ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

เหตุผลของการที่คริสตชนควรอยู่หน้าจอในคืนวันเสาร์ที่ 9 กรกฏาคม หมายเหตุอุดมสาร...เหตุผลของการที่คริสตชนควรอยู่หน้าจอในคืนวันเสาร์ที่ 9 กรกฏาคม

                “คัท” เสียงโปรดิวเซอร์รายการ “ดนตรีกวีศิลป์” สั่งการ เพื่อบอกให้ทั้งทีมนักร้อง ทีมงานแสง เสียง ภาพ หยุดการบันทึกสำหรับบทเพลงที่จะใช้ประกอบรายการ “ดนตรีกวีศิลป์” ในชื่อตอน “เพลงถึงพระเจ้า”  พูดเสร็จก็หันมาทางผม และบอกว่า “คุณพ่อโอเคไหมครับ” ผมพยักหน้า พร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ มีคำพูดแผ่วเบาในใจ “เสร็จแล้ว อีกหนึ่งภารกิจที่น่าภาคภูมิใจ”

                รายการ “ดนตรีกวีศิลป์” เป็นอีกรายหนึ่งทางช่องไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะได้จัดทำมาอย่างต่อเนื่องร่วม 3 ปี เป็นเรื่องราวของบทเพลงในมุมต่างๆ ของประเทศไทยของเรา ตั้งแต่เหนือสุด บนดอย บนเขา ไล่เรียงผ่านบางกอก จนถึงใต้สุดในสยาม จากศิลปินมีชื่อเสียง เคยมีชื่อเสียง และกำลังได้รับความสนใจ เพลงหลากหลายแนวทาง ป๊อป แจ๊ส ลูกทุ่ง หมอลำ และจนถึงในช่วงตอนที่เราไปมีส่วนร่วม  “เพลงถึงพระเจ้า”

                เรื่องราวของโครงการผ่านเข้ามายังอาสนวิหารอัสสัมชัญ ผมอยู่ตรงนั้นกับพื้นฐานของงานสื่อที่ทำอยู่ กับเรื่องดนตรีที่พอจะตอบอะไรได้บ้าง จากความเข้าใจของทีมงานที่พูดถึงบทเพลง “กอสเปล” นึกถึงการขับร้องบทเพลงของคนดำ ของศาสนาควบคู่ไป จากโจทย์แบบนั้นถูกปรับให้เข้าใจและถูกต้องมากขึ้นว่า แท้จริงแล้วเพลงที่เขากำลังหมายถึงและเรากำลังต้องการนำเสนอ คือ บทเพลงของคริสตชน คริสตชนทั้งคาทอลิกและพี่น้องโปรเตสแตนท์ ทั้งเพลงสวดนมัสการ พิธีมิสซา หรือเพลงเพื่อส่งเสริมความเชื่อแห่งความหวัง วางใจในแบบคริสต์

                วิธีการทำงานในแบบของผมจึงเริ่มขึ้น จากการแจ้งให้ผู้ใหญ่รับทราบ ประสานงานจากจุดเล็กที่สุดแต่มีความสำคัญ คุณศรินทร์ จินตนเสรี แผนกดนตรีศักดิ์สิทธิ์ จึงถูกระลึกถึงเป็นเบอร์ที่ 1 พูดคุย ให้โจทย์และตอบโจทย์ เมื่อได้ทั้งหมดแล้ว บ่ายวันหนึ่งจึงนัดกับคุณณัฐ โปรดิวเซอร์รายการ เคาะให้เข้าใจตรงกันถึงเรื่องราว ผู้คน งบประมาณ การประสานงาน โจทย์ที่ยากต่อไปคือ ถ้าต้องการจะบันทึกเสียงในวัด (ทางรายการเรียกว่า โบสถ์คาทอลิก)  เราติดต่อไป 3 วัด น่าแปลกที่ไม่มีสักวัดปฏิเสธเรา แต่มีเงื่อนไขของเวลาเท่านั้น

ที่เป็นบทสรุปของการจะไปบันทึกรายการวัดไหน ผมขอเอ่ยอ้างวัดทั้งสามซึ่งได้แก่ วัดซางตาครู้ส วัดเซนต์หลุยส์ และในที่สุดเรามาจบลงที่วัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ นั่นเอง

