ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

ข้อแนะนำ 11 ประการเพื่อการสอนคริสตศาสนธรรมวัยเด็ก
ข้อแนะนำ 11 ประการเพื่อการสอนคริสตศาสนธรรมวัยเด็ก

(เรียบเรียงจากคู่มือการสอนคำสอน 2020 ข้อ 236-243)

1. เพื่อการศึกษาและการสอนคริสตศาสนธรรมสำหรับเด็กที่มีประสิทธิภาพเราควรแบ่งช่วงวัยของเด็กอย่างไร และด้วยเหตุผลอะไร

ตอบ : ตามธรรมประเพณีของพระศาสนจักรคาทอลิก แบ่งการศึกษาของวัยนี้ออกเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ วัยทารกเริ่มแรกหรือก่อนวัยเรียน (early infant or pre-school) และวัยเด็ก (childhood) โดยพิจารณาว่าในแต่ละช่วงวัยนี้เด็กเริ่มใช้เหตุผลและความเชื่อศรัทธาที่พัฒนาต่อเนื่องกันมา และยังเชื่อว่าพวกเขาแต่ละคนมีพระพรของพระเจ้าหรือพระหรรษทานที่เหมาะสมตามวัยของพวกเขา นั้นคือ ความเรียบง่ายและความพร้อมที่จะเปิดรับหรือเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตได้

2. นักบุญออกัสตินให้คำแนะนำเรื่องคุณลักษณะและแนวทางการฝึกอบรมเด็กในวันนี้อย่างไร

ตอบ : นักบุญออกัสตินแนะนำว่า เด็กในวัยเริ่มแรกและวัยเด็กนี้เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (dialogue) กับครูในเรื่องที่อยู่ภายในใจของเขาได้แล้ว และจากแนวโน้มของเด็กในวัยนี้ เราควรช่วยเหลือพวกเขาให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้าและการมีอยู่ของพระองค์ (cf GE 3)

3. วิชาการอื่น ๆ ยืนยันถึงคุณลักษณะของวัยเด็กอย่างไร

ตอบ : วิชาการทางมนุษย์วิทยาและวิชาครูยืนยันว่าเด็ก ๆ สามารถเชื่อมโยงความคิดเรื่องพระเจ้าและคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิตที่เกิดขึ้นได้โดยที่พ่อแม่เองแทบไม่ได้อบรมสั่งสอนเรื่องทางศาสนาให้พวกเขาเลย แต่ตัวเด็กเองสามารถตั้งคำถามที่มีความหมายเกี่ยวกับ สิ่งสร้าง (ธรรมชาติ)  เอกลักษณ์ของพระเจ้า เหตุผลของความดีและความชั่ว และชื่นชมยินดีกับชีวิตและความรักที่พวกเขาได้รับ

4. วิชาการที่ผู้สอนควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมองเด็ก ๆ ได้ดียิ่งขึ้น มีวิชาอะไรที่แนะนำบ้าง

ตอบ : การศึกษาพฤติกรรมในแวดวงของสังคมวิทยา จิตวิทยา วิชาครู และการสื่อสารมีส่วนช่วยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจเด็ก ๆ อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

5. ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันตามคู่มือแนะแนวการสอนคำสอน (DC) มีอะไรบ้าง

ตอบ : เด็ก ๆ มีชีวิตที่แตกต่างกันไปตามบริบททางภูมิศาสตร์ ชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม การรับรู้และความคาดหวังของพ่อแม่และผู้เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ในครอบครัว ประสบการณ์จากโรงเรียน ความสัมพันธ์ที่มีกับสังคมและชุมชนแห่งความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เกิดมาในยุคดิจิทัล (digital natives) ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการหล่อหลอมคุณลักษณะของเด็กทั่วโลก และส่งผลต่อประสบการณ์ทางศาสนาของพวกเขาด้วย

6. ปัจจัยในชีวิตครอบครัวที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ของเด็กที่ครูคำสอนควรพิจารณาเพื่อการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมีอะไรบ้าง

ตอบ : เรื่องสำคัญที่ครูจะต้องพิจารณาคือ ยังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ได้รับผลอย่างมากจากความเปราะบางของความสัมพันธ์ในครอบครัว แม้ว่าบางคนจะมีฐานะการเศรษฐกิจที่ดี แต่บางคนก็ยังคงอยู่ในสภาพที่ลำบาก หรือมีความรุนแรง ความไม่มั่นคง เด็ก ๆ ที่มีความทุกข์ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันเช่นนี้มักจะมีโอกาสน้อยมากที่จะรู้จักและรักพระเจ้า

         ถ้าเป็นได้ชุมชนของพระศาสนจักรควรเข้าไปเสวนาพูดคุยกับพ่อแม่ของพวกเขา เพื่อสนับสนุนงานด้านการอบรมสั่งสอน และควรที่จะอยู่ร่วมกับพวกเขาหรือทำตัวให้เข้าถึงได้ง่ายเพื่อทำหน้าที่หรือเติมเต็มบทบาทของพ่อแม่และการฝึกปฏิบัติชีวิตในส่วนที่พวกเขาขาดไป

