บทเรียนที่ 12 นักบุญโยเซฟกับพระศาสนจักรในประเทศไทย
จุดมุ่งหมาย
1. เพื่อให้ผู้เรียนทราบถึงบทบาทที่สำคัญของนักบุญโยเซฟต่อพระศาสนจักรในประเทศไทย
2. เพื่อเพิ่มพูนความรักของผู้เรียนต่อนักบุญโยเซฟ และจะได้ภาวนาเสนอวิงวอนต่อท่านอย่างสม่ำเสมอ
กิจกรรม คิดว่า... เป็นที่ไหนและมีเท่าไหร่
อุปกรณ์ ใบงาน “คิดว่า... เป็นที่ไหนและมีเท่าไหร่”
ดำเนินการ
1. ผู้สอนแจกใบงาน “คิดว่า... เป็นที่ไหนและมีเท่าไหร่” ให้ผู้เรียนคนละ 1 แผ่น หรือ คู่ละ 1 แผ่น *ปรับเปลี่ยนได้ตามดุลยพินิจของผู้สอน
2. ให้ผู้เรียนทำใบงาน ให้เวลา 3-5 นาที
3. ให้ผู้เรียนสลับใบงานของตนกับเพื่อนข้าง ๆ และผู้สอนเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง ให้ตรวจของเพื่อนและให้คะแนนข้อที่ถูกต้อง ข้อละ 1 คะแนน
:::: Download เฉลยคำตอบ ::::
4. ผู้สอนเตรียมของรางวัลเล็กน้อยไว้สำหรับผู้เรียนที่ทำคะแนนได้มากที่สุด
สรุป
นักบุญโยเซฟเป็นผู้ที่น่าเคารพเสมอในฐานะบิดาของเราชาวคาทอลิก แสดงให้เห็นได้จากพระศาสนจักรในประเทศไทย แม้จะเป็นพระศาสนจักรเล็ก ๆ แต่ก็มีจำนวนวัดที่มีนามชื่อโยเซฟไม่น้อย ซึ่งยังมีวัดอีกจำนวนมากในพระศาสนจักรสากลที่ยกถวายให้ท่านนักบุญโยเซฟเป็นองค์อุปถัมภ์ รวมทั้งสถาบันต่าง ๆ ของพระศาสนจักรด้วย
คำสอน
1. หากมองย้อนกลับไปในโอกาส 350 ปี มิสซังสยาม ในปี ค.ศ. 2019 เราจะได้ยินชื่อของท่านนักบุญโยเซฟอย่างนับไม่ถ้วน ซึ่งท่านมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งความรอด ประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรสากล และมาจนถึงพระศาสนจักรในประเทศไทย คริสตชนไทยต่างได้รับการปกป้องดูแลจากท่านตั้งแต่สมัยแรกเริ่มที่มีการเผยแผ่พระศาสนา และยังได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจิตของท่าน ซึ่งยังคงมีธรรมเนียมปฏิบัติและกิจศรัทธาต่าง ๆ มากมายที่มีต่อท่านเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
2. ในสมัยอยุธยา ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศให้เป็นมิสซังสยามแล้ว ทางกระทรวงเผยแผ่ความเชื่อได้ประกาศให้นักบุญโยเซฟเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศมิสซังทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อสยามเป็นประเทศมิสซังจึงทำให้ต้องรวมอยู่ในนั้นด้วย และด้วยความศรัทธาต่อนักบุญโยเซฟของบรรดามิชชันนารี จึงฝากการแพร่ธรรมในสยามไว้ในความดูแลของท่าน ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่า วัดแห่งแรกของมิชชันนารีฝรั่งเศส ก็ได้สร้างถวายแด่นักบุญโยเซฟ คนแรกที่มิชชันนารีฝรั่งเศสล้างบาปให้ก็มีนามนักบุญว่าโยเซฟ บ้านเณรแห่งแรกก็ใช้ชื่อนักบุญโยเซฟ ชื่อค่ายของมิชชันนารีฝรั่งเศสก็ชื่อ ค่ายนักบุญโยเซฟ ตามชื่อวัดแห่งแรก โรงพยาบาลของมิชชันนารีฝรั่งเศสก็ชื่อโยเซฟ
3. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของสยามในเวลานั้น พระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยพระปรีชาสุขุมทรงผูกสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ยังผลให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง ทำให้ประเทศมั่งคั่ง ต่อมาไม่นาน ทางราชสำนักทราบว่าพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต และคณะ มาพำนักอยู่ที่กรุงศรี-อยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงปรารถนาใคร่จะพบปะกับท่านพระสังฆราชและบรรดามิชชันนารีจึงเดินทางไปยังเมืองละโว้ (จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน) อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน การเข้าเฝ้าครั้งนี้เป็นการเข้าเฝ้าอย่างไม่เป็นทางการ เพราะตามประเพณีไทย อนุญาตให้เฉพาะคณะทูตเข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการเท่านั้น อย่างไรก็ดี พระสังฆราชและคณะได้รับการต้อนรับอย่างมีเกียรติจนพระสังฆราชลังแบรต์ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุญาตให้ท่านพำนักอยู่ในราชอาณาจักรสยาม ต่อมาปี ค.ศ. 1665 พระสังฆราชลังแบรต์ทูลขอพระบรมราชานุญาตก่อสร้างโรงเรียน เมื่อทูลขอเสร็จแล้วได้เสริมว่า เดชะพระทัยดีของพระองค์ จะได้สร้างวัดหลังหนึ่งเพื่อประกอบศาสนพิธี (ที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อเราพูดถึงบ้านเณรในเวลานั้น จะหมายถึงวัด บ้านพักพระสังฆราช และโรงเรียน) ดังนั้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงทรงพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำและทรงสัญญาจะพระราชทานวัสดุต่าง ๆ สำหรับใช้ในการสร้างวัดด้วย ในปี ค.ศ. 1666 ได้เริ่มลงมือก่อสร้างโรงเรียนเป็นอิฐและสร้างวัดชั่วคราวเป็นไม้ ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า “ค่ายนักบุญโยเซฟ” ต่อมาพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต และพระสังฆราชปัลลือ เห็นว่าเพื่อให้การอบรมพระสงฆ์พื้นเมืองได้ผลดี จำต้องเร่งก่อตั้งสามเณราลัยขึ้นโดยเร็ว ให้คนหนุ่ม ๆ ที่มีกระแสเรียกและมีความตั้งใจในการเป็นพระสงฆ์จากมิสซังต่าง ๆ ที่อยู่ในความดูแลของประมุขทั้งสองได้รับการอบรมในสามเณราลัย พระสังฆราชทั้งสองจึงตกลงใจก่อตั้งสามเณราลัยนักบุญโยเซฟ และในปี ค.ศ. 1669 ได้สร้างโรงพยาบาลนักบุญโยเซฟเป็นโรงเรือนหลังเล็ก ๆ ครั้งแรกรับคนป่วย 3-4 คน ต่อมาเพิ่มเป็น 10 คน หมอประจำโรงพยาบาลก็คือ คุณพ่อลาโน นั่นเอง เนื่องจากท่านได้เคยศึกษาวิชาแพทย์มาจากประเทศฝรั่งเศสอยู่บ้าง จึงเป็นโอกาสที่ได้ใช้ความรู้และแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อมาไม่ถึง 10 ปี โรงพยาบาลแห่งนี้มีตึกเพิ่มเป็น 2 หลัง หลังหนึ่งสำหรับคนไข้ชาย อีกหลังหนึ่งสำหรับคนไข้หญิง
