ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2011
(อพยพ. 17:3-7; โรม. 5:1-2, 5-8; ยอห์น. 4:5-42)
"น้ำทรงชีวิต"

1. ข้อคิดประจำอาทิตย์นี้ คือ “พระเยซูเจ้าทรงเป็นน้ำทรงชีวิต” ใครที่เชื่อและมาอยู่กับพระองค์ในพระศาสนจักรและเข้ารับศีลศักดิ์สิทธิ์ ผู้นั้นจะได้รับชีวิตนิรันดร์
2. ให้เราพิจารณาพระวาจาของพระเจ้า โดยเริ่มต้นจากบทอ่านที่ 1 ที่มาจากหนังสืออพยพ.17:3-7 ซึ่งเป็นเรื่องที่พระเจ้าทรงช่วยโมเสสแก้ปัญหาเรื่องการขาดน้ำดื่ม โดยใช้ไม้เท้าตีลงไปที่ก้อนหินแล้วจะมีนำไหลออกมาให้ประชาชนได้ดื่มกิน สถานที่เกิดเหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า มัสสาห์และเมรีบาห์ เพราะชาวอิสราเอลได้ต่อว่าและทดลองพระยาห์เวห์โดยถามว่า “พระยาห์เวห์ทรงสถิตอยู่กับเราหรือไม่”
3. เรื่องการช่วยเหลือประชาชนให้หายจากการกระหายน้ำนี้มีอยู่ 3 เหตุการณ์สำคัญด้วยกัน เรื่องแรกคือ เรื่องที่โมเสสเปลี่ยนน้ำขมให้เป็นน้ำที่หอมหวานให้ชาวอิสราเอลดื่มที่เมืองมาราห์(อพยพ 15:22-27) เรื่องที่สองมาจากอพยพ 17:3-7 คือเรื่องที่เราได้รับฟังในวันนี้ และเรื่องที่สามมาจากหนังสือกันดารวิถี 20:2-13 เป็นเรื่องที่โมเสสได้เอาไม้เท้าตีไปที่ก้อนหินแล้วน้ำก็ไหลออกมาอย่างอัศจรรย์ แต่ก็มีเรื่องอื่นเกิดขึ้นกับโมเสสตามที่พระคัมภีร์ระบุว่าโมเสสไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในแผ่นดินแห่งพันธสัญญาเพราะโมเสสไม่ไว้วางใจพระเจ้า แทนที่จะใช้ไม้เท้าเคาะภูเขาเพียงครั้งเดียว แต่โมเสสตีซ้ำ จึงเป็นสาเหตุให้พระเจ้าลงโทษ

4. ความหมายของเรื่องนี้ โมเสสเป็นรูปแบบหมายถึงพระเยซูเจ้า ทั้งในฐานะที่เป็นผู้จัดหาน้ำให้ประชาชนดื่ม ซึ่งนักบุญเปาโลได้พูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า “บรรพบุรุษทุกคนของเราดื่มเครื่องดื่มฝ่ายจิตอย่างเดียวกัน เพราะพวกเขาดื่มน้ำจากศิราซึ่งติดตามพวกเขาไป ศิลานั้นคือพระคริสตเจ้า แม้กระนั้น พระเจ้าก็มิได้พอพระทัยคนส่วนใหญ่เหล่านั้น พวกเขาล้มตายเกลี่อนกลาดอยู่ในถิ่นทุรกันดาร”(1คร.4-5)

5. น้ำเป็นสัญลักษณ์หมายถึง “พระจิตเจ้า” ในเรื่องนี้คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกยืนยันว่า “การใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการปฏิบัติงานของพระจิตในศีลล้างบาป เพราะหลังจากการภาวนาอันเชิญพระจิตแล้ว น้ำก็ได้กลับกลายเป็นเครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์อันมีประสิทธิภาพของการมีชีวิตใหม่ เช่นเดียวกับสภาพการปฏิสนธิในครรภ์ครั้งแรกของเราที่ดำเนินไปในน้ำฉันนั้น ดังนั้นน้ำแห่งศีลล้างบาปก็มีความหมายอย่างแท้จริงที่ว่า การบังเกิดในชีวิตของพระเจ้าของเรานั้นได้รับประทานมาจากองค์พระจิตเจ้า  ด้วยเหตุว่า “เดชะพระจิตเจ้าพระองค์เดียว เราทุกคนจึงได้รับการล้างมารวมเข้าเป็นร่างกายเดียว”(1คร.12:13) เราต่างก็ได้ดื่มพระจิตองค์เดียวกัน ดังนั้นองค์พระจิตเจ้าโดยพระองค์เองทรงเป็นน้ำทรงชีวิตที่มาจากองค์พระเยซูเจ้าที่ทรงถูกตรึงกางเขน(ยน.19:34; 1ยน.5:8) ซึ่งเป็นต้นธารและบ่อน้ำที่นำชีวิตนิรันดรมาให้เราทุกคน(CCC 694)

