หัวใจคนเหมือนดิน 4 ประเภท
เรื่องที่เราในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์หรือเป็นคุณพ่อคุณแม่จะมีความกลุ้มอกกลุ้มใจมากก็คือ บรรดาลูกศิษย์หรือลูกๆของเราไม่ได้ดีตามที่เราพยายามสอนสั่ง เราอุตสาห์ทุ่มเททำสารพัดเพื่อให้เด็กๆของเราเป็นคนดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นคริสตชนที่ดี แต่ดูเหมือนว่าเสียเวลาไปเปล่าๆ ไม่เกิดผลอะไรเลย จึงรู้สึกว่าทุกอย่างจะ “ล้มเหลว” ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ
พระวาจาของพระเจ้าในวันอาทิตย์นี้เป็นคำตอบสำหรับปัญหาที่ได้เกริ่นนำไว้ คำเทศนาที่มีลักษณะของคำอุปมาเรื่องผู้หว่านนี้ เป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันมาอย่างดี ชาวไร่หว่านเมล็ดพืชพันธุ์ดีลงไปในไร่ บางเมล็ดตกในอยู่ริมทาง นกก็มาจิกกินจนหมด บางเมล็ดตกบนพื้นหินที่มีดินน้อยงอกขึ้นมานิดเดียวก็เหี่ยวเฉาไป บางเมล็ดตกในพงหนามมีต้นหนามปกคลุมเติบโตไม่ได้ บางเมล็ดตกในดินดีก็เกิดผลดีจำนวนมาก แล้วพระเยซูก็ทรงอธิบายว่า เมล็ดพืชพันธุ์ดีนั้นคือพระวาจาของพระเจ้าหรือพระคัมภีร์ที่เรารับฟังหรือเราอ่านนั้นเอง ส่วนดินก็คือหัวใจของคนเราซึ่งแบ่งได้เป็น 4 แบบ หนึ่ง คือ “หัวใจริมทาง” เป็นหัวใจของคนที่แข็งกระด้างเหมือนทางเดินหรือถนน แข็งจนไม่มีอะไรจะเติบโตได้ ไม่สามารถรับอะไรได้ ปฏิเสธทุกอย่าง สอง คือ “หัวใจที่มีดินน้อย” เป็น หัวใจของคนที่ตื่นเต้นเร้าใจในตอนแรกๆ เอาจริงเอาจังชั่วครู่ชั่วยาม ประเดี๋ยวประด่าว เมื่อมีอุปสรรคอะไรสักหน่อยหนึ่งก็ถอดใจ สาม คือ “หัวใจในก่อหนาม” เป็นบุคคลที่อยากจะได้ดี อยากจะทำดี แต่พ่ายแพ้ต่อการประจญยั่วยุ หรือความลุ่มหลงในสิ่งของของโลก ในลาภยศชื่อเสียง จึงเอาดีไม่ได้ ส่วนประเภทที่สี่ “หัวใจที่เป็นดินดี” ได้แก่คนที่มีความพร้อม เมื่อได้รับฟังพระวาจาแล้วก็เข้าใจและนำไปปฏิบัติในชีวิต เอาจริงเอาจัง เอาใจใส่กับชีวิต ชีวิตก็บังเกิดผล เป็นความสุข
ดังนั้นเราในฐานะผู้หว่าน ผู้ให้การอบรมสั่งสอนเด็กๆ เรามีหน้าที่หว่าน ส่วนผลนั้นให้เราฝากไว้กับพระเจ้า อย่าให้เราอย่าท้อแท้ในการทำความดี “อย่าท้อแท้ในการทำความดี เพราะถ้าเราไม่หยุดทำความดี เราก็จะได้เก็บเกี่ยวเมื่อถึงเวลา ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีโอกาส จงทำความดีแก่ทุกคน โดยเฉพาะแก่พี่น้องผู้ร่วมความเชื่อของเรา” (กท.6:9-10)
--------------------------------
การมาร่วมพิธีมิสซาฯประจำวันอาทิตย์นี้ เราได้รับฟังพระวาจา(หรือทุกครั้งที่เราอ่านพระคัมภีร์) ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เราจะเปรียบตัวของเราเป็นดินประเภทไหน นี้เราต้องตอบตนเอง
พระศาสนจักรคาทอลิกไทยของเราได้ส่งเสริมให้พวกเราได้อ่านพระคัมภีร์กันให้มากขึ้น ส่งเสริมให้ทุกคนมีพระคัมภีร์ประจำตัว ส่งเสริมการอ่านพระคัมภีร์ในแบบต่างๆ เช่น การอ่านพระคัมภีร์แบบ 7 ขั้นตอน, การรำพึงภาวนากับพระคัมภีร์โดยวิธี Lectio Divina ฯลฯ มีการจัดอบรมเสริมความรู้เรื่องพระคัมภีร์ในสถานที่ต่างๆ มีวิธีการอ่านพระคัมภีร์ในหลากหลายรูปแบบ คำถามที่เราต้องตอบตนเองเช่นเดียวกัน คือ เราได้อ่านพระคัมภีร์มากขึ้นหรือไม่ ในบ้านของเรามีพระคัมภีร์ประจำบ้านหรือไม่ มีการอ่านพระคัมภีร์พร้อมกันในการสวดภาวนาค่ำหรือไม่ เราเคยเข้าร่วมรับการอบรมเรื่องพระคัมภีร์บ้างหรือไม่ ฯลฯ
