คนเก่าเล่าเรื่อง "ชีวิตคริสตชน"
นางไสว (อายุ 87 ปี มารดาของกำนันชานนท์ สุริยะฉันทนานนท์ ผู้อำนวยการสภาภิบาลอาสนวิหารแม่พระบังเกิด) ได้เล่าถึงชีวิตคริสตชนในอดีตให้ฟังว่า
ครูคำสอนที่จำได้
ครูคำสอนในอดีตที่จำได้มีหลายคน ครูที่สอนเด็กผู้ชาย เช่น ครูฉันท์ สัตย์สมบูรณ์ และครูเวสอนขับร้องและดนตรี ครูฉันท์เป็นคนน่ารัก คนซื่อ ๆ รักษาผลประโยชน์ของวัด คนส่วนใหญ่จึงรักและเคารพท่าน แต่มีคนไม่ดีที่ไม่ชอบและต่อว่าท่าน น้องชายของผู้เล่าเรียนรุ่นเดียวกับครูฉล่ำ แต่น้องไม่ชอบเรียนดนตรีจึงไม่ได้เป็นนักดนตรีเหมือนครูฉล่ำ ครูทั้งสองเป็นหลักอยู่ฝั่งผู้ชาย
ครูคำสอนฝั่งเด็กผู้หญิง
แต่ก่อนแยกเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย เมื่อประมาณเจ็ดสิบกว่าปีมาแล้ว (ปีนี้ท่านอายุ 87) ฝั่งเด็กผู้หญิงมีซิสเตอร์หมอ ซิสเตอร์อันตน มาจากอิตาลี เป็นผู้แล ส่วนครูคำสอนจำได้คือ ซิสเตอร์ลัดดา ซิสเตอร์ราตรี ซิสเตอร์ยี่สุ่น ตอนนั้นแปดหรือเก้าขวบ ช่วงปิดเทอมเรียนคำสอนทุกวัน มีหนังสือคำสอนให้อ่าน แล้วซิสเตอร์ก็แปลให้ฟัง มีเล่าเรื่องพระคัมภีร์ให้ฟัง สมัยก่อนเข้าใจคำสอนมากกว่าสมัยนี้ พออายุสิบขวบ ก็เรียนจบรับศีล ครูคำสอนเอาหนังสือให้อ่าน เล่าพระคัมภีร์ให้ฟังแล้วถามตอบ ตอนนี้จำไม่ค่อยได้แล้ว สอนให้สวด มีสวดลูกประคำ สวดตามหนังสือคำสอน เมื่อเรียนจบเล่มจึงให้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ มีสอบด้วย เมื่อใกล้วันรับศีลฯ จะมีการเข้าเงียบ 3 วัน โดยไปเช้าเย็นกลับ ทุกศีลต้องเข้าเงียบเหมือนกันหมด เรียน 4 ปีจบทุกศีล เมื่อได้รับศีลสง่าก็แปลว่าจบคำสอนแล้ว
ครูคำสอนผู้ใหญ่
มีหลายคนที่ช่วยคุณพ่อสอนคำสอน เช่น ครูซ้วน ศิษย์เก่าโรงเรียนดรุณานุเคราะห์คนแรก (เตี่ยครูวรรณา นามสกุลวัฒนศรี ก๋งของครูแมว) รอซาชุนกี แซ่โล้ว (แม่ของนางไสว ผู้เล่าเรื่อง) ซึ่งเป็นพี่สาวเตี่ยของคุณพ่อสิทธิพล ท่านสอนคำสอนได้ ใครจะเข้าคริสตังรอซาชุนกีจะพายเรือไปสอนคำสอนให้ถึงที่บ้านเลย สอนปากเปล่าไม่มีตำราอะไร ไปสอนในวันเสาร์อาทิตย์ คนที่จะแต่งงานกับคนคริสต์เรียกว่าฮองโฮ แต่ก่อนใครจะแต่งงานต้องเข้าคริสต์ ผู้หญิงก็เต็มใจมาเรียน ท่านอยู่รุ่นเดียวกับครูมาลิน ครูสมัยนั้นสอนคำสอนได้ทุกคน