(แหล่งข้อมูล: หอจดหมายเหตุ วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา http://catholichaab.com/main/index.php/1/church7/6/932-2015-12-08-03-21-43)
4. มีกิจศรัทธาต่อท่านนักบุญโยเซฟมากมายที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกัน เช่น หนังสือภาวนาทุกเล่มจะมีบทภาวนาต่อนักบุญโยเซฟ มีการสวดภาวนาต่อท่านทุกวันพุธในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ยกถวายแด่ท่านเป็นพิเศษ มีวันฉลองสมโภช มีบทวิงวอนต่อนักบุญโยเซฟ มีนพวารนักบุญโยเซฟ
5. ปีนักบุญโยเซฟ เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2020 จนถึง วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2021 จึงเป็นโอกาสที่ทำให้เราระลึกถึงนักบุญโยเซฟเป็นพิเศษ และในสมณลิขิตด้วยหัวใจของบิดา ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ทรงลิขิตขึ้นนั้น เพื่อที่จะเพิ่มพูนความรักของเราต่อท่านนักบุญโยเซฟผู้ยิ่งใหญ่ เพื่อให้เราเสนอวิงวอนต่อท่าน เรียนรู้และเลียนแบบคุณธรรมอันสูงส่งและความร้อนรนของท่าน ดังที่บรรดาพระสันตะปาปาองค์ก่อน ๆได้ทรงกระทำมา คำภาวนา แบบอย่างชีวิตและบุคลิกภาพของนักบุญโยเซฟเป็นประโยชน์มากสำหรับพระศาสนจักรในสมัยของเรา แม้ว่าปีนักบุญโยเซฟจะจบลงไปแล้ว แต่เรายังคงภาวนาวอนขอต่อท่านนักบุญโยเซฟให้ช่วยเสนอคำวิงวอนเพื่อเราต่อไปได้ (บทสรุป สมณลิขิตด้วยหัวใจของบิดา)
ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. คริสตชนไทยต่างได้รับการปกป้องดูแลจากท่านนักบุญโยเซฟตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน
2. เมื่อกระทรวงเผยแผ่ความเชื่อได้ประกาศให้นักบุญโยเซฟเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศมิสซัง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อสยามเป็นประเทศมิสซัง จึงทำให้ต้องรวมอยู่ในนั้นด้วย
3. มิชชันนารีฝรั่งเศส ได้สร้างวัดแห่งแรกที่อยุธยา และถวายวัดแด่ท่านนักบุญโยเซฟ
4. มีการสวดภาวนาต่อท่านนักบุญโยเซฟทุกวันพุธในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ยกถวายแด่ท่านเป็นพิเศษ มีวันฉลองสมโภช มีบทวิงวอนต่อนักบุญโยเซฟด้วย
5. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงประกาศปีนักบุญโยเซฟ เพื่อเพิ่มพูนความรักของเราต่อนักบุญผู้ยิ่งใหญ่เพื่อให้เราเสนอวิงวอนต่อท่าน เรียนรู้และเลียนแบบคุณธรรมอันสูงส่งและความร้อนรนของท่าน
ข. กิจกรรม
1. ผู้สอนแจ้งให้ผู้เรียนทราบล่วงหน้าว่าจะมีการทานเลี้ยงร่วมกัน โอกาสปิดปีนักบุญโยเซฟ โดยให้ระบุวันไว้ก่อน
2. ผู้สอนแจ้งให้ผู้เรียนแต่ละคนนำขนมมาคนละเล็กคนละน้อย คนละ 1-2 ซอง (แต่หากใครที่ไม่มีก็ไม่เป็นไร) และผู้สอนจัดเตรียมน้ำดื่ม และขนมมาไว้เพื่อแจกให้ผู้เรียนได้เพียงพอทุกคน
3. ผู้สอนลองตรวจสอบว่าในห้องเรียนมีผู้เรียนคนใดที่มีนามนักบุญโยเซฟ หากมีเวลาเพียงพอและสามารถทำได้ ก็อาจให้เพื่อน ๆ ช่วยกันร้องเพลง Happy Feastday ให้ด้วย