ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

การภาวนาตามประเพณีของคาทอลิก
การภาวนาตามประเพณีของคาทอลิก

(Traditional Prayers)
         เราถูกฝึกสอนเรื่องการภาวนาจากครอบครัวและครูคำสอนตั้งแต่วัยเด็ก นี่เป็นธรรมประเพณีของเราคาทอลิก เด็กของเราจะต้องท่องจำบทสวดสำคัญ ๆ ให้ได้ เช่น การทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน    บทข้าแต่พระบิดา บทวันทามารีย์ ธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ บทข้าพเจ้าเชื่อ(สัญลักษณ์แห่งอัครสาวก)  บทแสดงความทุกข์  บทภาวนาก่อนและหลังอาหาร  บททูตสวรรค์ของพระเจ้า  บทแสดงความเชื่อ บทแสดงความรัก บทแสดงความหวัง บทแสดงความทุกข์ ฯลฯ

          เราต้องพยายามท่องจำบทสวดสำคัญ ๆ เหล่านี้ให้ได้ เพราะเป็นหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งในการพิจารณาว่าเราจะได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ได้หรือไม่ เป็นต้นสำหรับการรับศีลมหาสนิทครั้งแรก

          บทบาทสำคัญที่ทำให้เราสวดภาวนาได้คล่องก็คือการสวดภาวนาพร้อมกันในครอบครัว เป็นต้นเวลาก่อนนอน แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าเด็ก ๆ ของเราเริ่มสวดภาวนาไม่เป็นเพราะที่บ้านไม่มีการสวดภาวนาพร้อมกันหรือไม่ก็พ่อแม่นับถือคนละศาสนา เด็ก ๆ จึงไม่คุ้นเคยกับการภาวนา

           การท่องจำบทสวดยังมีความจำเป็นสำหรับการอบรมเรื่องความเชื่อ คู่มือแนะแนวทั่วไปสำหรับการสอนคำสอน(1997) ยืนยันว่า “การใช้วิธีท่องจำถือว่าเป็นองค์ประกอบด้านหนึ่งของวิธีการสอนเรื่องความเชื่อ”(GDC 154) บทสวดภาวนาที่สำคัญ ๆ ที่ทุกคนควรรู้ คือ เดชะพระนาม บทข้าพเจ้าเชื่อ ข้าแต่พระบิดาฯ วันทามารีย์ พระสิริรุ่งโรจน์ บทแสดงความเชื่อ ความหวัง ความรัก บทแสดงความทุกข์ เพราะบทภาวนาเหล่านี้เป็นการสรุปข้อความเชื่อที่สำคัญของเราคาทอลิก

ทำไมเราจึงต้องสวดภาวนาตามธรรมประเพณี ?
ขออ้างอิงถึงเหตุผลสำคัญของการเรียนรู้บทภาวนาตามธรรมประเพณีของเราดังนี้
- การภาวนา ไม่ใช่เป็นการท่องจำข้อความเชื่อที่เป็นนามธรรม แต่เป็นการนำเสนออัตลักษณ์ของกลุ่มคริสตชนที่มีความเชื่อศรัทธาอันหนึ่งเดียวกันภายใต้พระศาสนจักรเดียวกัน
- การภาวนาด้วยบทภาวนาเดียวกันนี้ทำให้ทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างภาวนาพร้อมกันได้ในนามของชุมชนคาทอลิกแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน
- เนื้อหาของบทภาวนาเป็นเรื่องของความเชื่อต่าง ๆ ที่เราต้องยึดถือซึ่งเราหวังว่าเด็ก ๆ ของเราจะต้องยึดถือกันต่อไป คริสตชนแต่ดังเดิมสอนกันไว้ว่า “Lex orandi, lex crededi” แปลว่า “กฎเกณฑ์ของการภาวนาก็เป็นกฎเกณฑ์ของความเชื่อ” หมายความว่า คนเราสวดภาวนาอย่างไรแสดงว่าเขาเชื่ออย่างนั้น ดังนั้นบทสวดภาวนาจึงช่วยธำรงรักษาความเชื่อของเราคริสตชนไม่ให้ผิดเพี้ยนไป

- บทภาวนาที่เด็ก ๆ จดจำไว้ในสมองนี้จะช่วยให้กำลังใจในยามที่เขาเกิดปัญหาในชีวิต เช่น ในเวลาที่กำลังมีความทุกข์ ความเศร้า ในเวลาที่คับขันในชีวิต กังวลหรือเดือดร้อนใจในปัญหาต่าง ๆ การภาวนาเหล่านี้จะออกมาเองอย่างอัตโนมัติ และจะช่วยให้มีกำลังใจขึ้นมาใหม่ได้

