2. มีหลักในการเลือกอย่างไร ?
ก. ธรรมชาติของรูปภาพ
รูปภาพที่ใช้กันโดยทั่วไปมี 2 ประเภท การจะเลือกใช้ประเภทไหนนั้นขึ้นอยู่กับต้องการและเรื่องที่เราจะสอน
1) ภาพจากของจริง (Documentary images)
รูปภาพจากของจริงเป็นภาพที่ผลิตขึ้นมาจากความเป็นจริง เช่น ภาพถ้ำแม่พระเมืองลูร์ด ภาพของวาติกัน แผนที่ทางภูมิศาสตร์ของดินแดนประวัติศาสตร์ต่าง ๆ รูปภาพหรือภาพวาดของประเทศอิสราเอล ภาพของเสื้อผ้าเครื่องใช้ไม้สอยในยุคต่าง ๆ ภาพต่าง ๆ เหล่านี้เรานำมาใช้ประกอบการสอนคำสอนของเราได้ และช่วยให้สติปัญญาของผู้ที่เชื่อเข้มแข็งขึ้นเมื่อได้เห็นภาพเหล่านั้น (J. Colomb) ภาพเหล่านี้ต้องเป็นภาพที่มาจากของจริงถูกต้องได้รับการรับรอง ภาพเหล่านี้เหมาะกับเด็กในวัย 9 – 12 ปีเป็นพิเศษ เพราะพวกเขากำลังอยู่ในวัยที่อยากรู้ว่าความจริงต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่สำหรับเด็กวัยรุ่นแล้วพวกเขาอาจจะไม่ค่อยสนใจนัก รูปภาพจากของจริงเป็นความจริงที่ตายตัว เด็กที่อยู่ในที่แสวงหาความจริงจึงให้ความสนใจกับภาพประเภทนี้ (แต่อาจจะใช้กับเด็กที่อยู่ในวัย 12-14 ก็ได้)
2) ภาพจากแรงบันดาลใจ (Inspirational images)
เป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับภาพประเภทแรก ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ไม่ได้ลอกจากของจริง แต่เกิดจากการตีความ สร้างสรรค์ ซึ่งเกิดจากนักศิลปะ เราอาจจะเรียกว่า ภาพศิลปะก็ได้ ลักษณะของภาพคือต้องการบอกความจริงหรือความหมายที่อยู่เหนือจากสิ่งที่มองเห็นได้นี้ เช่น ภาพพระเยซูเจ้าประสูติ เหตุการณ์นี้ไม่มีใครสามารถไปถ่ายภาพจริงมาได้ แต่นักศิลปะได้แสดงภาพนี้ออกมาตามกาลสมัย ทั้งแบบสมัยใหม่และแบบดั้งเดิม เพื่อแสดงให้เห็นความหมายอันล้ำลึกของวันคริสต์มาส การบังเกิดมาเป็นมนุษย์ของพระเจ้า ความสุภาพและความยากจนของพระบุตรของพระเจ้า ภาพเหล่านี้จะมีความหมายลึกซึ้งแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้มองว่าจะค้นหาความจริงทางศาสนาที่ซ่อนอยู่ในภาพนั้นได้มากน้อยเพียงไร
ข. ความจริงของรูปภาพ
ภาพที่ดีนั้นต้องทำให้ผู้ดูเกิดความคิดที่ถูกต้องและเกิดการตัดสินใจที่ดี
1) ภาพที่แตกต่างกันย่อมมีความเป็นจริงที่แตกต่างกัน
ความจริงอาจจะแสดงออกได้ในหลายวิธี ความจริงที่ต้องอาศัยการแสดงออกด้วยรูปภาพนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และธรรมชาติของเรื่องนั้น ๆ และรูปภาพทั้งจากของจริงและจากแรงบันดาลใจต่างถ่ายทอดความจริงที่แตกต่างกัน รูปภาพจากของจริงจะเป็นความจริงและถูกต้องเมื่อมันได้สะท้อนออกถึงของจริงได้อย่างถูกต้อง ส่วนภาพจากแรงบันดาลใจเป็นความจริงและถูกต้องก็ต่อเมื่อมันได้ก่อให้เกิดความคิดและความประทับใจที่ถูกต้องสอดคล้องกับข้อคำสอน
