ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

คุณค่าพระวรสารฯ บทเรียนที่ 7 เคารพในความแตกต่างของกันและกัน

คุณค่าพระวรสารฯ บทเรียนที่ 7
เคารพในความแตกต่างของกันและกัน

จุดประสงค์
เมื่อจบบทเรียนแล้ว ผู้เรียนสามารถ
       1. รู้และบอกได้ถึงความสำคัญที่ทุกคนจะต้องเคารพความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์
       2. เคารพตนเองและผู้อื่น
       3. แสดงออกต่อผู้อื่นด้วยการเคารพความแตกต่างของกันและกัน

 

กิจกรรม เมื่อ “แตกต่าง” ควรทำอย่างไร
อุปกรณ์ 1. เงินเหรียญห่อกระดาษสี ตามจำนวนผู้เรียน
             2. กล่องของขวัญบรรจุรูปปั้นพระกุมารเยซูไว้ด้านใน 1 กล่อง
                 ***หากไม่มีรูปปั้น สามารถใช้รูปภาพแทนได้

วิธีการ      

            1. ผู้สอนหาอาสาสมัครจากผู้เรียน 4 คน มาแสดงบทบาทสมมุติ ในสถานการณ์ต่อไปนี้

"เพื่อนรักสี่คนกำลังวางแผนที่จะไปเที่ยวด้วยกันในวันหยุด สองคนในพวกเขาต้องการชวนเพื่อนอีกคนหนึ่งที่เพิ่งย้ายโรงเรียนมาเป็นสมาชิกใหม่ในห้องเรียนไปด้วย แต่อีกสองคนไม่ต้องการชวนเพื่อนคนนี้ เพราะเพื่อนคนนี้เป็นเด็กยากจนและดูไม่ค่อยฉลาด"

           2. ให้อาสาสมัครทั้ง 4 คน ช่วยกันคิดบทสนทนาและซักซ้อมกันสักเล็กน้อยก่อนแสดงให้เพื่อนชม โดยที่ยังไม่มีบทสรุปหรือตัดสินใจว่าจะให้เพื่อนใหม่ไปเที่ยวด้วยกันหรือไม่

           3. เมื่อผู้เรียนได้ชมการแสดงบทบาทสมมุติจบแล้ว ให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น หรือช่วยกันตัดสินใจว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือไม่ที่จะชวนเพื่อนใหม่คนนั้นไปเที่ยวด้วยกัน หากใครเห็นด้วยให้ “ชูนิ้วโป้งขึ้นในระดับศีรษะ” หากใครไม่เห็นด้วยให้ “กำมือและทำมือไขว้กัน” เป็นสัญลักษณ์กากบาทในระดับหน้าอก

วิเคราะห์ ผู้สอนสนทนากับผู้เรียน
          1. ถามเหตุผลของผู้เรียนแต่ละคนว่าทำไมจึงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
          2. ผู้เรียนได้รับข้อคิดหรือบทสอนอะไรจากเรื่องนี้บ้าง (เราสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้จะคิดแตกต่างกัน ฯลฯ)
          3. เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนของเรา แต่ละคนมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง (ให้ผู้เรียนช่วยกันหาคำตอบ)
          4. ความแตกต่างของแต่ละคนมีผลดีต่อการอยู่ร่วมกันของเราอย่างไร (ช่วยให้เห็นว่ามีความคิดหรือมุมมองที่แตกต่างกัน, ช่วยเสริมศักยภาพหรือความสามารถให้แก่กันได้ ฯลฯ)
          5. อะไรที่จะช่วยให้ทุกคนที่คิดต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข (การยอมรับและการเคารพกันและกัน)

 

             สรุป การอยู่ร่วมกันในสังคมย่อมต้องมีเรื่องที่เรามีความเห็นแตกต่างจากคนอื่น เพราะแต่ละคนเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน มีแนวความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ วัฒนธรรมและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันเวลาที่เราสื่อสารกับคนอื่น แล้วคนอื่นมีความเห็นไม่เหมือนกับเรา ก็เป็นเรื่องปกติ และความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ก็ไม่จำเป็นต้อง “ทะเลาะกัน” เสมอไป ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างกันมาก เราจึงควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ซึ่งจะทำให้สังคมของเราน่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียนหรือในชุมชน การยอมรับผู้อื่นในแบบที่เขาเป็น คือการแสดงความเคารพต่อกัน ซึ่งช่วยให้เราทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

คำสอน        

          1. เรากำลังเติบโตขึ้นในยุคที่ผู้คนต่างก็สนใจแต่ตนเอง ไม่สนใจผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่มีความแตกต่างจากเรา หรือไม่ใช่กลุ่มเดียวกันกับเรา อาจเป็นการทำร้ายผู้อื่นด้วยและเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้อื่น ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องว่างและรอยร้าวในการอยู่ร่วมกัน ดังนั้น การอยู่ร่วมกันจึงต้องการความเคารพในความแตกต่างของกันและกัน

