ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

บทเรียนที่ 5 นักบุญโยเซฟ ผู้ปกป้องคุ้มครองพระเยซูเจ้าเดือนพฤษภาคม 2021

บทเรียนที่ 5 นักบุญโยเซฟ ผู้ปกป้องคุ้มครองพระเยซูเจ้า
จุดมุ่งหมาย
1.เพื่อให้ผู้เรียนบอกเล่าถึงบทบาทและภารกิจของนักบุญโยเซฟ ในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองพระเยซูเจ้า
2.เพื่อให้ผู้เรียนปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้าและพระบัญญัติของพระศาสนจักรตามแบบอย่างของนักบุญโยเซฟ

กิจกรรม

เด็กเล็ก ใบงาน “ตามหาพระเยซูเจ้า”
เด็กโต  ตามหาพระเยซูเจ้า (บทบาทสมมุติ)

สำหรับเด็กเล็ก
1. เล่าเรื่องจากพระวรสารนักบุญลูกา พระเยซูเจ้าในหมู่ธรรมาจารย์ (ลก. 2:41-49) ให้ผู้เรียนฟัง
2. ให้ผู้เรียนทำใบงาน "ตามหาพระเยซูเจ้า"
3. นำผู้เรียนวิเคราะห์ในประเด็นต่อไปนี้
วิเคราะห์
1. เด็ก ๆ คิดว่า เมื่อพระนางมารีย์และนักบุญโยเซฟมองหาพระเยซูเจ้าไม่พบ ท่านทั้งสองจะรู้สึกอย่างไร (ตกใจ กังวลใจ เป็นห่วง)
2. เมื่อพระนางมารีย์และนักบุญโยเซฟพบพระเยซูเจ้าในพระวิหารแล้ว คิดว่าพวกท่านจะรู้สึกอย่างไร (ดีใจ สบายใจ มีความสุข)

สำหรับเด็กโต
อุปกรณ์     รูปพระเยซูเจ้าในหมู่ธรรมาจารย์

วิธีการ
1. ผู้สอนตัดรูปพระเยซูเจ้าในหมู่ธรรมาจารย์ ออกเป็น 3 ส่วน
     (1)มารีย์และโยเซฟ (2) ธรรมาจารย์ (3) พระเยซูเจ้า และติดไว้บนกระดาน
2.เล่าเรื่องจากพระวรสารนักบุญลูกา พระเยซูเจ้าในหมู่ธรรมาจารย์ (ลก. 2:41-49) ให้ผู้เรียนฟัง
3.ให้ผู้เรียนจินตนาการว่าตนเองเป็นแม่พระหรือนักบุญโยเซฟและมองหาพระเยซูในหมู่ญาติไม่พบ...
4.ให้ผู้เรียนจินตนาการว่าพระนางมารีย์หรือนักบุญโยเซฟจะรู้สึกอย่างไร
(เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจความรู้สึกนั้น ผู้สอนอาจเล่าให้ผู้เรียนฟังถึงเหตุการณ์ในวันนั้นอีกครั้งหนึ่งว่า.. นักบุญโยเซฟพร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้าขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกาทุกปี เมื่อพระเยซูเจ้ามีพระชนมายุสิบสองพรรษา ทรงร่วมเดินทางไปพร้อมกับพระนางมารีย์หรือนักบุญโยเซฟด้วย เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลงทุกคนต่างก็เดินทางกลับ เมื่อเดินทางไปได้หนึ่งวันแล้ว โยเซฟและพระนางมารีย์ตามหาพระองค์ในหมู่ญาติและคนรู้จักไม่พบ จึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม

5.ให้ผู้เรียนดูรูปพระเยซูเจ้าและบอกพวกเขาว่า “ครูจะซ่อนรูปพระเยซูเจ้าไว้ที่ไหนสักแห่งในห้องเรียนนี้”
6.ให้ผู้เรียนก้มศีรษะหรือปิดตา ขณะที่คุณครูจะนำภาพพระเยซูเจ้าไปซ่อน หรืออาจให้ผู้เรียนรออยู่นอกห้อง จนกว่าคุณครูจะบอกให้เข้ามาในห้องได้
7.ให้ผู้เรียนค้นหาหารูปพระเยซูเจ้าภายในห้องจนพบ
8.เมื่อมีผู้เรียนพบรูปของพระเยซูเจ้าแล้ว อาจมอบรางวัลให้กับผู้ที่ค้นหารูปพระเยซูเจ้าพบด้วยก็ได้

วิเคราะห์
1.ถามผู้เรียนว่า เมื่อสักครู่นี้ใครจินตนาการว่าตนเองเป็นพระนางมารีย์หรือนักบุญโยเซฟ (ให้ผู้เรียนยกมือ)
2.แต่ละคนรู้สึกอย่างไร เมื่อคิดว่า ตนเองมองหาพระเยซูเจ้าในหมู่ญาติแล้วไม่พบพระองค์ (ตกใจ กังวลใจ เป็นห่วง)
3.เมื่อมีใครคนหนึ่งหารูปพระเยซูเจ้าพบแล้ว ตนเองรู้สึกอย่างไร (ดีใจ สบายใจ มีความสุข)


          สรุป เมื่อพระนางมารีย์และนักบุญโยเซฟมองหาพระเยซูเจ้าไม่พบ ท่านทั้งสองก็คงเป็นห่วงพระเยซูมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะนักบุญโยเซฟ ในฐานะที่ท่านเป็นบิดาและเป็นหัวหน้าครอบครัว ย่อมมีความรู้สึกกังวลใจ และรู้สึกร้อนใจ แต่เมื่อท่านทั้งสองพบพระองค์แล้วพวกเขาก็มีความสุข เช่นเดียวกัน บิดามารดาทุกคนก็ย่อมรักและเป็นห่วงลูกทุกคน

 

ใบงาน บทเรียนที่ 5 ตามหาพระเยซูเจ้า  ใบงาน บทเรียนที่ 5 พระเยซูเจ้าในหมู่ธรรมาจารย์ 

คำสอน
           1.บางคนอาจเคยคิดว่า นักบุญโยเซฟไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมายในฐานะบิดาของพระเยซูเจ้า และในพระวรสารก็ไม่ได้เอ่ยถึงท่านมากนัก แต่ในความเป็นจริงนั้นท่านเป็นบิดาที่มีความรักความผูกพันกับพระเยซูเจ้า ท่านได้ดูแลทุกสิ่งอย่างครบถ้วนในชีวิตของพระเยซูเจ้า ตลอดจนท่านได้เห็นพระเยซูเติบโตทีละน้อย “ในปรีชาญาณและในความโปรดปรานของทั้งพระเจ้าและมนุษย์” (ลก. 2:52) พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อชนชาติอิสราเอลเช่นไร นักบุญโยเซฟก็ปฏิบัติต่อพระเยซูคริสต์เช่นนั้น “เขาจูงมือสอนให้พระเยซูคริสต์เดิน เขาเป็นบิดาที่เลี้ยงลูกด้วยความรักก้มตัวลงป้อนข้าวเขา” (ฮชย. 11:3-4) (ด้วยหัวใจของบิดา PC 2)