ส่วนรูปภาพทางภาษานั้น ก็มีหลักเกณฑ์อันเดียวกัน อย่างเช่น นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ พูดเกี่ยวกับก้อนหินที่อยู่ริมชายฝั่งทะเลว่าท่านเติบโตขึ้นทุกครั้งที่โดนคลื่นเข้าโถมกระทบ ท่านนักบุญได้เปรียบเทียบธรรมชาติของคนที่ต้องเติบโตขึ้นเมื่อต้องพบกับมรสุมแห่งชีวิต อย่างนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ก้อนหิน ทะเล หรือคลื่นนั้นไม่ได้มีอยู่จริงแต่ท่านต้องการบอกถึงความจริงที่แฝงอยู่จากเรื่องนี้
2) คนที่ต่างกันย่อมเข้าใจแตกต่างกัน
มีภาษิตหนึ่งที่ว่า อาหารของคน ๆ หนึ่งเป็นยาพิษของอีกคนหนึ่ง ภาพเดียวกันอาจจะเกิดความคิดที่แตกต่างกัน ต่างคนต่างคิดโดยมาจากสถานะการณ์และวัฒนธรรมที่ต่างกัน บางครั้งภาพเดียวกันอาจจะถูกและผิดและในเวลาเดียวกันของคนสองคน คนหนึ่งอาจจะเข้าใจความจริงที่อยู่ในภาพนั้น ส่วนอีกคนหนึ่งอาจจะเข้าใจไม่ได้ก็ได้
การที่คนเรามีความเข้าใจหรือการรับรู้ที่แตกต่างกันนี้สืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น อายุ วัฒนธรรม การศึกษา ความเจริญ สภาพแวดล้อม ฯลฯ
ความคิดที่เกิดจากรูปภาพอาจจะมาจากวัฒนธรรมทางศาสนาและประสบการณ์ของคนที่ดูหรือได้ยิน บางครั้งเราเห็นภาพของพระเจ้าที่เป็นคนแก่ ภาพนี้เป็นภาพดั้งเดิมที่ใช้กันมานานแล้ว แต่ภาพนี้ก็ไม่เหมาะที่จะใช้กับเด็ก ๆ สำหรับคริสตชนที่เป็นผู้ใหญ่หรือมีความสมบูรณ์ทางความเชื่อแล้วภาพนี้จะมีคุณค่า เพราะทำให้พวกเขาคิดถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นบิดา และความอมตะของพระองค์ ส่วนเด็ก ๆ เป็นต้นถ้าไม่ได้มาจากครอบครัวคาทอลิกที่ดีแล้ว จะคิดว่า “พระเจ้าคือชายชราคนหนึ่ง” เท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่ที่เรียนคำสอนมาน้อยก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจความหมายที่ลึกไปกว่าภาพที่เห็นเท่านั้น
3) ภาพที่ไม่ถูกต้อง
มีภาพบางประเภทที่ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความคิดที่ผิด ๆ จึงเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมสำหรับการสอนคำสอน ภาพดังกล่าวมีดังนี้
ก) ภาพที่ขัดกับคำสอนของพระศาสนจักร
ภาพในลักษณะนี้ได้แก่ภาพที่ทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิดต่อคำสอนของพระศาสนจักร เช่น ภาพของเทวดา หรือแม่พระกำลังส่งศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับศาสนบริการแห่งศีลมหาสนิทและพรสงฆ์ ภาพของคนใกล้จะตายที่มีปีศาจและโครงกระดูกอยู่รอบ ๆ เตียงโดยไม่มีภาพที่แสดงความช่วยเหลือของพระเจ้า ภาพอย่างนี้ทำให้ผู้ดูภาพลืมนึกถึงคำสอนที่ว่าพระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างบุตรของพระองค์เสมออยู่จนกระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิต
