ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

“การตั้งคำถามที่เหมาะสม”Love Letter 14
“การตั้งคำถามที่เหมาะสม”

          คำถามหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับเราผู้เป็นครูคำสอนก็คือ “การสอนคำสอนไม่เพียงแต่ให้เด็กจดจำข้อความเชื่อได้เท่านั้น เราจะช่วยเด็ก ๆ ของเราให้รู้จักคิดและวิเคราะห์ในเรื่องของความเชื่อได้อย่างไร?” คำตอบหนึ่งก็คือ “ครูต้องสอนโดยการตั้งคำถามให้เด็ก ๆ ได้คิดหาคำตอบด้วยตนเอง” เหมือนตัวอย่างของเด็กประถมคนหนึ่งที่ได้เล่าให้คุณแม่ของเธอฟังถึงความประทับใจในคุณครูคำสอนของเธอว่า “หนูชอบคุณครู..จังเลย ครูสอนสนุกดี เวลาพวกเราถามคำถาม แทนที่ครูจะตอบเราตรง ๆ ครูกลับเล่าเรื่องสนุก ๆ ให้เราฟัง แล้วถามเราว่าพวกเราคิดเห็นกันอย่างไร?”
คำตอบของเด็กคนนี้ทำให้คิดถึงวิธีการสอนของพระเยซูเจ้า


          เพื่อน ๆ จำได้ไหมเวลาที่นักกฎหมายคนหนึ่งถามพระเยซูเจ้าเพื่อจะจับผิดพระเยซูว่า “พระ​อาจารย์ ข้าพ​เจ้า​จะ​ต้อง​ทำ​สิ่งใด​เพื่อ​จะ​ได้​ชีวิต​นิรันดร” (ลก. 10:25) พระเยซูเจ้าตอบเขาโดยตั้งคำถามสวนไปว่า “ใน​ธรรม​บัญญัติ​มี​เขียน​ไว้​อย่างไร ท่าน​อ่าน​ว่า​อย่างไร” หลังจากที่ได้ตอบพระองค์ไปแล้ว รู้สึกว่านักกฎหมายคนนี้ยังไม่จุใจ จึงถามคำถามอีกว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงตอบคำถามโดยตรง แต่พระองค์ได้ทรงเล่าเรื่อง “ชาวสะมาเรียใจดี” เพื่อให้เขาได้คิดหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งเรื่องนี้กลับกลายเป็นเรื่องเล่าอมตะที่เราทุกคนต่างจดจำได้ดี

การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความคิด

         สำหรับการสอนคำสอนให้กับเด็ก ๆ ในปัจจุบันนั้น ไม่เพียงพอที่จะให้พวกเขาจดจำหรือให้คำตอบในลักษณะของขาวหรือดำ ผิดหรือถูก ทำได้หรือไม่ได้ โดยตรงเท่านั้น เราคงไม่สามารถหาคำตอบสำเร็จรูปให้กับเด็ก ๆ ในทุกกรณีได้ แต่เราควรที่จะสอนให้เด็ก ๆ รู้จักคิดแยกแยะ หรือค้นหาคำตอบที่เกี่ยวกับคุณค่าหรือความเชื่อศรัทธาด้วยตัวของพวกเขาเอง ครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะหรือให้ข้อมูล ส่วนการตัดสินใจควรเป็นหน้าที่ของพวกเขาเอง แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็ก ๆ ที่ครูสอนด้วย บางคนครูเพียงชี้แนะเล็กน้อยเขาก็สามารถเข้าใจได้ แต่บางคนอาจจะต้องใช้คำอธิบายที่มากกว่าจึงจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น ครูคำสอนจะต้องค่อย ๆ ฝึกลูกศิษย์ให้ค่อย ๆ รู้จักคิด โดยการตั้งคำถามที่เหมาะสมกับความสามารถของพวกเขา

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของคำถามเพื่อกระตุ้นความคิดกับเด็กในระดับชั้นต่าง ๆ

ประถมปีที่ 1 : ทำไมพระเยซูเจ้าสอนให้เราช่วยเหลือเพื่อน ๆ ของเราด้วย? 
                    ทำไมคนเราต้องรักกันและกัน?
                    ทำไมเราต้องไม่ทะเลาะกัน?

