บทที่ 26 ศีลแก้บาป
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนรื้อฟื้นความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับศีลแก้บาป ซึ่งมีจุดสำคัญอยู่ที่การคืนดีกับพระเป็นเจ้า และกับเพื่อนมนุษย์
ขั้นที่ 1 กิจกรรม ร้องเพลง “สายสัมผัส”
สายสัมผัส
1. พระสัมผัสเราทุกวัน พระยึดมั่นในพระสัญญา
อยู่ที่ใดทรงเมตตาปรารถนาพาสู่ราชัย จึงสัมผัสเราทุกวัน
รับ อาศัยความตายเสียงร้องไห้เศร้าโศก
สิ่งนี้ได้ช่วยโลกที่มืดมนพ้นสู่แสงสว่าง
2. ขอสัมผัสพระทุกวัน ขอผูกพันมั่นฤทัย
ข้าได้พบองค์ทรงชัยสุขเพียงใดใจรู้ดี จึงสัมผัสพระทุกวัน
3. ใครสัมผัสพระทุกวัน เป็นสัมพันธ์ว่ารักพระจริง
ยามได้พบและได้พักพิงไม่ประวิงในสิ่งทุกข์ทน จึงสัมผัสพระทุกวัน
เสร็จแล้วให้ลองนับดูว่ามีคำ “สัมผัส” ในเพลงนี้กี่คำ
คำว่า “สัมผัส” แปลว่าอะไร ?
ธรรมเนียมสากลใช้การ “สัมผัสมือ” (จับมือ) เป็นเครื่องหมายของการทักทายและมิตรภาพ
ธรรมเนียมไทยใช้การ “ไหว้”
ครูฝึกผู้เรียนให้ไหว้ให้ถูกต้อง เช่น ไหว้พระ ไหว้ผู้ใหญ่
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูถามผู้เรียนว่า
- เราไหว้พระเมื่อไร ? ทำไม ?
- เราไหว้ผู้ใหญ่เมื่อไร ? ทำไม ?
- ผู้ใหญ่ที่เราต้องไหว้มีใครบ้าง ?
- คนที่ไม่ถูกกัน เขาไหว้กันหรือไม่ ? ทำไม ?
- เราไม่ถูกกับใครบ้างหรือเปล่า ? เมื่อไม่ถูกกันแล้วทำอย่างไรต่อกัน ? ทำเช่นนี้ดีหรือไม่ ?
- ทางที่ดีควรทำอย่างไร ?
สรุป การเป็นมิตรกันเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราไม่ถูกกับใคร ทางที่ดีควรคืนดีกันเสียเพื่อความสุขของทั้งสองฝ่าย
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. เมื่อเราทำบาปเราก็ไม่ถูกกับพระเป็นเจ้า เราตั้งตนเป็นศัตรูกับพระองค์ การเป็นศัตรูกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็นับว่าแย่แล้ว ถ้าเป็นศัตรูกับพระเป็นเจ้าก็ยิ่งแย่กว่าอีก เพราะพระองค์ทรงเป็นองค์ความสุข ความยินดีของเราทั้งในชีวิตนี้และในชีวิตหน้าด้วย ฉะนั้นทางที่ดีเราควรจะรีบไปคืนดีกับพระเป็นเจ้าโดยเร็ว
2. เราคืนดีกับพระเป็นเจ้าได้โดยทางศีลแก้บาป ซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งขึ้นเพื่อช่วยเราให้คืนดีกับพระเป็นเจ้าและกับพระศาสนจักรของพระองค์ เราจึงเรียกศีลแก้บาปว่าเป็นศีลแห่งการคืนดี หรือศีลแห่งการเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า เพราะโดยทางศีลแก้บาปนี้พระเป็นเจ้าทรงอภัยบาปความผิดของเราจนหมดสิ้น