ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

บทที่  9 ชีวิตคริสตชน

จุดมุ่งหมาย     เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและเห็นความสำคัญของชีวิตคริสตชน  และมุ่งดำเนินชีวิตตามครรลองที่พระเป็นเจ้าทรงบัญญัติไว้

ขั้นที่ 1  กิจกรรม

ครูเล่าตัวอย่างของผู้ที่ยอมเสียชีวิตฝ่ายกายเพื่อรักษาชีวิตฝ่ายวิญญาณ  (ชีวิตคริสตชน)

ผู้เฒ่าเอเลอาซาร์  (2  มคบ. 6,18 – 31)

            เอเลอาซาร์ผู้เฒ่าชาวยิว  เป็นคนมีสัตย์  สมัยนั้นชาวยิวตกเป็นเมืองขึ้นของกษัตริย์อันทีโอคัส  ซึ่งกดขี่ข่มเหงต่างๆ นาๆ  เพื่อให้ชาวยิวละทิ้งพระเป็นเจ้าและหันมากราบไหว้กษัตริย์อันทีโอคัสเป็นพระเจ้าแทน  เอเลอาซาร์ถูกจับและถูกบังคับให้กินเนื้อสุกรซึ่งขัดกับบัญญัติของโมเสส  หัวเด็ดตีนขาดผู้เฒ่าก็ไม่ยอม  มีคนเห็นใจสงสารอยากจะช่วยท่านให้พ้นจากโทษประหารจึงเสนอจะแอบเอาเนื้อสัตว์อื่นที่กินได้มาแทนเนื้อสุกร  เอเลอาซาร์กินแล้วจะได้ไม่ผิดบัญญัติและไม่ถูกประหารด้วย  เพราะใครๆก็คิดว่าเขายอมกินเนื้อสุกรแล้ว  แต่เอเลอาซาร์ยืนหยัดมั่นคงว่า  ท่านมีชีวิตอย่างน่าชื่นชมนับตั้งแต่วัยเด็กมาจนถึงวัยชราผมหงอกขาวโพลนแล้ว  ท่านจะต้องรำรงชีวิตอย่างประเสริฐสูงสุดต่อไป  ท่านจึงประกาศว่าเหนือสิ่งอื่นใดท่านจะซื่อสัตย์ต่อบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า  ท่านบอกให้นำตัวท่านไปประหารทันทีโดยอธิบายว่า  คนปูนนี้แล้วไม่ควรจะเสแสร้งทำ  คนหนุ่มมากมายจะคิดว่าเอเลอาซาร์อายุเก้าสิบปีแล้วกลับไปถือศาสนาอื่น  ควรแล้วหรือที่ฉันจะแสร้งทำเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนิดเดียว  ฉันจะเป็นคนทำให้พวกคนหนุ่มหลงผิด  เป็นเหตุให้ตนต้องอับอายขายหน้าในวัยชรา  ฉันอาจจะพ้นโทษทัณฑ์ของมนุษย์ก็จริง  แต่ไม่ว่าจะเป็นหรือตายฉันก็หนีไม่พ้นโทษทัณฑ์ของงพระเป็นเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ได้  ฉะนั้นฉันควรจะสละชีวิตอย่างกล้าหาญ ณ บัดนี้  จะได้พิสูจน์ให้ทั้งปวงเห็นว่าฉันเป็นคนชราที่ควรแก่การยกย่องนับถือ  จะได้ทิ้งตัวอย่างที่ดีให้คนหนุ่มเห็นว่าควรจะยินดีตายเพื่อยกย่องบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์  กล่าวเสร็จท่านก็เดินเข้าสู่ที่ประหาร  พวกศัตรูเฆี่ยนท่านอย่างทารุณโหดร้าย  ก่อนตายท่านกล่าวเป็นคำสุดท้ายว่า  “ข้าแต่พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์  พระองค์ทรงทราบดีว่า  แม้ข้าพระเจ้าจะเอาตัวรอดได้  ถึงกระนั้นข้าพเจ้าไม่เพียงยินดีที่ได้รับความเจ็บปวดสาหัสฝ่ายกายเพราะถูกเฆี่ยนเท่านั้นแต่ข้าพเจ้าทนรับทรมานด้วยใจชื่นชมยินดีเพราะจงรักภักดีต่อพระองค์”  แล้วท่านก็ถึงแก่ความตาย

มารดาและบุตร  7  คน  (2  มคบ. 7,1 – 42)

