ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

บทที่  10 จงนมัสการพระเป็นเจ้าผู้เดียวของเจ้า

จุดมุ่งหมาย     ให้ผู้เรียนรู้จักหน้าที่ต่อพระเป็นเจ้า  และปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดี

ขั้นที่ 1  กิจกรรม

จัดประกวดร้องเพลง  โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มๆ

กำหนดเพลงสำหรับประกวดดังต่อไปนี้

     “เชิญเราคริสตชน”

  1. เชิญเราคริสตชนมาร่วมยินดี      เชิญมาสดุดีชุลีวันทา

ร่วมกับชาวสวรรค์และเทพเทวา        มาสรรเสริญบูชาพระเจ้า

  1. เชิญร่วมจิตร่วมใจร่วมภาวนา      ฟังวาจาพระคริสต์ชีวิตของเรา

เชิญเสด็จพระจิตสถิตบรรเทา           และนำเอาไปปฏิบัติตาม

  1. เชิญเสด็จพระเยซู ประทับอยู่ในวิญญาณ    และประทานความรักแท้แก่โลกา

เชิญเสด็จมารักษาดวงวิญญาณที่เย็นชา    ด้วยกายาพระโลหิตทรงชีวิต

  1. เราจะเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระจิต       เราจะมีชีวิตในพระคริสตเจ้า

โดยอาศัยความรักของพระเป็นเจ้า            เราจะมีชีวิตนิรันดร์

“ด้วยดวงใจยินดี”

รับ  ด้วยดวงใจยินดี                        ขอเชิญร่วมอัญชุลี

ชนทั่วแดนแผ่นดิน                          ถวายพรแด่พระองค์

  1. เชิญถวายพระพร ยกยอกรวันทาอยู่เบื้องหน้าพระองค์
  2. พระองค์ทรงเมตตา ต่อประชาทั้งปวงที่ดวงจิตซื่อตรง
  3. ในวันอันยินดี ที่พวกเราพร้อมเพรียงเปล่งเสียงสรรเสริญ
  4. พระองค์เสด็จมา เยี่ยมเยียนชาวประชาคือเหล่าข้าทั้งหลาย

“วันนี้วันแสนยินดี”

  1. วันนี้วันแสนยินดี วันฉลองอันแสนเปรมปรีดิ์

วันสุขีขอเชิญทุกคน          เทวานักบุญนมัสการ

  1. วันฉลองอันแสนยินดี โอ้วันนี้วันแสนยินดี

วันสุขีขอเชิญทุกคน           เทวานักบุญนมัสการนมัสการองค์พระเป็นเจ้า

  1. พวกเราต่างยอมรับว่า พระองค์คือผู้บันดาล

ความสุขสันชื่นชมสมปอง       ความปรองดองชีวิตมีค่า

  1. จึงพากันมาแซ่ซ้อง ร้องบรรเลงเพลงขับขาน

ประสานเป็นน้ำใจเดียว           ร่วมกลมเกลียวสรรเสริญพระองค์

       อัลเลลูยา   อัลเลลูยา   อัลเลลูยา

ให้เลือกเอาบทใดบทหนึ่ง  ใช้เวลาฝึกซ้อมไม่เกิน  10  นาที

พร้อมแล้วเริ่มการประกวด  ครูเป็นผู้ให้คะแนนตามเกณฑ์   ต่อไปนี้

  • ความถูกต้อง
  • ความพร้อมเพรียง
  • ความไพเราะ

ประกาศคะแนน  มอบรางวัลให้กลุ่มที่ชนะเลิศ  (และกลุ่มอื่นๆ ตามความเหมาะสม)

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์

ครูถามผู้เรียนว่า

เพลงที่ร้องนี้เป็นเพลงประเภทใด  ?

ต่างจากเพลงประเภทอื่นอย่างไร  ?

เป็นเพลงร้องสำหรับใคร ?    ที่ไหน ?    เมื่อไหร่ ?    ทำไม ?

มีเนื้อร้องพอสรุปได้อย่างไร  ?