ประถมปีที่ 2 : เราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อจึงจะได้มีความใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้ามากขึ้น?
                    มีใครคิดถึงคำสอนต่าง ๆ ของพระเยซูเจ้าได้บ้าง?
                    ทำไมเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักและช่วยเหลือกัน?
                    ดอกไม้ที่สวยงามทำให้เราคิดถึงพระเจ้าอย่างไร?

ประถมปีที่ 3 : เราจะทำอย่างไรเพื่อจะทำให้มีความเชื่อศรัทธาในพระเจ้ามากยิ่งขึ้น?
                    เมื่อเรามีความทุกข์ เราจะวอนขอความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้าอย่างไร?
                    เราสามารถช่วยเหลือวัดของเราได้อย่างไรบ้าง?

ประถมปีที่ 4 : ทำไมเราต้องให้ความห่วงใยและสนใจคนอื่นด้วย?
                    เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการตัดสินใจของเราถูกต้อง?
                    เราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อจะได้ฉลองวันคริสตมาสได้อย่างดี?

ประถมปีที่ 5 : พระเจ้าต้องการให้เธอปฏิบัติตนอย่างไรกับเพื่อน ๆ ที่มีความแตกต่างไปจากเธอ?
                    เธอคิดว่าบุคคลที่มีความหวังในพระเจ้าเป็นคนที่มีคุณลักษณะเช่นใด?
                    ความเชื่อในพระเยซูเจ้าทำให้เธอแตกต่างจากเพื่อน ๆ อย่างไร?

ประถมที่ 6 : ทำไมการทำความดีจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับคนบางคนในสังคมปัจจุบัน?
                  คุณสมบัติที่ดีของผู้นำมีอะไรบ้าง?
                  เธอจะเป็นผู้ฟังที่ดีของพระเยซูเจ้าได้อย่างไร?

เด็กที่โตกว่า : คำสอนเรื่องความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์(สหพันธ์นักบุญ)มีความหมายอย่างไรสำหรับชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน?
                    ทำไมการอ่านพระคัมภีร์จึงมีความสำคัญสำหรับชีวิตคริสตชน?
                    ทำไมคนจำนวนมากแสวงหาความสุขจากเรื่องเงิน อำนาจ เพศ หรือสิ่งเสพติด?

          เราจะสังเกตได้ว่าคำถามเหล่านี้แตกต่างกับคำถามเช่น “พระเยซูเกิดที่ไหน?” “แม่ของพระเยซูเจ้าชื่ออะไร?” “พระบัญญัติที่พระเจ้ามอบให้โมเสสมีทั้งหมดกี่ประการ?” พระเยซูเจ้าถูกตรึงบนไมกางเขนเมื่อไร?” คำถามเหล่านี้ต้องการคำตอบที่ถูกต้องชัดเจน เป็นคำถามประเภท “ความจำ” ซึ่งยังมีความจำเป็นสำหรับการเรียนรู้อย่างแน่นอน แต่เราจะต้องไม่หยุดอยู่แค่ความรู้เช่นนี้ เราต้องช่วยเด็ก ๆ ของเราให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ไปสู่ความหมายเชิงลึกที่ซ่อนอยู่และเพื่อหาเหตุผลสำหรับความเชื่อของตนเอง ทั้งนี้เพื่อให้เด็ก ๆ ของเราค่อย ๆ บรรลุถึงความเชื่อที่สมบูรณ์ต่อไป

            จากคำถามเชิงความจำ เราควรยกระดับคำถามของเราไปสู่คำถามเชิงการวิเคราะห์ และการประยุกต์ใช้ นั้นก็คือการตั้งคำถามที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “ทำไม?” และ “อย่างไร?” เช่น “ทำไมเราต้องรักกันและกัน?” และ “เราจะแสดงความรักตามคำสอนของพระเยซูเจ้าได้อย่างไร?”

