ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

"การแห่ใบลาน"
ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2012
 

            คุณพ่อท่านหนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ทางศาสนาของท่านว่า “เมื่อผมเรียนอยู่ในโรงเรียนของวัดแห่งหนึ่ง ตามธรรมเนียมของโรงเรียนนักเรียนคาทอลิกจะต้องเข้าร่วมขบวนแห่ในวันฉลองที่สำคัญต่างๆของศาสนาที่ทางวัดจัดขึ้น การได้เข้าร่วมขบวนแห่กลับกลายเป็นแสดงออกถึงความเชื่อที่มีความหมายต่อชีวิตของผมมาก ผมได้สมัครเข้าเป็นเณร และเมื่อได้เรียนในระดับเทววิทยาที่บ้านเณรใหญ่จึงยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกถึงความงดงามของการแห่ การแห่เป็นการแสดงออกที่แท้จริงของความเป็นจริงในเรื่องของพระศาสนจักรของเรา เพราะว่าพระศาสนจักรกำลังเดินทางหรือกำลังจาริกไป เป็นการเดินทางที่มีพระคริสตเจ้าทรงเป็นหัวหน้าหรือหัวขบวนพร้อมกับพระแม่มารีและบรรดานักบุญทั้งหลาย รวมถึงพวกเราทั้งหลายที่เป็นประชากรของพระเจ้า เพื่อจะได้ไปให้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่สมบูรณ์ในอาณาจักรของพระเจ้า”


                 วันนี้เราทำการฉลองการแห่ใบลาน ซึ่งธรรมดาเราเองเมื่อมีการถวายบูชามิสซาฯเราก็จะเริ่มต้นด้วยการแห่เข้า และจบด้วยการแห่ออก (บางวัดจัดกระบวนแห่อย่างสง่างาม ด้วยการแห่จากประตูเข้าไปสู่พระแท่น) ซึ่งความหมายที่แท้จริงแล้ว การแห่มิใช่เริ่มต้นจากความคิดของมนุษย์เราหรือจากกรรมการสภาอภิบาลของวัด แต่เริ่มต้นมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าเองที่ทรงส่งพระบุตรคือพระเยซูเจ้าให้แห่เข้าไปสู่นครศักดิ์สิทธิ์คือกรุงเยรูซาเล็ม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรามนุษย์ที่แห่กันเข้าไปเฝ้าองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเองที่ทรงเสด็จมาเพื่อนำพวกเราให้ร่วมขบวนแห่ไปหาพระบิดาเจ้า พระองค์ทรงเชิญชวนเราทุกคนให้ร่วมกระบวนแห่นี้ ซึ่งเป็นการแสดงความรักของพระองค์เองต่อมนุษยชาติ หลังจากที่มนุษย์ได้หลงทางกันไปเพราะบาปกำเนิด(เทียบ ปฐก 3:8) ซึ่งในครั้งนั้นมนุษย์ได้ไม่เชื่อฟังพระเจ้าจนต้องถูกขับออกจากสวนเอเดน(สวรรค์) แล้วพระบิดาเจ้าได้ทรงส่งพระบุตรเพื่อรวบรวมพวกเราให้มาร่วมขบวนแห่กับพระบุตรกลับไปหาพระบิดาในสรวงสวรรค์อีกครั้งหนึ่ง

                  พิธีแห่ใบลานของเราในวันนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตและหน้าที่ของพระศาสนจักรในฐานะที่กำลังเดินทาง ชีวิตของเราคริสตชนเป็นชีวิตที่ต้องอยู่ในระหว่างความขัดแย้งระหว่างการทำความดีหรือการกระทำความชั่ว ระหว่างความมืดหรือความสว่าง องค์พระเยซูเจ้าก็ทรงรับชะตากรรมเดียวกันนี้ พระองค์จึงทรงสละพระองค์เองจนหมดสิ้น มารับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์เหมือนเรา ทรงยอมรับความตายบนไม้กางเขน(เทียบ ฟป 2:6-8) ดังจะเห็นได้จากบทอ่านในวันนี้ว่าหลังจากการแห่เข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างยิ่งใหญ่แล้ว พระองค์ก็ทรงยอมรับความทรมานและการตรึงกางเขนเพื่อเอาชีวิตชดเชยความผิดอันเนื่องมาจากบาปของเรา ซึ่งผลจากการกระทำดังกล่าวจึงทำให้มนุษย์กลับมีอิสระ พ้นจากโทษบาปต่างๆ และสามารถเข้าร่วมกระบวนแห่พร้อมกับพระเยซูเจ้าเข้าสู่บ้านของพระวิดาเจ้าสวรรค์ได้

