คุณค่าพระวรสารฯ บทเรียนที่ 19
เป็นหนึ่งเดียวกันกับผู้อื่น
จุดประสงค์
เมื่อจบบทเรียนแล้ว ผู้เรียนสามารถ
1. บอกและอธิบายถึงความหมายของความเป็นหนึ่งเดียวกันได้
2. ตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นหนึ่งใจเดียวกัน
3. ปฏิบัติตนเป็นหนึ่งเดียวกันกับผู้อื่น
กิจกรรม ไปไหน..ไปด้วยกัน (กิจกรรมกลางแจ้ง)
อุปกรณ์ 1. เชือกฟางความยาว 50 เซนติเมตร กลุ่มละ 1 เส้น 2. กรรไกร
วิธีการ
1. ให้ผู้เรียนเลือกของที่ตนมี 1 อย่าง แล้วนำไปซ่อนไว้ในบริเวณที่ผู้สอนกำหนดโดยไม่ให้เพื่อนเห็น
2. แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-7 คน ให้แต่ละกลุ่มนั่งเป็นวงกลม
3. ผู้สอนแจกเชือกฟางที่เตรียมไว้ให้ผู้เรียนกลุ่มละ 1 เส้น และให้ผู้เรียนฉีกเชือกฟางแบ่งเป็นเส้นเล็ก ๆ แจกให้สมาชิกในกลุ่มคนละ 1 เส้น
4. ให้ผู้เรียนผลัดกันผูกเชือกที่ข้อมือทั้งสองข้างของตนเองติดกับข้อมือของเพื่อนในกลุ่มต่อกันเป็นวงกลม
5. ให้ผู้เรียนพากันไปหาของที่แต่ละคนในกลุ่มได้นำไปซ่อนไว้กลับมาให้ครบทุกคน โดยที่เชือกไม่ขาดและไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรืออันตราย
6. ผู้สอนสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในขณะทำกิจกรรม
7. ผู้สอนอาจเตรียมรางวัลให้กลุ่มที่หาของได้ครบก่อน
วิเคราะห์ ผู้สอนสนทนากับผู้เรียน
1. กลุ่มที่ได้ของกลับมาครบเป็นกลุ่มแรก มีวิธีการอย่างไร
2. กลุ่มใดที่เชือกขาดหรือเพื่อนหกล้มได้รับบาดเจ็บ เป็นเพราะอะไร
3. กลุ่มใดที่มีการทะเลาะหรือโต้เถียงกัน เกิดจากอะไร
สรุป จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้เพื่อเสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มิใช่เพื่อทำให้เกิดความแตกแยก บาดหมางกัน การทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันกับผู้อื่น ต้องทำให้เรามีความรักและสามัคคีกันมากขึ้น และรวมใจเป็นหนึ่งเพื่อทำให้สำเร็จ
คำสอน
1. หากพูดถึงการแข่งขันกีฬา สิ่งที่สำคัญที่ทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จก็คือ การฝึกซ้อมตามหน้าที่ และการทุ่มเทในการแข่งขันเพื่อชัยชนะของตนและของทีม แต่อีกหนึ่งปัจจัยของความสำเร็จที่ขาดไม่ได้เลยคือความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยเฉพาะกีฬาประเภททีม เช่น วอลเล่ย์บอล ฟุตบอล บาสเกตบอล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในเกมของทุกคน หากขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทีมคงไม่ประสบความสำเร็จและไม่เพียงแต่ในการเล่นกีฬาเท่านั้น แม้แต่การอยู่ร่วมกันในสังคม ในโรงเรียน ในห้องเรียน หรือในการทำกิจการต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ
2. คำว่า น้ำหนึ่งใจเดียวกัน หมายความว่า “มีความคิดเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ซึ่งก็หมายถึง การมีจุดมุ่งหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็คือ ความแตกแยก การไม่เคารพกันและกัน ซึ่งคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกนั้นสอนว่า หลักของการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้นก็เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งนั่นเอง
3. พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน เพราะทุกคนมีพระเจ้าเป็นพระบิดาองค์เดียวกัน (เทียบ มัทธิว 6:9; ยอห์น 10:30) พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อทรงอธิษฐานภาวนาทูลขอต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าในพระวรสารนักบุญยอห์น 17:21 “ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าอธิษฐานภาวนาเพื่อให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงอยู่ในข้าพเจ้าและข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์ เพื่อให้เขาทั้งหลายอยู่ในพระองค์และในข้าพเจ้า โลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา” พระองค์ทรงภาวนาถึงพระบิดาเพื่อบรรดาศิษย์ที่อยู่กับพระองค์ และทรงภาวนาเพื่อเราทุกคนด้วย นี่คือบทภาวนาปราศรัยอำลาก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์ภาวนาอำลาด้วยคำภาวนาเพื่อทุกคนที่เชื่อในพระองค์ จะได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นี่คือความรักและความปรารถนาดีอย่างที่สุดที่พระเยซูเจ้ามีต่อเรา
4. ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คือเอกลักษณ์ของกลุ่มคริสตชน ซึ่งมาจากรูปแบบชีวิตของกลุ่มคริสตชนสมัยแรกเริ่ม พวกเขาดำเนินชีวิตโดยไม่คิดว่าสิ่งที่ตนมีเป็นกรรมสิทธิ์ของตน แต่ทุกอย่างเป็นของกลาง ไม่มีผู้ใดขัดสน ใครมีที่ดินหรือบ้านก็นำไปขาย แล้วนำเงินมาให้บรรดาอัครสาวก เพื่อแจกจ่ายให้ผู้มีความเชื่อแต่ละคนตามความต้องการ นี่แหละคือรูปแบบชีวิตของการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคริสตชนของเรา
5. การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดของสังคม บ้าน โรงเรียนหรือชุมชน เราต้องแสดงน้ำใจในการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและต้องร่วมมือร่วมใจกับกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสามารถของตน รวมถึงแบ่งปันความรัก สิ่งของต่อพี่น้องและเพื่อน ๆ ของเรา เพื่อทำให้ชุมชนของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น
ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน” หมายความว่า “มีความคิดเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” การมีจุดมุ่งหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ
2. สิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็คือ ความแตกแยกและการไม่เคารพกันและกัน
3. พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน เพราะทุกคนมีพระเจ้าเป็นพระบิดาองค์เดียวกัน (เทียบมัทธิว 6:9; ยอห์น 10:30)
4. พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเราว่า ให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงอยู่ในข้าพเจ้า
5. ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คือเอกลักษณ์ของกลุ่มคริสตชน ซึ่งมาจากรูปแบบชีวิตของกลุ่มคริสตชนสมัยแรกเริ่ม
6. การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นหน้าที่ของเราทุกคน เราต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและร่วมมือร่วมใจกับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทำให้ชุมชนของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น
ข. กิจกรรมสรุปบทเรียน
- ทำความสะอาดห้องเรียน, เก็บขยะในโรงเรียน
- กินขนมเฉลิมฉลอง, เล่นกีฬาด้วยกัน
- ชวนกันไปทำกิจเมตตา/กิจกรรมจิตอาสา
- ชวนกันไปช่วยงานที่วัด
*** หรือร้องเพลง หนึ่งเดียวใจเดียว
เพลง หนึ่งเดียวใจเดียว (บ.พานุพันธ์)
(รับ) หนึ่งเดียวใจเดียว หนึ่งเดียวร่วมเกลียวสัมพันธ์
สมัครสมาน จับมือกันเดินหน้าไป
สู่ที่หมายใฝ่ใจคือความสามัคคี ร่วมยินดีที่เรามีจิตใจเดียวกัน
1. ตั้งใจจะร่วมทุกข์ร่วมสุขทุกครา จะเชิดชูความหมายแห่งชีวิตเรา
ยามทุกข์ยามเศร้าเราเคล้าคลอให้น้ำใจ แม้วันห่างไกลจำฝันใจส่งถึงกัน (รับ)
2. พวกเราทั่วกันล้วนร่วมศาสน์ชาติไทย ใช่อื่นไกลเป็นน้องพี่ควรชิดใกล้
ผิดนิดพลาดหน่อยจงยกไปไม่ถือทัณฑ์ สองมือเกี่ยวกันเธอฉันเราพี่น้องกัน (รับ)
**** หรือเพลงอื่น ๆ ที่ส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกัน
ค. การบ้าน
ให้ผู้เรียนแต่ละคนหาข้อตั้งใจประจำสัปดาห์ เขียนลงในสมุดปฏิบัติการส่วนตัว และนำไปปฏิบัติ
“ฉันจะพยายามแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยการ......................................................”
::: Download บทเรียนที่ 19 ::