          2. ความรู้สึกเคารพบุคคลอื่น เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน โดยเริ่มจากการยอมรับความเป็นบุคคลของทุกคน ไม่ว่าจะเด็กกว่า สูงวัยกว่า ต่างเพศ ต่างสถานะ ต่างศาสนา เป็นรุ่นพี่หรือรุ่นน้อง ทุกคนต่างต้องการความเคารพต่อกัน การแสดงความเคารพต่อผู้อื่นยังหมายถึงการยอมรับตัวตนของผู้อื่นในแบบที่เขาเป็น

 

          3. พระคัมภีร์สอนให้เราเคารพกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน เพราะเราแต่ละคนถูกสร้างตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า (เทียบ ปฐมกาล 1:26) ดังนั้น ชีวิตของทุกคนจึงต้องได้รับความเคารพ และการยอมรับ เพราะเราแต่ละคนนั้นมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า (เทียบ มัทธิว 10:29-31)

         4. นักบุญเปาโลยังสอนเราว่า การยอมรับในความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญในการอยู่ร่วมกัน เพราะโดยพื้นฐานแล้วทุกคนต่างก็มีความแตกต่างกัน ทั้งทางด้านร่างกาย ความคิดเห็น ความเชื่อ หรือสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตมาในครอบครัวที่แตกต่างกัน แต่ในความแตกต่างนี้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะเราเชื่อว่าเราต่างเป็นอวัยวะในร่างกายเดียวกันในพระคริสตเจ้า และอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้ต่างมีจุดประสงค์และมีหน้าที่ต่างกัน ดังนั้น แม้เราจะแตกต่างกัน แต่ก็ถูกสร้างมาเพื่อให้รับใช้พระเจ้าและช่วยเหลือกันและกัน (เทียบ 1 โครินธ์ 12:17-20)

 

          5. พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่า “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำอย่างนั้นกับเขาเถิด” (มัทธิว 7:12) ซึ่งเป็น “กฎทอง” ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ทุกคน หากเรามีความรักต่อกัน เราจะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรักไม่ว่าจะอ่อนวัยหรือสูงวัยต่อเรา ไม่ว่าจะเป็นศัตรูหรือมิตร ไม่ว่าจะเป็นคนร่วมชาติหรือต่างชาติ ไม่ว่าจะขาวหรือดำ ไม่ว่าจะรวยหรือจน นี่คือแนวทางในการปฏิบัติต่อกัน คือเคารพและยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน ต้อนรับกันและกันด้วยใจยินดี

 

ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
        1. การยอมรับในความแตกต่าง การเคารพกันและกันเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการอยู่ร่วมกัน
        2. ความรู้สึกเคารพบุคคลอื่น เริ่มจากการยอมรับความเป็นบุคคลของทุกคน
        3. พระคัมภีร์สอนให้เราเคารพกันและกัน และยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน เพราะเราแต่ละคนถูกสร้างตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า (เทียบ ปฐมกาล 1:26)
        4. เราแต่ละคนนั้นมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า (เทียบ มัทธิว 10:29-31)
        5. นักบุญเปาโลสอนว่า การยอมรับในความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญในการอยู่ร่วมกัน เราทุกคนถูกสร้างมาเพื่อให้รับใช้พระเจ้าและช่วยเหลือกัน (เทียบ 1 โครินธ์ 12:17-20)
        6. พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่า “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไรก็จงทำอย่างนั้นกับเขาเถิด” (มัทธิว 7:12)ซึ่งถือว่าเป็น “กฎทอง” ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ทุกคน
        7. หากเรามีความรักต่อกัน เราจะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ ยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน

ข. กิจกรรมสรุปบทเรียน

 จับคู่บอกความดี

วิธีที่ 1 ให้ผู้เรียนจับคู่กัน และต่างคนต่างบอกความดีของกันและกัน
วิธีที่ 2 ให้ผู้เรียนเดินไปหาเพื่อนแต่ละคน จับมือและบอกความดีของกันและกัน
วิธีที่ 3 แจกกระดาษ A4 และลวดหนีบกระดาษให้ผู้เรียนคนละ 1 ชุด และหนีบกระดาษไว้ที่ปกเสื้อด้านหลังของตนเอง และให้ทุกคนผลัดกันเขียนความดีของเพื่อนในกระดาษด้านหลังของเพื่อนคนนั้น

ค. การบ้าน
“ฉันจะปฏิบัติต่อผู้อื่น ด้วยความเคารพอย่างจริงใจ”
เมื่อผู้เรียนได้ทำกิจการดีต่อผู้อื่น ให้บันทึกลงในสมุดปฏิบัติการของตน ตามหัวข้อด้านล่างนี้
และผู้สอนติดตาม ให้กำลังใจในการความดี

ว/ด/ป ทำอะไร ทำกับใคร ทำที่ไหน รู้สึกอย่างไร
16 ธ.ค. 2023
(ตัวอย่าง)
แบ่งขนม พนักงานรักษาความปลอดภัย หน้าโรงเรียน ตื่นเต้นแต่ก็มีความสุข
         
         
         



::: Download  บทเรียนที่ 7 ::

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์