ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

ชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอน 6 ประการ “ครูคำสอนจะต้องมีชีวิตจิตที่ลึกซึ้ง”
ชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอน 6 ประการ

“ครูคำสอนจะต้องมีชีวิตจิตที่ลึกซึ้ง” (คู่มือครูคำสอน 6)
               ในฐานะครูคำสอน เราต่างทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะของศิษย์พระคริสต์เพื่อแบ่งปันความเชื่อของเราไปให้ผู้อื่น คำว่าครูคำสอนหรือ catechist มาจากภาษากรีกที่หมายถึง “ผู้สะท้อน” เพื่อให้เราจะได้เติบโตฝ่ายจิต และส่งผ่านความเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องการการฝึกฝนชีวิตฝ่ายจิตเพื่อที่จะช่วยให้เราได้สะท้อนพระเยซูคริสต์ได้อย่างมั่นใจในโลกปัจจุบัน คู่มือครูคำสอน (1993) ได้ให้แนวทางการปฏิบัติเพื่อพัฒนาชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอน 6 ประการดังนี้

1.เปิดใจต่อพระเจ้า
2.เปิดใจต่อพระศาสนจักร
3.เปิดใจต่อโลก
4.มีชีวิตที่ถูกต้องงดงาม
5.ใจร้อนร้นในการแพร่ธรรม
6.ศรัทธาต่อพระแม่มารีย์

           คุณลักษณะทั้งหกประการนี้เป็น “big hero six” ของศาสนบริการด้านคำสอนของเรา และเป็นพื้นฐานของชีวิตฝ่ายจิตที่จะช่วยหล่อเลี้ยงเราให้สามารถสะท้อนชีวิตของพระเยซูเจ้าและคำสอนของพระศาสนจักรได้อย่างถูกต้องชัดเจน ร้อนร้น และด้วยความรัก

           มีข้อน่าสังเกตว่าคุณลักษณะทั้งหกประการนี้เน้นคำว่า เปิดใจ (openness) ความถูกต้อง (authenticity) ความร้อนร้น (zeal) และความศรัทธา (devotion) คำเหล่านี้เป็นลักษณะเด่นของครูคำสอนซึ่งสอดคล้องกับถ้อยคำของนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลาที่ว่า “จงออกไปเพื่อทำให้โลกลุกเป็นไฟ” เพื่อให้โลกลุกเป็นไฟได้นั้น ตัวของเราเองจะต้องลุกเป็นไฟก่อน เหมือนกับคำกล่าวที่เราคุ้นเคยว่า “ท่านไม่สามารถให้ในสิ่งที่ท่านไม่มี” หรือ “ท่านไม่สามารถเทน้ำออกจากถ้วยที่ว่างเปล่า” นี่เป็นความจริงอย่างยิ่งสำหรับเราที่เป็นครูคำสอน

            โดยทั่วไปแล้วชีวิตฝ่ายจิตหมายถึงวิธีที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความรักของเราที่มีต่อพระเจ้า เราทุกคนล้วนแต่มีชีวิตฝ่ายจิต เมื่อเรามีสัมพันธภาพกับใครคนใดคนหนึ่ง เราจะต้องดูแลเอาใจใส่ความสัมพันธ์นี้และแสวงหาวิธีที่จะบำรุงหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์นี้ให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไป ชีวิตฝ่ายจิตเป็นการเพาะหว่านสัมพันธภาพที่มีชีวิตกับพระบุคคลของพระเยซูเจ้าโดยผ่านพระฤทธานุภาพของพระจิตเจ้าเพื่อเราจะได้รู้จักและรักพระเจ้าและผู้อื่นได้มากขึ้น ในเวลาเดียวกันทำนองเดียวกัน ครูคำสอนกำลังเดินอยู่บนเส้นทางแห่งชีวิตฝ่ายจิตร่วมกับบุคคลอื่น ๆ ด้วย


             เรื่องสำคัญประการหนึ่งที่เราจะต้องจดจำไว้ก็คือ เราต่างเป็นศิษย์พระคริสต์มิใช่แค่ชื่อหรือตามตัวหนังสือแต่เป็นตัวบุคคลหรือตัวตนของเราเอง หรือชีวิตทั้งชีวิตของเราเอง พระสันตะปาปาฟรังซิสได้ทรงกล่าวเตือนใจครูคำสอนในโอกาสฉลองปีปีติมหาการุณย์ของครูคำสอน ในปี 2016 ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้ามิได้เป็นแค่แนวคิด แต่เป็นพระบุคคลที่มีชีวิต: สาร(คำสอน)ของพระองค์ได้ถูกถ่ายทอดมาอย่างเรียบง่ายและด้วยประจักษพยานชีวิตที่ถูกต้องงดงาม โดยการรับฟังและการตอบรับด้วยความยินดีจนเปล่งประกายออกมาสู่ภายนอก” ความยินดีที่เปล่งประกายนี้มาจากหัวใจที่เปิดออกและต้อนรับช่วยเราให้เป็นแสงสว่างของพระคริสต์สำหรับบุคคลที่กำลังทุกข์ลำบาก

             การเป็นครูคำสอนเป็นสิทธิพิเศษและความยินดีและในเวลาเดียวกันก็อาจจะเป็นความตึงเครียดและการท้าทาย อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีรางวัลและแรงบันดาลใจให้เราครูคำสอนเสมอ เมื่อเราเห็นว่า คนหนึ่งได้เกิดการเปลี่ยนความคิด เปิดหัวใจ และเปลี่ยนแปลงชีวิต ซึ่งครูคำสอนได้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่ง ในแวดวงการประกาศพระวรสารใหม่ ครูคำสอน “เป็นความหวังหนึ่งสำหรับงานธรรมทูตในพันปีที่สามนี้” (คู่มือครูคำสอน 37) เราเป็นผู้สะท้อนความหวัง สะท้อนความรัก สะท้อนความจริง และสะท้อนความเมตตาของพระเจ้า นี่เป็นของขวัญที่ไม่น่าเชื่อที่เราครูคำสอนเป็น หลายคนจึงเรียกพวกเราว่า “Hero” แล้วเราจะยอมรับกันไหวไหมล่ะ?

 

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์