ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

ccp026.jpg บทเรียนที่        2 เดือนธันวาคม 1995
หัวข้อเรื่อง       ไม่มีสตรีก็ไม่คริสต์มาส
จุดมุ่งหมาย    
เพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญของสตรีผู้ทำให้คริสต์มาสเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ (คริสตมาสคือการบังเกิดของพระเยซูคริสต์)

ขั้นที่ 1 กิจกรรม

 แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-3 คน แจกกระดาษคำถามพร้อมพระคัมภีร์ให้ทุกกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันตอบคำถามโดยค้นหาคำตอบในพระคัมภีร์
กระดาษคำถาม (ครูซีร็อกซ์แจกแต่ละกลุ่ม)

1. “เธอผู้ซึ่งพระเจ้าทรงโปรดปรานมา จงจำเจริญเถิด”  เธอผู้นี้คือใคร?  (ลก 1.26-28)

2. “นางเป็นมารดาของปวงชนที่มีชีวิต” นางคือใคร?   (ปฐก 3.20-21)

3. ใครเป็นย่าทวดของกษัตริย์ดาวิด?     (นรธ 4.13-22)

4. ใครมีบุตรทั้ง ๆ ที่เป็นหมันและอายุมากแล้ว?    (ลก 1.7-13)

5. ใครถวายบุตรของตนให้เป็นผู้รับใช้พระเจ้าตั้งแต่เล็ก?   (1ซมอ 1.20-24)

6. ใครช่วยเหลือบุตรให้หลอกรับพรบุตรหัวปีจากบิดา?   (ปฐก 27.6-10)

7. ใครทูลขอพระเยซูคริสต์ให้บุตรสองคน คนหนึ่งนั่งข้างขวา คนหนึ่งนั่งข้างซ้าย? (มธ 20.20-21)

8. “นางจะให้กำเนิดแก่ชนหลายชาติ กษัตริย์ของชนหลายชาติ จะมาจากนาง” นางคือใคร? (ปฐก 17.15-17)

9. “พระองค์ตรัสกับสาวกคนนั้นว่า จงดูมารดาของท่านเถิด” มาดาคือใคร? (ยน 19.26-27)

10. “สตรีที่ได้เชื่อก็เป็นสุข เพราะว่าจะสำเร็จตามพระดำรัสจากพระเป็นเจ้าที่มาถึงเขา” สตรีผู้นี้คือใคร? (ลก 1.39-45)

11. แม่ชีที่รับรางวัลโนเบลสันติภาพ คือใคร?

12. นักบุญที่สัญญาว่าเมื่อไปสวรรค์แล้วจะโปรยดอกกุหลาบมายังโลกมาก ๆ คือใคร?

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์

เฉลย   1. มารีย์                              2. เอวา                    3. รูธ
          4. เอลีซาเบธ                        5. ฮันนาห์                6. เรบาคาห์
          7. มารดาของบุตรเศเบดี          8. ซาราห์                 9. มารีย์
        10. มารีย์                              11. คุณแม่เทเรซา
        12. นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู

สรุป สตรีเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีบุญ เพราะเป็นผู้สืบสานแผนการไถ่กู้ของพระเป็นเจ้าให้เป็นจริงขึ้นมาทุกขณะ แต่สตรีที่ทำให้แผนการไถ่กู้นั้นสมบูรณ์ คือ มารีย์มารดาของพระเยซูคริสต์

ขั้นที่ 3 คำสอน

1. เราได้พบสตรีตัวอย่างหลายคนในบทเรียนช่วงปีสตรีสากลนี้ แต่ผู้ที่สมควรจะเรียกว่า “ยอดสตรี” หรือ “วีรสตรี” ก็คือพระนางมารีย์ มีใครคิดหรือไม่ว่าที่พระนางตอบเทวดาคาเบรียลไปว่า “ขอให้เป็นไปตามคำของท่านเถิด” (ลก 1.38) นั้นมันเกิดอะไรขึ้น? สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “และพระนางได้ทรงครรภ์ด้วยเดชะพระจิต” (มธ 1.18) พระนางมารีย์ทรงถือเพศพรหมจรรย์แม้จะแต่งงานกับนักบุญยอแซฟแล้วก็ตาม และบัดนี้พระนางตั้งครรภ์ พระนางพูดกับนักบุญยอแซฟว่าอย่างไร? จะอธิบายอย่างไรให้นักบุญยอแซฟเข้าใจในเมื่อพระนางเองก็ไม่เข้าใจ? พระนางคงจะตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก รู้สึกปั่นป่วนในหัวใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงได้แต่เก็บเรื่องนี้ไว้แต่ในใจ พร้อม ๆ กับวางใจในพระเป็นเจ้าว่าพระองค์จะมีวิธีที่จะจัดการกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากแผนการของพระองค์นี้ เราทราบว่า นักบุญยอแซฟเมื่อรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ไม่สบายใจ คิดจะหย่าขาดจากพระนางเงียบ กๆ แต่พระเป็นเจ้าได้ทรงเข้ามาแทรกแซงในฝัน อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น นักบุญยอแซฟ ก็เป็นคนดี คนซื่อสมกับที่พระเป็นเจ้าทรงวางพระทัยให้มาเป็นสามีตามกฎหมายของพระนางมารีย์ เพราะท่านก็ยอมรับแผนการของพระเป็นเจ้าทันทีเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าใจ และเข้าสวมบทบาทบิดาเลี้ยงของพระกุมารได้อย่างแนบเนียบน

