ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

 ccp016.jpgบทเรียนที่ 1     เดือนพฤศจิกายน 1994
หัวข้อเรื่อง       ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
จุดมุ่งหมาย    
เพื่อให้เด็กได้ระลึกถึง ห่วงใยและตอบแทนบุญคุณของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการสวดภาวนาอุทิศให้

ขั้นที่ 1 กิจกรรม
1. ครูนำเด็กนักเรียนไปที่สุสาน (โรงเรียนที่อยู่ใกล้สุสาน) ให้เด็กสำรวจ สังเกตหลุมศพแต่ละหลุมว่าเป็นอย่างไร เช่น ชื่อของคนตาย ความสะอาด ฯลฯ

2. ถ้าโรงเรียนไหนสุสานอยู่ไกลไม่สามารถพาเด็กไปสำรวจได้ให้ใช้กิจกรรมนี้แทน คือ
แบ่งกลุ่มเด็กออกเป็นกลุ่มดังนี้ ปู่ ย่า ตา ยาย ป้า ลุง น้า อา แล้วช่วยกันเขียนคำไว้อาลัยให้ ปู่ ย่า ตา ยาย ฯลฯ ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อสร้างบรรยากาศ โดยระบุญาติผู้ใหญ่ของเราจริงๆ เช่น ใส่ชื่อจริงนามสกุลจริงๆ เสร็จแล้วเอาไว้อ่านในพิธีเคารพศพ

3. ครูจำลองศพ โดยมีหมอน ผ้าขาวคลุม ไม้กางเขน เทียน (ไม่ให้เด้กนักเรียนแสดงเป็นศพ)

4. พิธีไว้อาลัย โดยมีนักเรียนเข้าไปเคารพศพเป็นกลุ่ม ๆ พร้อมทั้งกล่าวคำไว้อาลัยที่เขียนมา ถ้ามีดอกไม้ ธูป เทียน มาถวายด้วยก็จะเป็นการดี

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
สำหรับกิจกรรมที่1
 ตัวแทนเด็กนักเรียนรายงานหน้าชั้นแล้วครูเขียนบนกระดานดำ
 -ถาม อะไรเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าหลุมศพนั้นมีคนคิดถึง?
 -ถาม หลุมศพที่มีคนคิดถึงและไม่มีคนคิดถึงแตกต่างกันอย่างไร?

สรุป หลุมศพที่มีคนคิดถึง หมั่นไปเยี่ยม จะประดับประดาสวยงามสะอาดสะอ้าน เพราะครอบครัวที่เป็นลูกเป็นหลานมีความห่วงใย คิดถึง ส่วนหลุมศพที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครรู้จักแล้วก็รกร้างต้นไม้ใบหญ้าขึ้นรก เป็นหลุมศพที่ไม่มีใครคิดถึง เพราะไม่มีญาติหรือญาติไม่สนใจ สาเหตุเพราะในครอบครัวไม่ได้บอกกล่าวพูดถึงให้ลูกหลายฟัง จึงไม่มีความใกล้ชิด ยิ่งนานวันสายใยความห่วงใย ก็จืดจางไป ทำให้ลูกหลานไม่รู้จัก ให้นักเรียนเลือกและตัดสินว่าอย่างไหนดีกว่า ระหว่างหลุมศพที่มีคนคิดถึง ไปเยี่ยม และหลุมศพที่ไม่มีใครคิดถึง ไม่ไปเยี่ยม

สำหรับกิจกรรมที่ 2
- ทำไมจึงเขียนคำไว้อาลัย? คำไว้อาลัยมีใจความ 2 ส่วน คือ เสียใจและขอให้ไปสู่ความสุขสงบ
- ทำไมจึงเสียใจ?

สรุป ญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดกับเราเมื่อตายไปเราก็อาลัย คิดถึง เสียใจ ข้อสังเกต นานๆ ไป (กาลเวลา) ทำให้เราเริ่มเหินห่างไป ความเศร้า ความคิดถึงก็หมดไป บางคนก็ไม่เป็นเช่นนั้น แม้แก่กาลเวลาผ่านไปก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความห่วงใย ความคิดถึงลงได้ เช่น ลูกสะใภ้ของอาก๋ง อาเง็กในละคร “เรื่องวิมานมะพร้าว” บางกรณีศพยังอยู่ในบ้าน ญาติพี่น้องก็แย่งสมบัติมรดกกันแล้ว ไม่ได้ห่วงใจ หรือเศร้าโศกเสียใจอะไรเลย

ขั้นที่ 3 คำสอน
1. เรามีหน้าที่ที่จะต้องรักทุกคนในครอบครัวแต่คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงคนที่ยังมีชีวิตอยู่มากกว่า และหลงลืมคนที่ล่วงลับไปแล้วเพราะเห็นว่าเขาไม่อยู่แล้ว และไม่เห็นความต้องการของคนเหล่านั้น แต่เราคริสตชนเชื่อว่าญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นมิได้หายสาบสูญไปไหน แต่ยังอยู่ในรูปของชีวิตใหม่ บางคนก็ขึ้นสวรรค์แล้ว บางคนก็ยังชำระตนอยู่ในไฟชำระ

2. ญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในไฟชำระช่วยตัวเองไม่ได้ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพวกเรา ช่วยสวดภาวนา ทำบุญให้ทาน ขอมิสซาอุทิศให้ ส่วนญาติผู้ใหญ่ที่ขึ้นสวรรค์แล้ว แม้ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา เราก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องคิดถึงเขาเช่นเดียวกันด้วย

3. พระศาสนจักรสอนว่า ผู้ตายจะกลับคืนชีพเมื่อตายแล้ว พระศาสนจักรให้แสดงความเคารพโดยให้ฝังในป่าช้า มีการเสกป่าช้า ทำให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามขุดศพ ย้ายศพ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ทั้งนี้ก็เพราะร่างกายของญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปนั้นจะกลับคืนชีพในวันสิ้นพิภพ จากจดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1 บทที่ 4 ข้อ 13-18 กล่าวว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทั้งหลายทราบถึงคนเหล่านั้นที่ล่วงลับไปแล้วเพื่อท่านจะไม่เป็นทุกข์โศกเศร้าเหมือนอย่างคนที่มีมีความหวังเพราะถ้าเราเชื่อว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์แลคืนพระชนม์แล้วฉันใด โดยพระเยซูนั้นพระเจ้าจะทรงนำบรรดาคนที่ล่วงลับไปแล้วนั้นให้มากับพระองค์ฉันนั้น เพราะเราจะบอกข้อนี้ให้ท่านทราบตามคำขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่า เราผู้ยังเป็นอยู่และคอยท่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมาล่วงหน้าไปก่อนคนเหล่านั้นที่ล่วงลับแล้วก็หามิได้ ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมาจากสวรรค์ด้วยเสียกู่ก้องด้วยสำเนียงของเทพบดี และด้วยเสียงแตรสังข์ของพระเจ้า และคนทั้งหลายที่ตายแล้วในพระคริสต์จะเป็นขึ้นมาก่อน ภายหลังนั้นเราผู้ยังเป็นอยู่ และคอยอยู่จะถูกรับขึ้นไปในเมฆพร้อมกับคนเหล่านั้นและจะได้พบองค์พระผู้เป็นเจ้าในท้องฟ้า อย่างนั้นแหละเราจึงจะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นนิตย์ เหตุฉะนั้นจงปลองประโลมใจซึ่งกันและกัน ด้วยคำเหล่านี้เถิด

4. ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยนับถือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ต้องเซ่นไหว้ก่อนงานสำคัญ เช่น ในงานบวช งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ชาวจีนก็นับถือบรรพบุราที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ไหว้เจ้า วันเช็งเม้ง เราคริสตชนก็มีวันระลึกถึงผู้ตายทุกปีคือในวันที่ 2 เดือนพฤศจิกายนของทุกปีและวันเสกป่าช้า ขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีที่เราคริสตังควรจะรักษาไว้ และปฏิบัติด้วยความเชี่อซึ่งให้ความหมายใหม่แก่ขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจดจำ
1. เราต้องคิดถึงญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะท่านเหล่านั้นเคยเป็นสมาชิกในครอบครัวของเรา เคยรักและช่วยเหลือเรา เราจึงต้องตอบแทนบุญคุณท่าน
2. เราต้องตอบแทนบุญคุณของท่าน โดยสวดภาวนาอุทิศให้ ทำบุญให้ทาน ขอมิสซาอุทิศให้บ่อยๆ

ข. กิจกรรม (นำกิจกรรมที่ 1 ในข้อ 2 มาใช้) 
เชิญชวนนักเรียนให้กระทำพิธีรำลึกถึงญาติผู้ใหญ่ของนักเรียนทุกคนที่ล่วงลับไปแล้ว มีการสวดภาวนา ขับร้อง และกล่าวคำไว้อาลัยต่อท่านเหล่านั้นเป็นส่วนรวม

ค. การบ้าน
เขียนชื่อญาติผู้ใหญ่ที่สุสานใกล้วัดที่ได้ล่วงลับไปแล้ว หรือถามคุณพ่อคุณแม่ว่าญาติผู้ใหญ่ของเราที่ล่วงลับไปแล้วมีใครบ้าง โดยเขียนชื่อแล้วนำไปติดไว้หน้าพระแท่นในบ้าน ว่าตายไปเมื่อไปเมื่อไร ในตอนเย็นก่อนนอนให้สวดภาวนาอุทิศ และคิดถึง (ถ้ามีรูปก็เอาไปติดไว้ ใต้รูปภาพของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว)

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์