ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

ความหมายของความทุกข์
            
โควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกต่างตื่นตระหนก หลายร้อยหลายล้านคนต้องเจ็บป่วย ครอบครัวจำนวนมากต้องสูญเสียคนที่รักไป เราอาจจะไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมเราจึงต้องมีความทุกข์ แต่พระวาจาของพระเจ้าสอนเราว่าเราจะต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ได้อย่างไร เป็นต้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เราจดจำได้ว่าความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนช่วยไถ่โทษเราจากบาปและความตายของพระองค์ เปิดทางเราให้สามารถเข้าสู่สวรรค์ ซึ่งเป็นบ้านแห่งความสุขเที่ยงแท้นิรันดรของเรา

ความทุกข์ทรมาน - ความดีของพระเจ้าและพลังอำนาจของพระเจ้า

ความทุกข์ทรมาน - ความดีของพระเจ้าและพลังอำนาจของพระเจ้า

            ความทุกข์ยากลำบากเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นกับทุกคน “เรารู้ดีว่า จนถึงเวลานี้สรรพสิ่งกำลังร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดราวกับสตรีคลอดบุตร” (รม. 8:22) เราได้รับรู้เกี่ยวกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รอบ ๆ ตัวเรา ซึ่งหลายครั้งทำให้เราพลอยเป็นทุกข์ไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย

             เรามักจะตั้งคำถามด้วยความสิ้นหวังว่า “ถ้าพระเจ้าดีจริง ทำไมต้องมีความทุกข์ทรมานเช่นนี้” “ถ้าพระเจ้าศักดิ์สิทธิ์จริงทำไมไม่ช่วยฉันให้พ้นจากเรื่องเลวร้ายเหล่านี้ล่ะ” เรารู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับความจริงระหว่างความทุกข์กับความเชื่อในพระเจ้าของเรา

            คริสตชนบางคนสอนว่าใครที่มานับถือศาสนาคริสต์ ติดตามพระเยซูแล้วจะไม่มีความทุกข์ จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ความจริงที่เห็นกันอยู่ก็คือคนคริสต์ก็ยังป่วย ยังเจ็บ ยังคงตายเหมือน ๆ คนอื่น พระเยซูเจ้าไถ่บาปเราบนไม้กางเขนไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีความทุกข์ แต่มันช่วยเราให้กล้าที่เผชิญหน้ากับความทุกข์ในชีวิต เราหวังว่าสักวันหนึ่ง พระเจ้า “จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากนัยน์ตาของเขา จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการคร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป….” (วว. 21:3-7).

             ท่ามกลางความทุกข์ ผู้เชื่อในพระเจ้าย่อมมีความหวังเพราะรู้ว่าความทุกข์ในโลกนี้มีเพียงสั้น ๆ แต่รางวัลของเราในเมืองสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่และถาวรนิรันดร์ (2คร. 4:16-18)

เหตุผล 5 ประการที่โลกมีความทุกข์

เหตุผล 5 ประการที่โลกมีความทุกข์

            เพราะโลกที่ล่มสลาย : ความจริงที่ว่าพระเจ้าประทานรางวัลแก่ผู้ที่ทำดีและลงโทษผู้ที่ทำชั่ว แต่ทั้งผู้ที่ทำดีและทำชั่วต่างก็มีความทุกข์ด้วยกัน (โยบ 1-2) ครั้งเมื่ออาดัมและเอวาได้ทำบาป ความสัมพันธ์ระหว่างเรามนุษย์กับพระเจ้า ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และมนุษย์กับธรรมชาติได้ขาดสะบั้นลง ในชีวิตนี้ เราจึงยังมีความหิว เจ็บป่วย ทุกข์เสียใจ และสุดท้ายคือตาย (รม. 8:18-24; ฟป. 2:25-28)

            เพราะบาป: พระเจ้าจะทรงลงโทษคนใดคนหนึ่งก็เพราะว่าเขาได้กระทำบาป (กดว. 16:1-38; ยชว. 7:1-26; กจ. 5:1-11; 12:20-25) ทั้งพันธสัญญาเดิมและใหม่ พระเจ้าทรงอนุญาตให้มนุษย์มีความทุกข์เพราะมนุษย์นั้นเลือกที่จะทำบาป (ยรม. 2:19) แต่ความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็ไม่ได้มาจากบาปเท่านั้น พระเยซูตรัสว่าความทุกข์เกิดขึ้นเพื่อให้พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าจะได้ปรากฏเด่นชัดขึ้น (ยน. 9:1-7).

