ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2011
(ดำเนินชีวิตอย่างไรให้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า)
"ดำเนินชีวิตอย่างไรให้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า"

1. พระวาจาของพระเจ้าประจำสัปดาห์นี้ เหมาะสมกับเราที่กำลังอยู่ในเทศกาลมหาพรต ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมจิตใจ ด้วยการทบทวนชีวิตของเรา และชำระจิตใจของเราให้บริสุทธิ์เพื่อเตรียมต้อนรับการฉลองวันปัสกา เป็นต้นเรื่องของการดำเนินชีวิตประจำวัน ขอยกตัวอย่างพระวาจาที่น่าคิดในวันนี้คือ “ตราบใดที่ยังเป็นกลางวันอยู่ เราทั้งหลายต้องทำกิจการของผู้ที่ทรงส่งเรามา แต่เมื่อกลางคืนมาถึง ก็ไม่มีใครทำงานได้” (ยน.9:4) 
บทอ่านที่ 1
2. บทอ่านที่ 1 ในวันนี้มาจากหนังสือซามูแอล(1 ซมอ.16:1b, 6-7, 10-13) ซึ่งได้พูดถึงเหตุการณ์การที่พระเจ้าทรงเลือกดาวิดให้เป็นกษัตริย์ของชาวอิสราเอล ในพระคัมภีร์ได้เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างดาวิดกับซาอูลได้ที่สำคัญมีสอนตอนด้วยกันคือ ดาวิดเล่นดนตรีถวายกษัตริย์ซาอูล (1 ซมอ.16:14-23) กับตอนที่ดาวิดเป็นนักรบกล้าที่รับใช้กษัตริย์ซาอูล(1 ซมอ.17:12-20)

3. ในสมัยนั้น ซาอูลปกครองชาวอิสราเอลทั้งหมดในฐานะที่เป็นกษัตริย์ แต่ทำไมพระเจ้าจึงทรงใช้ประกาศกซามูเอลไปเจิมแต่งตั้งดาวิดให้เป็นกษัตริย์อีกคนหนึ่งในขณะที่ซาอูลยังคงทำหน้าที่อยู่...ทั้งนี้เพราะว่าซาอูลหันหลังให้พระเจ้า ไม่ยอมทำตามพระบัญญัติของพระเจ้า ประพฤติตนออกนอกลู่นอกทางจากคำสอนของพระเจ้า เมื่อพระเจ้าทรงแต่งตั้งได้ พระองค์ก็ทรงถอดถอนได้ พระเจ้าทรงประทานให้ พระองค์ก็ทรงเอาคืนได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีได้นั้นไม่ใช่เป็นของเรา แต่เป็นของพระเจ้า นี้คือข้อเตือนใจที่เราทุกคนจะต้องสำนึกถึงตัวตนของเราเองอยู่เสมอ “เพราะถ้าไม่มีเรา(พระเจ้า) ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย”(ยน.15:5)

4. ในการเลือกดาวิดก็มีคิดที่น่าประทับใจและทำให้เราเข้าใจพระเจ้ามากยิ่งขึ้น เมื่อเจสซีพาลูกๆมาให้ประกาศกซามูเอลพิจารณา แต่ไม่มีใครสักคนได้รับเลือก หลักเกณฑ์ที่พระเจ้ามอบให้ซามูเอลเพื่อเลือกคนทำงานของพระองค์นั้นก็คือ “อย่าสนใจมองแต่รูปร่างหน้าตา หรือความสูงของเขา เพราะเราไม่เลือกเขา องค์พระผู้เป็นเจาไม่ทรงมองอย่างมนุษย์มอง มนุษย์มองแต่รูปร่างภายนอก แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมองจิตใจ” ที่สุดดาวิดลูกคนเล็กเด็กนอกสายตาซึ่งกำลังเลี้ยงแกะอยู่ในทุ่งนา ก็ได้รับเลือกโดยการชี้นำของพระจิตเจ้า พระวาจาตอนนี้น่าจะเตือนใจของเราได้หลายประการ เรามองคนอย่างไร เราเลือกเพื่อนอย่างไร เราใช้อะไรตัดสินกันและกัน

5. บทเรียนสอนใจเราจากบทอ่านที่หนึ่งนี้ ทำให้เราเข้าใจว่า การเลือกบุคคลใดเข้ารับใช้พระเจ้านั้น เป็นอิสระของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้เลือกเอง พระปรีชาญาณของพระองค์นั้นสูงส่งกว่าสติปัญญาธรรมดาๆของเรามนุษย์ ความคิดของมนุษย์นั้นยังคงจำกัดหรือทำได้แค่ตาดูหูฟังเท่านั้น แต่สำหรับพระเจ้า พระองค์มองทะลุเข้าไปในจิตวิญญาณของแต่ละคน พระองค์ทรงทราบดีว่าใครเคารพรัก ใครให้เกียรติ ใครจะรับใช้พระองค์ด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ทรงรู้ว่าใครจะดำเนินชีวิตในฐานะบุตรแห่งความสว่าง