2. ถ้าหากไม่มีนักบุญยอแซฟ อะไรจะเกิดขึ้น? ตามกฎของโมเสส “หญิงที่ตั้งครรภ์นอกสมรสสมควรจะฆ่าให้ตาย” (ฉธบ 22.24) ถ้ามองในแง่นี้พระนางมารีย์ก็ตั้งครรภ์นอกสมรส เพราะนักบุญยอแซฟผู้สามีไม่รู้เรื่องรู้ราวหรือมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด พระวรสารบอกว่า “ก่อนที่จะอยู่กินด้วยกัน พระนางมารีย์ก็มีครรภ์แล้ว.....” (มธ 1.18) เราจึงสามารถเข้าใจความรู้สึกและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของสตรีคนหนึ่งที่ยอมทุ่มชีวิตของตนเป็นเดิมพัน เพื่อเสี่ยงกับความตาย พระนางต้องมีความเชื่อมั่นคงประดุจขุนเขาจริง ๆ จึงจะกล้าตัดสินใจเช่นนี้ได้ ควรอย่างยิ่งแล้วที่นางเอลีซาเบธจะกล่าวยกย่องพระนางว่า “เป็นบุญของท่านที่ได้เชื่อ” (ลก 1.45)

3. เราฉลองคริสต์มาสกันอย่างสนุกสนานรื่นเริง แต่เราหาทราบหรือหาคิดไม่ว่าผลอันแสนสุขสนุกสนานรื่นเริงของคริสต์มาสนั้นเกิดมาจากความทุกข์ ความเสียสละ ความอัดอั้นตันใจจวนเจียนจะเอาชีวิตไม่รอดของสตรีตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ชื่อ มารีย์ เดชะบุญที่พระนางเชื่อพระเป็นเจ้าจนหมดหัวใจ เราจึงได้มีคริสต์มาสให้ฉลองกันจนถึงทุกวันนี้ เราติดหนี้บุญคุณของพระนางมากมายอักโข และเราควรจะขอบคุณพระนางอยู่เสมอ

4. การฉลองคริสต์มาสให้ครอบสูตรจึงพึงเริ่มด้วยความทุกข์ ความเสียสละ ความอัดอั้นตันใจ เหมือนพระนางมารีย์ คือเริ่มด้วยการเข้าสู่จิตตารมณ์ของพระคริสตาคมจริง ๆ ได้แก่การเป็นทุกข์ กลับใจ เปลี่ยนชีวิตใหม่ “จงถมหุบเขาทุกแห่งให้เต็ม จงปราบเนินเขาให้ราบ จงตัดทางคดเคี้ยวให้ตรง จงปรับทางที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ให้เรียบ” (ลก 3.5) และเมื่อถึงเวลาที่กำหนดองค์พระผู้ไถ่จะได้เสด็จมาตามเส้นทางที่เตรียมไว้นี้และเข้าประทับในจิตใจของเรา

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ

ก. ข้อควรจำ

1. ยอดของสตรีทั้งหลายคือพระนางมารีย์ เพราะพระนางกล้าเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้เกิดคริสต์มาสขึ้นมา

2. “เป็นบุญของท่านที่ได้เชื่อ” (ลก 1.45) เพราะอาศัยความเชื่อนี้แผนการไถ่กู้ของพระเป็นเจ้าจึงสำเร็จไป

3. ความสุขคริสต์มาสเป็นผลมาจากความทุกข์ ความเสียสละ ความอัดอั้นตันใจ จวนเจียนจะเอาชีวิตไม่รอดของพระนางมารีย์

4. “จงถมหุบเขาทุกแห่งให้เต็ม จงปราบเนินเขาให้ราบ จงตัดทางคดเคี้ยวให้ตรง จงปรับทางสูง ๆ ต่ำ ๆ ให้เรียบ” (ลก 3.5)

ข. กิจกรรม 

ประดิษฐ์ภาพคริสต์มาสลงในกระดาษโปสเตอร์ มีรูปพระกุมาร แม่พระ นักบุญยอแซฟอยู่ตรงกลาง แวดล้อมด้วยสตรีผู้มีบุญทั้งหลายที่เรารู้จักจากบทเรียนตั้งแต่ต้นปีการศึกษา โดยใช้รูปดาวเป็นเครื่องหมายเขียนชื่อกำกับไว้ ตบแต่งระบายสีให้สวยงาม เขียนคำขวัญไว้ใต้รูปว่า “มารีย์สตรีผู้ห็กำเนิดคริสต์มาส”

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์