นอกจากนั้นยังมีมารีอาซิ้วกิ้ม ฮะกิมเต็ก คุณแม่ของครูนิมิตอีกคนหนึ่งที่ช่วยสอนคนที่จะล้างบาปแล้วมาแต่งงานกับคนคริสต์ ท่านเป็นพลมารีย์รุ่นเดียวกับรอซาชุนกี ท่านพูดเก่งและศรัทธา สมัยก่อนพ่อไม่ได้สอน ให้พลมารีย์สอน คนที่ศรัทธาแต่ก่อนจบมอหกก็เป็นครูได้ เด็กผู้ชายไปเป็นเณรกันมาก ออกมาก็เป็นครู
การไปวัด
แต่ก่อนวัดมีตีสี่ ตีห้า และเก้าโมงเช้า คนในสวน ตีสามต้องออกไปเข้าวัดตอนตีสี่ วันศุกร์ต้นเดือนคนเต็มวัด เวลาไปวัดต้องเข้าแถวแยกเด็กชายเด็กหญิง และให้นั่งอยู่คนละข้างกัน วันอาทิตย์ต้องหยุดงานอย่างเคร่งครัด ห้ามขึ้นตาล ต้องปล่อยไว้ น้ำตาลก็เสียไปเยอะ แต่ก่อนศรัทธาต้องไปวัดกันเสมอ คืนวันคริสต์มาสไปล้นวัด เดินไปกลางคืนต้องใช้ทางมะพร้าวจุดเป็นคบไฟ สว่างไสวไปหมด สนุกเพราะคนเยอะ เด็ก ๆ นั่งแถวหน้า ถ้าไปวัดเก้าโมงตอนไปพายเรือไป ขากลับน้ำแห้งต้องเข็นเรือกลับบ้าน คุณพ่อเบน้อต เคร่งครัดมาก ถ้าใครไม่ไปวัดจะถามว่าทำไมไม่ไปวัด
ซินแซก่อสวดภาษาจีน
เรื่องการสวดจีน วัดบางนกแขวกมีสวดภาษาจีนมานานแล้ว ผู้ก่อสวดที่จำได้ เช่น ซินแซยี่ เตี่ยหมอชิน ซินแซที่อยู่ประตูน้ำ เตี่ยของผู้เล่าเองก็เป็นผู้ก่อสวดภาษาจีน ก่อนเข้าวัดสวดครึ่งชั่วโมง เตี่ยของผู้เล่าก็เคยเป็นผู้ก่อสวด สามีของผู้เล่า ซินแซเว้ง (นายพงษ์พัฒน์ สุริยะฉันทนานนท์) ก็เป็นผู้นำสวดมาตลอดมาหยุดเมื่อก่อสวดไม่ไหว กลุ่มสวดภาษาจีนได้รับเชิญให้ไปสวดเพื่อผู้ล่วงลับ ทั้งที่วัดเพลง วัดโคก ก่อนเข้าวัดครึ่งชั่วโมงพอตีระฆังหนหนึ่งก็เริ่มสวด แต่ก่อนคนเยอะแต่หลัง ๆ ก็น้อยลง ที่สุดก็เลิกไปเพราะไม่มีใครก่อสวดและสวดกันไม่ได้ คุณพ่อฝรั่งเคยมาเรียนภาษาจีนกับเตี่ยของผู้เล่า คุณพ่อบอกว่ายากที่สุด ครอบครัวของผู้เล่าช่วยวัดมาตลอด จนถึงรุ่นของกำนันชานนท์ ที่ได้ช่วยวัดในฐานะผู้อำนวยการสภาภิบาลของวัดหลายสมัย
พระอวยพร
หลายคนบอกว่าพระอวยพรครอบครัวของผู้เล่า เพราะเตี่ยแม่ทำความดี ช่วยเหลือวัดและสังคม ลูกหลานจึงได้ดี ผู้เล่าจึงสวดตลอดเวลา ถ้านอนไม่หลับก็สวด สวดแล้วสบายใจลูกหลานเป็นสุข ปกติจะสวดสายประคำ สวดให้ทุกคน สวดให้ลูกหลาน สวดให้เพื่อนบ้าน สวดขอบคุณพระเจ้าทุกวัน ลูกที่อยู่กรุงเทพก็ศรัทธา ทุกคนทำงานได้ดี ไปวัดกันทุกคน