เดือนมีนาคม 2021
บทเรียนที่ 3 พระคุณการุณย์ปีนักบุญโยเซฟ
จุดมุ่งหมาย
เพื่อให้ผู้เรียนบอกถึงคุณค่าของพระคุณการุณย์ที่พระศาสนจักรมอบให้และสามารถรับพระคุณการุณย์ในปีนักบุญโยเซฟได้อย่างถูกต้อง
กิจกรรม ผู้สอนเล่าเรื่อง “เด็กชายขโมยที่สำนึกผิด” ให้ผู้เรียนฟัง
เช้าวันหนึ่ง มารดาของเด็กชายคนหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากเจ้าของร้านขายของเล่นแจ้งว่า ลูกชายของเธอได้มาขโมยของเล่นจากในร้านของเขา เมื่อได้ยินเช่นนั้น เธอจึงรีบไปที่ร้านขายของเล่นแห่งนั้น เมื่อไปถึง เธอก็เห็นว่าลูกชายของเธอสำนึกผิดและกำลังขอโทษเจ้าของร้านด้วยความจริงใจ เขาต้องการจ่ายเงินคืนให้กับเจ้าของร้าน แต่เขามีเงินไม่พอที่จะจ่ายค่าของเล่นชิ้นนั้น เธอรู้สึกสงสารและมองลูกชายด้วยความเมตตา และแน่นอนว่าเธอต้องช่วยให้ลูกชายได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อชดเชยความผิดที่เขาได้ทำ
เมื่อลูกชายเห็นมารดามาถึง จึงหันมาหาเธอเพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะเขารู้ว่ามารดาของเขามีเงินพอที่จะจ่ายคืนให้กับเจ้าของร้านได้อย่างแน่นอน มารดาจึงพูดกับลูกชายว่า “ถ้าลูกสำนึกผิดในสิ่งที่ลูกได้ทำและปรารถนาจะชดใช้ในความผิดพลาดของลูก แม่จะช่วยจ่ายค่าของเล่นทั้งหมดที่ลูกต้องจ่ายให้กับเจ้าของร้าน แต่ลูกต้องไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์ สวดภาวนาพร้อมกับแม่ก่อนนอนทุกคืนตลอดหนึ่งเดือนนี้ และไปเยี่ยมผู้ป่วยและคนชรากับแม่ในวันอาทิตย์นี้ด้วย” ลูกชายก็รับปากว่าจะทำตามที่มารดาเขาบอกทุกประการ มารดาจึงได้ทำตามที่ได้บอกกับลูก เธอได้พูดคุยกับเจ้าของร้านและจ่ายเงินค่าของเล่นที่ลูกชายของเธอได้หยิบไป เมื่อกลับถึงบ้านลูกชายของเธอก็ได้ทำตามที่ได้รับปากกับเธอไว้ทุกประการเช่นกัน
วิเคราะห์
- เด็กชายคนนั้นได้ทำอะไรและเขารู้สึกอย่างไร ? (เขาได้ขโมยของเล่นจากร้านขายของเล่น – รู้สึกสำนึกเสียใจที่ได้ทำผิด ขอโทษเจ้าของร้านและพยายามจะจ่ายเงินให้ครบตามจำนวน)
- เมื่อมารดาของเด็กชายคนนั้นไปถึงร้าน เธอได้เห็นอะไรและรู้สึกอย่างไร ? (เธอได้เห็นว่าลูกชายของเธอกำลังขอโทษเจ้าของร้านอย่างสำนึกผิด เธอรู้สึกสงสารลูกชายของเธอ)
- มารดาบอกว่าจะช่วยลูกชาย โดยมีเงื่อนไขว่าลูกชายของเธอต้องทำสิ่งใด ? (สำนึกผิดในสิ่งที่ได้ทำและปรารถนาจะชดใช้ในความผิดพลาด โดยไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์ สวดภาวนาพร้อมกับแม่ก่อนนอนทุกคืนในเดือนนี้ และไปเยี่ยมผู้ป่วยและคนชรากับแม่ในวันอาทิตย์)
- หากมารดาของเด็กชายคนนั้น ไม่ช่วย ลูกชายของเธอจะเป็นอย่างไร ? (ต้องรับโทษตามกฎหมาย)
- เมื่อได้ฟังเรื่องนี้แล้วผู้เรียนได้ข้อคิดอะไร ? (เมื่อเราทำผิดพลาด เราต้องยอมรับ ขอโทษและชดเชยความผิดที่เราได้กระทำ)
- เรื่องราวของเด็กชายคนนี้ตรงกับคำสอนของพระศาสนจักรเรื่องอะไร ? (พระคุณการุณย์/การอภัยบาป)
