ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

10 ข้อแนะนำเพื่อทำให้ห้องเรียนมีความสุข
10 ข้อแนะนำเพื่อทำให้ห้องเรียนมีความสุข

        การทำให้ห้องเรียนมีความสุขอยู่ในระเบียบนักเรียนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้เป็นเรื่องที่คุณครูทุกท่านปรารถนา หลายท่านแม้จะเตรียมสอนมาอย่างดี แต่ถ้านักเรียนไม่อยู่ในบรรยากาศที่พร้อมที่จะเรียนรู้ ก็อาจจะทำให้คุณครูหมดกำลังใจและไม่อยากจะอยู่ในห้องนั้นอีกต่อไป

ดังนั้นจึงขอนำเสนอข้อแนะนำเพื่อการจัดการห้องเรียนให้น่าเรียนด้วยความสุข 10 ประการดังนี้

1. สร้างเอกลักษณ์ประจำห้องเรียน
           การสร้างเอกลักษณ์ประจำห้องเรียนเป็นวิธีการที่จะช่วยทำให้สมาชิกในห้องเรียนได้มีข้อผูกมัดพวกเขาเองให้ร่วมมือกันสร้างบรรยากาศที่พวกเขาได้เลือกกันขึ้นมาเพื่อทำให้ห้องเรียนของพวกเขามีความสุข คุณครูสามารถกระทำได้ตั้งแต่เริ่มต้นในวันแรก ๆ ของการเรียน โดยให้นักเรียนช่วยกันระดมสมองตั้งชื่อห้องเรียนของพวกเขา เช่น ห้องซุปเปอร์ฮีโร่ หรือชื่ออื่น ๆ ที่พวกเขาตกลงกัน ครูอาจจะหาชื่อที่ครูคิดไว้ก่อนแล้วสักสองหรือสามชื่อเพื่อให้นักเรียนได้ลงคะแนนเสียง ขอให้ครูทำด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ไม่ซีเรียส เพื่อให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นด้วยความสบายใจและกล้าที่จะเสนอแนะ ตัวอย่างเช่น
• สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย
• เจ้าหญิงแสนสวย
• ฟ้าส่งมาเกิด
• ลูกเทวดา
          หลังจากได้ชื่อประจำห้องแล้ว ให้ครูได้เปิดการสนทนากันว่าเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ห้องเรียนของเราได้มีบุคลิกภาพเหมาะสมกับชื่อนั้น หรือมีความพิเศษอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับชื่อนั้น

2. สร้างความสัมพันธ์
          การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนแสดงว่าครูสนใจเอาใจใส่ชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา ตั้งแต่เริ่มต้นปีการศึกษา ให้ครูสำรวจและทำความรู้จักผู้เรียนของครูโดยผ่านทางกิจกรรมต่าง ๆ และให้กระทำอย่างต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียนจะช่วยให้เกิดการพูดคุยกันได้อย่างจริงใจ เกิดความไว้วางใจต่อกัน เกิดความคุ้นเคย ไม่เป็นคนแปลกหน้าต่อกัน
วิธีการที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เช่น
• การพูดคุยส่วนตัวถึงเรื่องต่าง ๆ สุขภาพ งานอดิเรก กีฬาที่ชอบ อาหารที่ชอบ ฯลฯ
• การโทรศัพท์ไปพูดคุยกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ไม่ใช่เพื่อรายงานความผิดแต่รายงานคุณงามความดีความสามารถของบุตรหลานของเขา
• การทำความรู้จักพี่หรือน้องของนักเรียนของครู
• การเยี่ยมบ้าน
• การเขียนคำชมเชยส่วนตัวสั้น ๆ ให้
• การสนับสนุนกิจกรรมนอกห้องเรียนที่พวกเขาจัด
• การรับประทานข้าวเที่ยงกับนักเรียน

3. ร่วมกันสร้างระเบียบประจำห้อง
            เมื่อครูและนักเรียนร่วมมือกันสร้างระเบียบก็จะก่อให้เกิดบรรยากาศของการเป็นเจ้าของห้องเรียนร่วมกัน ห้องเรียนนี้เป็นของเรา การสร้างระเบียบที่ระบุว่าสมาชิกในห้องเรียนและครูจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรทำให้ทุกคนต่างเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มีใครบังคับใคร แต่ทุกคนต่างเคารพระเบียบกติกาที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้นมา

4. ทำให้เป็นกิจวัตร
           ครูควรทำทุกอย่างร่วมกับนักเรียนให้เป็นเหมือนกิจวัตรประจำวัน แม้ว่าจะดูน่าเบื่อหรือทำอะไรซ้ำ ๆ ครูอย่ากลัวว่านักเรียนจะรู้ว่าครูคาดหวังจะให้พวกเขาทำอะไรแต่ครูควรแสดงให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาจะต้องทำอะไรและทำอย่างไร ให้โอกาสพวกเขาได้ฝึกปฏิบัติกิจวัตรประจำห้องเรียน ทำให้เคยชิน ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมพฤติกรรมที่ครูคาดหวังจะให้เกิดขึ้น และอธิบายให้รู้ถึงผลที่จะตามมาถ้าพวกเขาได้กระทำจนเป็นนิสัย