6. ในบทอ่านที่สองเตือนใจเราว่าความรักของพระเจ้าหลั่งไหลลงสู่ดวงใจของเราโดยพลังอำนาจของพระจิตเจ้าซึ่งประทานให้เราโดยผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า ความรักของพระเจ้านำความรอดพ้นมาให้กับผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ “เมื่อเราได้เป็นผู้ชอบธรรมด้วยความเชื่อแล้ว เราย่อมมีสันติกับพระเจ้า เดชะพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา”(รม.5:1) โดยทางพระองค์ มนุษย์ชาติจึงได้กลับเข้ามาคืนดี หรือมีสันติสุขกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้เราได้ขาดสัมพันธ์กับพระเจ้าไปเพราะบาปความไม่นบนอบของอาดัม

7. เราได้รับสันติสุขกับพระเจ้ากลับคืนมาโดยผ่านทางพระเยซูเจ้า “ทั้งนี้เพราะมีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวและพระเจ้ากับมนุษย์ก็มีคนกลางแต่เพียงผู้เดียวซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่งคือพระคริสตเยซู”(1ทธ.2:5) ในแผนการแห่งความไถ่บาปของพระเจ้า ไม่มีใครที่จะเอาตัวรอดพ้นได้โดยอาศัยความดีของตนเอง ไม่มีใครได้รับความรอดโดยเชื่อในองค์พระเป็นเจ้าพระบิดาแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีใครได้รับความรอดโดยอาศัยเพื่อนไม่ว่าเพื่อนคนนั้นจะดีเพียงใด ความรอดไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ความรอดพ้นมาจากองค์พระเยซูเจ้าแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น “พระเยซูคริสตเจ้า เมื่อได้เสด็จเข้าสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งสวรรค์ในครั้งนั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทรงวิงวอนเพื่อเราอยู่มิได้ขาด ในฐานะองค์สื่อกลางที่เป็นหลักประกันให้เราได้รับพระคุณจากพระจิตอยู่ตลอดเวลา”(CCC 667)

8. คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกยืนยันถึงการเป็นสื่อกลางของพระเยซูเจ้าและความสำคัญของพระศาสนจักรคาทอลิกต่อความรอดพ้นว่า “อาศัยหลักฐานจากพระคัมภีร์แลธรรมประเพณี สภาสังคายนาสอนว่าพระศาสนจักรที่กำลังเดินทางอยู่บนแผ่นดินนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความรอด จริงแท้ พระคริสตเจ้าคือองค์สื่อกลางพระองค์เดียว และเป็นหนทางแห่งความรอดพ้น อนึ่ง พระองค์ประทับอยู่กับเราในพระกายของพระองค์ คือ ในพระศาสนจักร และในการทรงสอนเราอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความเชื่อและรับศีลล้างบาป ก็หมายความถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพระศาสนจักรนั้นเอง ซึ่งมนุษย์จะเข้าไปในทางประตูแห่งศีลล้างบาป ที่พระองค์ทรงยืนยันแห่งเราในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ใดก็ตามที่ปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมในพระศาสนจักรคาทอลิก หรือไม่ยอมพากเพียรที่จะทำดังนั้น ในเมื่อเขารู้ว่าพระศาสนจักรคาทอลิกได้รับการก่อตั้งจากพระเจ้าโดยพระคริสตเยซู ในฐานะเป็นความจำเป็น ผู้นั้นก็มิอาจเอาตัวรอดได้(พระศาสนจักร ข้อ 14 เทียบ มก.16:16; ยน.3:5; CCC 846)

9. ดังนั้น เราได้รับความรอดพ้นและพระพรต่างๆโดยผ่านทางพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นสื่อกลางแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น และเราจะไม่ผิดหวังเพราะ “พระจิตเจ้าซึ่งพระเจ้าประทานให้เรา  ได้หลั่งความรักของพระเจ้า  ลงในดวงใจของเรา”(รม.5:5) ความเชื่อเป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานให้กับเราอย่างเปล่าๆ เป็นของขวัญที่อำนาจทางธรรมชาติไม่สามารถให้ได้ แต่มาจากพระเจ้าเอง และนี้แหละความความหวังของเรา