บทอ่านที่ 2
6. บทอ่านที่สองในวันนี้มาจากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัส(อฟซ.5:8-14) บทอ่านนี้ให้ข้อคิดที่ดีกับเราเช่นเดียวกัน คือ ให้เราดำเนินชีวิตในฐานะที่เราเป็น “บุตรแห่งความสว่าง”  นักบุญเปาโลนำเสนอสองภาพสำคัญคือ “บุตรแห่งความสว่าง” กับ “บุตรแห่งความืด”

7. ภาพทั้งสองนี้เปาโลเตือนชาวเอเฟซัสเพราะในขณะนั้นเกิดกระความนิยมชมชอบในเรื่องของการแสดงหาความรู้ใหม่ๆที่ยึดเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ เอาน้ำใจของตนเองมาเป็นเครื่องตัดสินความถูกต้องหรือความผิด ความดีความชั่วอยู่ที่ตัวของเราเอง ดังนั้นจึงเกิดการบูชาเหตุผลมากกว่าความเชื่อศรัทธา

8. เปาโลเตือนว่าก่อนหน้านั้นชาวเอเฟซัสเคยดำเนินชีวิตในความมืด  แต่ปัจจุบันพวกเขาอยู่ในความสว่างแล้ว ดังนั้น “จงดำเนินชีวิตเช่นบุตรแห่งความสว่างเถิด” (อฟ.5:8) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครดำเนินชีวิตในทางสว่างหรือความมืด แน่นอนให้เราดูที่ผลของการกระทำของเขา “ผลแห่งความสว่างคือความดี ความชอบธรรม และความจริงทุกประการ” (อฟ.5:9) คนที่ดำเนินชีวิตในทางสว่างคือคนที่แสวงหาสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย”(อฟ.5:10)

9. นอกจากจะต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมมืดๆดำๆแล้ว บุตรของพระเจเจะต้อง “ประณาม”กิจการไม่ดีต่างๆเหล่านั้นด้วย(อฟ.5:11) ถ้ามีอะไรไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นในสังคมของเรา เราจะต้องช่วยกันตำหนิติเตียน ไม่ใช่บอกว่าธุระไม่ใช่ หรือไปหาเรื่องใส่หัวทำไม เพราะไม่มีใครรับใช้นายสองคนในเวลาเดียวกัน เราจะรับใช้ความดีและความชั่วในเวลาเดียวกันไม่ได้

10. ในข้อที่ 12 เตือนเราให้ว่าไม่มีใครสามารถปิดบังซ่อนเร้นความผิดของตนเองได้ เรื่องของความผิดหรือบาปนั้น เพียงแค่พูดถึงกึงก็ต้องมีความละอายใจแล้ว เช่น การผิดประเวณี ลามกโสมม โลภ การพูดหยาบคาย ไร้สาระ การหย่าร้าง ฯลฯ

11. เปาโลได้อ้างคำสอนดั่งเดิมว่า “ผู้หลับใหล จงตื่นเถิด จงลุกขึ้นจากบรรดาผู้ตาย และพระคริสตเจ้าจะทรงส่องสว่างเหนือท่าน” ซึ่งหมายความว่า เวลานี้ มหาพรตนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะต้องลงขึ้นมาปัดกวาดชีวิตของตนเอง ชำระตนเองให้ศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้าจะส่องแสงสว่างเข้ามาในชีวิตของเราไม่ได้ถ้าเรายังหลับอยู่

พระวรสาร
12. ส่วนพระวรสารในวันนี้มาจาก บทพระวรสารของนักบุญยอห์น(ยน. 9:1-41) ประเด็นสำคัญคือ เรื่อง “ความสว่าง” เราจะได้ฟังเรื่องของชายตาบอดตั้งแต่กำเนิด (นี้ตาบอดจริงๆ) บทอ่านนี้เตือนใจเราว่า เราทุกคนเกิดมาเหมือนคนตาบอด ไม่ใช่ตาบอดทางร่างกายหรืออวัยวะ แต่เป็น “ตาบอดฝ่ายจิตใจ” ความตาบอดฝ่ายจิตของเราจะหายไปหรือกลับมองเห็นได้ก็โดยการเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพระวรกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า โดยผ่านทางศีลล้างบาป และเราจะรักษาความชอบธรรมของเราไว้ได้โดยผ่านทางศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิท ถ้าหากเราเลินเล่อ หรือไม่ใส่ใจในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างเหล่านี้ ดวงตาฝ่ายจิตของเราก็จะมืดบอดไปตามกระแสของสังคมที่รายรอบตัวเราอยู่ในขณะนี้