           2.พระบิดาเจ้าได้เลือกสรรนักบุญโยเซฟให้เป็นบิดาของพระเยซูเจ้า ชีวิตของท่านและการงานของท่านนั้นมอบถวายให้แด่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ท่านได้ทำหน้าที่คุ้มครองพระนางมารีย์และพระเยซูเจ้า ตลอดชีวิตของท่าน และเราสามารถกล่าวได้ว่า นักบุญโยเซฟเป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบดูแลรักษาชีวิตของพระเยซูเจ้าร่วมกับพระนางมารีย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในพระสมณสาสน์เตือนใจ ชื่อว่า องค์พิทักษ์พระมหาไถ่ (Redemptoris Custos) ได้บรรยายถึงบุคลิกภาพและภารกิจของนักบุญโยเซฟ ในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองพระเยซูไว้มากมาย เช่น
- เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิด้วยเดชะพระจิตในครรภ์ของพระนางมารีย์ ท่านเป็นผู้ปกป้องชีวิตของพระเยซูกุมาร
- ตลอดการเดินทางไปยังเมืองเบธเลเฮม นักบุญโยเซฟเป็นดูแลเรื่องความปลอดภัยของพระเยซูกุมารและพระนางมารีย์
- เมื่อไปถึงเมืองเบธเลเฮม ถึงเวลาประสูติ ท่านเป็นผู้ค้นหาสถานที่ที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับพระเยซูกุมารและพระนางมารีย์
- ท่านเป็นผู้ช่วยเหลือพระนางมารีย์ ขณะเมื่อพระนางเจ็บครรภ์และคลอดบุตร จัดหาข้าวของที่จำเป็นสำหรับพระเยซูกุมารและพระนางมารีย์
- เมื่อกษัตริย์เฮโรดต้องการจะฆ่าพระกุมาร นักบุญโยเซฟก็ได้เป็นผู้ปกป้องพาพระกุมารและพระนางมารีย์ลี้ภัยไปที่ประเทศอียิปต์ ท่านเป็นผู้ปกป้องพระนางมารีย์และพระเยซูกุมารให้พ้นจากการถูกติดตามของทหารและคุ้มครองให้ปลอดภัยตลอดการเดินทาง
- และเมื่ออยู่ในอียิปต์ ก็คงต้องเป็นนักบุญโยเซฟต้องจัดหาที่อยู่อาศัย และทุกสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพสำหรับพระนางมารีย์และพระเยซูกุมาร
- เมื่อท่านทั้งสองกลับมาอยู่ที่เมืองนาซาเร็ธ ก็คงต้องเป็นท่านนักบุญโยเซฟที่ทำงาน เพื่อเลี้ยงดูพระนางมารีย์และพระเยซูเจ้าอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งเป็นความรอดพื้นฐานในฐานะที่ท่านเป็นบิดาของพระเยซูเจ้า