10. “ขณะที่เรายังอ่อนแอ พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อคนบาปตามเวลาที่กำหนด”(รม.5:6) ขณะที่เราเป็นคนบาป คนที่อ่อนแอ คนที่ไม่ชอบธรรม แต่พระเจ้ายังทรงรักเรา พระองค์ยังทรงมอบพระหรรษทานหรือพระพรมาช่วยเหลือเรา เราได้รับพระพระแห่งความเชื่อ ความรัก และความหวัง ซึ่งเป็นเครื่องมือในการนำเราเข้าไปรับวามรอดพ้นโดยผ่านทางองค์พระเยซูเจ้า (เรายังต้องอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์เพื่อความรอด) 

11. คำกล่าวของนักบุญเปาโลที่ว่า “ยากที่จะหาคนที่ยอมตายเพื่อคนชอบธรรม  บางครั้งอาจจะมีคนยอมตายแทนคนดีจริง ๆ ได้”(รม.5:7) เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงการสอนที่มีอารมณ์สนุกๆ ในทำนองประชดนิดๆว่า สังคมของเราอาจจะบางคนตายเพื่อคนดีจริงๆ อาจจะพ่อที่ยอมตายเพื่อลูก อาจจะมีคนยอมสละชีวิตเพื่อพี่หรือน้องของตน แต่คงไม่มีใครยอมตายเพื่อคนบาปหรือคนร้าย แล้วนักบุญเปาโลก็วกเข้าเรื่องคือพระเยซูเป็นคนนั้นที่ยอมตายเพื่อคนบาปหรือคนเลวๆเช่นพวกเรา นี้แหละคือพระเยซู พระเจ้าของเรา

12. พระวรสารในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยของโมเสส วันนี้เราได้ฟังเรื่องพระเยซูเจ้าสัญญาที่จะให้น้ำที่จะเป็นธารน้ำที่จะให้ชีวิตนิรันดรแก่หญิงชาวสะมาเรีย “แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้นั้น จะไม่กระหายอีก น้ำที่เราจะให้เขา จะกลายเป็นธารน้ำในตัวเขา ไหลรินเพื่อชีวิตนิรันดร”(ยน.4:14)

13. ภูมิหลังระหว่างชาวยิวกับชาวสะมาเรียนั้น โดยปรกติในสมัยของพระเยซูนั้น รับบีจะไม่พูดคุยกับผู้หญิงต่อหน้าสาธารณะ ชาวยิวถือว่าชาวสะมาเรียไม่บุคคลที่ไม่สะอาด ไม่มีสุขอนามัยที่ดี เครื่องมือเครื่องใช้ก็ไม่สะอาด การกินการดื่มก็ไม่สะอาด ดังนั้นการที่พระเยซูเจ้าเข้าไปหาและขอน้ำดื่มจากหญิงชาวสะมาเรียจึงเป็นเรื่องแปลก แต่ก็แสดงให้เห็นพระประสงค์ของพระองค์ที่ทรงเข้าหาทุกคน รักทุกคน ช่วยทุกคน โดยไม่เลือกหน้า

14. เรื่องราวในตอนนี้เป็นเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์เองว่าพระองค์เป็นใคร จากเรื่องน้ำดื่มธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน พระองค์ทรงนำไปสู่ความจริงฝ่ายจิตวิญญาณ และได้สนทนากับหญิงสะมาเรียจนทำให้เธอตระหนักว่า พระองค์ทรงเป็นประกาศก “ดิฉันเห็นแล้วว่าท่านเป็นประกาศก”(ยน.5:19) 

15. ถ้อยคำสำคัญที่เกิดขึ้นในการสนทนาครั้งนี้คือ “น้ำทรงชีวิต” หรือ “น้ำแห่งชีวิต” ในพันธสัญญาเดิมหมายถึง องค์พระผู้เป็นเจ้าเอง “เขาได้ทิ้งเราซึ่งเป็นแหล่งน้ำ”(ยรม.2:13) ยังหมายถึง คำสอนหรือปรีชาญาณ “คำสอนของปราชญ์เป็นน้ำพุแห่งชีวิต”(สภษ.13:14) หญิงชาวสะมาเรียคงไม่เข้าใจคำว่า “น้ำทรงชีวิต” เช่นเดียวกับนิโคเดมัสที่ไม่เข้าใจคำ “เกิดใหม่” ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงใช้โอกาสเช่นนี้เพื่ออธิบายถึงพระสัจธรรมของพระองค์