                   บนพระแท่นนี้ ทุกครั้งที่เรามาร่วมพิธีมิสซาฯ นักบุญโทมัส อาควัยนัสสอนเราว่า พระแท่นบูชาเปรียบเสมือนไม้กางเขน บนไม้กางเขนนั้นพระโลหิตของพระเยซูเจ้าแยกออกจากพระกายของพระองค์ ซึ่งการแยกจากกันนี้หมายถึงความตายนั้นเอง ดังนั้นสิ่งนี้ยังคงเกิดขึ้นบนพระแท่นที่พระโลหิตและพระกายของเยซูคริสตเจ้าแยกจากกันด้วยรูปปรากฏของแผ่นปังและเหล้าองุ่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงความตายอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

                    ความขัดแย้งในชีวิตของเราคริสตชนในการเป็นศิษย์ติดตามพระองค์นั้นมีอยู่ใน 2 ลักษณะตามที่ได้รับฟังจากบทอ่านในวันนี้ คือ ภาพของหญิงที่ได้เอาน้ำหอมราคาแพงมาชโลมเท้าของพระเยซูเจ้ากับภาพของยูดาสที่ได้ยอมขายพระเยซูเจ้าเพื่อเงินจำนวนหนึ่ง

                    การมาร่วมฉลองวันแห่ใบลานของเราในวันนี้จึงเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนชีวิตของเราว่า เรากำลังเดินทางอยู่ เรากำลังเดินทางเข้าไปยังบ้านของพระบิดา เราเข้าสู่กระบวนแห่นี้ตั้งแต่วันที่เราได้รับศีลล้างบาป ในเส้นทางชีวิตนี้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงของชีวิตที่จะต้องมีทั้งความสุขและความทุกข์ เราต้องรับสถานการณ์หลายอย่างทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจเรา เราต้องพบกับบุคคลมากมายทั้งคนที่เป็นเช่นหญิงคนนั้นและคนแบบยูดาส แต่อย่างไรก็ตาม ศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูเจ้าจะต้องไม่ยอมแพ้หรือออกนอกขบวนแห่แห่งความเชื่อนี้ไป เพราะความจริงแท้ที่ยังคงอยู่ตลอดไป เป็นความจริงที่ไม่มีการเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เริ่มต้นอย่างไรก็จะยังคงเป็นอย่างนั้น นั้นก็คือ “ความรักของพระเจ้า” ที่ทรงเผยแสดงในองค์พระเยซูเจ้า ความรักของพระเจ้ายังคงอยู่เคียงข้างเราเสมอไป ไม่ว่าเราจะดีหรือจะเลว ความรักของพระเจ้าก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดูตัวอย่างของชาวอิสราเอลที่ครั้งหนึ่งร้องเพลงต้อนรับพระเยซูเจ้า แต่อีกไม่นานก็ร้องตะโกนให้เขาเอาพรเยซูเจ้าไปตรึงกางเขน มนุษย์เปลี่ยน แต่พระเจ้าไม่เปลี่ยน นี้คือ “ข่าวดี” ของเรา

                    เราจะเข้าสู่สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่วันจันทร์นี้จนกระทั่งวันอาทิตย์ปัสกา ดังนั้นขอให้เราอย่าท้อแท้หรืออ่อนแอ แต่จงเข้มแข็งเพื่อจะได้เอาชนะการประจญล่อล่วงต่างๆที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมายในวันเหล่านี้ ขอให้เรายึดมั่นในกระบวนแห่แห่งชีวิตนี้ เราจะต้องไม่กลัวหรือสงสัย เพราะเรามีพระเยซูเจ้าเป็นผู้นำทางเรา

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์