13. ถ้อยคำน่าคิดที่ทำให้ผู้พิการทางร่างกายหลายท่านได้ลุกขึ้นมาต่อสู่กับชีวิต จนได้ดิบได้ดีในชีวิต มาจากพระวรสารตนที่ว่า ศิษย์ได้ถามว่าการที่คนหนึ่งตาบอดนั้นมาจากบาปของใคร เขาทำบาปเองหรือเป็นบาปที่มาจากพ่อแม่ พระเยซูเจ้าตอบว่า “มิใช่ชายคนนี้ หรือบิดามารดาของเขาทำบาป แต่เขาเป็นเช่นนี้ก็เพื่อให้กิจการของพระเจ้าปรากฏในตัวของเขา ” (ยน.9:3) ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนในสมัยนั้นคิดว่าคนที่พิการหรือเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เป็นเพราะพระเจ้าลงโทษ ซึ่งเนื่องมาจากบาปของเขาหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่คำตอบของพระเยซูเจ้าแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีคุณค่า แม้จะเป็นคนพิการไม่เหมือนคนอื่น แต่เขาก็สามารถทำให้คนอื่นๆเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าได้ ทุกคน ไม่ว่าจะร่างกายปรกติหรือพิการ ก็สามารถเป็น “เครื่องมือ” ของพระเจ้าได้

14. พระเยซูเจ้าทรงบอกว่า “ตราบใดที่ยังเป็นกลางวันอยู่ เราทั้งหลายต้องทำกิจการของผู้ที่ทรงส่งเรามา แต่เมื่อกลางคืนมาถึง ก็ไม่มีใครทำงานได้ ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลก เราเป็นแสงสว่างส่องโลก”(ยน.9:4-5) จากพระวาจาตอนนี้ ทำเราทรงความจริงของพระเยซูเจ้าเพิ่มขึ้นอีก 3 ประการ คือ ประการแรก การทำ “อัศจรรย์” ด้วยการรักษาคนตาบอดให้กลับมองเห็นได้นี้เป็นการเปิดเผยพระองค์เองว่าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแสงสว่างแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ประการที่สอง ด้วยพระวาจาที่ว่า “เราทั้งหลายต้องทำงาน” พระองค์ทรงเตือนสาวก(และเราด้วย)ว่าต้องทำงาน และทำงานของพระเจ้าเพื่อพระเจ้า ประการที่สาม คำว่า “ตราบใดที่ยังเป็นกลางวันอยู่” พระเยซูเจ้าทรงเตือนสานุศิษย์(และเราด้วย)ว่าพระหรรษทานจะเกิดขึ้นกับเราถ้าเราทำงานภายใต้แสงสว่างของพระองค์ กล่าวคือ พึ่งพาพระองค์ในการทำงานอยู่เสมอ ถ้าทำโดยลำพังงานจะไม่บังเกิดผลนั้นเอง (หรือไม่ก็พังลงอย่างไม่เป็นท่านั้นเอง)

15. เรื่องเล็กๆอีกเรื่องหนึ่งที่เราหลายคนฟังพระวาจาแล้วอาจจะเกิดข้อสงสัยหรือขัดแย้ง คือ การรักษาคนตาบอดของพระเยซูเจ้าโดยการใช้น้ำลายผสมโคลนมาป้ายตา แล้วให้ไปล้างตาที่สระสิโลอัม ปรากฏว่าคนตาบอดหายสนิท “คนตาบอดเชื่อแล้วก็หายตาบอด” (ยน. 9:6-7)

16. ถ้าปัจจุบันมีหมอตาคนใดรักษาเช่นนี้ คิดว่าคงไม่มีใครกล้าเข้าไปหาแน่ๆ แต่ในสมัยนั้น เป็นเรื่องปรกติ เพราะคนเชื่อว่าน้ำลายนี้แหละคือยาชั้นหนึ่ง(มก.7:33,8:23) แต่การกระทำของพระเยซูเจ้า เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่หมายถึง “ศิลล้างบาป” รากศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่า “ป้าย” (ป้ายตา) ก็คือ “การเจิม” และตามประวัติศาสตร์ของคริตชนสมัยเริ่มแรก การเจิมก็เป็นส่วนหนึ่งของพิธีล้างบาป