16. บ่อน้ำของยากอบที่เป็นสถานที่เกิดนี้มีความสำคัญต่อชาวยิวอย่างมาก แล้วจะมีบ่อน้ำใดจะมีความยิ่งใหญ่กว่าบ่อน้ำนี้

17. คำตอบของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ทุกคนที่ดื่มน้ำนี้ จะกระหายอีก แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้นั้น จะไม่กระหายอีก น้ำที่เราจะให้เขา จะกลายเป็นธารน้ำในตัวเขา ไหลรินเพื่อชีวิตนิรันดร”(ยน.4:14) แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงมีความรู้ที่เหนือกว่ามนุษย์คนใด คำตอบของพระองค์ทำให้หญิงคนนั้นเกิดปัญญา จนถึงกับยอมรับว่า “ดิฉันเห็นแล้วว่าท่านเป็นประกาศก”(ยน.4:19)

18. ความเข้าใจและยอมรับในตัวพระเยซูเจ้า เริ่มจากการได้พบกับ “ชาวยิว” คนหนึ่ง จากนั้นจึงยอมรับว่าชาวยิวคนนี้ไม่ใช่ยิวธรรมดาแต่เป็น “ประกาศก” และยิ่งได้พูดคุยก็ยิ่งรับรู้ว่าชายคนนี้คือ “พระเมสสิยาห์” หรือ “พระมหาไถ่” (เทียบ ยน.4:25) เมื่อได้รับทราบข่าวดีเช่นนี้ นางอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ นางได้ทิ้งไหน้ำแล้วกลับเข้าไปในเมืองไปบอกประชาชน บรรดาประชาชนจึงได้ออกจากเมืองมาเฝ้าพระองค์(เทียบ ยน.4:28-30)

19. บทพระวรสารในวันนี้จบลงโดยบอกว่าประชาชนในเมืองจำนวนมากมาฟังคำเทศนาของพระองค์และมีความเชื่อศรัทธาในพระองค์ “เรามีความเชื่อไม่ใช่เพราะคำพูดของท่านอีกแล้ว เราเองได้ยินและรู้ว่า พระองค์เป็นพระผู้ไถ่ของโลกโดยแท้จริง(ยน.4:42) ชาวสะมาเรียมิเพียงแต่เชื่อศรัทธาในพระเยซูเจ้าเท่านั้น แต่ยังตระหนักแน่ใจว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสียาห์ที่พวกเขารอคอย

20. ดังนั้นจากบทอ่านทั้งสามในวันนี้ อยากจะสรุปขมวดปมเรื่องดังนี้ จากบทอ่านแรก เราทราบว่าพระเจ้าทรงใช้โมเสสให้หาน้ำให้กับประชาชนดื่มดับกระหายฝ่ายร่างกาย ในบทพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงแสดงตนกับหญิงชาวสะมาเรียว่าพระองค์เองทรงเป็น “น้ำแห่งชีวิต” น้ำที่ดับกระกายฝ่ายจิตวิญญาณ และในบทอ่านที่สองนักบุญเปาโลหลังจากมีประสบการณ์กับพระเยซูเจ้าแล้ว ท่านจึงสอนอย่างมั่นใจว่า พระเยซูเจ้าทรงรักเราจนยอมสิ้นพระชนม์เพื่อเรา เพื่อนำความรอดพ้นและพระสิริรุ่งโรจน์มาให้เราอย่างถาวร แม้ว่าเราจะเป็นคนเช่นใดก็ตาม

21. พี่น้อง นี้แหละเป็นข่าวดีสำหรับเราทุกคน เราจึงมาพึ่งพาพระเยซูเจ้า และพระองค์แต่เพียงผู้เดียวนั้นที่จะนำน้ำทรงชีวิตมาให้เราดื่มกินได้

22. ขอให้เราในโอกาสเทศกาลหมาพรตนี้ ได้เพิ่มความศรัทธาต่อองค์พระเยซูเจ้า หมั่นทำกิจใช้โทษบาป สวดภาวนา ทำกิจเมตตา มีความเมตตากรุณาเช่นเดียวกับพระองค์ และขอให้เราได้กระทำเช่นเดียวกับหญิงชาวสะมาเรียคนนี้ที่เมื่อรู้ว่าพระเยซูเจ้าคือใครแล้ว เธอไม่อยู่นิ่งเฉย แต่ได้ทิ้งข้าวของอุปกรณ์ต่างๆไปบอกเล่าเรื่องของพระองค์ให้ประชาชนต่างๆได้ฟัง เพื่อหวังจะให้พวกเขาได้พบกับคนดีและได้รับข่าวดีเช่นเดียวกับเธอเอง

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์