            เพื่อการแก้ไขสิ่งที่ผิด : พระเจ้าทรงเป็นบิดามารดาที่ดีที่ต้องการให้ลูกเติบโต บางครั้งพระองค์ทรงใช้ความทุกข์เพื่ออบรมสั่งสอนเรา ฝึกฝนเรา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของเราเอง (ฮบ. 12:7-13).

            เพื่อทดสอบเรา (2ทธ. 3:12; 1ปต. 4:12-14; ยก. 1:1-19) ความทุกข์ก่อให้เกิดความเชื่อและทำให้เราสามารถรับใช้พระเจ้าได้ดีขึ้น นักบุญเปโตรประกาศว่า “พระเจ้าผู้ประทานพระหรรษทานทุกประการ ผู้ทรงเรียกท่านให้มารับพระสิริรุ่งโรจน์นิรันดรในพระคริสตเจ้า จะทรงฟื้นฟูท่านให้มั่นคง มีกำลังเข้มแข็ง และจะทรงพยุงท่านไว้ (1ปต. 5:10)  โดยผ่านทางความทุกข์ พระเจ้าทรงหล่อหลอมเราให้เข้าใจผู้คนที่ให้เกียรติพระนามของพระองค์และให้พรผู้อื่น

            ต้องถูกเบียดเบียนข่มเหง (ยน. 15:18-26; 16:1-3; กจ. 14:21-22; 2ทธ. 1:11-12) การติดตามพระคริสต์จะต้องมีความทุกข์และการทดสอบ นักบุญเปาโลมองความทุกข์เพื่อพระคริสต์เป็นเกียรติ เป็นสิทธิพิเศษ “ไม่เพียงแต่พระพรที่จะเชื่อในพระเจ้าเท่านั้น แต่รวมถึงพระพรที่จะทรมานเพื่อพระองค์ด้วย” (ฟป. 1:29; 3:10).

เราจะเผชิญหน้ากับความทุกข์อย่างไร

เราจะเผชิญหน้ากับความทุกข์อย่างไร

          แม้ว่าพระคัมภีร์จะบอกเราถึงเหตุของความทุกข์ แต่ไม่ใช้เรื่องง่ายที่จะตอบคำถามคนที่กำลังมีความทุกข์ว่าทำไมเขาจึงต้องมีความทุกข์ ตัวอย่างเช่น โยเซฟทนทุกข์เพราะบาปของผู้อื่น แม้ว่าพี่ ๆ ของเขาตั้งใจจะทำร้ายเขา พระเจ้าก็ทรงประทานสิ่งที่ดีโดยผ่านความทุกข์ของเขา รวมถึงการที่ได้ช่วยชีวิตพี่ๆ และคนจำนวนมากด้วย (ปฐก. 50:20) จึงยากที่มองข้ามว่าพระเจ้าทรงทำงานท่ามกลางความโชคร้ายของเราได้อย่างไร

       แทนที่เราจะแสวงหาเหตุผลว่า “ทำไม” จึงต้องมีความทุกข์ พระคัมภีร์ได้แสดงให้เห็นว่าเราจะ “เผชิญหน้า” กับปัญหาได้อย่างไร

ไม้กางเขนเอาชนะอำนาจสูงสุดของความตายของผู้มีความเชื่อ

        แม้ว่าความทุกข์ยังคงอยู่กับเรา ความเชื่อไว้วางใจได้ว่าความตายจะสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าทรงสถาปนาฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่(วว. 21:3-4) ความทุกข์จะสิ้นสุดลงเมื่อชัยชนะของพระคริสต์เหนือบาปและความตายสำเร็จลง ดังนั้นเราจะเผชิญหน้ากับความทุกข์อย่างไร