- การภาวนาให้ขึ้นใจเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับพ่อแม่และครูคำสอนที่ต้องให้ลูก ๆ ของเขารู้จักการสวดภาวนา เพราะนี่คือหน้าที่ประการสำคัญของผู้ที่เป็นพ่อแม่และครูคำสอน พ่อแม่ต้องเป็นคนแรกที่สอนลูกให้ภาวนา จากนั้นครูคำสอนจะต้องสานต่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น บางครั้งที่โรงเรียนอาจจะมีเวลาไม่พอสำหรับการเอาใจใส่เรื่องการสวดภาวนาของเด็ก ๆ ดังนั้น บ้านจึงเป็นสถานที่สำหรับการบ่มเพาะลูก ๆ ของตนให้รู้จักภาวนา

 

การท่องจำบทภาวนา
        การจดจำบทภาวนาไม่ใช่การภาวนาแต่เป็นขั้นตอนแรกเพื่อช่วยให้เราได้ภาวนาอย่างมีความหมาย ครูคำสอนสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ของเราจดจำบทภาวนาต่าง ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น

การขอความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่
        ให้ครูคำสอนเขียนจดหมายรายงานผู้ปกครองให้ทราบถึงงานที่เรากำลังกระทำให้ลูกของพวกเขา คือ การให้ลูกของเขาสวดภาวนาได้ เรื่องที่ครูสามารถขอร้องให้ผู้ปกครองได้ช่วยให้ลูกของเขาจดจำบทภาวนาต่าง ๆ ได้ คือให้ผู้ปกครองช่วยสอนลูกและกวดขันลูกให้ภาวนาก่อนหลังอาหาร ก่อนและหลังการนอน ก่อนการเดินทาง โดยให้เขียนบทภาวนาติดไว้ที่เตียงนอน ที่ตู้เย็นหรือในที่ลูก ๆ ของเขาเดินผ่านบ่อย ๆ แล้วให้เขียนจดหมายรายงามความก้าวหน้าเรื่องการภาวนาให้ผู้ปกครองได้ทราบเป็นระยะ ๆ

การเขียนคำภาวนาติดบอร์ด

         การเขียนหรือพิมพ์บทภาวนาตัวใหญ่ ๆ ติดบอร์ดแล้วประดับบอร์ดให้สวยงามน่ามอง แล้วให้เด็ก ๆ อ่านพร้อม ๆ กันทุกวันเมื่อสวดขึ้นใจได้บทหนึ่งแล้วก็ให้ทำบทอื่น ๆ ต่อไป

ติดดาวให้
        ในห้องเรียนให้ครูเขียนบทภาวนาที่ต้องการให้เด็ก ๆ สวดให้ได้ทั้งหมดลงในกระดานเด็กคนไหน สวดขึ้นใจได้ในบทใดก็ให้เขียนชื่อบนดาวที่เตรียมไว้แล้วนำไปติดใกล้บทภาวนานั้น ใครสวดได้ครบก็จะได้รับรางวัล คุณครูคอยเอาการเด็ก ๆ และพยายามกระตุ้นให้เด็กจดจำให้ได้ แต่อย่ากดดันหรือใช้การข่มขู่

ทำบัตรอวยพรหรือของชำร่วย
         ให้ครูเตรียมกระดาษแข็งหรือกระดาษสีให้เด็ก ๆ ได้ประดิษฐ์เป็นอะไรก็ได้เช่นดอกไม้ บัตรอวยพร ที่แขวนประตู หัวใจ ฯลฯ โดยเขียนบทภาวนาที่ต้องการจำให้ได้ลงในสิ่งประดิษฐ์นั้น

ทำสมุดบทภาวนา

          ให้เด็กมีสมุดบทภาวนาประจำตัว ให้เขียนบทภาวนาที่ต้องจำไว้จากนั้นให้วาดภาพประกอบในแต่ละประโยคหรืออาจจะให้หาภาพจากหนังสือพิมพ์มาติดให้สอดคล้องกับบทภาวนา

ให้ภาวนาเป็นเพลง
          มีบทภาวนาหลายบทที่แต่งขึ้นเป็นบทเพลง เช่น บทข้าแต่พระบิดา วันทามารีย์ ทูตสวรรค์แจ้งข่าว ทูตสวรรค์ของพระเจ้า ฯลฯ

