บทเรียนที่ 1 เดือนมกราคม 1996 หัวข้อเรื่อง สตรีแม่พิมพ์ จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้งและเคารพรักต่อสตรีซึ่งมีธรรมชาติ เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นผู้ให้ความรักและการอบรมสั่งสอน |
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ครูแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 5-6 คน ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันค้นหา “ความยากลำบากของการเป็นครูมีอะไรบ้าง?” เสร็จแล้วให้เลือกตัวแทนมารายงานหน้าชั้น
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูแยกแยะคววามยากลำบากของการเป็นครูตามความเห็นของนักเรียนออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ อธิบายแต่ละหัวข้อพอเป็นสับเขป
ครูเล่าความยากลำบากของการเป็นครูของตัวเองให้นักเรียนฟัง
สรุป การเป็นครูต้องเสียสละและอดทน เพราะเป็นกระแสเรียก ไม่ใช่เป็นเพียงอาชีพเหมือนอย่างอาชีพอื่น ๆ เพราะก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างครูและศิษย์ตลอดไป
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. มีคนเปรียบครูเหมือนเรือจ้าง เมื่อส่งคนถึงฝั่งแล้วเขาก็ถีบหัวเรือทิ้งไป ส่อแสดงให้เห็นว่าการเป็นครูเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยไม่มีเกียรติในสังคม แต่เขาลืมคิดไปว่าครูเป็นผู้ปูพื้นฐานของสังคม เพราะก่อนที่ผู้คนจะไปมีหน้ามีตามีบทบาทที่มีเกียรติในสังคมนั้น เขาจะต้องผ่านมือครูไปก่อนทั้งนั้น ครูจึงเปรียบเหมือนเสาเข็มของอาคารบ้านเรือนคนจะมองเห็นแต่อาคารที่สวยงามข้างบน แต่มองไม่เห็นเสาเข็มที่ค้ำจุนมันไว้ที่ข้างล่าง ทั้ง ๆ ที่เสาเข็มนั้นสำคัญยิ่งนัก ถ้าขาดมันไปอาคารทั้งหลังก็พังครืนลงมา
2. ธรรมชาติสร้างสตรีมาให้เป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นเสาเข็มของสังคม เราจะเห็นว่าสตรีเป็นผู้ให้กำเนิด เลี้ยงดู อบรม สั่งสอนเด็ก ๆ ได้ดีกว่าบุรุษ เพราะสตรีเป็นผู้อ่อนโยน ละเมียดละไม อดทน รักและใกล้ชิดเด็ก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เหมาะและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเป็นครู ครูบาอาจารย์สมัยนี้จึงเป็นสตรีเสียส่วนมาก และสามารถทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ที่ดีได้อย่างน่าสรรเสริญและภาคภูมิใจ สอดคล้องกับคำขวัญของครูที่ว่า “ลูกใครไม่สำคัญ ศิษย์ของฉันนั้นคือครู ฝ่าใจรักพันผูก จะสอนลูกให้เป็นคนดี”
3. การเป็นครูนั้นทั้งยากทั้งลำบาก ดังที่เราได้เห็นมาในตอนต้นของบทเรียนนี้แล้ว และยิ่งลำบากมากขึ้นในยุคสมัยของเรานี้ ทั้งนี้ก็เพราะสภาพแวดล้อมหลายอย่างที่ให้ชีวิตครูก็ดี ชีวิตนักเรียนก็ดีแปรเปลี่ยนไป เช่น สภาพสังคมที่โน้มเอียงไปทางวัตถุนิยม บริโภคนิยม สภาพสังคมที่ครอบครัวเป็นจำนวนมากต้องประสบกับหายนะ บ้านแตกสาแหรกขาด สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยอบายมุขรอบด้าน การพนัน ยาเสพติด ฯลฯ ทำให้ครูต้องลำบากมากขึ้นในการอบรมสั่งสอนศิษย์ ต้องมีความเพียรอดทนมากขึ้น ต้องเสียสละมากขึ้น
4. จึงน่าจะยกย่องสรรเสริญบรรดาครูสตรีทั้งหลายที่อาสาเข้ามาทำงานนี้ด้วยใจรักและสมัคร เราน่าจะช่วยกันเป็นกำลังใจให้แก่ครูสตรีเหล่านั้น ซึ่งเป็นครูของเราเองบ้าง หรือเป็นครูของใครก็ตาม จะได้ยืนหยัดมั่นคงในหน้าที่นี้ต่อ ๆ ไป สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ สวดภาวนาขอพระเป็นเจ้าทรงอวยพรครูของเราบ่อย ๆ เป็นการตอบแทนพระคุณที่ครูมีต่อเรา และร่วมมือกับครูในการเรียน การอบรมสั่งสอน โดยนบนอบเชื่อฟัง เคารพและช่วยเหลือครูในสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนมีใจกตัญญูรู้คุณครูอยู่เสมอ และแสดงออกในโอกาสที่สำคัญ ๆ เช่น วันครู วันไหว้ครู เป็นต้น
5. สตรีแม่พิมพ์ตัวอย่างคือ “แม่พระ” ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด เลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนศิษย์คนแรก คือ พระกุมารเยซู จนกระทั่งพระองค์เติบใหญ่ เป็นที่พอพระทัยพระเป็นเจ้าและคนทั้งปวง (เทียบ ลก 2.52) ต่อมาพระองค์นี่แหละจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่จะประกอบกิจการใหญ่โตในแผ่นดินอิสราแอล ประชาชนจะแห่แหนติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้คือแม่พระ “พระองค์ทอดพรนะเนตรความต่ำต้อยแห่งข้ารับใช้ของพระองค์ เหตุนี้แหละแต่นี้ไปคนทุกสมัยจะเรียกข้าพเจ้าว่าเป็นผู้มีบุญ” (ลก 1.48) นี่คือคำของแม่พระเองซึ่งเหมาะสมกับครูสตรีอย่างยิ่ง เพราะแม้ภายนอกจะดูต่ำต้อย แต่ภายในนั้นคือผู้มีบุญโดยแท้
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. ครูเปรียบเหมือนเสาเข็มของอาคารบ้านเรือน เพราะเป็นผู้ปูพื้นฐานให้แก่ผู้คนที่จะไปประกอบอาชีพต่าง ๆ กัน
2. สตรีเป็นผู้มีความเหมาะสมกับการเป็นครูอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้อ่อนโยน ละเมียดละไม อดทน รักและใกล้ชิดเด็กมากที่สุด
3. คำขวัญของครู คือ “ลูกใครไม่สำคัญ ศิษย์ของฉันนั้นคือลูก ใฝ่ใจรักพันผูก จะสอนลูกเป็นคนดี”
4. สตรีแม่พิมพ์ตัวอย่างคือ แม่พระ ภายนอกดูต่ำต้อย แต่ภายในเป็นผู้มีบุญ
ข. กิจกรรม
ให้นักเรียนวาดรูปมือครู โดยไปหาครูที่นักเรียนประทับใจมากที่สุด ให้ครูวางมือทั้งสองข้างบนสมุดของนักเรียน แล้วนักเรียนก็เอาดินสอลาดเส้นตามรูปมือครู เสร็จแล้วให้เขียนว่า ด้วยอาศัยมือนี้ครูทำอะไรเพื่อลูกศิษย์บ้าง?
ค. การบ้าน
วาดมือของนักเรียนเองทั้งสองข้างลงในสมุด แล้วเขียนว่า ฉันจะใช้มือทั้งสองข้างของฉันทำอะไรให้ครูบ้าง? นำสมุดมาส่งครูในวันครู หรือวันเรียนคำสอนครั้งแต่ไป