สรุป เมื่อใดก็ตามที่ลูกทำผิด ผู้ที่เป็นพ่อ-แม่ จะเป็นคนแรก ๆ ที่พร้อมจะช่วยเหลือ และให้อภัยลูกได้เสมอ เพื่อเปิดโอกาสในการสำนึก กลับตัว กลับใจ เริ่มต้นใหม่ เช่นเดียวกัน “พระศาสนจักร” ซึ่งได้รับเรียกว่าเป็น “มารดา” ของเรา มีอำนาจจัดการและแจกจ่ายการชดเชยบาปที่พระคริสตเจ้าและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้สะสมไว้ ซึ่งเป็น “ขุมทรัพย์ของพระศาสนจักร” และได้มอบขุมทรัพย์นี้ให้กับคริสตชนทุกคน สามารถช่วยลดโทษของบาปสำหรับวิญญาณของตนและสามารถช่วยวิญญาณในไฟชำระได้ ซึ่งเราเรียกว่า พระคุณการุณย์
คำสอน
1.ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปได้รับเรียกให้มาอยู่รวมกันเป็นพระศาสนจักร อยู่ในความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ของความรักและการแลกเปลี่ยนพระพรต่าง ๆ แก่กัน ซึ่งเราเรียกความดีงามด้านจิตใจในความสัมพันธ์นี้ว่า “ขุมทรัพย์ของพระศาสนจักร” ขุมทรัพย์นี้ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นวัตถุ แต่เป็นคุณค่าไร้ขอบเขตและไม่หมดสิ้นของการชดเชยบาปของพระคริสตเจ้าเพื่อมนุษย์ ขุมทรัพย์นี้ยังรวมไปถึงการอธิษฐานภาวนาและกิจการที่ดีของพระนางมารีย์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายด้วย ซึ่งมีคุณค่ายิ่งเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า อาศัยพระหรรษทาน เหล่านี้บรรดานักบุญได้ปฏิบัติพันธกิจที่ได้รับมาจากพระเจ้าเพื่อความรอดพ้นของตนและความรอดพ้นของเพื่อนพี่น้องที่รวมอยู่ในเอกภาพของพระกายทิพย์อีกด้วย” (เทียบ CCC 1474-1477)
2.เมื่อเราทำบาป จะมีผลของบาปตามมาด้วยสองประการ บาปหนัก จะทำให้เราสูญเสียความสัมพันธ์กับพระเจ้าและสูญเสียชีวิตนิรันดร ส่วน บาปเบา ก็ต้องรับการชำระในชีวิตนี้หรือหลังจากความตาย เพื่อเป็นการชดเชยบาปหรือความผิดที่ได้ทำไป ศีลอภัยบาปช่วยให้เราพ้นโทษนิรันดร แต่โทษชั่วคราวของบาปยังคงอยู่ คริสตชนที่สำนึกว่าตนเป็นคนบาปจึง “ทำพลีกรรม” เป็นการยอมรับ “โทษ” เพื่อชดเชยบาปของตน หากเขาชดเชยบาปได้หมดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเขาตายไป เขาก็จะได้รางวัลในสวรรค์ทันที แต่ถ้าหากยังชดเชยไม่หมดก็จะต้องไปชดเชยในไฟชำระ ซึ่งตามปกติ พระสงฆ์จะกำหนด “กิจใช้โทษบาป” อันเนื่องมาจากบาป แต่ว่าในปัจจุบันพระสงฆ์ไม่ได้กำหนด “โทษ” ที่คู่ควรกับบาป เพราะเห็นว่าผู้ที่มาสารภาพบาปควรมีความสำนึกและพยายามทำพลีกรรมตามความสมัครใจเพื่อชดเชยบาป (เทียบ CCC 1472-1473)