                วัดแม่พระลูกประคำ มีจุดเด่นและแข็งแรงที่ได้รับเลือกคือ สามารถมีเวลาให้เราได้ยาวที่สุด คือ ตั้งแต่วันศุกร์หลังมิสซา จนถึงวันเสาร์ ประมาณ 18.30 น.  เพราะวัดซางตาครู้ส ติดมิสซาแต่งงาน ส่วนข้อได้เปรียบกว่าเซนต์หลุยส์ คือมีระฆังวัด ซึ่งพิเศษมากๆ เพราะสามารถตีเป็นท่วงทำนองบทเพลงแม่พระได้ การพูดคุยกับคุณพ่อเจ้าอาวาสก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องเข้าใจตรงกัน

                สายๆ ของวันหนึ่งผมไปด้วยตัวเอง เจรจา บอกเล่าเรื่องราว ความยากง่าย สิ่งดีๆ ที่จะตามมา คุณพ่อไพฑูรย์ หอมจินดา ยังเสียงดังฟังชัด (บางทีก็ดังจนน่าตกใจ แต่ก็ใจดีจนน่าทึ่ง)  ในที่สุดก็เปิดไฟเขียว แถมบอกว่า มีอะไรที่ต้องช่วยเหลืออีกขอให้บอก

                ช่วงปลายๆ ผมประชุมเรื่องนี้กับทีมงานแทบทุกวัน มีข้อมูลให้น่าดีใจ สลับกับข้อมูลที่ให้น่าวิตกหัวใจ แต่คุณศรินทร์(อาจารย์ไนท์) ก็สามารถจัดการได้อย่างแม่นยำ เกาะติด ครอบคลุม ในที่สุดทางทีมงานยกผู้ประสานงานกองถ่าย ทีมแสง ทีมเสียง และการถ่ายทำมาพบกันทั้งครบอีกครั้ง ครั้งนี้เราคุยกับสถานที่ไปแล้ว มีบางอย่างที่อนุญาตมีบางอย่างที่ต้องปฏิเสธ ผมยืนอยู่ตรงกลาง เพื่อเชื่อมต่อให้ทุกอย่างไปได้ในเส้นทางที่เหมาะสม รอบคอบ และถูกต้องที่สุด

                และค่ำวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน คณะนักขับร้องจากฝั่งฟากคาทอลิก 2 ทีม อันประกอบไปด้วย กลุ่มเซซีลีอา และสถาบันธิดาพระราชินีมาเรีย ตามนัด หลังมิสซาค่ำวันนั้น ผมเข้ามาเช่นกัน เห็นการซ้อม เห็นสภาพแต่ละคนแล้วสงสารและเหนื่อยแทน นี่ผมทำให้คนหลายสิบคนลำบากอยู่หรือเปล่า?  ค่ำวันนั้นผมทราบว่ามีหลายคนพักที่สถานที่ถ่ายทำเลย และเรายังได้คุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย ผู้มาให้เสียงก่อบทเพลง ในส่วนที่มีการจำลองพิธีกรรมในศาสนาคริสต์หรือพิธีมิสซานั่นเอง คุณพ่อมาค้างก่อนการบันทึกเสียง 1 คืน

                เช้าวันเสาร์ 18 มิถุนายน การบันทึกเสียงเริ่มขึ้นตามเวลาที่เตรียมไว้ในสคริปท์ ทุกช่วงเวลาล้วนมีค่ายิ่ง การรักษาเวลาก็เช่นกัน รถหลายสิบคันจากกองถ่าย ขนสัมภาระและผู้คน กล้อง 5 ตัว เครื่องบันทึกเสียง 64 แทร็ค จอมอนิเตอร์ อาหารสำหรับคน 150 คน ช่างแต่งหน้า ทีมเบื้องหลังกับการจัดฉาก นักศึกษาฝึกงาน คณะนักร้อง 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณไม่เกิน 20 คน ศิลปินรับเชิญ นักร้องเสียงโอเปรา นักร้องในสมาคมดนตรี นักร้องที่ชอบบทเพลงแบบมิวสิคเคิล นักเปียโน นักเล่นวูด นักกีตาร์ ศิลปินรับเชิญ คุณจอห์น นูโว คุณศรัณย่า

