ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

ccpcommandment07.jpgพระบัญญัติประการที่เจ็ด
อย่าลักขโมย




 64. พระบัญญัติประการที่เจ็ดกล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง
     
(2401-2402)
พระบัญญัติประการเจ็ดกล่าวถึงจุดมุ่งหมายและการบริหารจัดการกับสิ่งของของส่วนรวม การเคารพในทรัพย์สินส่วนตัว การเคารพต่อบุคคล และต่อสิ่งสร้างต่างๆทางธรรมชาติ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องด้านเศรษฐกิจ ชีวิตทางสังคมและการเมือง สิทธิและหน้าที่ในการทำงาน ความยุติธรรม ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชาติต่างๆ และความรักต่อผู้ยากจน

65. สิทธิในการมีทรัพย์สินส่วนตัวมีอะไรบ้าง
    
(2403-2404)
เราแต่ละคนสามารถมีทรัพย์สินส่วนตัวได้ แต่ในการใช้หรือบริหารทรัพย์สินนี้จะต้องใช้ด้วยความรอบคอบ มิใช้เพื่อประโยชน์เฉพาะของตนเองเท่านั้น แต่ต้องใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคม เป็นต้นแก่สมาชิกในครอบครัว 

66. พระบัญญัติประการที่เจ็ดกำหนดให้เราทำอะไรบ้าง
    
(2407, 2450-2451)
พระบัญญัติประการที่เจ็ดกำหนดให้เรามีความเคารพต่อทรัพย์สินของผู้อื่น เคารพต่อคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ ชดเชยความอยุติธรรมที่ได้ก่อขึ้น และการเคารพต่อสิ่งสร้างหรือธรรมชาติต่างๆรอบตัวเรา 

67. มนุษย์ต้องปฏิบัติตนอย่างไรกับบรรดาสัตว์ต่างๆ
    
(2416-2418, 2457)
มนุษย์จะต้องปฏิบัติต่อสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งสร้างของพระเป็นเจ้าด้วยความเมตตากรุณา หลีกเลี่ยงความรักจนเกินควร หรือการใช้งานอย่างไร้ความยั้งคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในการทดลองด้านวิทยาศาสตร์ที่เกินขอบเขต รวมทั้งการทารุณกรรมสัตว์ทุกชนิดอีกด้วย

68. พระบัญญัติประการที่เจ็ดสั่งห้ามอะไร
    
(2408-2413, 2453-2455)
พระบัญญัติประการที่เจ็ดห้ามการลักขโมย รวมทั้งการจ่ายค่าแรงอย่างอยุติธรรม การเก็งกำไรราคาสินค้าเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้อื่น การปลอมแปลงตั๋วจ่ายเงินหรือใบส่งของ ห้ามเลี่ยงภาษีหรือค้าสินค้าเถื่อน การตั้งใจสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของผู้อื่น  การคิดดอกเบี้ยเกินควร การฉ้อราษฎร์บังหลวง การใช้ทรัพย์สินของสังคมเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การตั้งใจทำงานรับจ้างแบบลวกๆ และการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย

69. คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรมีพื้นฐานมาจากอะไร
    
(2419-2423)
ข้อคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรพัฒนาจากข้อคำสอนของพระเยซูเจ้าในพระวรสารในเรื่องของศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์และการปฏิบัติตนในสังคมสังคม โดยเสนอแนะหลักการดำเนินชีวิต เพื่อให้เราได้มีหลักในการตัดสินใจปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวัน

70. พระศาสนจักรจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับสังคมเมื่อใด
    
(2420, 2458)
พระศาสนจักรจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางสังคม ในเรื่องที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับศีลธรรม ทางเศรษฐกิจและสังคม ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล เรื่องความดีของส่วนรวม และเพื่อความรอดของวิญญาณ

71. เราจะต้องดำเนินชีวิตด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจอย่างไร
    
(2459)
เราจะต้องอยู่ในสังคมและดำเนินงานด้านเศรษฐกิจอย่างมีศีลธรรมและความยุติธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการรับใช้เพื่อนมนุษย์และสังคม 

72. การกระทำอะไรบ้างที่ขัดต่อคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร
    
(2424-2425)
สิ่งที่ขัดต่อคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรคือ ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ หรือการสร้างกฎระเบียบเพื่อแสวงหากำไรเหนือคุณค่าของมนุษย์ การปกครองแบบอเทวนิยมและสังคมนิยม