          การสอนและการกระทำจนเป็นกิจวัตรนี้ครูจะต้องมองข้ามการต่อต้านที่จะเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ เพราะนักเรียนจะมีความยากลำบากที่จะปฏิบัติในเรื่องที่พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำไปทำไม หรือไม่รู้ถึงความคาดหวังที่ครูวางไว้ แต่เมื่อพวกเขาตระหนักว่าทุกอย่างที่ครูให้กระทำนั้นมีผลดีกับตัวของเขาก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
นี่เป็นกิจวัตรประจำห้องที่ครูสามารถกระทำได้
• การตรงต่อเวลา
• การขออนุญาต
• ช่วงเวลาเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนรู้
• การขอความช่วยเหลือ
• เมื่อทำงานเสร็จแล้วจะให้นักเรียนทำอะไร
• การเข้าแถว
• การเหลาดินสอ
• การรักษาความสะอาดและความมีระเบียบของห้อง
• การเข้าห้องน้ำ
• การตรวจการบ้านหรืองานที่นักเรียนทำเสร็จแล้ว
ข้อเสนอแนะพิเศษ: การยกตัวอย่างหรือกล่าวถึงนักเรียนที่สามารถกระทำได้อย่างถูกต้อง หรือทำได้ตามที่ครูคาดหวังไว้ การให้รางวัลสำหรับพฤติกรรมของเด็กที่ทำถูกต้องหรือทำดีในเรื่องที่ครูไม่ได้นึกไว้

5. การให้รางวัล
           รางวัลอาจจะเป็นรางวัลส่วนตัว กลุ่ม หรือทั้งห้องเลยก็ได้ ในทำนองเดียวกันเมื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างระเบียบในห้องเรียน ครูควรให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดรางวัลด้วย นี่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาได้พยายามปฏิบัติเพื่อจะได้รับรางวัลตามที่พวกเขาชอบและต้องการ นักเรียนเองต่างมีความคิดสร้างสรรค์ที่ครูเองคาดไม่ถึง เช่น รางวัลที่พวกเขาอยากได้เมื่อชนะการประกวดห้องสะอาดคือ ขอนอนดูหนังที่ฉายบนเพดานห้อง การให้พวกเขากำหนดรางวัลเองเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการจัดการ แนวคิดเรื่องการให้รางวัลคือ อย่าให้เกิดการยึดติดกับรางวัลหรืออย่าให้เป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย

6. การเงียบ การแก้ไขอย่างรวดเร็ว
           เมื่อนักเรียนไม่สนใจเรียน บ่อยครั้งอาจจะเป็นอาการที่เขากำลังเรียกร้องความสนใจจากครู ดังนั้น ครูควรรีบเข้าหา ใช้ความเงียบเป็นเครื่องหมายว่าครูสนใจเขา เช่น ไปยืนข้าง ๆ หรือแสดงความใกล้ชิดอื่น ๆ ถ้ายังไม่ได้ผล ให้ครูก้มลงไปกระซิบเบา ๆ ว่าอยากให้เขาทำอะไรและบอกผลที่ตามมาถ้าไม่ทำตามที่ครูบอก จากนั้นให้ครูเดินออกจากเขา ถ้ายังไม่สำเร็จให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารดำเนินการต่อไป ครูต้องหลีกเลี่ยงการทำให้นักเรียนต้องอับอายหรือการข่มขู่เพื่อแก้ไขพฤติกรรมของเด็ก การแก้ไขด้วยความเงียบจะทำให้ครูควบคุมสถานะการณ์และความสัมพันธ์กับศิษย์ได้

7. การชมเชยต่อสาธารณะ
           ในขณะที่การแก้ไขควรกระทำอย่างเงียบ ๆ แต่การชื่นชมควรทำอย่างเปิดเผย ครูควรชมเชยพฤติกรรมที่ดีที่ถูกต้อง ชมเชยขณะที่เด็กกำลังกระทำหรือวิธีที่เขากำลังทำ เน้นพฤติกรรมที่ดีและพฤติกรรมที่เขาได้แก้ไขปรับปรุงตน ชมเชยให้เพื่อนร่วมห้องได้รับรู้ด้วย

8. จงสงบ หนักแน่น มั่นคง และปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอ
           เมื่อต้องแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขอให้ครูทำด้วยใจที่สงบ นิ่ง ไม่ทำด้วยอารมณ์ ยิ่งกว่านั้น ครูควรทำตามระเบียบหรือวินัยที่ร่วมกันตั้งขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นกิจวัตร
หลีกเลี่ยงการขู่ เช่น “ถ้าเธอไม่....ครูจะ…” แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ครูได้ยกเลิกผลที่จะตามมาถ้าเขาไม่สามารถทำห้องได้ตกลงกัน ความหนักแน่นมั่นคงสม่ำเสมอจะช่วยทำให้นักเรียนบรรลุผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 100 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนจะสังเกตว่าครูได้ติดตามสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่ และได้ทำเสมอภาคกับนักเรียนทุกคนหรือไม่อย่างไร

9. ตั้งเป้าหมายให้สูงไว้
           ควรตั้งเป้าหมายทั้งความประพฤติและการเรียนของลูกศิษย์ทุกคนให้สูงไว้ กำหนดวิสัยทัศน์ว่าครูต้องการให้ห้องเรียนของครูมีความประพฤติและต้องการให้ศิษย์ได้มีความรู้อะไร และมีการตรวจสอบย้อนหลังอยู่เสมอ การวางเป้าหมายชัดเจนและการติดตามประเมินผลจะช่วยทำให้นักเรียนพยายามปฏิบัติตนให้บรรุลุตามจุดประสงค์

10. เป็นแบบอย่าง
           ครูอยากให้ศิษย์เป็นอย่างไรก็ขอให้ครูกระทำสิ่งนั้นเป็นต้นแบบให้ศิษย์ได้เห็น ยอมรับความจริงว่าครูเองก็ผิดพลาดได้และครูสุภาพพอที่จะกล่าวคำว่า “ขอโทษ” ได้เช่นกัน โปรดจำไว้ว่า “ถ้าเราเคารพใครเราก็จะได้รับความเคารพตอบ”

 

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์