ส่งเสริมสวัสดิ์  ทีมไฟ ฉาก การบันทึกภาพ ฯลฯ ผมไล่ไม่หมดหรอกครับ แต่ผมสัมผัสได้ว่า งานนี้ใหญ่เกินคาดคิด

                ผมพยายามค่อยๆ ย้อนเรื่องราวตั้งแต่ต้น เพื่อให้เป็นข้อมูลทั้งปัจจุบันและในอนาคตว่า เมื่อสื่อกระแสหลักของช่องฟรีทีวี เดินทางเข้ามายังหน่วยงานเล็กๆ ของเรา เกิดอะไรขึ้น เราให้ความร่วมมืออย่างไร มีมนุษย์มากมายที่อยู่ในสายธารของกิจกรรมนี้ บางคนอาจมาเพราะความชอบเสียงดนตรีเป็นฐานส่วนตัวอยู่แล้ว บางคนอาจมาเพราะเป็นการร่วมมือระหว่างคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ที่น่าสนใจ หลายคนอาจจะบวก แต่บางคนอาจจะลบ อาจจะเกิดคำถามสารพันถึงการบันทึกบทเพลงในวัด ชุดที่สวมใส่ กิจกรรมที่เกิดขึ้น หรือคำถามแบบว่าใครได้ใครเสีย ....ผมยืนอยู่ตรงนั้นรับทราบ และรู้จักกับมันตั้งแต่ต้น ผมเชื่อแน่ว่า ถ้าใครอยู่ตรงนี้คงทราบดี หรือใครที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ต้นคงพบคำตอบใกล้ๆ กัน พระเป็นเจ้ามีวิธีการของพระองค์เสมอ มนุษย์เพียงแต่ร่วมมือให้แผนการของพระได้สำเร็จไป ผมไม่ทราบว่าในวันที่รายการออนแอร์จริง จะมีคนเฝ้าติดตามหรือสนใจมากน้อยแค่ไหน แต่ผู้ที่ร่วมงานแล้วไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับเรา เขาเห็นความสวยงามของสถานที่ เขาเห็นรอยยิ้มของเจ้าบ้านและการเปิดประตูต้อนรับ เขาเห็นการประสานงานในแบบมืออาชีพ วัน เวลา ตาราง สคริปท์ มีบางคำที่ไม่ต้องพูดกันแต่เราสัมผัสได้ และถ้าไม่มีเวทีให้ได้บอกเล่าเรื่องราว เราจะรู้จักกันและสัมผัส เข้าใจกันได้อย่างไร?

                เหตุผลของคริสตชนที่ควรอยู่หน้าจอในค่ำวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม เวลา 21.00-22.00 น. และกดรีโมทไปที่ช่องไทยพีบีเอส ไม่ใช่เพราะเป็นรายการที่พลาดไม่ได้ ไม่ใช่เพราะผมต้องการชวนให้มาดูผมและการทำงานของทีมงานของเรา แต่คุณลองเปิดดูและเปิดใจไปพร้อมๆ กัน ลองถามตัวเองว่า คุณเห็นอะไร คุณไม่เห็นอะไร คุณอยากเห็นอะไร หลังจากนั้นลองมีเวลาหลังจากปิดทีวีแล้ว หรือเมื่อรายการจบลง ลองถามตัวเองต่อไปอีกว่า “รายการแบบนี้หรือเปล่าที่เราอยากเห็นบ่อยๆ ในช่องทีวีของเมืองไทย” ถ้าตอบว่าใช่กดหนึ่ง ถ้าตอบว่าไม่ใช่กดหนึ่งเช่นกัน หนึ่งในที่นี้ไม่ใช่ตัวเลข แต่กดตัวเองให้เดินไปในทิศทางหนึ่งเดียว เพื่อเสริมสร้างสิ่งที่ดีงามร่วมกัน ใครทำตรงไหนได้ต้องทำ เพราะหมดเวลาไปแล้วกับการบ่นอย่างเดียวโดยไม่ทำอะไร รายการนี้ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้ว... งานแบบนี้เป็นไปได้ อ้อ...อย่าลืมกดหนึ่ง

                “คัท....”

บรรณาธิการบริหาร

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์