3.พระศาสนจักรมีสิทธิ์ประกาศพระคุณการุณย์ ซึ่งอาศัยอำนาจผูกและแก้ที่พระเยซูคริสตเจ้าประทานให้ไว้ (CCC 1444, มธ. 16:19) เพื่อยกโทษชั่วคราวสำหรับบาปที่ได้รับอภัยความผิดแล้ว และมีไว้สำหรับคริสตชนผู้มีความเชื่อที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ (เทียบ CCC 1471) และพระศาสนจักรยังปรารถนาจะช่วยคริสตชนให้ได้ปฏิบัติกิจศรัทธา การกลับใจ ใช้โทษบาป ด้วยความรักอีกด้วย รวมถึงบรรดาผู้ล่วงหลับที่ยังกำลังรับการชำระอยู่ ก็อยู่ในความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ วิธีการหนึ่งที่เราสามารถจะช่วยเหลือเขาได้คือ โดยรับพระคุณการุณย์สำหรับเขา เพื่อให้เขาได้รับการปลดปล่อยจากโทษชั่วคราวที่เขาต้องรับเพราะบาปที่เขาได้ทำไว้ (CCC 1478-1479)
4.พระคุณการุณย์มีอยู่ 2 แบบ 1. พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ (Plenary Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษบาปอย่างหมดสิ้น ผู้ที่ได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์จะพ้น “โทษ” ที่ต้องรับทั้งหมด 2. พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ (Partial Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษให้บางส่วน (เทียบ CCC 1471)ดังนั้น เพื่อจะรับพระคุณการุณย์ คริสตชนจะต้องเตรียมตัวอย่างเหมาะสม และจะต้องทำตามเงื่อนไขเฉพาะที่ระบุไว้ให้สำเร็จ ถึงจะได้รับพระคุณโดยการช่วยเหลือของพระศาสนจักร
5.ในโอกาสปีนักบุญโยเซฟ พระศาสนจักรได้ออกกฤษฎีกาเพื่อมอบพระคุณการุณย์ให้ตลอดปีนักบุญโยเซฟ ซึ่งเราสามารถรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ได้ตามเงื่อนไขปกติ คือ 1.มีความตั้งใจที่จะรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์และเป็นทุกข์ถึงบาปจากใจจริง 2. รับศีลอภัยบาป รับศีลมหาสนิท และภาวนาตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา 3. ทํากิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่พระศาสนจักนกำหนด ซึ่งในปีนักบุญโยเซฟ พระศาสนจักรได้กำหนดกิจการดังนี้
5.1 รําพึงบทภาวนา “ข้าแต่พระบิดา” เป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง หรือเข้าเงียบหรือฟื้นฟูจิตใจอย่างน้อย 1 วัน โดยมีบทเทศน์ บทรําพึงที่เกี่ยวกับชีวิตของนักบุญโยเซฟ
5.2 ทำกิจเมตตาฝ่ายกายและฝ่ายจิต
5.3 สวดสายประคําพร้อมกันภายในครอบครัวหรือระหว่างคู่หมั้นที่จะแต่งงาน
5.4 มอบกิจการงานของตนไว้ในความอุปถัมภ์ของนักบุญโยเซฟ และภาวนาวอนขอเพื่อผู้ที่กำลังหางานทำสามารถมีงานทำ และการงานของทุกคนจะได้รับการยอมรับมากขึ้นว่าเป็นงานที่มีศักดิ์ศรี
5.5 สวดบทรํ่าวิงวอนนักบุญโยเซฟ หรือบทสรรเสริญนักบุญโยเซฟ หรือบทภาวนาอื่น ๆ ต่อนักบุญโยเซฟ สําหรับพระศาสนจักรซึ่งกําลังถูกเบียดเบียนทั้งจากภายในและภายนอก และเพื่อบรรเทาใจคริสตชนทุกคนที่กําลังถูกเบียดเบียนทุกรูปแบบ
5.6 สวดบทภาวนาที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง หรือประกอบกิจศรัทธาเทิดเกียรตินักบุญโยเซฟ โดยเฉพาะในวันที่ 19 มีนาคมและวันที่ 1 พฤษภาคม ในวันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 19 ของทุกเดือน และทุกวันพุธตามธรรมเนียมละติน ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงท่านนักบุญโยเซฟ