ทำให้วิญญาณของเราสะอาดบริสุทธิ์เหมือนเมื่อรับศีลล้างบาปอีกครั้งหนึ่ง พระเป็นเจ้าตรัสในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่าว่า “มาเถิด” ให้เรามาสู้ความกัน ถึงบาปของเจ้าจะเหมือนสีแดงเข้มก็จะขาวอย่างหิมะ ถึงมันจะแดงอย่างผ้าแดง ก็จะขาวสะอาดอย่างขนแกะ” (อสย. 1,18)
พระเยซูคริสต์ทรงตั้งศีลแก้บาปโดยมอบอำนาจอภัยบาปให้แก้พวกสาวกตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้า ถ้าท่านยกบาปความผิดของผู้ใด บาปความผิดของผู้นั้นก็จะถูกยกเสีย ถ้าท่านไม่ยกบาปความผิดของผู้ใด บาปความผิดของผู้นั้นก็ยังคงติดตัวเขาอยู่ต่อไป” (ยน. 20,22-23)
3. หัวใจของศีลแก้บาปอยู่ที่การเป็นทุกข์เสียใจ เกิดการกลับใจที่จะไม่กระทำบาปความผิดดังกล่าวอีก พระเป็นเจ้าก็ทรงอภัยบาปความผิดนั้น แต่เราก็ยังต้องเข้าพึ่งพิธีการแห่งศีลแก้บาปตามที่พระศาสนจักรผู้ได้รับมอบอำนาจจากพระเยซูคริสต์จะเป็นผู้กำหนด กล่าวคือ
1) ต้องพิจารณาบาปตามความสมควร คือเตรียมตัวเตรียมใจรับศีลแก้บาปด้วยการสวดภาวนา พิจารณาบาปที่ได้กระทำนับตั้งแต่รับศีลแก้บาปครั้งสุดท้ายเป็นต้นมา
2) ต้องเป็นทุกข์เสียใจที่ได้กระทำบาปเป็นที่ขัดเคืองพระทัยของพระเป็นเจ้าผู้ทรงคุณความดีต่อเราอย่างเหลือล้น พร้อมทั้งตั้งใจที่จะไม่กระทำเช่นนั้นอีกต่อไป
3) ต้องไปสารภาพบาปที่ได้กระทำนั้นต่อพระสงฆ์ บาปที่ต้องสารภาพได้แก่ บาปหนักทุกข้อ พร้อมกับจำนวนครั้งและสภาพแวดล้อมที่ทำให้บาปนั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย ส่วนบาปเบานั้นไม่มีข้อบังคับให้สารภาพ แต่ถ้าจะสารภาพด้วยก็เป็นสิ่งที่ดี ตามปกติเมื่อสารภาพบาปอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว พระสงฆ์ก็จะอภัยบาปให้
4) ต้องใช้โทษบาปตามที่พระสงฆ์กำหนด และจะเป็นการดียิ่งถ้าเราจะสมัครใจทำการใช้โทษบาปอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย
หมายเหตุ บาปบางประการมีพันธะผูกพันที่ต้องกระทำตามมาแม้ว่าพระสงฆ์จะอภัยให้แล้วก็ตาม ได้แก่
1) บาปผิดต่อความยุติธรรม คือ ประทุษร้ายต่อทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น จี้ ปล้น ขโมย ทำข้าวของผู้อื่นเสียหาย หรือ ประทุษร้ายต่อชื่อเสียงของผู้อื่น เช่น นินทา ใส่ความ ประจาน ทั้งหมดเหล่านี้ผู้ไปรับศีลแก้บาปต้องไปคืนทรัพย์สิ่งของหรือชื่อเสียงให้แก่เจ้าของ หรือต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเต็มความสามารถ หรืออย่างน้อยต้องตั้งใจกระทำเช่นนั้นเมื่อมีโอกาส