ประการแรก คริสตชนมีความเพียรทนเพราะพระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะความทุกข์ทรมานบนไม้กางเขน

                  พระเจ้าในพระบุคคลของพระเยซูคริสต์ทรงรับทรมานและยังทรงทุกข์ทรมานเพื่อเรา ไม้กางเขนแสดงให้เราได้เห็นว่าพระเจ้าสถิตกับเรา แม้ในเวลาแห่งความทุกข์ ไม้กางเขนเตือนเราว่าพระเจ้าจะไม่ทำให้เราล้มเหลวหรือทอดทิ้งเรา เราจึงสามารถเผชิญหน้าและอยู่เหนือความทุกข์ได้

ประการที่สอง พระศาสนจักรควรรับรู้และช่วยเยียวยาความทุกข์ของเรา

                    เมื่อเรามีความทุกข์ พี่น้องในพระศาสนจักรหรือสมาชิกในชุมชนแห่งความเชื่อของเราควรภาวนาและแสดงความรักให้แก่กันและกัน เราอาจจะแบ่งปันอาหาร เงิน และสิ่งของอื่นๆ ความทุกข์ทรมานทำให้เราเจ็บปวด แต่เราสามารถเป็นผู้รักษาบาดแผลโดยมอบความรักและความห่วงใยที่เราได้รับให้กับผู้อื่น

ประการที่สาม ความทุกข์ช่วยสร้างบุคลิกภาพของเราให้เข้มแข็งหรืออ่อนแอได้

                    เมื่อเราทุกข์ บุคลิกภาพของเราจะไม่เหมือนเดิมอีก ผลที่เกิดขึ้นแล้วแต่การตอบสนองของเรา บางคนท้อแท้ ขมขื่นในชีวิต แต่บางคนด้วยความช่วยเหลือของพระจิต เขาเติบโตในความเข้มแข็ง (2คร. 4:16-17) ความทุกข์ให้โอกาสเราได้แสดงความเชื่อ ความเพียรทน และความช่วยเหลือของพระเจ้าในชีวิตของเรา

เรามีความหวัง

ประการที่สี่ ประการสุดท้าย

                 ที่สุด ให้เรามองไปข้างหน้า ความสิ้นสุดของความทุกข์ในชีวิตที่จะมาถึง เรารู้ว่าพระเจ้าไม่ได้มุ่งหวังให้โลกมีความทุกข์หรือต้องการให้มนุษย์ต้องอดทนตลอดไป ดังนั้น ให้เรารับใช้พระเจ้าด้วยความยินดีเพราะเมื่อมองไปข้างหน้าเราจะได้รับความยินดีร่วมกับพระองค์ อัครสาวกเปาโลต้องทนทุกข์อย่างมาก แต่ยังคงกล่าวว่า “

                  “พระจิตเจ้าทรงเตือนข้าพเจ้าในทุก ๆ เมืองว่า โซ่ตรวนและความยากลำบากกำลังรอข้าพเจ้าอยู่ แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าชีวิตข้าพเจ้ามีค่าสำหรับข้าพเจ้าเท่ากับการที่ข้าพเจ้าได้วิ่งถึงปลายทางและทำให้ภารกิจที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าสำเร็จไปคือการเป็นพยานประกาศข่าวดีแห่งพระหรรษทานของพระเจ้า” (กจ. 20:23-24)

              ในระหว่างนี้ เราซึ่งเป็นคนแห่งไม้กางเขน ดังนั้นเราต้องเอาใจใส่ห่วงใยดูแลคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ยืนเคียงข้างพี่น้องที่ยากไร้ พระวรสารบอกเราให้ห่วงใยคนเจ็บไข้ได้ป่วยและคนตาย เราร้องไห้ในความทุกข์ของผู้อื่นเพราะเรารู้ว่าผู้อื่นจะร้องไห้ในความทุกข์ของเรา เพราะพระเยซูเจ้า เราจึงสร้างสันติสุขทั้งในชุมชนแห่งความเชื่อและสังคมที่เราอาศัยอยู่ ความหวังทำให้เรากล้าเผชิญหน้ากับความทุกข์โดยไม่กลัวสิ่งใด

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์