เหตุผลที่แสดงว่าภาพเหล่านี้ไม่ถูกต้องก็คือผู้วาดพยายามแสดงออกหรือปลุกเร้าอารมณ์ผู้ดูภาพมากกว่านำผู้ดูให้คิดถึงรหัสธรรมหรือความเป็นจริงแห่งความเชื่อทางศาสนา ผู้วาดเน้นรายละเอียด ของความหอมหวาน ความน่ากลัว ความน่าตระหนกตกใจลงในภาพนั้น และอาจจะเป็นเรื่องของการใช้สีสันด้วย
ข) ภาพที่เกินความเป็นจริง
เราไม่สามารถนำเสนอหรือแสดงออกเรื่องที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เป็นต้นเรื่องที่เหนือธรรมชาติให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ แม้ว่าจะพยายามนำเสนอสักเท่าไรก็ตาม ภาพที่เกินความเป็นจริงเป็นภาพที่เน้นความเข้าใจแบบโลกจนลืมนำไปสู่ความคิดทางเรื่องของจิตวิญญาณ เช่น เรื่องพระตรีเอกภาพ เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจของมนุษย์ การที่เราแสดงออกมาโดยการวาดภาพสามเหลี่ยมที่มีดวงตาอยู่ตรงกลางเป็นภาพที่ยังห่างไกลจากความจริงของพระตรีเอกภาพที่เป็นสามพระบุคคลแต่มีพระธรรมชาติหนึ่งเดียวกัน พระหรรษทานของพระเจ้าคือชีวิตของพระเจ้าที่สื่อสัมพันธ์กับชีวิตของเรา เป็นเรื่องที่ยากที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์นี้ การวาดภาพแสดงเหล่านี้เป็นการนำความคิดจากคณิตศาสตร์และฟิสิกซ์เพื่ออธิบายเรื่องของพระเจ้า
ค) ภาพที่ดึงดูดความสนใจมากเกินไป
ภาพบางภาพหรืองานศิลปะบางชิ้นมีความงามที่จับจิตจับใจมากจนกระทั่งทำให้ผู้พบเห็นลืมความหมายทางจิตวิญญาณของภาพนั้นไป ภาพที่ใช้สีแสงฉูดชาดเรียกร้องความสนใจ
ค. ความงามของรูปภาพ
1. ศิลปะ
มีคำเปรียบเทียบว่า ภาพที่น่าเกลียดเป็นเหมือน “การตะโกน” ส่วนภาพที่น่ารักเป็นเหมือน “การร้องเพลง” แต่ภาพที่อยู่ระหว่างกลางของทั้งสองนั้นเปรียบเหมือน “การสนทนา” ความสวยงามของภาพเท่านั้นยังไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้ในการสอนคำสอน ภาพที่ดีจะต้องก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและนำไปสู่ความเจริญฝ่ายจิตใจ คือต้องช่วยยกจิตใจของผู้ชมให้สูงขึ้น บางครั้งเมื่อเรามีภาพที่สวยงาม เราควรที่จะมีคำประพันธ์หรือถ้อยคำที่เหมาะสมเชิญชวนผู้ชมให้ได้คิดตริตรองไปในเรื่องของคุณงามความดี หรือความรักความเมตตาของพระเจ้า ความงามของภาพจะต้องนำไปสู่ความงดงามฝ่ายจิตใจ และจะเป็นความงดงามฝ่ายจิตใจได้ถ้าภาพนั้นปลุกเร้าจิตใจของผู้ชมให้เกิดความเชื่อ ความหวัง และความรักในชีวิตของพวกเขา
2. เรียบง่าย
ภาพที่มีความงดงามไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย แต่ต้องนำออกแสดงให้ถูกต้อง บทบาทของเราก็คือทำให้เด็ก ๆ สนใจ ตริตรองและชื่นชมกับภาพนั้น ๆ ภาพที่สวยงามจะต้องเป็นภาพที่ซื่อ ๆ ง่าย ๆ ไม่ยุ่งเหยิงหรือไม่มีระเบียบแบบแผน บางครั้งอาจจะมีรายละเอียดมากแต่ให้คงความเรียบง่าย และควรให้มีจุดสนใจแต่เพียงเรื่องเดียว หรืออาจจะพูดได้ว่า เรียบง่ายแต่ไม่ไร้จินตนาการ มีจุดสนใจแต่เพียงเรื่องเดียวไม่สบสน