17. เมื่อคนตาบอดได้รับการรักษาให้หาย เพื่อนบ้านและคนที่เคยเห็นเขามาก่อนต่างแบ่งออกเป็นสองพวก บางคนยอมรับแต่บางคนไม่ยอมรับบอกว่าเป็นคนที่คล้ายๆ ที่สุดจึงได้สอบถาม ชายตาบอดจึงได้ตอบว่า “คนที่ชื่อเยซูทำโคลนป้ายตาของฉัน” แล้วก็เล่ารายละเอียดให้พวกฟัง ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ก่อนหน้านั้นเขาไม่รู้จักพระเยซูเจ้า แต่หลังจากได้รับอัศจรรย์แล้ว เขาประกาศเต็มปากว่าคนที่ช่วยเขาคือ “คนที่ชื่อเยซู” นี้เป็นการเปิดตาฝ่ายจิตใจของเขาให้ได้รู้จักพระเจ้า พระผู้ไถ่ของมนุษย์ชาติ ข้อคิดสำหรับเรา เราได้รับพระพรต่างๆมากมาย หรือเรามีอะไรต่างๆมากมาย เราเคยฉุกคิดไหมว่าใครเป็นผู้ช่วยเหลือท่าน ใช่ “คนที่ชื่อเยซู” หรือไม่

18. ข้อน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ชาวยิวน่าจะดีใจที่ชาวตาบอดได้รับอัศจรรย์ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมองเห็นแต่ตอนนี้มองเห็นได้แล้ว แต่พวกเขากลับพาคนตาบอดไปหาฟาริสี และกล่าวหาว่าพระเยซูเจ้ากระทำความผิด “เขาไม่ได้ถือวันสับบาโต”(ข้อ 16) บางคนว่าพระองค์คือคนบาป ที่สุดคนตาบอดได้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งแต่ยกระดับความเชื่อขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง “คนนั้นเป็นประกาศก”(ข้อ 17)

19. บรรดาฟาริสียังไม่เชื่อคำพูดของชายตาบอดจึงเรียกพ่อแม่ของชายตาบอดมาสอบถาม พ่อแม่ก็ยืนยันว่าลูกของเขาตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด แต่หายจากตาบอดอย่างไรเขาไม่ยอมยืนยันเพราะกลัวจะถูกขับไล่ออกจากพระวิหารเพราะการยอมรับว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระเจ้า เขาจึงบอกให้ไปถามเจ้าตัวเอง(ข้อ 21) เหตุการณ์นี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่า การถูกเบียดเบียนเพราะความเชื่อไม่ใช่เรื่องใหม่ การต่อต้านหรือการปฏิเสธพระเยซูเจ้ามีมาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว

20. ที่สุดเราได้เห็นความก้าวหน้าของชายตาบอดจนกระทั่งยอมรับพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า “ข้าพเจ้าเชื่อ พระจ้าข้า”(ข้อ 38) หลังจากการโดนสอบสวนอย่างหนักจากบรรดาฟาริสี และถูกขับออกไปจากศาลาธรรม จนได้มาพบพระเยซูเจ้า หลังจากได้สนทนากับพระองค์ พระเยซูเจ้าถามเขาว่า “ท่านเชื่อในบุตรแห่งมนุษย์หรือ” เขาทูลถามว่า “บุตรแห่งมนุษย์คือใครพระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะได้เชื่อในพระองค์” พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ท่านได้เห็นแล้ว เป็นผู้ที่กำลังพูดอยู่กับท่านนี้แหละ” เขาจึงทูลว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ พระเจ้าข้า” แล้วกราบลงมนัสการพระองค์(ยน.9:35-38)

21. เมื่อประมวลคำสอนทั้งหมดในวันนี้ ทำให้เรามีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ชัดเจนว่า “เราต้องทำกิจการของผู้ที่ส่งเรามา” หรือ “เราจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้พระเจ้าโปรดปราน” คำตอบคือเราต้องดำเนินชีวิตในฐานะที่เป็นบุตรแห่งความสว่าง ไม่ใช่บุตรแห่งความมืด แล้วบุตรแห่งความสว่างต้องทำอย่างไร ประการแรก คือ การมีชีวิตที่เชื่อมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้เลือกเรา แต่งตั้งเรา เหมือนพระองค์ทรงเลือกดาวิด ประการที่สอง คือ เราต้องซื่อสัตย์ต่อพระองค์ ไม่หันหลังให้พระองค์เหมือนซาอูล ประการที่สาม คือ บทเรียนจากชายตาบอดที่ได้รับพระพรจากพระเยซูเจ้าแล้ว มีการพัฒนาฝ่ายจิตใจยกระดับความเชื่อจาก รู้จักชายที่ชื่อว่าเยซูเจ้าก้าวหน้าไปสู่การยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นประกาศก และที่สุดยอมรับว่าพระองค์คือพระเจ้าแท้จริง และได้กราบนมัสการพระองค์

22. เรากำลงอยู่ในเทศกาลมหาพรต จึงสมควรที่จะพิจารณาตนเอง ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้ามากมายเพียงใด มีอะไรที่เราจะต้องพัฒนาหรือปรับปรุงตนเอง เราดำเนินชีวิตในความสว่างหรือในความมืด เพื่อวันฉลองปัสกานั้นจะได้เป็นวันศักดิ์สิทธ์หรือวันแห่งความชื่นชมยินดีอย่างแท้จริง

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์