73. การทำงานมีความหมายอะไรสำหรับมนุษย์
    
(2426-2428, 2460-2461)
การทำงานเป็นทั้งหน้าที่และสิทธิที่เรามนุษย์ได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้า การทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรและด้วยความสามารถทำให้มนุษย์พัฒนาความสามารถที่พระเจ้าประทานให้เป็นจริงขึ้นมา และเป็นการเชิดชูพระผู้สร้าง การทำงานทำให้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รับใช้ชุมชน  นอกนั้นด้วยพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า การทำงานสามารถเป็นเครื่องมือในการทำให้ตนศักดิ์สิทธิ์และเป็นการร่วมมือกับพระคริสตเจ้าเพื่อความรอดพ้นของผู้อื่นด้วย

74. มนุษย์มีสิทธิในการทำงานประเภทใด
    
(2429, 2433-2434)
มนุษย์มีสิทธิที่จะทำงานที่สุจริต โดยปราศจากการเลือกที่รักมักที่ชัง  และต้องเคารพต่อการริเริ่มทางเศรษฐกิจเสรี  และการตอบแทนที่ยุติธรรม

75. รัฐมีความรับผิดชอบอะไรบ้างในเรื่องของการทำงาน
    
(2431)
รัฐจะต้องเป็นหลักประกันในเรื่องของ สิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลและทรัพย์สินส่วนตัวแก่ประชาชน รวมถึงการเงินที่มั่นคงและการให้บริการชุมชนที่มีประสิทธิภาพ รัฐต้องช่วยประชาชนให้มีงานทำเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

 76. ผู้รับผิดชอบธุรกิจการค้ามีหน้าที่อย่างไรต่อสังคม
     
(2432)
ผู้รับผิดชอบธุรกิจการค้าจะต้องมีความรับผิดชอบผลของการกระทำทางเศรษฐกิจและด้านสภาพแวดล้อมจากการดำเนินการของตน ไม่เพียงแต่คิดถึงการเพิ่มผลกำไรของตนเท่านั้นแต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนบุคคลด้วย

 77. คนงานมีหน้าที่อะไร

(2435)
คนงานจะต้องทำงานด้วยความตั้งใจ ด้วยความสามารถและอุทิศตน ใช้วิธีการเจรจาเมื่อมีข้อขัดแย้งต่อกัน การนัดหยุดงานที่ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะเป็นเสมือนเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้คนงานจะได้รับผลประโยชน์ตามสัดส่วน และเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

 78. ทำอย่างไรจึงก่อให้เกิดความยุติธรรม และการพึ่งพาอาศัยกันและกันระหว่างนานาชาติ

(2437-2441)
นานาชาติจะต้องดำเนินการด้วยการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อขจัดหรืออย่างน้อยก็ทำให้ความขัดสนลดน้อยลง นานาชาติจะต้องช่วยกันรักษาทรัพยากรและความเที่ยงธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ชาติที่เจริญก้าวหน้ากว่าจะต้องให้ความช่วยเหลือชาติที่ยากจนกว่า

 79. คริสตชนจะมีส่วนร่วมในชีวิตด้านการเมืองและสังคมได้อย่างไร

(2442)
คริสตชนทุกคนมีส่วนร่วมโดยตรงในชีวิตทางการเมืองและสังคม ด้วยการดำเนินชีวิตแบบคริสตชนตามคำสอนของพระเยซู และด้วยการร่วมมือกับทุกคน ดำเนินชีวิตที่เป็นประจักษ์พยานที่แท้จริง เป็นผู้สร้างสันติและความยุติธรรมในทุกๆสถานที่

 80. ทำไมคริสตชนจึงต้องแสดงความรักต่อผู้ยากจน
  
(2443-2449, 2462-2463)
ความรักต่อผู้ยากจนได้รับแรงจูงใจจากพระวรสารเรื่องความสุขแท้จริง และจากพระแบบฉบับของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40) เราสามารถปฏิบัติความรักต่อผู้ยากจนได้ทั้งการช่วยเหลือทั้งทางด้านวัตถุและการต่อสู้กับรูปแบบต่างๆ ของความยากจนทางด้านวัฒนธรรม ศีลธรรมและศาสนา การทำงานเมตตาจิต ทั้งฝ่ายจิตใจและฝ่ายร่างกาย 

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์