ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

 ccp032.jpgบทเรียนที่         2  เดือนสิงหาคม 1996

หัวข้อเรื่อง        ดาวิด บุรุษผู้สำนึกผิด (อย่างลูกผู้ชาย)

จุดมุ่งหมาย     
เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักความเป็นลูกผู้ชายใจกล้า  เมื่อทำผิดก็ต้องรับผิด ตามตัวอย่างของกษัตริย์ดาวิด

ขั้นที่ 1 กิจกรรม
 ครูเล่าเรื่อง “ปัญหาคาใจ” ต่อไปนี้ให้ผู้เรียนฟัง

ปัญหาคาใจ
 นานมาแล้ว ยังมีพี่น้องสองคนอาศัยอยู่กับบิดา ส่วนมารดาถถึงแก่กรรมไปแล้ว บิดารักลูกทั้งสองมาก และยังรักของเก่า คือ เครื่องลาครมมากด้วย ท่านสะสมเครื่องลาครามที่มีราคาแพงไว้มากมาย และพอมีเวลาว่างก็จะเข้าไปดูแลเช็ดถูปัดกวาดเป็นประจำ

 วันหนึ่งสองพี่น้องวิ่งเล่นเยอกล้อกันในบ้านตามลำพัง ขณะที่บิดดาออกไปทำงาน เผอิญพี่ชายวิ่งไปชนเอาโถลายครามใบหนึ่งตกลงมาแตกกระจาย ทั้งสองตกใจมาก รีบกวาดเอาเศษโถลายครามทิ้ง พี่ชายกลัวบิดาทำโทษจึงกำชับน้องชายไม่ให้บอกเรื่องนี้ให้ใครทราบ แต่จิตใจของเขาก็เก็บอัดไว้ด้วยความหวาดกลัวและหวาดระแวงไปเสียทุกอย่าง กลัวบิดาจะรู้เรื่องเข้า เขารู้สึกไม่มีความสุขใจเลย

 ฝ่ายน้องชายที่กำความลับของพี่ชายเอาไว้ก็ฉวยโอกาสหาประโยชน์จากพี่ชายโดยใช้ความลับนั้นเป็นเครื่องมือขู่บังคับ เช่น ให้ทำงานแทนบ้าง ให้ทำการบ้านให้บ้าง ให้บริการรับใช้บ้าง ให้เงินให้ทองใช้บ้าง ฯลฯ พี่ชายก็จำใจต้องทำตามเพื่อปิดปากน้องชาย จึงเกิดทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นอีก

 ที่สุดพี่ชายทนอยู่ในสภาพนี้ต่อไปไม่ไหว จึงตัดสินใจว่าจะไปสารภาพผิดกับบิดา ไม่ว่าบิดาจะลงโทษอย่างไรก็ยอม คิดแล้ววันหนึ่งก็ไปหาบิดา คุกเข่าลงสารภาพผิดทุกประการ บิดได้ยินเข้า แทนที่จะโกรธและลงโทษ กลับสวมกอดลูก พูดว่า “การที่ลูกยอรับผิดอย่างลูกผู้ชายทำให้พี่ดีใจยิ่งกว่าโถลายครามใบนั้นเป็นนักหนา พ่อยกโทษให้ลูกแล้ว” พี่ชายรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอกความทุกข์ที่ทับถมอยู่ในใจมลายหายสิ้น เขากลับมีความสุขอีกครั้งหนึ่ง

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์

 ครูให้ผู้เรียนช่วยกันหาบทสอนจากเรื่องที่ได้ฟัง พยายามหาบทสอนให้ได้มากที่สุด
 ครูเอารูปใบหน้าลักษณะต่าง ๆ มาแสดงให้ผู้เรียนดู
 ให้ผู้เรียนช่วยกันใส่ความรู้สึกที่ถูกต้องให้แก่ใบหน้าเหล่านั้น เช่น เสียใจ ดีใจ โกรธ กลัว ฯลฯ

สรุป   การยอรับผิดทำให้ได้รับการอภัย จิตใจก็เป็นสุข และกลับเป็นที่ยกย่องของคนอื่น

 ให้นักเรียนพิจารณาเติมข้อความที่เกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ
 ลงในตารางโดยให้ข้อความต่าง ๆ ตรงกับลักษณะการแสดงออกทางสีหน้า
 และตัวอักษรที่กำหนดให้

ขั้นที่ 3 คำสอน

1. กษัตริย์ดาวิดเป็นวีรบุรุษในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่า นอกจากจะเป็นยอดนักรบ ยอดนักบุญแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นยอดบุรุษผู้สำนึกผิด โดยไม่ละอายว่าทรงเป็นถึงกษัตริย์ขัตติยราช ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คือต่อไปนี้

กษัตริย์ดาวิดทอดพระเนตรเห็นสตรีนางหนึ่งกำลังอาบน้ำอยู่ ทรวดทรงองค์เอวงดงามสะดุดตาสะดุดใจยิ่งนัก จึงเกิดปฏิพันธ์รักใคร่นางสุดหัวใจ อยากจะได้นางมาเป็นภรรยาจึงส่งคนไปสืบดูก็ได้ความว่า นางชื่อ บัทเชบา แต่งงานแล้วสามีชื่อ อุรีอาห์ เมื่อทราบดังนั้นแทนที่กษัตริย์ดาวิดจะสลัดนางทิ้งไป เพราะเป็นสิ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่งที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับภรรยาของคนอื่น พระองค์กลับคิดอุบายให้แม่ทัพโยอาบแต่งตั้งอุรีอาห์สามรีของนางเป็นทหารประจำแนวรบที่อันตรายที่สุด เพี่อให้อุรีอาห์ตายด้วยดาบของศัตรูและก็สำเร็จไปตามอุบายนั้นทุกประการ กษัตริย์ดาวิดจึงรับนางบัทเชบาเข้าวังมาเป็นภรรยาอย่างเปิดเผยต่อไป ในสายตาของคนทั่วไปจึงเห็นว่ากษัตริย์ดาวิดได้นางบัทเชบามาเป็นภรรยาโดยชอบธรรม เพราะสามีของนางตายแล้ว (เทียบ ซมอ 11:1-17)

