วิธีการส่งเสริมกระแสเรียก
(Encouraging Young People to Discern God’s Call)
พระสงฆ์ นักบวช ครูคำสอน ผู้อภิบาล จะร่วมมือกันปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนของเราได้ค้นพบแผนการของพระเจ้าตามวัยที่เหมาะสมของพวกเขาได้อย่างไร ?
กระแสเรียก หมายความว่าอะไร?
พจนานุกรม Merriam-Webster ได้ให้คำจำกัดความกระแสเรียก (vocation) หมายถึง “หมายเรียกหรือการขอร้อง หรือความชอบอย่างจริงจังในสถานภาพชีวิตใดสถานภาพชีวิตหนึ่ง หรือความชื่นชอบชุดการปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง” พจนานุกรมไทยหมายถึง “อาชีพ” สำหรับความเชื่อคาทอลิกเตือนใจเราว่ากระแสเรียกนี้มาจากพระเจ้าโดยตรง ดังนั้น “การภาวนา” จึงเป็นหัวใจสำหรับการคิดพิจารณาว่าพระเจ้าทรงเรียกให้เราแต่ละคนเป็นอะไรหรือทำอะไร “หากไม่รู้จักวิธีการภาวนาอย่างลึกซึ้งและการฟังเสียงของพระเจ้า เราก็ไม่สามารถได้ยินเสียงเรียกของพระเจ้าได้เลย” (เจสสีกา อาร์คชูท คุณแม่คาทอลิกและบล็อกเกอร์ EveryHomeAMonastery.com)
เช่นเดียวกับคุณพ่อบาทหลวงไมก์ สมิต พูดถึงความหมายของกระแสเรียกในวีดีทัศน์ของท่านที่ชื่อ What’s My Vocation? ว่า “พระเจ้าทรงกระซิบและตรัสกับเราในหัวใจของเราและยังผ่านทางคนอื่นๆ ด้วย พระองค์ทรงปรารถนาให้เรามีชีวิตที่มีความชื่นชมยินดี ดังนั้นพระองค์จึงทรงเรียกเราโดยผ่านทางสิ่งดีต่าง ๆ มากมายเพื่อนำเราไปสู่ความชื่นชมยินดีนั้น”
ท่านได้แยกกระแสเรียกออกเป็นสามเส้นทาง ได้แก่ หนึ่งการเรียกให้ทุกคนเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ สองการเรียกให้แต่งงานและมีชีวิตครอบครัว หรือการถือโสด หรือชีวิตพระสงฆ์นักบวช สังฆานุกร และสามการเรียกที่พระเจ้าทรงเรียกร้องให้เรากระทำพันธกิจบางอย่าง ณ เวลานี้ คุณพ่อยังเสริมว่า “ความเป็นจริงก็คือว่าพระเจ้าทรงสร้างท่านโดยมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ...พระเจ้าทรงเรียกท่านให้เป็นนักบุญ นี่เป็นพระประสงค์แรก จากนั้นพระเจ้าทรงเรียกท่านให้ทำงานอะไรเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นนักบุญนั้น”
อาร์คชูท เชื่อว่าเรื่องท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการทำให้เยาวชนรับรู้ว่าพระเจ้าทรงสร้างพวกเขามาเพื่อสิ่งทียิ่งใหญ่ “ศีลล้างบาปทำให้พวกเขาเป็นสมาชิกของการเป็นสงฆ์ของพระคริสตเจ้า (อ่าน 1 เปโตร 2:9) นี่เป็นเรื่องที่น่ายินดีเพื่อความเข้าใจ” เธออธิบายว่า “เด็ก ๆ จำเป็นที่จะรู้ว่าพวกเขาเป็นผู้ที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นของพระเจ้า พระองค์ทรงรักเขาและทรงเรียกเขาให้มาหาพระองค์”
ทำอย่างไร?