           3.ไม่เพียงแต่หน้าที่ทั่วไปของบิดา แต่ท่านได้ทำหน้าที่ของบิดาทางด้านธรรมประเพณีทางศาสนาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วย
- ตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อพระนางมารีย์ตั้งครรภ์ด้วยเดชะพระจิตเจ้า ท่านได้ใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อปกป้องดูแลชีวิตของพระนางมารีย์และพระเยซูเจ้าตลอดทั้งชีวิตของท่าน (RC8)
- การเดินทางไปขึ้นทะเบียนในการสำรวจสำมะโนครัว ตามกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการบังเกิดมาของพระเยซู ท่านได้ให้ทางการบันทึกเป็นทางการว่า “เยซู บุตรของโยเซฟ แห่งนาซาเร็ธ” (เทียบ ยน. 1:45) และการขึ้นทะเบียนนี้ก็แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์แท้คนหนึ่งเช่นเดียวกันกับเราทุกคน (RC 9)
- ในการเข้าสุหนัตของพระเยซู (ลก 2:21) คือวันที่แปดหลังจากทรงบังเกิด เป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเข้ามาเป็นลูกหลานของอับราฮัม เป็นสมาชิกของประชากรที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญาด้วย เครื่องหมายนี้บอกล่วงหน้าถึงศีลล้างบาป ซึ่งเป็นเสมือน “พิธีสุหนัตที่มาจากพระคริสตเจ้า”ซึ่งเป็นหน้าที่ทางศาสนาประการแรกของผู้เป็นบิดา โดยในพิธีนี้นักบุญโยเซฟก็ได้ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของท่านต่อพระเยซูเจ้า คือเป็นผู้ตั้งชื่อให้พระกุมารว่า “เยซู” ตามที่ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้ และการตั้งชื่อนี้เองท่านได้ยืนยันความเป็นบิดาของท่านต่อพระเยซูด้วย (RC 11)
- เมื่อครบกำหนดเวลาที่มารดาและบุตรจะต้องทำพิธีชำระมลทิน ตามธรรมบัญญัติของโมเสส ท่านพร้อมกับพระนางมารีย์ก็นำพระกุมารไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อถวายแด่พระเจ้า (ลก 2:22) ซึ่งตามธรรมบัญญัติของพระเจ้าจะต้องถวายบุตรชายคนแรกแด่พระเจ้าและถวายเครื่องบูชา คือนกเขาหนึ่งคู่หรือนกพิราบสองตัว นักบุญโยเซฟผู้เป็นบิดาปฏิบัติตามธรรมบัญญัตินี้ได้อย่างถูกต้อง (RC 13) (เพื่อไถ่บุตรคืนมา) ซึ่งเป็นการถวายของคนจน(ถ้าเป็นคนรวยจะถวายลูกแกะ) ตามบันทึกเหตุการณ์ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก. 2:22-39)
- เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ ท่านได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนบุตรของพระเยซูเจ้าตามธรรมประเพณี ซึ่งเป็นหน้าที่ของบิดา คือสอนเกี่ยวกับกฎหมายทางศาสนา และการงานอาชีพของบิดา แก่พระเยซูเจ้าด้วย (RC 16)
- จากชีวิตของท่าน นักบุญจอห์น คริสโซสโตม ได้กล่าวว่า “นักบุญโยเซฟเป็นผู้รับใช้แผนการแห่งความรอดพ้น” และนักบุญพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ได้ชี้ให้เห็นว่า นักบุญโยเซฟแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงการเป็นบิดาที่แท้จริงของตน “โดยการมอบชีวิตของท่านเป็นเครื่องบูชารับใช้พระธรรมล้ำลึกแห่งการประสูติของพระเยซูคริสต์ และเป้าหมายแห่งการไถ่กู้ของพระองค์ (PC 1)
- ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา บทที่ 2 ข้อ 51 ก็ได้บอกเราว่าพระเยซูเจ้าปฏิบัติต่อท่านนักบุญโยเซฟ โดยเมื่อ ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์กลับไปประทับที่เมืองนาซาเร็ธ พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปที่เมืองนาซาเร็ธกับบิดามารดาและเชื่อฟังท่านทั้งสอง และพระสมณสาสน์เตือนใจ ชื่อว่า องค์พิทักษ์พระมหาไถ่ (Redemptoris Custos) พระเยซูเจ้าทรงนอบน้อมเชื่อฟังต่อท่านทั้งสอง และนักบุญโยเซฟก็ได้รับเกียรติ เหมือนลูก ๆ ทั้งหลายได้กระทำต่อพ่อ นั่นคือ พระเยซูเจ้าทรงรัก เคารพ และเชื่อฟังโยเซฟ และพระนางมารีย์ อย่างเต็มเปี่ยมด้วย (RC 8)
- เราได้เรียนรู้แบบอย่างของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ คือการดำเนินชีวิตตามหน้าที่ของการเป็นบิดาของท่านนักบุญโยเซฟ หน้าที่ของการเป็นมารดาของพระนางมารีย์ หน้าที่ของการเป็นบุตรของพระเยซูเจ้า เราจะต้องรับผิดชอบทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มความสามารถ รวมถึงแบบอย่างในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้า และบัญญัติของพระศาสนจักรซึ่งท่านนักบุญโยเซฟได้ทำเป็นแบบอย่างให้เราได้เห็นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ปัจจุบันเรามีพระบัญญัติของพระเจ้า และบัญญัติของพระศาสนจักรเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเป็นคริสตชนที่ดี และเพื่อจะได้มีความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องมากขึ้น ดังนั้นให้เราปฏิบัติตามด้วยความรักและความตั้งใจดี เช่น การนับถือบิดามารดา การไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ การรับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิทอย่างน้อยครั้งหนึ่งในเทศกาลปัสกา อดอาหารและอดเนื้อในวันบังคับและจงบำรุงพระศาสนจักรตามความสามารถ เหมือนที่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ได้ทำเป็นแบบอย่างแก่เรา

