บทเรียนที่ 1 เดือนมิถุนายน 1996 หัวข้อเรื่อง ในหลวงของเรา จุดมุ่งหมาย เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักและสัมผัสพระราชจริยวัตรอันงดงามขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดความเลื่อมใสและความจงรักภักดีต่อพระองค์ |
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
1. ครูพูดคุยกับนักเรียนถึงความประทับใจที่มีต่อในหลวงของเราว่า ประทับใจในเรื่องใดบ้าง?
(จากประสบการณ์ในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ)
2. ครูเล่าถึงพระราชจริยวัตรของในหลวงของเรา โดยใช้ภาพประกอบหรือวีดีโอ
(เสด็จเยี่ยมราษฎร ทรงช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน ตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ฯลฯ)
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
1. จากประสบการณ์ข้างต้น นักเรียนพอจะสรุปได้ว่า ในหลวงของเราทรงคุณธรรมประการใดบ้าง?
(เช่น ทรงรักราษฎร ทรงเสียสละ ทรงอุทิศพระองค์ ทรงเป็นกันเองกับราษฎร ฯลฯ)
2. ครูสรุปว่า พระองค์ผู้ทรงคุณธรรมดังกล่าวสมควรแล้วที่ประชาราษฎรจะเรียกขานพระองค์ว่า “มหาราชา”
3. ครูเชิญชวนนักเรียนร้องเพลง “สดุดีมหาราชา” พร้อมกัน
เพลงสดุดีมหาราชา
ขอเดชะองค์พระประมุขภูมิพล มิ่งขวัญ ปวงชนประชาชาติไทย
มหาราช ขัตติยะ ภูวนัย ดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงประชา
ขอเดชะ องค์สมเด็จพระราชินี คู่บุญบารมี จักรีเกริกฟ้า
องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาราชา ข้าพระพุทธเจ้าขอสดุดี
**อ้าองค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า
เปล่งบุญญาสมสง่าบารมี
ผองข้าพระพุทธเจ้า นอมเกล้าขออัญชุลี
สดุดีมหาราชา สดุดีมหาราชินี
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. พระราชปณิธานองในหลวงของเราเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ คือ “เราจะปกครองแผ่นดินในธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” นับเป็นเครื่องบ่งบอกถึงน้ำพระทัยอันแน่วแน่ที่จะอุทิศพระองค์เพื่อประชาชนชาวไทยเสมือนบิดาที่อุทิศตนเพื่อบุตร และตลอดเวลา 50 ปีที่ทรงครองราชย์นั้นพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจตามที่ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้ ทรงเป็นพระบิดาของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง คำว่า “โดยธรรม” นั้นอาจหมายได้ใน 2 ลักษณะ คือ ทำทุกอย่างอย่างดีและถูกต้องเสมอ และเปี่ยมด้วยความรักและเมตตากรุณาเสมอ ในหลวงของเราทรงเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เราจงภูมิใจในในหลวงของเรา
2. พระเป็นเจ้า พระบิดา เมื่อทรงส่งพระบุตรของพระองค์ลงมาบังเกิดในโลกพระองค์ก็ทรงเสาะแสวงหาผู้ที่จะมาเป็นบิดาดูแลพระบุตรแทนพระองค์ พระองค์ทรงเลือกยอแซฟช่างไม้ ยอแซฟผู้นี้มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างไร? พระคัมภีร์กล่าวสรุปไว้เพียงคำเดียวว่าเป็น “ผู้ชอบธรรม” (มธ 1.19) ก็คือเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีและถูกต้องเสมอ และเป็นผู้เปี่ยมด้วยความรักและเมตตากรุณาเสมอด้วย บุคคลเช่นนี้แหละเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นบิดาของพระเยซูคริสต์ เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่พระบุตรของพระบิดา คำว่า “โดยธรรม” กับ “ชอบธรรม” ก็มีความหมายเดียวกัน ในหลวงของเราจึงมิเพียงทรงเป็นมหาราชาเท่านั้น แต่ทรงเป็นพระบิดาของปวงชนชาวไทยด้วย ทรงรักและห่วงใยประชาชนชาวไทยเสมือนพระบุตรของพระองค์เอง และเพื่อบุตรที่พระองค์ทรงรักนี้พระองค์ทรงสละพระวรกาย ทรงตรากรำงานโดยมิทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทั้งนี้เพื่อให้บุตรของพระองค์ได้พ้นจากความทุกข์ยากและอยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากัน
3. หนังสือสุภาษิตในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่ากล่าวไว้ว่า “น้ำพระทัยพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนธารน้ำไหลในพระหัตถ์ของพระเจ้า” (สภษ 20.1) หมายความว่าน้ำพระทัยของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นภาพสะท้อนของน้ำพระทัยของพระเจ้าเอง เป็นเสมือนธารน้ำใสไหลเย็นนำความชุ่มชื่นรื่นรมย์มาสู่พสกนิกรที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารทุกคน นักบุญเปาโลจึงเตือนคริสตชนทุกคนว่า “เหตุฉะนั้นก่อนสิ่งอื่นใดหมด ข้าพเจ้าขอร้องท่านทั้งหลายให้อธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณเพื่อคนทั้งปวง เพื่อพระมหากษัตริย์ทั้งหลายและคนทั้งปวงที่อยู่ในตำแหน่งสูง เพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตอย่างเงียบ ๆ และสงบสุขในทางธรรมและอย่างนอบน้อม การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ดีและเป็นที่ชอบ “พระทัยพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดของเรา” (1ทธ 2.1-3) จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากในหลวงของเรานั้น ที่จะแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระองค์เป็นพิเศษในวโรกาสที่ครองราชย์มาครบ 50 ปี ร่วมกับประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. พระราชปณิธานของในหลวงของเรา “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”
2. ในหลวงของเราทรงเป็นทั้ง “มหาราชา” และ “พระบิดาของปวงชนชาวไทย”
3. “น้ำพระทัยของพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนธารน้ำไหลในพระหัตถ์พระเจ้า” (สภษ 21.1)
ข. กิจกรรม
จัดวจนพิธีกรรมสดุดีและขอพรพระเจ้าสำหรับในหลวงของเรา
- อุปกรณ์ ไม้กางเขน พระบรมฉายาลักษณ์ ดอกไม้ ธูป เทียน
- เพลงเริ่มพิธี จุดธูป เทียน
- บทอ่าน สดุดี 72.1-8
- ภาวนาของนักเรียนแต่ละคนเพื่อในหลวงของเรา
- เพลงสรรเสริญพระบารมี
ค. การบ้าน
ครูแจกภาพในหลวงของเรา (ลายเส้น) ให้นักเรียนตบแต่งระบายสีให้สวยงามและเขียนคำอธิฐานหรือถวายพระพรชัยมงคลลงใต้ภาพนั้น นำภาพไปติดที่บ้าน