ข้อแนะนำเรื่องการปลุกจิตสำนึกกระแสเรียกจากหนังสือเรื่อง The Role of Teachers in Awakening the Vision จากสังฆมณฑลอาร์ลิงตัน เวอร์จีเนีย แนะนำวิธีการปลุกจิตสำนึกกระแสเรียก - โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสเรียกพระสงฆ์นักบวชดังนี้
สังเกตสัญญาณ : เด็ก ๆได้แสดงให้เห็นบุคลิกลักษณะพิเศษของกระแสเรียกหรือไม่
ภาวนา : ภาวนาให้เด็กนั้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
เชิญชวนให้ค้นพบ : ในการสอนคำสอน ให้เน้นในเรื่องของการบริการรับใช้และเรียนรู้เกี่ยวกับกระแสเรียกต่าง ๆ
เข้าหาพูดคุย : เข้าหาพูดคุยเรื่องกระแสเรียกกับเด็กที่สนใจนั้น ถามความสนใจที่จะเข้ามาบวชหรือถวายตัวรับใช้พระเจ้าหรือไม่
ติดตาม/สานสัมพันธ์ : จัดหาเอกสาร ข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับกระแสเรียกให้อย่างสม่ำเสมอ
ให้ความเคารพ/ไม่กดดัน : รักษาบรรยากาศแห่งความเคารพ ความจริงใจ การเปิดใจในการพูดคุยกันในเรื่องกระแสเรียก
สำหรับวิธีการที่เหมาะสมกับวัยของเด็กๆ ในการสอนคำสอนนั้นควรปรึกษากับคณะกรรมการส่งเสริมกระแสเรียกของสังฆมณฑลเพื่อความร่วมมือหรือการรับรองแนวคิดที่จะนำเสนอดังนี้
วัยบริบาล : สำหรับเด็กอายุ 3-4 ปี เป็นช่วงเวลาที่พวกเขากำลังเรียนรู้หรือทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของบุคคลต่าง ๆ ในสังคมใกล้ ๆ ตัวเขา ควรส่งเสริมให้พวกเขาได้แสดงออกถึงพระพร ความสามารถ และความสนใจซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยเรื่องกระแสเรียก เด็กในวัยบริบาลยังคิดอะไรที่เป็นรูปธรรม เห็นอะไรจากชีวิตจริง คำถามที่ท้าทายให้เริ่มเกิดความคิดถึงตัวของพวกเขาได้ เช่น “พระเจ้าอยากให้หนูทำอะไร?” พวกเขายังมีลักษณะนิสัยที่อยากรู้อยากเห็นด้วยการตั้งคำถามอะไรต่าง ๆ มากมายซึ่งเราสามารถทำความเข้าใจเรื่องกระแสเรียกเบื้องต้นในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ภาษาที่ง่าย ๆ ที่เหมาะสมกับวัยของพวกเขาได้
วัยอนุบาล /ประถมต้น : ให้สานต่อโดยลงในรายละเอียดจากสิ่งที่กระทำในวัยบริบาล เพราะเด็กในช่วงวัยนี้เริ่มคิดได้ว่ามีคนที่แตกต่างกันมากมายหลายอาชีพ และพระเจ้าทรงเรียกด้วยวิธีที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปพวกเขาจะได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก ดังนั้นการสอนคำสอนจึงสามารถอธิบายถึงบทบาทของพระสงฆ์ได้
วัยประถมปลาย (ประถม 4-6) : พวกเขาเริ่มรับผิดชอบงานในบ้านและในโรงเรียนมากขึ้นแล้ว ควรให้เริ่มตัดสินใจเรื่องที่สำคัญ ๆ มากยิ่งขึ้นและควรให้เข้าใจถึงความสำคัญของการภาวนาเพื่อการตัดสินใจนั้น พวกเขาควรได้เรียกรู้ที่จะฟังเสียงเรียกของพระเจ้า และรู้จักประยุกต์ความรู้เรื่องความเชื่อสู่สถานการณ์ในชีวิตจริงของพวกเขา
วัยมัธยมต้น : เป็นวัยที่กำลังสำรวจตรวจตราความสนใจของตนเองในเชิงลึกขึ้น ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเจ้าพัฒนาขึ้นตามลำดับ ความสำคัญของกลุ่มเพื่อนมีความสำคัญกับการตัดสินใจของพวกเขา การมีการพัฒนาอัตลักษณ์อย่างชัดเจนขึ้น เริ่มสำรวจกระแสเรียกต่าง ๆ ได้มากขึ้น วัยนี้คิดถึงการทำงานของพระจิตเจ้าในตัวของพวกเขาได้ดีขึ้น
วัยมัธยมปลาย : เยาวชนในวัยนี้บางคนกำลังคอย “เครื่องหมาย” ที่จะบอกว่าพระเจ้าต้องการให้พวกเขาทำอะไรหรือเป็นอะไร ในขณะที่คนอื่น ๆ อาจจะเชื่อมั่นว่าพวกเขามีกระแสเรียกที่จะต้องเป็นอะไรอย่างชัดเจนแล้วเนื่องจากนี่คือสิ่งที่พ่อแม่ของพวกเขาได้กระทำมา บทบาทของบุคคลที่เป็นต้นแบบ รวมถึงบรรดานักบุญก็มีความสำคัญ การถามเกี่ยวกับกระแสเรียกเพื่อการพูดคุย เช่น : “กระแสเรียกนี้มีอะไรที่จะเป็นอุปสรรคหรือความยุ่งยากสำหรับตัวเธอบ้าง ?” “อะไรจะเป็นสิ่งที่ดีถ้าเลือกกระแสเรียกนี้?” “เธอมีอะไรที่เหมาะกับกระแสเรียกนี้?”
การเล่าตัวอย่างนักบุญที่ดำเนินชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ และบุคคลที่เป็นแบบอย่างในชีวิตประจำวันก็เป็นประโยชน์ นอกจากนั้นเรื่องราวต่าง ๆ และชุมชนเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะร่วมมือกันส่งเสริมกระแสเรียก โดยให้เด็ก ๆ และเยาวชนของเราได้เห็นและได้รับฟังกระแสเรียกที่แตกต่างกันในพระศาสนจักรของเรา
(Lisanne V. Jensen เป็นทีมงานผู้สอนคำสอนและอภิบาลเยาวชนของวัดเซนต์โยเซฟและสังฆมณฑลอัลบานี นิวยอร์ก อาศัยอยู่ในเมืองโคลัมเบีย นิวยอร์กพร้อมกับสามีและลูกสองคน บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารครูคำสอน เดือนตุลาคม 2018 : แปลโดยศูนย์คำสอนราชบุรี)
PHOTO: FABIO PRINCIPE/SHUTTERSTOCK; NICKS/ISTOCK