         นี่เป็นการประกาศข่าวดีเริ่มแรกและเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการอภิบาลและการสอนคริสตศาสนธรรมวัยเด็ก

7. คุณลักษณะเฉพาะของเด็กวัยเริ่มแรก หรือวัยก่อนเข้าโรงเรียนเป็นอย่างไร

ตอบ : เด็กในวัยนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญเพื่อการค้นพบความจริงเรื่องศาสนา โดยเรียนรู้จากพ่อแม่และจากสภาพแวดล้อม ทัศนคติทั้งการยอมรับหรือการปิดกั้น เกลียดชังพระเจ้าเริ่มต้นจากวัยนี้

          วัยนี้พวกเขาเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อขั้นพื้นฐาน เริ่มต้นพบว่าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ ผู้ทรงเป็นความรัก ความดีและและการพิทักษ์คุ้มครอง เรียนรู้วิธี การที่จะเข้าหาพระเจ้าด้วยหัวใจและด้วยท่าทีแห่งความรักและเคารพ รู้จักเรียกพระนามของพระเยซูและพระแม่มารีย์

           เรียนรู้เหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิตของพระเยซูเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้า เรียนรู้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ และการแสดงออกภายนอกทางศาสนา เราควรให้ความสำคัญกับการฉลองพิธีกรรมหรือการฉลองตามเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เช่น การทำถ้ำพระกุมารในครอบครัวในโอกาสเตรียมฉลองวันคริสตมาส ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับประสบการณ์จากคำสอนโดยการมีส่วนร่วมโดยตรงกับธรรมล้ำลึกของการรับเอากายมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของเจ้าในองค์พระเยซูเจ้า

           เมื่อเขาได้สัมผัสบรรยากาศเช่นนี้ตั้งแต่เล็กและยังได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันจากชุมชมแห่งความเชื่อ พวกเขาจะได้เรียนรู้และเริ่มเข้าสู่สังคมทางศาสนา เรายังต้องเตรียมพวกเขาให้พัฒนามโนธรรมตามหลักคุณธรรมของคริสตชน (พระบัญญัติของพระเจ้าและพระศาสนจักร)

           ยิ่งกว่านั้นการจัดให้พวกเด็ก ๆ ได้เรียนคำสอนโดยเฉพาะเจาะจงในช่วงวัยนี้ยังเป็นการประกาศข่าวดีขั้นแรกและประกาศความเชื่อในรูปแบบของการให้การอบรมที่โดดเด่นอย่างยิ่ง 

           จงให้ความสำคัญกับความรู้สึกแห่งการไว้วางใจ ความพอเพียง การไม่ถือตัว การรู้จักร้องขอ และการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเงื่อนไขประสามนุษย์ที่จะเชื่อมโยงให้ก้าวหน้าเข้าไปถึงความเข้าใจเรื่องความรอดพ้นจากบาปและความเชื่อศรัทธาในศาสนา

8. คุณลักษณะของเด็กวัยกลาง (6-10 ขวบ) เป็นอย่างไร

ตอบ : ตามขนบธรรมเนียมที่สืบทอดมาในหลาย ๆ ประเทศ วัยนี้เป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ เข้าสู่ชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนคือศีลล้างบาปเรียบร้อยแล้ว

          ภาพรวมของแนวทางการฝึกอบรมคือการนำเสนอเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ความรอด (พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาเพราะความรัก แต่มนุษย์ทำบาป ทอดทิ้งพระเจ้า แต่พระเจ้าไม่ทอดทิ้งมนุษย์ ทรงสัญญาจะประทานพระบุตรมาไถ่กู้มนุษย์ให้พ้นจากบาป และทรงส่งพระเยซูก็เสด็จมาเป็นมนุษย์ ทรงรับโทษแทนมนุษย์ โดยการยอมถูกตรึงกางเขน) เพื่อให้เด็กได้นำมาไตร่ตรองในเชิงลึกมากขึ้น ในฐานะที่เด็ก ๆ ได้เติบโตขึ้น และให้พวกเขาค่อย ๆ ตระหนักถึงอัตลักษณ์ของตนในฐานะที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว

          การสอนคำสอนในช่วงเริ่มแรกชีวิตคริสตชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้นถึงความเชื่อ และเป็นขั้นแรกของกระบวนการการนำเด็ก ๆ ให้เข้าสู่ชีวิตของพระศาสนจักร และการเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์

           การสอนคำสอนจะต้องไม่เป็นแบบแยกออกเป็นส่วนๆ หรือไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่จะต้องเป็นการสอนคำสอนอย่างเป็นระบบ เพื่อนำเสนอธรรมล้ำลึกของชีวิตคริสตชนและการปฏิบัติตนตามเสียงมโนธรรม และควรให้ความสำคัญแก่ปัญหาหรือคำถามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากเด็ก ๆ เอง แท้จริงแล้ว เส้นทางแห่งการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน ควรจัดให้มีการสอนคำสอนความจริงของความเชื่อที่เสริมด้วยแบบอย่างจากชีวิตจริงของชุมชน การมีส่วนร่วมในพิธีกรรม การเรียนรู้คำสอนของพระเยซูเจ้าจากพระคัมภีร์ การเริ่มต้นการปฏิบัติกิจเมตตาแห่งความรัก 