           ในสมัยเดียวกันนั้น  มารดาและบุตร  7  คนก็ถูกจับและถูกบังคับให้กินเนื้อสุกรซึ่งผิดต่อบทบัญญัติเหมือนกัน  แต่บุตรทั้ง  7  คนสวมใจเพชร  ยอมตายไม่ยอมปฏิบัติตาม  ทุกคนยืนยันความเชื่อและความซื่อสัตย์เหมือนๆกันว่า  “พวกแกเอาชีวิตปัจจุบันนี้ไปจากเรา  แต่จอมกษัตริย์ผู้เป็นเจ้าโลกจะให้เราฟื้นขึ้นมาจากความตายอีก  เราจะมีชีวิตอยู่ตลอดกาล  เพราะพวกเราตายเพื่อบทบัญญัติของพระองค์”

             บุตรคนที่  1 – 6  ถูกทรมานโดยการตัดลิ้น  ถลกหนังศีรษะ  ตัดมือตัดเท้าและโยนลงกระทะน้ำเดือด

             บุตรคนที่  7  คนสุดท้อง  ยังเล็กอยู่  กษัตริย์จึงเกลี้ยกล่อมให้กินเนื้อสุกรโดยสัญญาว่าจะให้เขาร่ำรวยมีเงินมีทอง  มีความสุข  ถ้าเขาละทิ้งประเพณีของบรรพบุรุษเสีย  นอกนั้นพระองค์จะทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นพระสหายของพระองค์  ให้มีตำแหน่งสูง  แต่ก็ต้องผิดหวัง  เพราะบุตรคนสุดท้องร้องเสียงดังออกมาในทันทีว่า  “ฉันยอมสละร่างกายและชีวิตเหมือนพวกพี่ๆเพื่อบทบัญญัติของบรรพบุรุษ  ฉันขอวิงวอนพระเป็นเจ้าได้ทรงเมตตาชนชาติของเรา  เรายอมทุกข์ลำบาก ถูกเฆี่ยนตีก็เพื่อพวกท่านจะได้สารภาพว่ามีพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นพระเป็นเจ้า  ฉันและพี่ๆ ยอมรับทรมานก็เพื่อพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์จะได้เลิกทรงพระพิโรธชนชาติของเรา”  กษัตริย์ได้ฟังก็กริ้วยิ่งนัก  ทรงสั่งให้ทรมานบุตรคนสุดท้องนี้ให้หนักกว่าคนอื่นๆ

            มารดามองดูลูกถูกทรมานตายไปทีละคนๆ แทนที่นางจะใจอ่อนสงสารลูก  นางกลับคอยให้กำลังใจลูกอย่าท้อถอยหรือเปลี่ยนใจ  และในที่สุดนางก็ตายเป็นคนสุดท้าย

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์

ครูถามผู้เรียน

รู้สึกอย่างไรกับผู้เฒ่าเอเลอาซาร์  ?

มีความประทับใจต่อตัวท่านอย่างไร  ?

รู้สึกอย่างไรต่อบุตรทั้ง  7  ?

มีความประทับใจต่อพวกเขาอย่างไร  ?

รู้สึกอย่างไรต่อมารดา  ?

มีความประทับใจต่อนางอย่างไร  ?

สรุป     ตัวอย่างของผู้ที่เห็นความสำคัญต่อชีวิตวิญญาณ  (ชีวิตคริสตชน)  จนถึงขั้นยอมสละชีวิตกายเพื่อแลกกับชีวิตวิญญาณนั้น

ขั้นที่ 3  คำสอน

  1. พระเยซูคริสต์ตรัสว่า  “จะมีประโยชน์อะไรที่จะได้โลกทั้งโลกมาเป็นกรรมสิทธิ์  แล้วต้องมาเสียวิญญาณไป  จะเอาอะไรมาแลกวิญญาณกลับคืนมาได้”  (มธ. 16,26)  หมายความว่าจะเสียอะไรก็จงยอมเสียเถิด  แต่อย่ายอมเสียวิญญาณ  เพราะจะเป็นการเสียที่ยิ่งใหญ่และตลอดไป  ไม่มีทางจะกู้คืนมาได้

  2. พระเยซูคริสยังตรัสว่า  “ผู้ใดใคร่เอาชีวิตรอด  ผู้นั้นจะเสียชีวิต  แต่ผู้ใดเสียชีวิตเพราะเห็นแก่เรา  ผู้นั้นจะเอาชีวิตรอด”  (มธ. 16,25)  ชีวิตที่เสียก็คือชีวิตฝ่ายกาย  ส่วนชีวิตที่รอดก็คือชีวิตฝ่ายวิญญาณ  ผู้เฒ่าเอเลอาซาร์  มารดาและลูก  7  คน  ปฏิบัติตามพระวาจาของพระเยซูคริสต์  คือยอมเสียชีวิตฝ่ายกายเพื่อจะเอาชีวิตฝ่ายวิญญาณให้รอด  นับว่าเขาเป็นคนฉลาดที่ได้เห็นคุณค่าชีวิตฝ่ายวิญญาณ  หรือชีวิตคริสตชน  อย่างแท้จริง