ให้ภาวนาประกอบท่าทาง
         ให้ครูแต่งท่าประกอบการภาวนาหรือให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิด

 

การเรียนรู้ความหมายของบทภาวนา
          การให้เด็กจดจำบทภาวนาจะต้องไปควบคู่กับการให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความหมายของบทภาวนานั้น เราไม่ต้องการให้เด็กของเราภาวนาแบบนกแก้วนกขุนทอง การสวดผิดสวดถูกอาจจะเป็นเรื่องตลกแต่มันแสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ ของเราไม่เข้าใจความหมายของบทสวดที่เขากำลังสวดอยู่ ดังนั้น ครูคำสอนจะต้องให้คำอธิบายถ้อยคำ วลี หรือประโยคแต่ประโยคตามความสามารถของเด็ก ๆ ที่จะรับรู้ได้ในขณะนั้น วิธีการที่มีประโยชน์ต่อการอธิบายความหมายของการภาวนามีตัวอย่างดังนี้


เรียนรู้ความหมายจากตัวบทภาวนา

           ในบทภาวนาแต่ละบทจะต้องอ้างอิงกับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพระคัมภีร์ เช่น บทวันทามารีย์ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สองเหตุการณ์ด้วยกันคือการที่ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวแด่พระนางมารีย์และการที่พระนางมารีย์เสด็จไปเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ บทข้าแต่พระบิดาฯ ก็เกี่ยวข้องกับการที่พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ให้ภาวนา บทอื่น ๆ ก็มีรากฐานมาจากพระคัมภีร์ทั้งนั้น

             การอธิบายความหมายโดยเชื่อมโยงย้อนหลังไปยังต้นกำเนิดที่เราพบจากพระคัมภีร์จะช่วยทำให้เด็ก ๆ รู้จักที่ไปที่มาและความหมายของคำภาวนาในแต่ละถ้อยคำหรือแต่ละประโยค ซึ่งการสอนในลักษณะนี้จะทำให้เด็ก ๆ ของเราสวดภาวนาได้อย่างรู้สำนึกว่าตนกำลังพูดอะไรกับพระเจ้าได้อย่างแท้จริง

เรียนรู้ความหมายอย่างเป็นลำดับขั้นตอน
            บทภาวนาแต่ละบทเต็มไปด้วยพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ ดังนั้นในการอธิบายความหมายจึงต้องค่อยเป็นค่อยไปตามความสามารถของเด็กในแต่ละวัย เช่น การสอนความหมายของการทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน สำหรับเด็กอนุบาลเด็กประถมและเด็กมัธยมย่อมมีความแตกต่างกันไป เราอธิบายความหมายของบทภาวนาเดียวกันค่อย ๆ ลึกลงไปเรื่อย ๆ ในแต่ละชั้น

            เช่นเดียวกับบทภาวนาอื่น ๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในบทเรียนของชั้นต่าง ๆ ด้วย การอธิบายที่แตกต่างกันนี้เปรียบเสมือนกับการต่อภาพจิ๊กซอที่ค่อย ๆ สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

อุปกรณ์ช่วยการภาวนา
         การภาวนาตามขนบธรรมเนียมประเพณียังคงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ครูคำสอนจะต้องปฏิบัติอยู่เสมอ ๆ ในการเรียนคำสอนของเรา เพื่อให้การสอนเรื่องการภาวนาของเราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเสนอแนะวิธีการเพื่อช่วยในการสอนและในการภาวนาดังนี้

หนังสือสวด
          ให้นักเรียนทำหนังสือสวดภาวนาด้วยตัวของเขาเอง โดยให้เด็ก ๆ ได้เขียนบทภาวนาไว้ในหน้าหนึ่ง ส่วนอีกหน้าหนึ่งให้หาภาพที่สอดคล้องกับบทภาวนานั้นติดประกบไว้ หรือเขียนความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากบทภาวนานั้น หรือวาดภาพประกอบให้สวยงาม หรือหาภาพมาปะไว้
          ครูเองอาจจะซื้อหนังสือภาวนาที่ศูนย์คำสอนจัดพิมพ์ไว้แล้วมาเป็นของขวัญหรือรางวัลในโอกาสต่าง ๆ ก็เป็นการส่งเสริมการสวดภาวนาที่ดีอีกทางหนึ่ง