แต่พระเป็นเจ้าไม่เห็นเช่นนั้น พระองค์ทรงใช้ประกาศกนาธันไปกล่าวโทษกษัตริย์ดาวิด และประกาศพระอาญาของพระองค์ว่า “ทำไมเจ้าดูหมิ่นพระวาจาของพระเป็นเจ้า กระทำสิ่งชั่วช้าในสายพระเนตรของพระองค์ เจ้าได้ฆ่าอุรีอาห์ด้วยดาบ เอาภรรยาของเขามาเป็นภรรยาของเจ้า เพราะฉะนั้นดาบนั้นจะไม่คลาดไปจากราชวงศ์ของเจ้า..... ดูเถิด เราจะให้เหตุร้ายบังเกิดขึ้นแก่เจ้า..... เราจะเอาภรรยาของเจ้าไปยกให้แก่เพื่อนบ้านของเจ้าต่อหน้าต่อตาเจ้า เขาจะนอนร่วมกับภรรยาของเจ้าอย่างเปิดเผย เจ้าทำการนี้อย่างลับๆ แต่เราจะทำการนี้ต่อหน้าอิสราแอลทั้งสิ้นและอย่างเปิดเผย” (2ซมอ 12:9-12)

กษัตริย์ดาวิดพอได้ยินก็สำนึกในความผิดนั้นทันที เป็นทุกข์ กลับใจ และยินดีรับโทษกรรมที่พระเป็นเจ้าจะทรงเห็นสมควรต่อไป
กษัตริย์ดาวิดจึงกลับเป็นที่โปรดปรานของพระเป็นเจ้าดังเดิม และพระเป็นเจ้าก็ทรงอวยพรพระองค์และราชวงศ์ของพระองค์สืบไป

2. การยอมรับผิดแทนที่เป็นการเสื่อมเสียเกียรติ กลับเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป เราคงเคยได้ยินชายที่มีตำแหน่งสำคัญบางคนกล่าววาจาอย่างทระนงองอาจต่อหน้าสาธารณชนว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว” ใครๆ ได้ยินก็อดชื่นชมไม่ได้ หรือเจ้าภาพที่กล่าวกับแขกเมื่อตอนเลิกงานว่า “ถ้าหากว่ามีสิ่งขาดตกบกพร่องประการใด หรือการต้อนรับไม่ทั่วถึง ข้าพเจ้าขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย” แขกทุกคนก็จากไปด้วยปิติและพอใจ การกระทำดังกล่าวเป็นที่นิยมกระทำกันทั่วไป ลูกผู้ชายทุกคนจึงพึงตระหนักถึงศักดิ์ศรีของตนในเรื่องนี้ และความเสื่อมเสียที่ตามมาหากกระทำตนเป็นคนดื้อดึงมีทิฐิ ไม่สำนึกในความผิดของตน

3. ผู้เรียนก็คงมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาแล้ว ลองมาเล่าสู่กันฟังว่า

ก. เมื่อทำผิดแล้วสำนึก สารภาพผิด มีอะไรเกิดขึ้น?
ข. เมื่อทำผิดแล้วไม่สำนึก ดันทุรังต่อไป มีอะไรเกิดขึ้น?

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ

ก. ข้อควรจำ
1. “การยอมรับผิดอย่างลูกผู้ชายมีค่ามากยิ่งกว่าโถลายครามอันมีค่ามากนัก” (เรื่อง “ปัญหาคาใจ”)
2. กษัตริย์ดาวิดสำนึกผิด คุกเข่าลงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ทำผิดต่อพระเป็นเจ้าแล้ว” และพระเป็นเจ้าก็ทรงโปรดปรานท่านอย่างเดิม
3. การยอมรับผิดแทนที่จะเป็นการเสื่อมเสียเกียรติ กลับเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป


ข. กิจกรรม

ร้องเพลง “สำนึกผิด” (ปรารถนา หน้า 325 บี)
                       สำนึกผิด
   1. ยามที่ลูกสุขใจ   ยามหมดความทุกข์ตรม
       มีแต่ความชื่นชม   สุขสมพระองค์อยู่ไหน
   2. คราไหนลูกปวดร้าว  คราวหมดความชื่นชม
       จึงตรมกลับมาหาองค์  วอนขอพระองค์เมตตา
   (รับ)ใจลูกทรยศ   คิดคตมิรู้บุญคุณ
       พระองค์เกื้อกูลหนุทุกวัน  กลับทำให้ช้ำพระทัย
   3. ครานี้ลูกกลับใจ   ยอมให้คำสัญญา
       ใจมั่นคงทุกครา   ยามทุกข์ยามสุขขอจำ

ค. การบ้าน
แสดงความสำนึกผิดโดยไปรับศีลแก้บาปในวันอาทิตย์ถัดไป และรับศีลมหาสนิทเป็นการคืนดีกับพระเป็นเจ้า

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์