สรุป     เพลงที่เราร้องนี้เป็นเพลงศักดิ์สิทธิ์  หรือสัตบุรุษทั่วไปเรียกว่าเพลงวัด  เป็นเพลงร้องสรรเสริญพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด

ขั้นที่ 3  คำสอน

  1. ในสังคมทั่วไปมีการยกย่องให้เกียรติแด่บุคคลสำคัญต่างๆ  เช่น  นักวิทยาศาสตร์  นายแพทย์  นักสังคมสงเคราะห์   นักส่งเสริมสันติภาพ  ฯลฯ  ล่าสุดในประเทศไทยเราก็มีการยกย่องบุคคลสำคัญๆให้เป็นศิลปินแห่งชาติ  เริ่มต้นด้วยการถวายพระเกียรติแด่อัครศิลปิน  คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ผลงานทางด้านดุริยางค์ศิลป์  ทัศนศิลป์  และนฤมิตศิลป์  และยกย่องให้เกียรติแก่ศิลปิน  4  ท่าน  คือ  พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  สาขาวรรณศิลป์  นายมนตรี  ปราโมท  สาขาดนตรีไทย  ท่านผู้หญิงแผ้ว  สนิทวงศ์  สาขานาฏศิลป์  และนายเฟื้อ  หริพิทักษ์

  2.   เราคริสตชนก็ถวายเกียรติแด่พระเจ้าเป็นเจ้าสูงสุด  ผู้ทรงสรรพฤทธิ์ไม่มีขอบเขต  ผลงานของพระองค์คือพิภพจักรวาลทั้งหมด  พระคัมภีร์กล่าวว่า  “สวรรค์ประกาศพระศิริรุ่งโรจน์ของพระเป็นเจ้าและฟากฟ้าเฝ้าสำแดงฝีพระหัตถ์ของพระองค์  วันกระซิบต่อวันให้รับทราบ  คือกระซาบต่อคืนให้ชื่นหวัง”  (สดด. 19,1 – 2)  พระบัญญัติประการที่  1  จึงบัญญัติไว้ว่า  “จงนมัสการพระเป็นเจ้าผู้เดียวของเจ้า”  คือยกย่องสรรเสริญพระองค์เป็นพระเจ้าสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว  และแสดงออกด้วยการถวายนมัสการพระองค์

           ถวายนมัสการพระเป็นเจ้าคือเชื่อมถึงพระองค์  หรือที่เรียกว่า  “ความเชื่อ”  ซึ่งเป็นพื้นฐานหรือจุดกำเนิดของการเป็นคริสชน  คือ  เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าผู้เดียวสูงสุด  พระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่งที่แลเห็นได้และแลเห็นไม่ได้  พระองค์ทรงเป็นบิดาผู้ทรงพระทัยอ่อนหวานและเมตตาสงสาร  พระองค์ทรงมีสามพระบุคคล  คือ  พระบิดา  พระบุตร  และพระจิต  แต่ทรงเป็นพระเป็นเจ้าองค์เดียว  (ทบทวนบทเรียนที่  1 – 8)  เราจึงยึดพระเป็นเจ้าพระองค์นี้เป็นสรณะของเราแต่เพียงพระองค์เดียว

          ถวายนมัสการพระเป็นเจ้ายังได้แก่ไว้ใจในพระองค์  หรือที่เรียกว่า  “ความไว้ใจ”  คือการมอบกายถวายชีวิตของเราแด่พระองค์  โดยมั่งใจว่าพระองค์แต่ผู้เดียวทรงเป็นความรอดของเรา  อยู่กับพระองค์เราจะพบสันติสุขและความปลอดภัยทั้งกายและใจตลอดไป

          ถวายนมัสการพระเป็นเจ้ายังหมายถึงรักพระองค์  หรือที่เรียกว่า  “ความรัก”  คือเราได้พบพระองค์ผู้ทรงเป็นองค์ความดีสูงสุด  ความสุขสุดยอดที่มนุษย์เราแสวงหากันนั้นแล้ว  เราจึงมอบหัวใจของเราทั้งหมดให้แก่พระองค์ผู้เดียว

  1. เราจึงพร้อมต่อสู้กับบาปความผิดต่อพระเป็นเจ้าในรูปแบบต่างๆ เช่น  บาปผิดต่อความเชื่อ  ได้แก่ความสงสัยถึงพระองค์ความดื้อรั้นไม่ยอมเชื่อ  การยอมรับนับถือสิ่งอื่นต่างพระเป็นเจ้า  และการกระทำที่ส่อถึงการหันเหไปจากพระองค์  เช่นการเชื่อโชคลาง  ของขลัง  เวทมนต์  คาถา  หรือการกระทำที่เรียกกันว่า  ชูแปร์ตีชัง  คือเชื่อในฤทธิ์อำนาจของสิ่งสร้างว่าสามารถบันดาลให้เกิดผลเหนือธรรมชาติของมันได้