ในวันนี้ขอเสนอวิธีการอ่านพระคัมภีร์แบบส่วนตัว 3 ขั้นตอน คือ อ่าน เงียบเพื่อฟัง และ นำไปปฏิบัติ เราลงรายละเอียดทีละขั้นตอน
เริ่มจาก “อ่าน” ก่อน อย่าลืมพระคัมภีร์ คือ พระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสกับเรา พระเจ้าพูดกับเราน่ะ เราอยากฟังเสียงของพระเจ้าไหม เราอยากรู้ว่าพระเจ้าจะบอกอะไรกับเราเป็นการส่วนตัวไหม เราอยากรู้ว่าเราจะต้องดำเนินชีวิตหรือจะแก้ปัญหาในชีวิตอย่างไร เราต้องอ่านพระคัมภีร์ มีคาทอลิกใหม่สองคนที่ล้างบาปได้ประมาณหนึ่งปี คนหนึ่งอายุประมาณ 60 ปีเล่าให้ฟังถึงกิจวัตรประจำวันว่า ตื่นขึ้นมาก็สวดภาวนาเช้าประจำวัน จากนั้นก็อ่านพระคัมภีร์อ่าน “บทสดุดี” ตั้งแต่บทที่ 1 ไปจนถึงบทสุดท้ายคือบทที่ 150 เขาใช้เวลาเพื่ออ่านพระคัมภีร์เป็นชั่วโมงๆ อีกคนหนึ่งอายุประมาณ 35 ขึ้นไปเล่าให้ฟังว่าพระคัมภีร์ที่เธออ่านซ้ำไปซ้ำมาคือบทอ่านจากประกาศก “มาลาคี” ถ้อยคำของพระเจ้าจากประกาศกท่านนี้ให้กำลังเธอยามที่เธอท้อแท้...หลายคนอ่านไบเบิ้ลไดอารี่ทุกเช้า... นี้มันต้องอย่างนี้ เริ่มจากการอ่านก่อน ขั้นตอนที่หนึ่งนี้เป็นการนำพระวาจาของพระเจ้าเข้ามาประทับอยู่ใน “สมอง” (Mind) ของเรา
ประการที่สอง คือ “เงียบเพื่อฟัง” หลังจากอ่านแล้วให้เราหลับตาหรืออยู่นิ่งๆ พิจารณาถึงพระวาจาที่เราได้อ่านไปนั้น โดยตั้งโจทย์ว่าพระเจ้ากำลังบอกอะไรกับตัวของฉัน ถามพระเจ้าก็ได้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าพร้อมแล้ว โปรดทรงตรัสเถิด” นั่งเงียบๆตัดความคิดอื่นๆออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน หรือภาระต่างๆ บอกกับความรู้สึกหรือความคิดเหล่านั้นว่า “รอก่อนนะ อย่าเพิ่มเข้ามา ฉันกำลังฟังเสียงพระเจ้าอยู่ เมื่อไรฉันเฝ้าพระเจ้าเสร็จแล้วค่อยมาคุยกัน” ให้เราใช้เวลาอยู่เงียบๆสักระยะหนึ่ง ขั้นนี้เราต้องต่อสู้กับความคิดวอกแวกต่างๆมากมาย ปีศาจมันก็ทำงานของมันด้วย พยายามสู้หน่อย ขั้นตอนนี้จะทำให้พระวาจาของพระเจ้าเข้าไปอยู่ใน “หัวใจ” (Heart) ให้ใจของเราสัมผัสกับใจของพระเจ้า
ประการสุดท้ายสำคัญที่สุดคือการนำเอาพระวาจาของพระเจ้านี้ไป “ปฏิบัติจริง” ในชีวิตประจำวัน เราจดจำพระวาจาของพระเจ้าได้ เราเข้าใจพระวาจาของพระองค์แล้ว ต่อไปเราจะเป็นดินที่ดี(ประเภทที่ 4) คือ การปฏิบัติ ขั้นตอนนี้เป็นการทำให้พระวาจาของพระเจ้าเข้าไปประทับอยู่ใน “จิตวิญญาณ” (Soul) ของเราเลยทีเดียว ถ้าเราทำได้อย่างนี้พระวาจาของพระเจ้าจะไม่มีวันหลุดไปไหนได้อีก แต่จะหลอมเข้าเป็นเลือดเป็นเนื้อของเราเอง และเป็นการยืนยันว่า “พระเจ้าสถิตกับเรา” อย่างแท้จริง
“พระวาจาของพระเจ้าเป็นพระวาจาที่มีชีวิตและบังเกิดผล คมกว่าดาบสองคมใดๆ แทงทะลุเข้าไปถึงจุดที่วิญญาณและจิตใจแยกจากกัน...วินิจฉัยความรู้สึกนึกคิดภายในใจได้”(ฮบ.4:12)
“ฝนและหิมะลงมาจากท้องฟ้า และไม่กลับไปที่นั้นถ้าไม่ได้รดแผ่นดิน ทำให้แผ่นดินอุดม ทำห้พืชงอกขึ้น...ถ้อยคำที่ออกจากปากของเรา จะไม่กลับมาหาเราโดยไม่เกิดผล ไม่ทำตามที่เราปรารถนา และไม่บรรลุจุดประสงค์ที่เราส่งมาฉันนั้น” (อสย.55:10-11)