ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

สารคำสอนฉบับที่ 47บทเรียนที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 1997

หัวข้อเรื่อง
    สัมพันธ์รักระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์สำเร็จสมบูรณ์  เมื่อพระเยซูบังเกิดมา (คริสต์มาส)

จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนยึดแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ครูเล่า “บทเรียนชีวิต” จากชีวิตจริงของครูเอง หรือของใครบางคน เช่น

- นายอาลี อักกา ผู้หมายปลงพระชนม์พระสันตะปาปา (ดูรายละเอียดท้ายบทเรียน)
นำแบบอย่างของพระเยซูคริสต์มาเป็นแนวทางปฏิบัติในกรณีดังกล่าว คือ การยกโทษ เช่น

- พระเยซูคริสต์ทรงยกโทษให้ศัตรูผู้ตรึงพระองคื “ข้าแต่พระบิดา โปรดอภัยโทษเขาเถิด เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร” (ลก 23:34)

ให้ผู้เรียนสมัครออกมาเล่า “บทเรียนชีวิต” ทำนองเดียวกัน ของตนเอง หรือของผู้อื่นแล้วหาแบบอย่างของพระเยซูคริสต์มาเป็นแนวทางปฏิบัติ เช่น

เรื่อง การภาวนา - พระองค์เสด็จขึ้นไปบนภูเขาโดยลำพังเพื่ออธิษฐานภาวนา (มธ 14:23)
เรื่อง การรักษาคนป่วย - หญิงเป็นโรคตกเลือด เข้ามาแตะเสื้อของพระเยซูก็หายโรค (มก 5:27-29)
เรื่อง การเสียสละ - พระองค์ตรัสว่า “จบบริบูรณ์แล้ว” ทรงก้มพระเศียรลงสิ้นพระชนม์ (ยน 19:30)
เรื่อง การรักเด็ก - พระองค์ตรัสกับพวกสาวกว่า “ปล่อยเด็กๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเขาเลย” (มก 10:14)

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูถามผู้เรียนว่า
- มีความรู้สึกอย่างไรต่อพระเยซูคริสต์หลังกิจกรรมนี้?
- มีผลอะไรเกิดขึ้นในชีวิต เมื่อยึดพระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่าง? (ความมั่นใจ ความผ่อนคลาย ความหวัง ฯลฯ)
- ลองสรุปประสบการณ์นี้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ เช่น จิตฉันมั่นใจในพระองค์/มีพระคริสต์นำทางวางใจได้/ตามพระคริสต์ชีวิตจะรุ่งโรจน์ ฯลฯ

ขั้นที่ 3 คำสอน
1. วัยรุ่น เยาวชน มีดาราในดวงใจ เอาอย่างดารา ติดตามดารา เชื่อฟังดาราแต่ในไม่ช้าดาราก็ลาลับฟ้าไป ทิ้งให้วัยรุ่น เยาวชนเคว้งคว้าง ต้องไปไขว่คว้าหาดาราคนใหม่ไม่มีใครเป็นวัยรุ่นหรือเยาวชนตลอดกาล เพราะเป็นแค่ทางผ่านไปสู่วัยผู้ใหญ่ซึ่งเป็นวัยที่จะคงอยู่ไปนานจนกว่าจะสิ้นลมปราณ ฉะนั้นดาราที่คู่ควรกับเรามากที่สุดก็คือผู้ที่สถิตมั่น ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ พระเยซูคริสต์ ซึ่งพระองค์ผู้เดียวสามารถเป็นดาราในดวงใจของคนทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น เยาวชน ผู้ใหญ่ คนชรา เพราะพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ คือ ทรงเกิดมารับสภาพมนุษย์ทุกอย่างเว้นแต่บาป

2. พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เราคือความสว่างของโลก ใครตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต” (ยน 8:12) และ “เราคือหนทาง ความจริงและชีวิต ไม่มีใครมาหาพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6) นั่นคือภารกิจของพระองค์ที่ทรงบังเกิดมาในโลกนี้ คือ นำมนุษย์ที่หันเหไปจากพระเจ้าให้กลับมาหาพระเจ้าโดยอาศัยแบบอย่างชีวิตของพระองค์ “เราได้วางแบบอย่างไว้แก่ท่าน เพื่อให้ท่านทำเหมือนที่เราทำกับท่าน” (ยน 13:15) ชื่อ “คริสตชน” เองก็แปลว่า “ศิษย์ของพระคริสต์” คือ ผู้ที่ติดตามพระองค์

3. บรรดานักบุญ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ตายไปแล้ว และที่ยังมีชีวิตอยู่ ล้วนบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ เพราะประพฤติตาแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ทั้งนั้น ในลักษณะต่างๆ กัน เช่น

นักบุญฟรังซิส เซเวีย์  - พระเยซูคริสต์เสด็จออกสั่งสอนตั้งแต่กาลิลีจนถึงแคว้นยูเดีย (ลก 23:5)

นักบุญเทเรซา แห่งพระกุมารเยซู - “ถ้าท่านไม่กลับใจเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ท่านจะเข้าแผ่นดินสวรรค์ไม่ได้เลย” (มธ 18:3)

นักบุญสเตเฟน   - พระเยซูทรงอ้อนวอนพระบิดาให้ทรงยกโทษศัตรู “โปรดอภัยโทษเขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร? (ลก 23:34)

คุณแม่เทเรซา   - “ทุกสิ่งที่ท่านทำต่อพี่น้องที่ต่ำต้อยของเรา ท่านทำต่อเราเอง” (มธ 25:40)

เคียร่า ลูบริค (คณะโฟโคลาเร) - “คนทั้งหลายจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา ถ้าท่านรักกันและกัน” (ยน 13:35)

4. โอกาส “คริสต์มาส” พระเยซูคริสต์ก็ทรงให้แบบอย่างแก่เราเพื่อจะเอาไปปฏิบัติตาม คือ การสละตนเองเพื่อผู้อื่น คริสต์มาสจึงเป็นเทศกาลแห่งความรักมิใช่เป็นเทศกาลแห่งการรับ เราจะฉลองคริสต์มาสอย่างถูกต้องและตรงตามความหมายก็ต่อเมื่อเราหยิบยื่นความรักให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในรูปของความช่วยเหลือต่างๆ แม้จะต้องเสียสละความสุข ความสะดวกสบายของตนเองก็ตาม เหมือนพระเยซูคริสต์ที่ยอมเกิดมาจน เพื่อให้เราร่ำรวย (2คร 8:9) ยอมเกิดมาลำบาก เพื่อให้เราสบาย แต่ก็แปลกที่เมื่อเรายอมลำบากเพื่อผู้อื่น เรากลับมีความสุขใจ นั่นคือความสุขคริสต์มาสที่เราพูดกัน

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. “จงเรียนจากเรา เพราะเราเป็นคนสุภาพและอ่อนโยน” (มธ 11:29)
2. คริสตชน แปลว่า ศิษย์ของพระคริสต์ คือ ผู้ที่ติดตามพระองค์
3. คริสต์มาส คือ เทศกาลแห่งการเสียสละเพื่อผู้อื่น ตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์

ข. กิจกรรม
1. ปรึกษาวิธีช่วยเหลือผู้ด้วยโอกาสในเทศกาลคริสต์มาสอย่างเป็นรูปธรรมสัก 1-2 อย่าง เช่น นำของขวัญไปเยี่ยมเด็กที่เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลไปร้องเพลงส่งความสุขและของขวัญให้คนชรา นักโทษในคุก ฯลฯ

ค. การบ้าน ร่วมพิธีกรรมวันคริสต์มาสอย่างดี ชวนเพื่อนๆ ไปด้วย

วันที่ 13 พฤษภาคม 2524 วันลอบปลงพระชนมม์
พระสันตะปาปาตรัสภายหลังว่า “มืออีกข้างนำทางกระสุนออกไป”