           เป็นหน้าที่ของสภาพระสังฆราชที่จะกำหนดช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนและการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมกับการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ

9. การจัดให้มีการสอนคำสอนในโรงเรียนมีความสำคัญอย่างไร

ตอบ : วัยเด็กยังเป็นช่วงวัยของการเข้าสู่โลกของโรงเรียนระดับประถม ดังนั้นเด็กในวัยนี้จึงเข้าสู่สังคมที่กว้างกว่าครอบครัว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะได้พัฒนาความสามารถด้านสติปัญญา เจตคติและความสัมพันธ์

ในหลาย ๆ ประเทศได้จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องศาสนาในโรงเรียน และหลายประเทศได้จัดให้มีการเรียนคำสอนที่เริ่มเข้าสู่ชีวิตคริสตชนและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้ ตามแนวปฏิบัติที่สภาพระสังฆราชท้องถิ่นได้กำหนดไว้ 

ในบริบทเช่นนี้ความร่วมมือระหว่างครูคำสอนกับครูสอนศาสนา กลับกลายเป็นเป็นเรื่องที่สำคัญโดดเด่นในการวงการศึกษาและเป็นโอกาสที่น่าชื่นชมที่จะทำให้ชุมชนแห่งความเชื่อของบรรดาผู้ใหญ่ในโรงเรียนเป็นที่ประจักษ์แก่เด็ก ๆ

10. แนวทางการฝึกอบรมเด็กให้เข้าสู่ชีวิตคริสตชนควรเป็นอย่างไร

 ตอบ : ความจำเป็นที่จะกำหนดกระบวนการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนให้ถูกต้องสำหรับชีวิตแห่งความเชื่อทั้งหมดแล้ว ควรพิจารณาแนวทางการฝึกอบรมคริสตชนสำรอง (catechumente) หรือแบบแผนการเตรียมผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ซึ่งเป็นบ่อเกิดและแรงบันดาลใจในการดำเนินงาน

          เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะกำหนดให้การเริ่มต้นชีวิตคริสตชนให้สอดคล้องกับรูปแบบการอบรมของการเตรียมผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน แต่จะต้องมีการประยุกต์ทั้ง หลักการ เนื้อหา และวิธีการให้เหมาะสำหรับวัยของเด็ก ๆ

           ลำดับขั้นตอนของกระบวนการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนสำหรับเยาวชนที่นำมาจากกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชนจะช่วยกำหนดเวลา พิธีกรรม และการเข้ามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในโต๊ะแห่งศีลมหาสนิทซึ่งถือเป็นสุดยอดของกระบวนการการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน

          ในทางปฏิบัติบรรดาครูคำสอนจะต้องยอมรับการปรับเปลี่ยนความคิดเรื่องการสอนคำสอนแบบดั้งเดิมที่มองเด็ก ๆ เป็นเพียงผู้รับการอภิบาล และหันมาให้ความสนใจของการมีส่วนร่วมของชุมชน ยอมรับแนวความคิดที่ว่าเราต้องค่อย ๆ ให้การอบรมพวกเขาอย่างมีลำดับขั้นตอนตามความสามารถของพวกเขา เปิดให้มีการส่วนร่วมอย่างแข็งขันทั้งภายในและภายนอกชุมชน

แรงบันดาลใจจากการสอนคำสอนรูปแบบการเตรียมผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ยังทำให้เราตระหนักถึงบทบาทสำคัญอันดับแรกของครอบครัวและชุมชนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเด็ก  เป็นกระบวนการประกาศข่าวดีให้แก่กันและกันอย่างแข็งขันท่ามกลางการความร่วมแรงร่วมใจของบุคคลต่าง ๆ ในพระศาสนจักร

11. ใครคือผู้รับผิดชอบกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการฝึกอบรมเด็ก ๆ

ตอบ : พระศาสนจักรท้องถิ่นทุกแห่งภายใต้การดำเนินและการบริหารจัดการของฝ่ายที่รับผิดชอบด้านการอบรมจะต้องมีหน้าที่ 1) ประเมินสถานการณ์การดำเนินชีวิตของเด็ก ๆ ในบริบทของท้องถิ่น 2) ประเมินแนวทางการให้การอบรมศึกษาด้านคำสอนวัยเด็กภายใต้การปกครอง 3) จัดทำแนวทางที่เหมาะสมเพื่อการฝึกอบรมเด็ก

          โดยมีจุดประสงค์เพื่อได้เด็ก ๆ ในเขตปกครองสำนึกตนเสมอว่าพวกเขาต่างเป็นลูกของพระเจ้า เป็นสมาชิกของพระศาสนจักร อยู่ในครอบครัวของพระเจ้า ซึ่งในวันของพระเจ้า พวกเขาจะได้มาร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองปัสกา (มิสซาฯ) พร้อมหน้ากัน  

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์