          บาปผิดต่อความไว้ใจ  ได้แก่ความสิ้นหวัง  คือคิว่าแม้พระเป็นเจ้าผู้ทรงฤทธิ์และทรงเมตตาก็ช่วยอะไรตนไม่ได้อีกแล้ว  และความหวังที่เลยเถิด  คือคิดว่าพระเป็นเจ้าจะทรงช่วยทุกอย่างไม่ว่าตนจะกระทำอะไรดีหรือไม่ดี  เหมาะหรือไม่เหมาะก็ตาม

          บาปผิดต่อความรัก  ได้แก่ความเฉยเมย  ไม่รู้หนาวรู้ร้อนต่อพระเป็นเจ้าโดยจงใจ  ความอกตัญญู  คือไม่รู้บุญรู้คุณของพระเป็นเจ้า  กลับตอบสนองด้วยความเนรคุณ  การปรนนิบัติพระเป็นเจ้าอย่างเสียมิได้  คือไม่เต็มอกเต็มใจ  ความโกรธและเกลียดพระเป็นเจ้าเมื่อไม่สบอารมณ์ตน  เช่น  เมื่อสวดขอไม่ได้ดังใจหรือเกิดเหตุร้ายเจ็บป่วย

  1. การถวายนมัสการพระเป็นเจ้าด้วยความเชื่อ  ความไว้ใจ  และความรักนั้น  นอกจากจะต้องทำด้วยจิตใจของเราแล้ว  ยังต้องแสดงออกด้วยการกระทำภายนอกด้วย  เช่น  ด้วยการกราบไหว้นมัสการ  การถวายบูชา  การสวดภาวนา  การร่วมพิธีกรรมต่างๆ                 

ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
  1. “จงนมัสการ พระเป็นเจ้าผู้เดียวของเจ้า”
  2. พระเป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียวสมควรแก่การนมัสการสรรเสริญ เพราะฝีพระหัตถ์ของพระองค์ปรากฏให้เราเห็นทั้งในสวรรค์  ฟ้าและแผ่นดิน
  3. เรานมัสการสรรเสริญพระเป็นเจ้าโดยเชื่อ ไว้ใจ  และรักพระองค์
  4. บาปผิดต่อความเชื่อ ได้แก่  ความสงสัย  ความดื้อรั้น  การนับถือสิ่งอื่นต่างพระเป็นเจ้า  และการเชื่อและพึ่งพาฤทธิ์ของสิ่งสร้างเท่าเสมอกับพระเป็นเจ้า
  5. บาปผิดต่อความไว้ใจ ไดแก่  ความสิ้นหวัง  และ  ความหวังที่เลยเถิด
  6. บาปผิดต่อความรัก ได้แก่  ความฉยเมย  ความอกตัญญู  การกระทำอย่างเสียมิได้  และความโกรธเกลียดพระเป็นเจ้า
  7. เราแสดงการนมัสการพระเป็นเจ้าภายนอกโดยกราบไหว้นมัสการ การถวายบูชา  การสวดภาวนา  และร่วมพิธีกรรมต่างๆ
  • กิจกรรม ให้ผู้เรียนนมัสการพระเป็นเจ้าตามขั้นตอนต่อไปนี้
  • ตั้งรูปพระเป็นเจ้า (สร้างโลก  หรือ  ประทานพระบัญญัติ  ฯลฯ)
  • เพลงเริ่มพิธี (ใช้เพลงจากบทเรียนขั้นที่  1   กิจกรรม)
  • บทอ่าน สดด. 19,1 – 10
  • ครูให้โอวาทสั้นๆ
  • บทภาวนาของมวลชน
  • ถวายดอกไม้
  • เพลงปิดพิธี (ใช้เพลงจากบทเรียนขั้นที่  1   กิจกรรม)

การบ้าน     ให้ผู้เรียนนมัสการพระเป็นเจ้าในชีวิตประจำวัน  เช่น  จัดพระแท่นที่บ้านให้สะอาด  เรียบร้อย  สวยงาม  สวดภาวนาเช้าค่ำหน้าพระแท่น  ไปร่วมมิสซาที่วัดในวันอาทิตย์  ฯลฯ

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์