ปี2526 พระสันตะปาปาเสด็จเยี่ยมอาจาผู้พยายามปลงพระชนม์บทสนทนาระหว่างทั้งสองยังเป็นความลับมาจนทุกวันนี้

 วันที่ 13 พ.ค. 1981 นายอาลี อักกา มุสลิมชาวตุรกี ได้พยายามปลงพระชนม์พระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ที่จัตุรัส นักบุญเปโตร ณ กรุงโรม

 วันที่ 27 ธ.ค. 1983 พระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ทรงเยี่ยมนายอาลี อักกา ในเรือนจำ เพื่อทรงยืนยันการให้อภัย

 พระองค์ตรัสเล่าวว่า “สิ่งที่เราได้พูดกันนั้นเป็นความลับระหว่างเขาและเรา”
 พระสันตะปาปาทรงมอบกล่องสีขาวเล็กๆ ซึ่งบรรจุสายประคำไข่มุกสีขาวให้เขาไว้เป็นที่ระลึก
 “ในเทศกาลคริสต์มาสและปีศักดิ์สิทธิ์นี้ เราได้พบกับบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งท่านทั้งหลายคงรู้จักดี เขาผู้นั้นคือ “นายอีลี อักกา” ซึ่งได้พยายามสังหารชีวิตของเราเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1981 แต่พระเป็นเจ้าทรงรับธุระเปลี่ยนเหตุการณ์แผนฆาตรกรรมนี้ให้ไปเป็นอีกอย่างหนึ่งในวิธีมหัศจรรย์ คือ วันนี้แหละที่หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 2 ปี เราสามารถพบกับผู้ที่จะสังหารเรา และกล่าวซ้ำการให้อภัยซึ่งเราได้อภัยให้ตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว

 พระเป็นเจ้าทรงประทานพระพรให้พบเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์และพี่น้องเพราะเหตุการณ์ทุกอย่างยืนยันว่า พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเรามนุษย์ทุกคน และเรามนุษย์ทุกคนเป็นบุตรของพระองค์ในองค์พระคริสตเจ้า เราทุกคนจึงเป็นพี่น้องกัน”

 เมื่อพระสันตะปาปาเสด็จเข้าห้องขังของ อาลี อักกา ซึ่งสวมเสื้อยืดสีฟ้าหนวดเครารุงรัง พระองค์ตรัสถามเขาว่า “พูดภาษาอิตาเลียนได้ไหม?” อาลี อักกา พยักหน้ารับ

 ณ มุมของห้องขัง อาลี อักกา นั่งใกล้ชิดกับองค์พระสันตะปาปากิริยาท่าทางของเขาในบางครั้งแสดงคล้ายกับว่ากำลังแก้บาปกับองค์พระสันตะปาปาหลายครั้งเขาแสดงอาการยิ้ม แต่การยิ้มนั้นเป็นเพียงชั่วครู่เท่านั้นก็ได้หายไปจากใบหน้าของเขา บางครั้งบางคราวพระสันตะปาปาทรงจับมือของเขากุมแน่นไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ ซึ่งเป็นท่าทางที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงพยุงชีวิตเขาไว้

 พระเยซูเจ้าขณะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์ทรงภาวนาต่อพระบิดาอ้อนวินให้อภัยแก่ผู้ที่ตรึงพระองค์

 พระบัญญัติของพระเยซูเจ้า ซึ่งไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน พระองค์ทรงสั่งว่า “จงรักศัตรู และผู้ที่มุ่งทำร้ายต่อท่าน”

 การแก้แค้น ซึ่งบางครั้งเราเรียกว่า “ความยุติธรรม” มีแต่จะต่อชีวิตที่สร้างแต่ความเกลียดชังกัน แต่.....
 ความรักและการให้อภัย ทำให้ผลของกรรมอันชั่วร้ายสิ้นลงทันที

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์