ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

บทเรียนที่ 11 นักบุญโยเซฟ องค์อุปถัมภ์ของผู้กำลังสิ้นใจอย่างมีความสุข
บทเรียนที่ 11 นักบุญโยเซฟ องค์อุปถัมภ์ของผู้กำลังสิ้นใจอย่างมีความสุข

จุดมุ่งหมาย
        1. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความหมายของความตายในวิถีชีวิตคริสตชน
        2. เพื่อให้ผู้เรียนจะได้ปฏิบัติตนในหนทางที่ถูกต้องในการเตรียมตัวตายอย่างดี

กิจกรรม
อุปกรณ์   ใบงาน “การเดินทางของฉัน”

ใบงาน “การเดินทางของฉัน” ดำเนินการ
       1. ผู้สอนแจกใบงาน “การเดินทางของฉัน" ให้ผู้เรียนคนละ 1 แผ่น
       2. ให้ผู้เรียนเลือกเหตุการณ์การเดินทางของฉัน 1 ครั้ง และบันทึกลงในใบงาน ให้เวลา 5-7 นาที
       3. ให้ผู้เรียนจับคู่กับเพื่อนข้าง ๆ และแบ่งปันสิ่งที่เขียนลงในใบงานให้เพื่อนฟัง หากมีเวลาผู้สอนขออาสาสมัครแบ่งปันให้ทุกคนในห้องฟัง

 สรุป ชีวิตของเราทุก ๆ วัน คือการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางมาเรียน การเดินทางกลับบ้าน การเดินทางไปซื้อขนม ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางในแต่ละครั้งนั้นเกิดเรื่องราวมากมาย มีทั้งความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ มีทั้งความสุข ความทุกข์ สมหวัง ผิดหวัง ชีวิตในแต่ละวันจึงเป็นทั้งการเรียนรู้และทำให้เกิดประสบการณ์ แต่สุดท้ายปลายทางของชีวิตที่สักวันหนึ่งต้องจบลง เรามีความหวังว่าเราจะกลับไปหาพระเจ้าในบ้านแท้คือ เมืองสวรรค์ แต่การจะไปถึงจุดนั้นเราต้องเตรียมตัวของเราอย่างดีตั้งแต่ในโลกนี้

คำสอน
         1. เราทุกคนมีบ้าน บ้านคือสถานที่ที่เราจะต้องกลับไปเสมอและนอกเหนือจากบ้านในโลกนี้ เราคริสตชนยังมีบ้านแท้ถาวรในพระอาณาจักรสวรรค์ เรารู้ว่าพระเจ้าทรงให้ชีวิตเรา และประทานเวลาให้แก่เราในโลกนี้ และเมื่อถึงเวลาพระองค์ก็จะทรงเรียกเรากลับบ้านพระองค์ปรารถนาให้เรากลับไปหาพระองค์เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับพระองค์ ความตายเป็นจุดจบของการเดินทางของมนุษย์ในโลกนี้ เป็นจุดจบของเวลาแห่งพระหรรษทานและพระกรุณาที่พระเจ้าประทานให้ เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตในโลกนี้ตามแผนการของพระองค์ และเราทุกคนก็ปรารถนาที่จะจากชีวิตในโลกนี้ไปอย่างดีและมีความสุข “เพราะมนุษย์มาจากพระเจ้าและกำลังมุ่งไปหาพระเจ้า มนุษย์ไม่อาจมีชีวิตที่สมบูรณ์ได้หากเขาไม่ดำเนินชีวิตร่วมกับพระเจ้า” (เทียบ CCC 44)

        2. ความตายของนักบุญโยเซฟ เป็นความตายในแบบที่บริบูรณ์ เป็นความตายอย่างอบอุ่น สงบและเต็มไปด้วยความสุข เพราะได้ตายในอ้อมกอดของพระเยซูเจ้าและของพระนางมารีย์พระศาสนจักรเล็งเห็นถึงความตายของนักบุญโยเซฟดังกล่าว ซึ่งเป็นความตายที่บริบูรณ์ที่สุด พระสันตะปาปาปีโอที่ 9 พระสันตะปาปาเลโอที่ 11 และพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ได้ประกาศเชิญชวนคริสตชนให้ภาวนาวอนขอต่อท่านนักบุญโยเซฟ เพื่อจะได้รับพระหรรษทานให้ตายอย่างดี และได้ตั้งท่านไว้เป็นที่พึ่งและเป็น
ผู้ปลอบใจของผู้จวนจะสิ้นใจ นักบุญยอห์น ปอลที่ 2 พระสันตะปาปา จึงเสนอให้ท่านเป็น “องค์อุปถัมภ์ของผู้กำลังสิ้นใจอย่างมีความสุข”
(CCC 1014)

        3. ความตายของคริสตชน หมายถึง โดยทางศีลล้างบาปก็ “ตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า” ตามความหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์แล้ว เพื่อจะดำเนินชีวิตด้วยชีวิตใหม่ ถ้าเราตายในพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ความตายทางร่างกายทำให้ “การตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า” สำเร็จไป และดังนี้ก็ทำให้ความตายของเรากลายเป็นการร่วมกิจการไถ่กู้ของพระองค์โดยสมบูรณ์ (CCC 1010)

        4. พระศาสนจักรเตือนเราให้เตรียมตัวสำหรับเวลาที่เราจะตาย ดังที่บทร่ำวิงวอนโบราณต่อนักบุญทั้งหลายกล่าวไว้ว่า “จากความตายฉับพลันโดยไม่คาดฝัน ขอช่วยให้พ้นเถิด พระเจ้าข้า” ขอให้พระมารดาของพระเจ้าทรงภาวนาวอนขอเพื่อเรา “บัดนี้ และเมื่อจะตาย” (บท “วันทามารีย์”) พระศาสนจักรยังเตือนเราให้มอบตนแก่นักบุญโยเซฟผู้อุปถัมภ์ให้ตายดี (เทียบ CCC 1014)

       5. เราต้องดำเนินชีวิตอย่างเตรียมพร้อมเสมอในการเผชิญความตาย ดังนั้น ในทุกการกระทำและทุกความคิด เราต้องคิดเสมอว่าเราอาจตายทันทีในขณะนี้ ดังนั้น ต้องมีมโนธรรมที่ดี ไม่กลัวความตาย แต่เป็นการระวังตัว หลีกหนีบาปมากกว่าที่จะหลีกหนีความตาย พระเจ้าสร้างเราจากความรักและพระองค์ก็ทรงปรารถนาให้ทุกคนได้กลับไปอยู่ร่วมกับพระองค์ เพื่อเราจะได้พบกับความสุขและสันติอย่างแท้จริง สิ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้เราเพื่อช่วยเราให้เดินในหนทางที่ถูกต้อง ก็คือการปฏิบัติตามคำสอนและพระบัญญัติของพระองค์ ด้วยการรักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลัง และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง (เทียบ มก. 12:30-31) ให้เราวอนขอท่านนักบุญโยเซฟ องค์อุปถัมภ์ของผู้กำลังสิ้นใจอย่างมีความสุข ช่วยเราได้เตรียมตนเองอย่างดีในทุกวัน และพร้อมสำหรับการเดินทางกลับไปหาพระบิดาเจ้าอย่างดีเสมอ

ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
       1. ความตายของนักบุญโยเซฟ เป็นความตายในแบบที่บริบูรณ์ เป็นความตายอย่างอบอุ่น สงบและเต็มไปด้วยความสุข เพราะได้ตายในอ้อมกอดของพระเยซูเจ้าและของพระนางมารีย์
       2. นักบุญยอห์น ปอลที่ 2 พระสันตะปาปา เสนอให้ท่านนักบุญโยเซฟเป็น “องค์อุปถัมภ์ของผู้กำลังสิ้นใจอย่างมีความสุข” (CCC 1014)
       3. พระศาสนจักรเตือนเราให้เตรียมตัวสำหรับเวลาที่เราจะตาย ดังที่บทร่ำวิงวอนโบราณต่อนักบุญทั้งหลายกล่าวไว้ว่า “จากความตายฉับพลันโดยไม่คาดฝัน ขอช่วยให้พ้นเถิด พระเจ้าข้า” ขอให้พระมารดาของพระเจ้าทรงภาวนาวอนขอเพื่อเรา “บัดนี้ และเมื่อจะตาย” (บท “วันทามารีย์”)
       4. ถ้าเราตายในพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ความตายทางร่างกายทำให้ “การตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า” สำเร็จไป ความตายของเรากลายเป็นการร่วมกิจการไถ่กู้ของพระองค์โดยสมบูรณ์
       5. สิ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้เราเพื่อช่วยเราให้เดินในหนทางที่ถูกต้องก็คือ การปฏิบัติตามคำสอนและพระบัญญัติของพระองค์ ด้วยการรักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลัง และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง (เทียบ มก. 12:30-31)

ข. กิจกรรม เล่าเรื่อง “ชายผู้น่าสงสารกับตะเกียงปริศนา”

เรื่อง ชายผู้น่าสงสารกับตะเกียงปริศนา

(จาก หนังสือนักบุญยอแซฟ สำนักพิมพ์แม่พระยุคใหม่, มีนาคม 2534)

          เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในคืนหนึ่ง เวลาประมาณ 01.30 น. ที่ประเทศเยอรมัน คุณพ่อแมสซซิงเยอร์เป็นพระสงฆ์เจ้าอาวาส ในหมู่บ้านแนสเซา ท่านได้ยินเสียงกริ่งหน้าบ้านพระสงฆ์ดังขึ้น จึงลุกขึ้นเปิดประตูบ้านต้อนรับและพบว่า มีคนหนึ่งมาเชิญท่านไปโปรดศีลเจิมให้กับผู้ป่วย คนที่มาเชิญท่านแต่งตัวเรียบ ๆ ถือตะเกียงที่จุดอยู่ คุณพ่อแมสซซิงเยอร์ไม่รู้จักเขา เพราะท่านเพิ่งย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านนี้ได้ไม่นาน ยังไม่รู้จักสัตบุรุษทุกคน ท่านจึงคิดว่าคนที่มาตามท่านนั้น คงเป็นคนของฟาร์มใดฟาร์มหนึ่งในละแวกนั้น ในเวลานั้น คุณพ่อคิดว่าจะปลุกคนจัดวัดให้ไปเป็นเพื่อน แต่คนที่มาตามท่านพูดว่า “คุณพ่อไม่จำเป็นต้องปลุกคนจัดวัด ผมรับเป็นธุระจัดการเอง” คุณพ่อแมสซซิงเยอร์ได้ยินดังนั้นก็รู้สึกประหลาดใจมาก เมื่อท่านเปิดตู้ศีล เพื่อนำศีลมหาสนิทไปโปรดให้กับผู้ป่วย ท่านได้ยินชายคนนั้นสวดบทขอสารภาพบาปเป็นภาษาละตินอย่างถูกต้อง

          ชายคนนั้นถือตะเกียงออกนำหน้าท่าน มุ่งตรงไปยังทางที่เข้าไปในป่า จนเมื่อถึงฟาร์มสุดท้าย คุณพ่อถามคนนำทางว่า “เดินต่อไปไม่ได้แล้วมั้ง เพราะไม่มีบ้านคนแล้วมีแต่ป่าเท่านั้น” ชายคนที่ถือตะเกียงขอให้คุณพ่อตามเขาไป เมื่อเห็นคุณพ่อเดินตามมาแล้ว เขาแสดงความพอใจ แต่คุณพ่อกลับเริ่มไม่สบายใจ สักพักคุณพ่อก็เห็นตะเกียงวางอยู่บนพื้นข้างหน้าท่าน แต่คนนำทางหายไปแล้ว ท่านเรียกคนนำทางเท่าไร ก็ไม่มีเสียงตอบรับ และยิ่งอยู่ในความมืด คุณพ่อก็เริ่มใจคอไม่ดี เมื่อมองดูรอบตัว ท่านก็สังเกตเห็นกระท่อมหลังหนึ่ง อยู่ใกล้ ๆ นั้น คุณพ่อแมสซซิงเยอร์ก็ลังเลใจไม่รู้จะทำอย่างไร ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงเบา ๆ มาจากทางกระท่อมนั้น ท่านจึงนำตะเกียงเดินเข้าไปในกระท่อม ก็เห็นชายชราคนหนึ่งลักษณะท่าทางเหมือนขอทาน และอาการของเขาก็เหมือนคนที่กำลังจะตาย เขานอนอยู่บนฟางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย

           เมื่อชายขอทานคนนั้นเห็นว่าเป็นพระสงฆ์ เขาก็พูดด้วยความลำบากว่า “คุณพ่อครับ คุณพ่อมาที่นี่ได้อย่างไร ตลอดชีวิต ผมภาวนาขอท่านนักบุญโยเซฟว่า อย่าปล่อยให้ผมตายก่อนที่จะได้รับศีล เวลานี้ผมคิดว่าผมจะตายโดยไม่ได้พบพระสงฆ์เสียแล้ว แต่คุณพ่อก็มาอยู่ที่นี่แล้ว”

          คุณพ่อแมสซซิงเยอร์รู้สึกตื่นเต้นมาก ท่านโปรดศีลให้ชายชราน่าสงสารนั้น และอยู่เฝ้าจนกระทั่งเขาสิ้นใจอย่างสงบ เมื่อกลับที่พักแล้ว คุณพ่อเล่าเหตุการณ์คืนนั้นให้คนงานในบ้านของท่านฟัง แต่ก็ห้ามมิให้เล่าต่อให้ใครฟัง ในปี ค.ศ. 1966 คุณพ่อแมสซซิงเยอร์ได้มรณภาพลง ก่อนหน้านั้น เพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้ที่นำท่านไปโปรดศีลเจิมคนไข้ในคืนนั้น ท่านได้วางตะเกียงในคืนดังกล่าวไว้แทบเท้ารูปปั้นนักบุญโยเซฟในโบสถ์ และทุกวันท่านให้จุดตะเกียงเพื่อเชิญชวนคริสตชนให้มอบฝากคำภาวนาและความห่วงใยต่าง ๆ ของเขาไว้กับท่านนักบุญโยเซฟ

ดำเนินการ
         1. ผู้สอนเล่าเรื่อง “ชายผู้น่าสงสารกับตะเกียงปริศนา” ให้ผู้เรียนฟัง เพื่อเป็นการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มา
         2. เมื่อเล่าเรื่องจบแล้ว ให้ผู้สอนสนทนากับผู้เรียนตามคำถามดังต่อไปนี้
             1) เรื่องราวนี้เล่าถึงเรื่องอะไร (ชายชราขอทานที่ปรารถนาจะตายดี และได้รับศีลเจิมคนไข้ก่อนตาย, คุณพ่อไปโปรดศีลเจิมให้ชายขอทาน)
             2) เมื่อได้ฟังเรื่องราวนี้รู้สึกอย่างไร (สงสาร, ประทับใจ, ตื่นเต้น, แปลกใจ ฯลฯ)
             3) สิ่งดีที่ได้รับจากเรื่องนี้คืออะไร (การได้รับศีลเจิมคนไข้เป็นการเตรียมตัวเดินทางกลับไปหาพระเจ้าอย่างดี, การภาวนาวอนขอต่อท่านนักบุญโยเซฟ)
             4) ถ้าชายผู้น่าสงสารคนนั้นไม่ได้รับศีลเจิมคนไข้จะเป็นอย่างไร (เขาคงสิ้นใจอย่างโดดเดี่ยวและหดหู่)
             5) เมื่อได้ฟังเรื่องนี้แล้วผู้เรียนได้ข้อคิดอะไรบ้าง (เตรียมตนเองให้ดีสำหรับการเผชิญความตาย, ภาวนาอย่างสม่ำเสมอ)
             6) เรื่องราวที่เราได้รับฟังนี้ทำให้มีความเชื่อหรือความศรัทธามากขึ้นในเรื่องใด (เราสามารถพึ่งพาและวิงวอนขอความช่วยเหลือจากท่านนักบุญโยเซฟ ด้วยการภาวนาอย่างสม่ำเสมอ, ดำเนินชีวิตอย่างรู้ตัว เพื่อเตรียมตนเองอย่างดีก่อนตาย)

ค. การบ้าน
            ให้ผู้เรียนสวด “บทภาวนาต่อนักบุญโยเซฟเพื่อการสิ้นใจอย่างสงบ” เป็นเวลา 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น โดยมีจุดประสงค์ในการภาวนาสำหรับผู้ที่กำลังจะสิ้นใจ เพื่อให้เขาสิ้นใจอย่างสงบและมีความสุข และภาวนาเพื่อตัวเราเองจะได้เตรียมตัวตายอย่างดีด้วย


บทภาวนาต่อนักบุญโยเซฟเพื่อการสิ้นใจอย่างสงบ

           ข้าแต่ท่านนักบุญโยเซฟ ผู้พิทักษ์การสิ้นใจอย่างสงบ ลูกวอนขอท่าน ช่วยวิงวอนเพื่อทุกคนที่กำลังจะสิ้นใจ และอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากท่าน เมื่อชั่วโมงแห่งความตายของลูกมาถึง ท่านมีบุญที่ได้ผ่านชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ และในชั่วโมงสุดท้ายของท่าน ท่านได้รับความบรรเทาค้ำชูที่ยิ่งใหญ่จากพระเยซูเจ้าและพระนางมารีย์ โปรดช่วยลูก อย่าให้ต้องประสบความตายกะทันหันเลย

           โปรดให้ลูกได้รับพรในการเลียนแบบการดำเนินชีวิตของท่าน โปรดแยกทุกสิ่งที่เป็นของโลกจากหัวใจของลูก และรวบรวมทรัพย์สมบัติคุณธรรมประจำวัน เมื่อลูกใกล้จะตาย โปรดให้ลูกได้รับพระพรแห่งศีลเจิมคนป่วยอย่างดี และพร้อมกับพระแม่มารีย์ โปรดเติมเต็มหัวใจของลูกด้วยศรัทธาในความเชื่อความวางใจ ความรักและเป็นทุกข์ถึงบาป เพื่อลูกจะได้มอบวิญญาณของลูก พร้อมกับลมหายใจสุดท้ายในสันติสุขเทอญ อาแมน

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์