ดนตรีและเพลง

          ดนตรีและเพลงช่วยในการภาวนาอย่างมาก เช่น บทข้าแต่พระบิดาฯ ครูควรเลือกเอาบทที่เป็นบทยอดนิยมมาร้องประจำห้องเลยทีเดียว ร้องจนขึ้นใจแล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นทำนองอื่น ๆ บทวันทามารีย์ก็เช่นกัน เราอาจจะเลือกทำนองใดทำนองหนึ่งเป็นหลักไว้ หรือถ้าเป็นเด็กโตขึ้นหน่อยครูอาจจะใช้บทร้องภาษาลาติน Ave Maria ให้เป็นอินเตอร์เลย

ใช้ท่าทางประกอบ

           การภาวนาของเราสามารถใช้อวัยวะทั้งหมดของเราในการภาวนาได้ด้วย พระเจ้าประทานประสาทสัมผัสให้เราเป็นของขวัญที่วิเศษสุด เราสามารถใช้อวัยวะของเราให้การภาวนาได้ เช่น ใช้ดวงตาในการมอง หูฟังเสียงของพระในธรรมชาติหรือในบทเพลง จมูกในการดมกลิ่นหอมหรือกลิ่นของผลไม้เป็นการสูดดมอัศจรรย์ของพระเจ้าที่ประทานกลิ่นต่าง ๆ ให้ ลิ้นไว้ชิมรสชาดต่าง ๆ ของอาหาร กายสัมผัสไว้ให้ความรักความอบอุ่นของพระเจ้าจากบุคคลต่าง ๆ เป็นต้น

           สำหรับเด็ก ๆ การภาวนาด้วยบทภาวนาตามธรรมประเพณีของเรานั้น ครูอาจจะให้ภาวนาประกอบท่าทางก็ได้ โดยที่ครูอาจจะปรึกษากับเด็ก ๆ ในการแต่งท่าประกอบการภาวนาได้

การสร้างสรรค์อื่น ๆ

          ปัญหาอย่างหนึ่งในการภาวนาแบบธรรมประเพณีก็คือ การภาวนาแบบเป็นเครื่องจักร ดังนั้นการภาวนาแบบของนักบุญอิกญาซีโอจึงเป็นการภาวนาอีกวิธีการหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้กับเด็ก ๆ เพื่อแก้ไขการสวดภาวนาแบบเครื่องจักร

         ตัวอย่างการภาวนาแบบอิกญาซีโอ เมื่อเราสวดบทข้าแต่พระบิดาฯ ให้สวดอย่างช้า ๆ และสงบเงียบ หายใจเข้าออกอย่างแผ่วเบาสม่ำเสมอ(คล้าย ๆ กำหนดลมหายใจในการทำสมาธิ )แล้วเลือกเอาเพียงคำ ๆเดียวในบทภาวนานี้ เช่น พระบิดา แล้วให้เราอยู่กับคำ ๆ นี้ให้อย่างสงบเงียบ ให้คำ ๆ นี้อยู่ในใจของเรา ให้ก้องอยู่ในใจของเรา ถ้ามีความคิดอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในสมองของเรา ให้เรารับรู้แล้วปล่อยวางไว้ อย่าเอามาคิดต่อ ดึงจิตของใจให้อยู่กับคำ ๆ นั้นตลอดเวลา การภาวนาอย่างนี้จะนำไปสู่การภาวนาขั้นสูงต่อไป

 

สิ่งที่ควรคิด&สิ่งที่ควรทำ
สิ่งที่ควรคิด

1. บทภาวนาตามธรรมประเพณีบทไหนที่มีความสำคัญต่อชีวิตของท่าน ทำไม ?
2. ทำอย่างไรเราจึงภาวนาได้อย่างถูกต้อง ?
3. ทำไมบทภาวนาเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการสอนคำสอนให้กับเด็ก ๆ ของท่าน ?
4. เรื่องที่เราคาทอลิกควรปรับปรุงในการภาวนาคืออะไร ?

สิ่งที่ควรทำ
        1. ให้สวดบทข้าพเจ้าเชื่อและบทข้าแต่พระบิดาฯในขณะร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ ให้ดีที่สุด ใส่ใจลงไปในการภาวนาทั้งสองบทเป็นพิเศษด้วย
        2. ตรวจสอบตนเองว่าท่านสวดบทสวดบทภาวนาทางการของพระศาสนจักรได้ทั้งหมดกี่บท ถ้ามีบทอะไรที่ยังท่องไม่ได้ให้ฝึกท่องให้ได้
        3. ก่อนการสอนเด็ก ๆ เรื่องการภาวนาให้ครูเตรียมวิธีการสอนให้ดีก่อน ทดลองด้วยตนเองก่อนที่จะนำเสนอให้ลูกศิษย์

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์