ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

การภาวนา เรียนรู้จากชีวิตของพระเยซูเจ้า
การภาวนา เรียนรู้จากชีวิตของพระเยซูเจ้า

        พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้เผยแสดงให้เรารู้จักความหมายของชีวิตและรู้ว่าควรดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไรจึงจะเป็นบุตรของพระเจ้าอย่างแท้จริง พระองค์ทรงสอนเราทั้งด้วยคำพูดและการปฏิบัติตน   เป็นแบบฉบับ ชีวิตของพระองค์  เป็นชีวิตที่ผูกพันกับองค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นพระบิดาอย่างแนบแน่น พระองค์ทรงใช้ชีวิตทั้งชีวิตเป็นดั่งเครื่องบูชาและการภาวนาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ชีวิตของพระองค์เป็นต้นในเรื่องการภาวนา

ชีวิตภาวนาของพระเยซูเจ้า
          พระวรสารแสดงให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลแห่งการภาวนา ในฐานะที่ทรงบังเกิดเป็นชาวยิวคนหนึ่ง พระองค์ทรงปฏิบัติตนเคร่งครัดตามแบบอย่างของชาวยิวที่หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยการภาวนาอยู่เสมอ ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าพระองค์ทรงได้เรียนรู้การภาวนามาจากพระแม่มารีย์และนักบุญยอแซฟ และยังได้หล่อเลี้ยงจากชีวิตของเพื่อนบ้าน เป็นต้นพระองค์ทรงภาวนาเป็นประจำที่ศาลาธรรมในทุกวันสับบาโต

          ในฐานะชาวยิวที่เคร่งครัด พระองค์ทรงภาวนาตั้งแต่เช้า บ่ายและเย็น พระองค์ทรงภาวนาก่อนทานอาหาร (มธ. 14:19; 26:26) ทรงภาวนาส่วนตัวและภาวนาพร้อมกับบรรดาศิษย์ (ลก. 22:32) และภาวนาให้กับผู้ที่ทรมานพระองค์ (ลก. 23:34) พระองค์ทรงภาวนาด้วยบทสดุดี (สดด. 22- มก 15:34;   สดด. 31- ลก 23:46) พระองค์ทรงสวดภาวนาทุกวันพระทั้งที่บ้านและที่ศาลาธรรม (ลก. 4:16) ทรงร่วมเฉลิมฉลองวันปัสกาประจำปีและร่วมนมัสการพระเจ้าในพระวิหาร (ลก. 2:41; 19:45)

            ในการปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มต้นจากการภาวนาโดยการเขารับพิธีล้างจากท่านยอห์น บัปติสต์ (ลก. 3:21-22) ทรงจบชีวิตด้วยการภาวนาบนไม้กางเขน (ลก. 23:46) ระหว่างการปฏิบัติงานพระองค์ทรงภาวนาอยู่เสมอ ภาวนาในทุกสถานที่ ทั้งในเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คน ในงานเลี้ยง ตามถนน ตามตลาด แม้จะวุ่นวายสักปานใดพระองค์ทรงหาที่เงียบๆ เพื่อภาวนาได้เสมอ (ลก. 5:16) ในทะเลทราย (มก. 1:35) บนภูเขา (ลก. 6:12) ริมทะเล (มธ. 4:18) ที่สวนมะกอก (ลก. 22:39)

           พระเยซูเจ้ามิได้ทรงภาวนาตามธรรมเนียมของชาวยิวเท่านั้น แต่พระองค์ทรงภาวนาตลอดเวลา เรารู้จากพระวรสาร ว่าพระองค์ทรงภาวนาเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติในชีวิตหรือในช่วงเวลาที่สำคัญ ๆ เช่น ก่อนการเลือกอัครสาวก (ลก. 6:12) เมื่อรับรู้ว่าจะต้องทุกข์ทรมาน (ลก. 9:28) เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการถูกจับกุมและทรมาน (มก. 14:35) และเมื่อถูกตรึงกางเขน (มธ. 27:46)

          พระเยซูเจ้าทรงภาวนาเพื่อสรรเสริญและขอบพระคุณพระบิดา ทรงภาวนาของการให้อภัย  ทรงภาวนาวอนขอให้คุ้มครองสานุศิษย์และมวลมนุษย์ ทรงภาวนาด้วยจิตใจที่ศรัทธาและไว้วางใจ บางครั้งพระองค์ก็ทรงสับสนเพราะรู้สึกว่าพระบิดาทรงทอดทิ้งพระองค์ไปในเวลาที่อยู่บนไม้กางเขน