5.7 สําหรับบรรดาคนชรา คนเจ็บป่วย คนใกล้จะตายและทุกคนที่ไม่อาจออกจากบ้านได้เพราะสาเหตุอันสมควร มีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ และมีความตั้งใจจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งสามประการโดยทันทีเมื่อมีโอกาส (คือ รับศีลอภัยบาป รับศีลมหาสนิท และภาวนาตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา) ที่บ้านของเขาหรือที่ซึ่งมีอุปสรรครั้งเขาไว้ โดยให้เขาเหล่านั้นสวดบทภาวนาเทิดเกียรตินักบุญโยเซฟ ผู้บรรเทาคนไข้และผู้อุปถัมภ์ให้สิ้นใจอย่างดี โดยถวายความเจ็บปวดหรือความทุกข์ยากของชีวิตด้วยความไว้วางใจแด่พระเจ้า
ข้อควรจำ
- “พระคุณการุณย์” คือการยกโทษชั่วคราวสำหรับบาปที่ได้รับอภัยความผิดแล้ว เพื่อจะรับพระคุณการุณย์ คริสตชนจะต้องเตรียมตัวอย่างเหมาะสม และจะต้องทำตามเงื่อนไขเฉพาะที่ระบุไว้ให้สำเร็จ “เราสามารถรับพระคุณการุณย์ได้สำหรับตนเอง หรืออาจอุทิศแก่ผู้ล่วงหลับก็ได้”
- พระคุณการุณย์มีอยู่ 2 แบบ คือ
- พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ (Plenary Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษบาปอย่างหมดสิ้น ผู้ที่ได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์จะพ้น “โทษ” ที่ต้องรับทั้งหมด
- พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ (Partial Indulgence) หมายถึง การอภัยโทษให้บางส่วน (เทียบ CCC 1471)
- เราสามารถรับพระคุณการุณย์โอกาสปีนักบุญโยเซฟได้ โดย 1.ต้องมีความตั้งใจที่จะรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์และมีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ 2.รับศีลอภัยบาป รับศีลมหาสนิท และภาวนาตามพระประสงค์ของพระสันตะปาปา 3.ทํากิจการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พระศาสนจักรกำหนด
กิจกรรม
ทำใบงาน 1 เพื่อทบทวนกิจการที่ส่งเสริมให้ทำในปีนักบุญโยเซฟเพื่อรับพระคุณการุณย์
การบ้าน
คุณธรรมแห่งความยุติธรรมที่นักบุญโยเซฟปฏิบัติอย่างดีเลิศ ก็คือ การยึดถือกฎของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ คือ กฎแห่งความเมตตากรุณา “เนื่องจากเป็นพระเมตตากรุณาของพระเจ้าเองที่นำไปสู่การปฏิบัติความยุติธรรมแท้จริงอย่างสมบูรณ์”
คำสั่ง ให้ผู้เรียนทำกิจเมตตาตามแบบฉบับของนักบุญโยเซฟ
ฝ่ายกาย 1 ประการและฝ่ายจิต 1 ประการ
เพื่อขอรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์และเขียนบันทึกมาส่งครู
กิจเมตตาธรรมฝ่ายกาย |
กิจเมตตาฝ่ายจิต |
1. ให้อาหารแก่ผู้หิวโหย |
1.ให้คำแนะนำแก่ผู้สงสัย 2. สอนคนที่ไม่รู้ 3. ตักเตือนคนบาป 4. บรรเทาใจผู้ทุกข์ยาก 5. ให้อภัยผู้ทำความผิด 6. อดทนต่อความผิดของผู้อื่น 7. ภาวนาสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย |