพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงประกาศว่าพระองค์ประทับอยู่ในคนยากจนที่เราได้แสดงน้ำใจให้ "เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)

         กิจเมตตาฝ่ายจิตเจ็ดประการ คือ ให้คำแนะนำแก่ผู้สงสัย สอนคนที่ไม่รู้ ตักเตือนคนบาป บรรเทาใจผู้ทุกข์ยาก ให้อภัยแก่ผู้กระทำผิด อดทนความผิดต่อผู้ทำไม่ดีกับเรา ภาวนาสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย กิจเมตตาฝ่ายจิตใจทั้งเจ็ดประการนี้เป็นการส่งเสริมความดีฝ่ายจิตใจ จึงเป็นกิจการแห่งน้ำใจและความรักที่จะอธิบายเรื่องความเชื่อให้บุคคลที่ยังไม่รู้ เพื่อปรับปรุงแก้ไขคนที่หลงผิดในบาป ภาวนาให้วิญญาณที่อยู่ในไฟชำระ การกระทำเช่นมีความสำคัญต่อชีวิตคริสตชน เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ชีวิตฝ่ายกายของเพื่อนพี่น้องจนละเลยความต้องการฝ่ายจิตวิญญาณของพวกเขา

          หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดในการประยุกต์ใช้คุณธรรมความรักกับชีวิตประจำวันที่ในสถาบันครอบครัว ความรักเรียกร้องให้คู่สมรสยังคงรักและรับใช้กันต่อไปแม้ว่าเราจะรู้สึกทนกันต่อไปอีกสักนาทีก็ไม่ได้แล้ว เป็นเรื่องที่น่าละอายที่คนในสังคมปัจจุบันนี้มักจะคิดว่าจะทน “ตราบใดที่ตนเองได้ประโยชน์” ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสจึงไม่มีความสุข มาตรฐานสำหรับคู่สมรสจึงถูกยกเลิกได้อย่างง่ายดาย ตรงกันข้าม ความเข้าใจเรื่องการแต่งงานของคาทอลิก เป็นเรื่องหนึ่งที่คู่สมรสจะต้องเรียนรู้ศีลปะของความรักในเรื่องของการรับใช้และความเสียสละ สามีไม่ควรคิดว่าภรรยาจะต้องทำให้ตนเองพึงพอใจได้อย่างไร แต่ต้องคิดว่าตนเองจะดำเนินชีวิตให้ภรรยามีความสุขได้อย่างไร เช่นเดียวกันกับภรรยาก็ต้องคิดอย่างนี้ด้วยเช่นกัน และแน่นอนเรื่องนี้รวมถึงความเจ็บปวดและปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ด้วย

         จงจำไว้ว่า การแต่งงานจะพบต้นแบบความรักในความรักของพระคริสตเจ้าที่ทรงมีต่อพระศาสนจักร พระคริสตเจ้าทรงแสดงความรักด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัสและด้วยความตายเพื่อเห็นแก่คู่สมรสของพระองค์คือพระศาสจักร ผลที่ตามมาก็คือ ถ้าเราคิดถึงการแต่งงานโดยแยกจากการเสียสละก็เหมือนกับเราคิดถึงพระคริสต์โดยแยกออกจากไม้กางเขน ความสัมพันธ์เช่นนี้จะว่างเปล่าและไม่มีรากฐานของความรักที่ยั่งยืน

          คุณธรรมความรัก เป็นคุณธรรมที่เกี่ยวกับพระเจ้าประการสุดท้าย เป็นสุดยอดของชีวิตคริสตชนและการเริ่มต้นของความสุขนิรันดร เราเริ่มต้นด้วยความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า "ท่าน" มีความสุขได้ โดยผ่านทางกิจการธรรมดาๆ ด้วยการทำความดีที่เป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์และจบลงโดยคำพูดที่ว่าเพื่อที่จะบรรลุถึงความสุขที่เที่ยงแท้นั้น ท่านจะต้องไม่มุ่งหน้าแสวงหาความสุขเพื่อตนเองเท่านั้น แต่เพื่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง เหมือนคำพูดที่ว่า "อย่าถามว่าพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องทำอะไรเพื่อท่าน แต่จงถามว่าท่านได้ทำอะไรเพื่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องบ้าง" มีเพียงแต่ความรักเท่านั้นที่จะปกป้องเราจากการยึดติดความเห็นแก่ตัว เราต้องทำตัวเองให้ว่างเปล่าเพื่อจะได้เปิดตัวเองรับประสบการณ์แห่งความปีติสุข

         คุณธรรมความรักสอนเราไม่ให้ทำความดีเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้องด้วย เราต้องทำให้ผู้อื่นมีความสุขด้วยเราจึงจะมีความสุขที่แท้จริง

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์