         ผู้ชำนาญการพระคัมภีร์สรุปว่าการสวดภาวนาที่สำคัญ ๆ ของพระเยซูเจ้ามีอยู่สองครั้งด้วยกัน  คือ ทรงภาวนาเมื่อรู้ว่าประชาชนพากันทอดทิ้งพระองค์ไป (มธ. 11:25-26; ลก. 10:21) และในเวลาที่พระองค์ภาวนาในสวนมะกอก เมื่อต้องเผชิญกับความเป็นความตายในชีวิต (มธ. 26:39; มก. 14:36; ลก. 22:42)

        ในขณะนั้นพระองค์ทรงภาวนต่อพระบิดาด้วยความสนิทสัมพันธ์และด้วยความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยม พระองค์ทรงเรียกพระเจ้าว่า “พ่อ” คำ ๆ นี้เป็นคำปกติธรรมดาที่ลูก ๆ เรียกพ่อของตนเองอย่างคนคุ้นเคย
อีกคำหนึ่งที่ทรงใช้ในยามที่เจ็บปวดคือ “อาแมน” หมายความว่า ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ พระองค์ทรงมอบตนเองให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา
 
        ดังนั้น คำว่า “พ่อ” และ “อาแมน” จึงเป็นบทสรุปคำภาวนาของพระเยซูเจ้า และนี่เป็นหัวใจ  ในการภาวนาของเราคริสตชน

พระเยซูเจ้าทรงสอนเรื่องการภาวนา
   คำสอนของพระเยซูเจ้าเรื่องการภาวนา สะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์การภาวนาของพระองค์เอง  เราศึกษาการภาวนาของพระองค์ดังนี้
- ภาวนาด้วยความจริงใจจากหัวใจอย่างแท้จริง : พระเยซูเจ้าทรงไม่เห็นด้วยกับการภาวนาแบบเคยชินหรือการใช้คำภาวนาที่ยืดยาวสวยงามแต่ไม่ได้มาจากใจจริง คำภาวนาเช่นนี้ไม่มีประโยชน์อันใดเลย แต่คำภาวนาซื่อ ๆ ที่ออกมาจากใจจริงเป็นคำภาวนาที่พระเจ้าทรงรับฟัง   (มธ. 6:7-8; 7:21)
- ภาวนาโดยไม่โอ้อวดหรือเอาหน้า : พระเยซูเจ้าทรงตำหนิคนที่ชอบสวดภาวนาเพื่อให้คนอื่นเห็น พระองค์ทรงสอนให้ภาวนาแบบส่วนตัวภาวนาเงียบๆ ในห้อง (มธ. 6:5-6)
- ภาวนาด้วยความสัตย์จริงและสุภาพถ่อมตน : พระเยซูเจ้าทรงวิพากษ์วิจารณ์คนที่ภาวนาโดยยกตัวเองว่าเป็นคนดี ภาวนาเพื่อโอ้อวดตนเอง แต่พระองค์ปรารถนาให้เราภาวนาด้วยใจที่สุภาพตามตัวอย่างของคนเก็บภาษีที่พระองค์ทรงเล่าใน (ลูกา 18:9-14)
- ให้ดำเนินชีวิตตามคำภาวนา : พระเยซูเจ้าทรงปรารถนาให้คนที่ภาวนา จะต้องมีชีวิตที่งดงามด้วย ไม่ใช่ภาวนาแต่ปากแต่ความประพฤติไม่ดี เช่น ไม่มีความยุติธรรมต่อคนอื่น กดขี่   ข่มเหงคนยากไร้และคนที่อ่อนแอกว่า (ลก. 20:45-47)
- ภาวนาอย่างสม่ำเสมอ : ตัวอย่างของเพื่อนบ้านที่สร้างความรำคาญ และหญิงม่ายกับผู้พิพากษาใน (ลูกา 11:5-13; 18:1-8)
- ภาวนาด้วยความมั่นใจ : พระเจ้าทรงรับฟังและตอบคำภาวนาของเราอย่างแน่นอน แม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่ตรงกับใจของเรา
 

บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า
            คำสอนสำคัญที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้เป็นแบบอย่าง และเป็นมรดกแก่เราทุกคนก็คือบท    “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ซึ่งมีบันทึกไว้ในสองสำนวนด้วยกัน
            ในพระวรสารของนักบุญลูกา สานุศิษย์ของพระเยซูเจ้าประทับใจในการภาวนาของพระเยซูเจ้ามาก    จึงร้องขอให้พระองค์สอนการภาวนาให้พวกเขาบ้าง ซึ่งที่จริงพวกเขาได้เรียนรู้การภาวนาตามแบบฉบับของท่านยอห์น บัปติสมาแล้ว แต่พวกเขาอยากจะรู้วิธีภาวนาในรูปแบบของพระเยซู พระองค์จึงทรงสอนพวกเขาให้สวดบทข้าแต่พระบิดาฯ ตามที่บันทึกไว้ในพระวรสารของ น.ลูกา 11:1-4

            อีกสำนวนหนึ่งบันทึกไว้โดยพระวรสารของมัทธิวได้พัฒนาบทสวดมาจากบทสวดในคำสอนเรื่องความสุขแท้หรือการเทศน์บนภูเขา (มธ. 6:9-13)

            ทั้งสองสำนวนนี้สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีนิยมของคริสตชนที่แตกต่างกันของสองชุมชน สำนวนของ น.ลูกาดูจะใกล้เคียงกับคำสอนของพระเยซูเจ้า แต่ของ น.ลูกาเหมาะสมที่จะใช้ในการประกอบพิธีกรรม เพราะว่าทั้งสองมีโครงสร้างและเนื้อหาที่คล้ายกัน

เราจะพิจารณาถ้อยคำในบทข้าแต่พระบิดาและศึกษาถึงความหมายของบทภาวนานี้

การอ้างถึง
ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์

คำวิงวอนขอในกลุ่มแรก
1.พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ
2.พระอาณาจักรจงมาถึง
3.พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์

คำวิงวอนขอในกลุ่มที่สอง
4.โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้
5.โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น
6.โปรดข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ
7.แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ

           เราเริ่มต้นการภาวนาโดยเริ่มด้วยการร้องหาพระเจ้า ซึ่งแสดงว่าหัวใจของการภาวนาของเรานั้นอยู่ที่พระเจ้าไม่ใช่ตัวของเรา เราเองต้องเป็นเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าที่เข้าหาพระเจ้าด้วยความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในฐานะที่เราเป็นบุตรของพระองค์ เราเรียกพระเจ้าว่าบิดาหรือพ่อของเรา ซึ่งไม่ได้สวดว่าพระบิดาของฉัน แต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงเป็นบิดาของทุกคน เราทุกคนจึงเป็นลูกของพระองค์ด้วยกันทั้งนั้น

คำวิงวอนขอในกลุ่มแรก นั้นมุ่งเน้นไปที่แผนการขององค์พระผู้เป็นเจ้า
          เราภาวนาเพื่อให้กิจการอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าได้เป็นที่รู้จักและได้รับการเคารพ ตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสัญญาไว้กับประชากรของพระองค์โดยผ่านทางบรรดาประกาศก เราภาวนาเพื่อโลกทั้งหมดจะได้ตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์และความรักของพระเจ้า ในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดแห่งความดี ความงามทั้งมวล

          จากนั้นเราภาวนาเพื่อให้พระอาณาจักรของพระเจ้าเกิดขึ้นท่ามกลางโลกของเรา ให้พระเจ้าปกครองหัวใจของคนเรา ให้หัวใจของผู้คนมีความยุติธรรมและความเห็นอกเห็นใจ ความรักและพระหรรษทาน เราภาวนาเพื่อให้พระเจ้าช่วยเปลี่ยนแปลงโลกของเราจากความเจ็บปวด สงคราม น้ำตา ความทุกข์ยากลำบาก ความแตกแยก และความชั่วร้ายทุกชนิดให้หมดไป

           คำตอบสำหรับการภาวนาทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพระเมตตาของพระเจ้า แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของ  พระเจ้า ความเห็นอกเห็นใจกันและกัน ความยุติธรรมและความรักจะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยพวกเรานี้แหละที่จะช่วยต้องช่วยกันทำให้พระอาณาจักรของพระเจ้าเกิดขึ้นให้ได้ในสถานที่ ๆ เราอาศัยหรือทำงานอยู่ ดังนั้น การภาวนาของเราจึงเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในส่วนของเราที่จะอุทิศตนทุ่มเทและให้ความร่วมมือกับพระหรรษทานของพระเจ้าในการทำให้พระอาณาจักรเป็นจริง