  3. การรักษาชีวิตฝ่ายวิญญาณ  หรือชีวิตคริสตชน  ให้รอดก็คือการยอมสละสิ่งบำรุงบำเรอเหล่านี้ได้แก่การบูชาสิ่งสร้างต่างพระเจ้า  เช่น  บูชาเงินตรา  ความสนุกสนานทางเนื้อหนัง  การกิน  การดื่ม  เกียรติยศ  ชื่อเสียง  อำนาจวาสนา  ฯลฯ  และเพื่อห้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี่ก็จำเป็นต้องใช้ทุกวิถีทาง  แม้กระทั่งการกดขี่ข่มเหงเพื่อนมนุษย์  การเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ  คนที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ก็เท่ากับไม่มีพระเป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์อยู่ในสายตา  จะมีก็ตัวเองแต่ผู้เดียวเท่ากับเขาคือพระเจ้า  นี่คือความเห็นแก่ตัวอย่างสุด ๆ

  4. สิ่งที่ช่วยให้เราสละหรือขจัดสิ่งบำรุงบำเรอนี้ได้ก็คือ  พระบัญญัติ  ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตตามทำนองคลองธรรม  ถ้าจะเปรียบชีวิตเป็นการเดินทางผ่านสะพานที่ทอดเชื่อมเรามนุษย์กับพระเป็นเจ้า  พระบัญญัติก็คือราวสะพานที่ช่วยให้เราได้เกาะยึดและพยุพยุงให้เดินหน้าไปด้วยความมั่นใจ  และในเวลาเดียวกันก็เป็นสิ่งช่วยป้องกันเรามิให้หลุดพลัดตกจากสะพานเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้  พระเยซูคริสต์จึงตรัสว่า  “ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุถึงชีวิตนิรันดรก็ให้ถือตามพระบัญญัติ”  (มธ. 19,17)

ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
  1. “จะมีประโยชน์อะไรที่จะได้โลกทั้งโลกมาเป็นกรรมสิทธิ์ แล้วต้องมาเสียวิญญาณไป”  (มธ. 16,26)
  2. “ผู้ใดใคร่เอาชีวิตรอด ผู้นั้นจะเสียชีวิต  แต่ผู้ใดที่เสียชีวิตเพาระเห็นแก่เรา  ผู้นั้นจะเอาชีวิตรอด”  (มธ. 16,25
  3. “ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุถึงชีวิตนิรันดรก็ให้ถือตามพระบัญญัติ” (มธ. 19,17)
  4. รพะบัญญัติเปรียบเทียบเหมือนราวสะพานที่คอยพยุพยุงและป้องกันเราใหเดินทางไปหาพระเป็นเจ้าโดยปลอดภัย
  • กิจกรรม เล่นเกม  ใคร ?    ทำอะไร ?    ที่ไหน ?    เมื่อไหร่ ?    อย่างไร ?

วิธีเล่น        แบ่งผู้เรียนออกเป็น  5  กลุ่ม  แจกกระดาษ  ปากกา  กลุ่มละ  1  ชุด

           ให้แต่งประโยคที่มีส่วนประกอบ  5  ส่วนตามชื่อของเกมโดยให้แต่ละกลุ่มแต่งแต่ละส่วน  เช่น

         กลุ่มที่  1   แต่ง  ใคร ?  (ปรึกษากันเขียนชื่อใครก็ได้ลงในกระดาษ)

         กลุ่มที่  2  แต่ง  ทำอะไร ?  (ปรึกษากันเขียนกิริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่งลงในกระดาษ)

         กลุ่มที่  3  แต่ง  ที่ไหน ?  (ปรึกษากันเขียนสถานที่ใดที่หนึ่งลงในกระดาษ)

         กลุ่มที่  4  แต่ง  เมื่อไหร่ ?  (ปรึกษากันเขียนเวลาใดเวลาหนึ่งในกระดาษ)

         กลุ่มที่  5  แต่ง  อย่างไร ?  (ปรึกษากันเขียนคำวิเศษประกอบกิริยาอาการลงในกระดาษ)

         เสร็จแล้วนำมารวมกัน  ครูอ่านให้ฟัง

        ให้แต่ละกลุ่มแต่งส่วนอื่นของประโยคโดยหมุนเวียนกันไป

บทสอน          ประโยคเหล่านี้แสดงให้เห็นชีวิตที่แปลกประหลาดพิศดาลและผิดปกติ  เพราะแหวกแนวปฏิบัติของคน      ทั่วไป   อาจจะสนุกเพราะเล่น  ถ้าเป็นชีวิตจริงคงไม่สนุกแน่

การบ้าน     ให้ผู้เรียนประดิษฐ์อักษร  “พระบัญญัติ  10  ประการ”  ระบายสีให้สวยงาม  แล้วเติมคำในที่ว่า  ข้างล่าง                              แสดงความหมายของพระบัญญัติตามความเข้าใจของตนเอง

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์