ถึงเพื่อนผู้ร่วมงานที่เคารพ
ผมได้อ่านเรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา” กับการบ่มเพาะ “ญานทัศนะ” ของ นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ จาก นสพ.มติชน วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ.2550 หน้า 9 แล้วเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับเราที่ศึกษาวิชาปรัชญา และเทววิทยา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งเหตุผลและเหนือเหตุผล
ผู้เขียนได้ให้เกร่นนำว่า ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปไม่ได้เน้นหรือนำพาหรือหล่อเลี้ยงหรือเอื้อที่จะให้เกิด “การบ่มเพาะญาณทัศนะ” แต่ใน “จิตตปัญญาศึกษา” คือระบบการศึกษาที่เน้นถึงการหล่อเลี้ยงให้เกิดและนำพา “ญาณทัศนะ” มาใช้
ตามคำเข้าใจของผู้เขียน “ญาณทัศนะ” เป็นคุณสมบัติ เป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน เหมือนกับเป็น “ความรู้สึกพิเศษ” ที่ปิ๊งแวบออกมาในสภาวะที่เหมาะสม และบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์ชั้นนำทำงานและค้นพบ “งานชิ้นโบว์แดง” ก็โดยนำเอา “ญาณทัศนะ” ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ทั้งสิ้น
“ญาณทัศนะ” ดูคล้ายกับเรื่องที่ไม่มีเหตุผล แต่กลับเป็นเรื่องที่มีเหตุและผลที่เป็นไปในเชิงซับซ้อน
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างงานวิจัยของดรายฟัสแอนด์ดรายฟัสเรื่อง “ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของมนุษย์” ที่เริ่มจากเหตุและผลและที่พัฒนาไปจนเกิดขึ้นจากส่วนลึกภายในจิตใจของตน โดยแบ่งออกเป็น 5 ขั้นดังนี้
ขั้นแรก : เมื่อเราเรียนรู้อะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็จะเริ่มจากการเป็น “เด็กฝึกงาน” ก่อน เด็กฝึกงานก็จะทำอะไรตามขั้นตามตอน ตามกติกาทุกอย่าง เช่น เมื่อเล่นดนตรีก็เริ่มจากเบสิคต่างๆ
ขั้นที่สอง : เป็น “เด็กฝึกงานก้าวหน้า” ก็เริ่มพลิกแพลง ไม่เถรตรงตามทฤษฎีหรือตามขั้นตอน แต่เริ่มคิดว่า เออ..มันพอพลิกแพลงได้บ้างแล้วนะ มันไม่ได้เสียหายอะไร
ขั้นที่สาม : เป็น “คนทำงานเป็น” คือเมื่อทำงานไปก็เริ่มมี “ประสบการณ์” มากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ทั้งสามขั้นนี้เป็นเพียง “การเรียนรู้” ที่อาศัยการทำงานเชิง “เหตุและผล” ที่ใช้เพียงสมองซีกซ้ายเท่านั้น
ขั้นที่สี่ : เป็น “คนทำงานเก่ง” ในขั้นตอนนี้มี “ญาณทัศนะ” เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ในขั้นที่สี่ คนทำงานเก่งจะเริ่มฝึกฝนตัวเองในการใช้ “ญาณทัศนะ” ซึ่งจะเกิดขึ้นมาได้เมื่อสมองทั้งก้อนสามารถทำงานประสานสอดคล้อลกัน
ขั้นที่ห้า : เป็น “เซียน” ซึ่งเป็นขั้นตอนการเรียนรู้สูงสุดของมนุษย์ พัฒนาได้เต็มศักยภาพของมนุษย์ คือ สามารถนำ “ญาณทัศนะ” เข้ามาใช้ได้อย่างจริงจังเป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเอง
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของคนที่ใช้ญาณทัศนะในการเล่นระนาด โดยเล่าว่า ผู้หญิงคนหนึ่งตอนที่หัดเรียนระนาดใหม่ก็เรียนตามขั้นตอน จนเก่งขึ้นเรื่อยๆสามารถตีระนาดตามโน้ตทุกตัวได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน อยู่มาวันหนึ่งในระหว่างที่เล่นระนาดอยู่นั้นเธอรู้สึกว่าไม่อยากเล่นตามตัวโน้ตที่กำหนดไว้ แต่อยากจะตีเสียงไปตามความรู้สึกและพบว่า “กินใจผู้ฟัง” ได้มากกว่าการเล่นตามตัวโน้ตแบบทื่อๆ
สุดท้าย นพ.วิธาน ผู้เขียนได้สรุปบทความของท่านว่า “ในความเป็นจริง ญาณทัศนะ เป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งหากว่าเราสามารถเข้าใจ เราก็จะสามารถพัฒนาให้ก่อเกิดขึ้นมาได้จริง และสามารถเรียนรู้กันได้ในระบบการศึกษา
*****เพื่อนผู้ร่วมงานและผู้อ่าน มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ก็แสดงความคิดเห็นมาได้เลย*****
จากพ่อวัชศิลป์