ในส่วนของคำอ้อนวอนที่สองนั้น เราแสดงความไว้ใจต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาของเรา ด้วยสิ้นสุดจิตใจของเรา โดยขอพระองค์ในสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของเรา

          ก่อนอื่นเราขออาหารประจำวันจากพระองค์ อาหารนี้ไม่ได้หมายถึงอาหารฝ่ายร่างกายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอาหารฝ่ายจิตใจของเราอีกด้วยซึ่งได้แก่ ความรัก ความสุข สันติสุข ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความยุติธรรม ซึ่งโลกของเรากำลังมีความต้องการอย่างมากเพราะโลกเต็มไปด้วยความเดือดร้อนนานาชนิด อาหารในที่นี้จึงหมายถึงอาหารทั้งฝ่ายร่างกายซึ่งยังมีคนอดตายอีกจำนวนมาก และอาหารฝ่ายจิตใจคือความรักความเมตตา นอกจากนั้นยังหมายถึงอาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งก็คือ   ศีลมหาสนิทที่เราคาทอลิกจำเป็นจะต้องรับอยู่เป็นประจำ เพื่อจะได้ชิดสนิทกับพระองค์และมีพลังในการทำความดีหนีความชั่ว

          การยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาปเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการภาวนาก็คือความสุภาพถ่อมตน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องวอนขอพระเมตตาจากพระเจ้าให้ยกโทษให้เรา และที่สำคัญคือเราต้องให้อภัยให้กับผู้ที่ทำกับเราก่อนด้วย คำว่าหนี้กับเจ้าหนี้ของมัทธิวหมายถึงบาปกับคนบาป การยกโทษของพระเจ้าขึ้นอยู่กับการที่เรายกโทษให้ผู้อื่นหรือไม่เป็นสำคัญ

           สุดท้าย เราวอนขอให้เราสามารถเข้มแข็งเอาตัวรอดจากการประจญต่าง ๆ ที่เข้ามาทุกทิศทุกทางรอบตัวเรา อย่าให้เราต้องตกเป็นทาสของซาตาน แต่ให้เราสามารถมีชัยชนะเหมือนที่พระเยซูเจ้าทรงเอาชนะปีศาจต่าง ๆ เราต้องภาวนาเช่นนี้ทุกวันจนกว่าจะสิ้นลมหายใจของเรา

           บทภาวนาข้าแต่พระบิดา เป็นบทภาวนาของผู้ที่เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า เป็นบทสรุปถึงชีวิตและคำสั่งสอนของพระองค์ การกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์และการประทานพระจิตเจ้าให้แก่มนุษย์ จึงเป็นพลังที่ทำให้เราสามารถภาวนาตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงสอนเรา

           สิ่งที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการภาวนามาจากแบบอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำและสั่งสอนเรา  จึงเป็นบทภาวนาที่ทำให้ชีวิตของเราผูกติดกับองค์พระผู้เป็นเจ้า และเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องปฏิบัติตามและสอนเด็ก ๆ ของเราให้ภาวนาเช่นนี้ด้วย

เรื่องที่ควรคิด
1. เราได้เรียนรู้เรื่องการภาวนาจากคำสอนและชีวิตของพระเยซูเจ้าอะไรบ้าง
2. แบบอย่างและคำสั่งสอนของพระองค์เรื่องการภาวนา ถ้อยคำไหนที่ท่านชอบและท้าทายท่านมากที่สุด
3. ชีวิตจริงกับคำภาวนาของท่านสอดคล้องกันดีไหม
4. ท่านจัดเวลาภาวนาส่วนตัวอย่างไร

เรื่องที่ควรทำ
1. อ่านเรื่องนี้พร้อมกับเปิดพระคัมภีร์ประกอบด้วย แล้วขีดหรือเขียนพระวาจาที่โดนใจไว้
2. ภาวนา “บทข้าแต่พระบิดา” อย่างช้า ๆ ใช้เวลารำพึงถ้อยคำที่มีอยู่อย่างสงบเงียบ
3. จดจำคำว่า “บิดา” กับ “อาแมน” ไว้ให้ดี ๆ เพราะนี่คือหัวใจของการภาวนา

 

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์