ข้อแนะนำเพื่อการตั้งคำถาม
         •    เด็ก ๆ มีความคิดที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม ดังนั้นในการตั้งคำถาม ครูควรตั้งคำถามด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย ๆ ค่อย ๆ พัฒนาจากคำถามที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม เช่น ถ้าครูถามเด็กเล็ก ๆ ว่า “มิสซาคืออะไร?” เด็กอาจจะตอบไม่ได้เพราะยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าครูถามว่า “วันอาทิตย์มีคนไปวัดหลายคน พวกเขาไปทำอะไรกันที่วัด?” หรือ ถ้าเราต้องการบอกเด็ก ๆ ว่า “เราทุกคนต้องช่วยกันประกาศข่าวดีให้เพื่อน ๆ ของเรารู้” เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจคำว่า “ประกาศข่าวดี” แต่ถ้าเราบอกว่า “เราแต่ละคนจะไปบอกเล่าเรื่องของพระเยซูเจ้าให้เพื่อนฟังในเรื่องอะไรได้บ้าง?” ดังนั้น ในการตั้งคำถามครูอาจจะถามคำถามคำเดียวแต่อาจจะเปลี่ยนสำนวนภาษาหรือถ้อยคำในลักษณะอื่น ๆ ด้วย ถ้าถามเด็ก ๆ แล้ว พวกเขาไม่ตอบสนอง ครูอาจจะต้องปรับวิธีการพูดของครูให้หลากหลายและง่ายขึ้น

         •    ครูควรอธิบาย “คำศัพท์” ศาสนาที่ยากแก่ความเข้าใจสำหรับเด็ก ๆ เช่น พระหรรษทาน ฤทธิ์กุศล พยศชั่ว การประจญ พระศาสนจักร คุณธรรม ฯลฯ

         •    ในการตั้งคำถามให้เด็กตอบ ครูอาจจะเตรียมคำถามใส่กล่องคำถามไว้ แล้วให้เด็กหยิบคำถามนั้นขึ้นมาแล้วตอบให้เพื่อน ๆ ฟัง สำหรับการเขียนคำถามนั้น ครูอาจจะเขียนคำถามแล้วปะติดไว้ในภาพการ์ตูน หรือลูกโป่ง หรือในดอกไม้ แล้วให้เด็ก ๆ เลือกขึ้นมาตอบ ซึ่งเป็นการทำให้การถาม-ตอบไม่เคร่งเครียดจนเกินไป และเป็นการท้าทายเด็ก ๆ ให้ตอบคำถามอีกด้วย

          •    ครูอาจจะให้เด็ก ๆ ฝึกการตั้งคำถามจากบทเรียนที่ได้เรียนรู้ไป เช่น ให้ตั้งคำถามคนละ 3 ข้อ แล้วแบ่งเด็ก ๆ ออกเป็นสองข้าง ผลัดกันถาม ผลัดกันตอบ แล้วให้คะแนน สุดท้ายสรุปว่าข้างใดได้คะแนนมากกว่า

                เราสามารถสร้างสรรค์วิธีการต่าง ๆ เพื่อท้าทายเด็กให้คิดได้มากมาย ถ้าเราช่วยเด็กของเราให้รู้จักคิดวิเคราะห์ในเรื่องของชีวิตและความเชื่อ เด็กของเราจะค่อยกลับกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความเชื่อที่ลึกซึ้ง เป็นคริสตชนที่สามารถเป็นเกลือ เชื้อแป้ง และแสงสว่างให้แก่สังคมของเราได้

 

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์