ข้อควรจำ
1.พระบิดาเจ้าได้เลือกสรรนักบุญโยเซฟให้ปกป้องดูแลพระเยซูเจ้า ในฐานะบิดา
2.นักบุญโยเซฟ ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อดูแลพระนางมารีย์และพระเยซูเจ้าตลอดทั้งชีวิตของท่าน
3.นักบุญโยเซฟ เป็นผู้จัดหาอาหาร ป้อนอาหาร ช่วยเลี้ยงดู อาบน้ำ หาเครื่องนุ่งห่ม และอบรมเลี้ยงดูพระเยซูเจ้าอย่างดีที่สุด
4.นักบุญโยเซฟ ได้ทำหน้าที่ของบิดาทางด้านธรรมประเพณีทางศาสนาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนในการสำรวจสำมะโนครัว การเข้าสุหนัตของพระเยซูเจ้า พิธีชำระมลทิน อบรมสั่งสอนพระเยซูเจ้าในฐานะบุตรตามธรรมประเพณี ซึ่งเป็นหน้าที่ของบิดา คือสอนเกี่ยวกับกฎหมายทางศาสนา และการงานอาชีพของบิดา แก่พระเยซูเจ้าด้วย (RC 16)
5.เราได้เรียนรู้แบบอย่างของครอบครัวศักดิ์สทธิ์ คือ หน้าที่ของการเป็นบิดาของท่านนักโยเซฟ หน้าที่ของการเป็นมารดา จากพระนางมารีย์ หน้าที่ของการเป็นบุตรจากพระเยซูเจ้า

กิจกรรม
บทบาทและภารกิจของนักบุญโยเซฟ ในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองพระเยซูเจ้า
แบ่งผู้เรียนออกเป็น 2 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิด ใน 2 หัวข้อต่อไปนี้ กลุ่มใดตอบได้ถูกต้องมากที่สุด ถือว่าชนะ ผู้สอนอาจเตรียมรางวัลไว้ให้ผู้ชนะ
1.ให้ผู้เรียนเขียนถึงบทบาทหน้าที่ของบิดาที่จะต้องปฏิบัติต่อบุตรของตน(ให้ผู้เรียนช่วยกันคิด)
2.ให้ผู้เรียนเขียนถึงบทบาทหน้าที่ของบิดา ในด้านศาสนาที่ไม่มีใครกระทำแทนได้ (ให้กำเนิด / ตั้งชื่อ / พาไปรับศีลล้างบาป / เลือกชื่อนักบุญ / อบรมเลี้ยงดู)

การบ้าน
บทบัญญัติพื้นฐานของพระศาสนจักรมีจุดประสงค์อะไร ( CCC 2041, 2048)
- มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้คริสตชนมีจิตตารมณ์แห่งการภาวนา ชีวิตแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ การกระทำทางด้านศีลธรรมและในการเจริญเติบโตในความรักต่อพระเป็นเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์

ให้ผู้เรียนปฏิบัติตามบทบัญญัติพื้นฐานของพระศาสนจักรอย่างเต็มความสามารถตลอด 1 เดือนนี้
1) ร่วมมิสซาทุกวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ อย่าทำงานหรือกิจกรรมซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทำให้วันดังกล่าวไม่เป็นวันศักดิ์สิทธิ์
2) รับศีลอภัยบาป อย่างน้อยปีละครั้ง
3) รับศีลมหาสนิทอย่างน้อยปีละครั้งในเทศกาลปัสกา
4) อดอาหารและอดเนื้อในวันบังคับ
5) บำรุงพระศาสนจักรตามความสามารถ

 

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์