2) บาปที่พระสงฆ์อภัยให้แล้วแต่ยังไม่ได้สารภาพ คือ การรับศีลแก้บาปในยามฉุกเฉิน หรือในกรณีพิเศษ หรือบาปที่ลืมสารภาพแล้วมาจำได้ภายหลัง เหล่านี้ก็ต้องไปสารภาพในการแก้บาปครั้งต่อไป แม้ว่าจะได้รับการอภัยจากพระสงฆ์แล้ว
4. เรามนุษย์มีความอ่อนแอ กระทำบาปความผิดอยู่บ่อยๆจนได้ชื่อว่าเราทุกคนเป็นคนบาป ต้องการการกลับใจอยู่เสมอ พระศาสนจักรเล็งเห็นความสำคัญประการนี้จึงบัญญัติให้คริสตชนรับศีลแก้บาปอย่างน้อยปีละครั้ง (พระบัญญัติของพระศาสนจักร ประการที่ 3 ) เจตนามิใช่เพื่อให้ถือตามอักษร แต่เพื่อให้เราปับศีลแก้บาปบ่อยๆ จะทำให้เราได้รับพระหรรษทานเฉพาะของศีลแก้บาปนี้ คือการเยียวยารักษาหายจากโรคฝ่ายวิญญาณ และช่วยเสริมกำลังให้เข้มแข็ง ไม่หันไปกระทำบาปความผิดอีก
ศีลแก้บาปเป็นศีลแห่งความเมตตากรุณา มีแต่การให้อภัยและการต้อนรับกลับมาสู่อ้อมกอดของพระเป็นเจ้า พระบิดาผู้ใจดี (เทียบ ลก. 15 นิทานเปรียบเทียบเรื่อง ลูกล้างผลาญ) เราจึงไม่ควรกลัวที่จะมารับศีลแก้บาปนี้ ขอเพียงว่าเราเข้ามารับด้วยความจริงใจไม่มีอะไรแอบแฝง
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
- ข้อควรจำ
1. ศีลแก้บาปคือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งขึ้นเพื่ออภัยบาปที่เราได้กระทำ และนำเรามาคืนดีกับพระเป็นเจ้าและพระศาสนจักร
2. พระเป็นเจ้าทรงอภัยบาปของเราเสมอ เมื่อเราเป็นทุกข์เสียใจ เพราะพระองค์จะทรงเมตตา
3. เราจงเข้ามารับศีลแก้บาปบ่อยๆเพื่อจะได้รับพระหรรษทานเฉพาะของศีลนี้ คือการเยียวยารักษาวิญญาณให้เข้มแข็ง มีกำลังต่อสู้กับกิเลสตัณหาที่ชักพาไปให้ทำบาปได้
- กิจกรรม ทำวจนพิธีกรรมขอสมาโทษบาป ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. ขับร้อง หรือ สวดภาวนา
2. บทอ่าน อฟ.4,25 – 32
3. โอวาทเตือนใจ
4. พิจานณามโนธรรม
5. สวดบทแสดงความทุกข์
6. อวยพรด้วยไม้กางเขน
7. ร้องเพลง “สายสัมผัส”
“สายสัมผัส”
1. พระสัมผัสเราทุกวัน พระยึดมั่นในพระสัญญา
อยู่ที่ใดทรงเมตตาปรารถนาพาสู่ราชัย จึงสัมผัสเราทุกวัน
รับ อาศัยความตายเสียงร้องไห้เศร้าโศก
สิ่งนี้ได้ช่วยโลกที่มืดมนพ้นสู่แสงสว่าง
2. ขอสัมผัสพระทุกวัน ขอผูกพันมั่นฤทัย
ข้าได้พบองค์ทรงชัยสุขเพียงใดใจรู้ดี จึงสัมผัสพระทุกวัน
3. ใครสัมผัสพระทุกวัน เป็นสัมพันธ์ว่ารักพระจริง
ยามได้พบและได้พักพิงไม่ประวิงในสิ่งทุกข์ทน จึงสัมผัสพระทุกวัน