ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

บทเรียนที่         1 เดือนมกราคม 1997
หัวข้อเรื่อง         นักบุญคามิลโล เพื่อนของคนป่วย
จุดมุ่งหมาย       เพื่อให้ผู้เรียนเห็นใจ สงสารคนป่วย และหาทางช่วยเหลือ
                        ตามแบบอย่างของนักบุญคามิลโล

ขั้นที่ 1 กิจกรรม
สำหรับเด็กเล็ก
 ครูเล่าประสบการณ์ของครูเองตอนเจ็บป่วยมาก หรือตอนประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ
 ให้ผู้เรียนบางคนอาสาออกมาเล่าประสบการณ์เช่นเดียวกันหน้าชั้น หรือ ครูสัมภาษณ์ผู้เรียนเมื่อครั้งเจ็บป่วยมากว่า
- เจ็บป่วยด้วนสาเหตุอะไร? (เป็นโรค อุบัติเหตุ)
- เมื่อเกิดเจ็บป่วยแล้วทำอย่างไร?
- มีความรู้สึกอย่างไรในขณะเจ็บป่วยนั้น?

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
 ครูถามผู้เรียนว่า
- ความเจ็บป่วยที่ร้ายแรงในขณะนี้มีอะไรบ้าง? (เอดส์ มะเร็ง หัวใจ ฯลฯ)
- คนที่เจ็บป่วยต้องทุกข์ทรมานอย่างไร?
- คนที่เจ็บป่วยนั้นเขาต้องการอะไรมากที่สุด?

สรุป คนป่วยทุกคนคงตอบเหมือนๆ กันว่า อยากหายและอยากได้รับการดูแลเอาใตใส่จากคนรอบข้าง ซึ่งจะทำให้เกิดกำลังใจและมีความอดทนมากขึ้น

ขั้นที่ 3 คำสอน
1. มีคนๆ หนึ่งที่เข้าใจจิตใจและความต้องการของคนป่วยเป็นอย่างดี เพราะเขาเองเคยเป็นคนป่วยมาก่อน เขาจึงตั้งใจว่า เมื่อหายจากการเจ็บป่วยแล้ว จะอุทิศชีวิตเพื่อดูแลเอาใจใส่คนป่วยตลอดไป คนๆ นี้มีชื่อว่า คามิลโล เด แลลลิส และเขาก็ได้ทำเช่นนั้นจริงๆ

2. คามิลโล เด แลลลิส เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1550 ที่เมืองบุคเคียนีโก ในภาคกลางของประเทศอิตาลี เป็นเด็กที่มีรูปร่างใหญ่โตแข็งแรงผิดเด็กธรรมดาทั่วไป พอโตขึ้นก็ส่อนิสัยเกเร เป็นจ่าฝูงนำเพื่อนๆ ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน จนเป็นที่อิดหนาระอาใจของคนทั่วไป นอกจากนั้นยังชอบเล่นการพนัน ไม่ชอบเรียน บิดของเขาเป็นทหาร คามิลโลก็อยากเป็นทหารเหมือนบิดาด้วย และก็ได้เป็นจริงๆ จะว่าเป็นทหารยักษ์ก็ได้ เพราะมีรูปร่างใหญ่โต สูงถึง 2 เมตร แต่คามิลโลก็มีจุดอ่อนประจำตัว คือแผลที่บริเวณข้อเท้า ซึ่งทำให้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ระหว่างที่รอให้แผลหายก็ฉายโอกาสรับจ้างดูและคนป่วยในโรงพยาบาลไปด้วย แต่ยังไม่ทิ้งนิสัยเกเร และเป็นต้น การพนัน จึงถูกไล่ออกจากงาน กลับไปเป็นทหารรับจ้างอีก คามิลโลกลับใจเมื่อเข้าไปทำงานรับจ้างอยู่ในอารามกาปูชิน คุณพ่ออันเจโลอธิการเชิญชวนให้ท่านละทิ้งบาปและมารผจญทั้งปวง และหันมาสนใจวิญญาณและความรอดซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด วันนั้นตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1575 ขณะที่มีอายุได้ 25 ปี หลังจากนั้นก็ได้สมัครเป็นนักบวชกาปูชิน แต่อยู่ได้พักเดียวบาดแผลที่ข้อเท้าก็กำเริบขึ้นอีก จึงต้องออกจากอารามไปเข้าโรงพยาบาล และก็รับจ้างดูและคนป่วยเหมือนคราวก่อน แต่คราวนี้ท่าทีของคามิลโลเปลี่ยนไป ท่านเอาใจใส่ดูและคนป่วยอย่างดี พอแผลที่ข้อเท้าหายก็กลับเข้าอารามกาปูชินอีกครั้ง แต่ไม่นานก็กำเริบขึ้นใหม่ คราวนี้ท่านจึงออกจากอารามกาปูชินอย่างเด็ดขาด และกลับไปทำงานพยาบาลคนป่วยที่โรงพยาบาลอย่างเต็มที่จนได้กลายเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเวลาต่อมา คามิลโลจึงเริ่มคิดตั้งกลุ่มอาสาสมัครมาช่วยงานนี้ เริ่มแรกทีเดียวก็ได้ฆราวาสอาสาสมัคร 5 คนมาร่วมงาน ทุกสิ่งกำลังจะไปได้ดี ก็ถูกผู้บริหารในโรงพยาบาลคัดค้านและขัดขวางจนท่านเกือบจะเลิกล้มความตั้งใจนี้ แต่คืนหนึ่งไม้กางเขนที่แขวนอยู่ในห้องของท่านเกิดมีปาฏิหาริย์ พระเยซูบนไม้กางเขนนั้นทรงเคลื่อนไหวและตรัสกับท่านว่า “ไม่ต้องกลัว จงทำต่อไป งานนี้เป็นงานของเรา ไม่ใช่งานของเจ้า” คามิลโลจึงตัดสินใจเดินหน้าต่อไป ท่านและกลุ่มอาสาสมัครเป็นเพียงฆราวาส ถ้าหากเป็นพระสงฆ์คงจะมีคนเลื่อมใสสมัครมาร่วมงานมากขึ้น ท่านจึงสมัครเข้าบ้านเณรในขณะที่มีอายุได้ 30 ปีแล้ว และได้บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1584 และได้นำเอาเครื่องหมาย “กางเขนแดง” มาติดไว้ที่เครื่องแบบของสมาชิกเพื่อเป็นเครื่องหมายของความรอดสำหรับคนป่วย งานของคามิลโลนี้ก็ได้แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งได้กลับเข้าสู่สมรภูมิทหารอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เพื่อมาช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบ เครื่องหมาย “กางเขนแดง” ก็เลยกลายเป็นเครื่องหมาย “กาชาด” ซึ่งแสดงถึงหน่วยช่วยเหลือพยาบาลในกองทัพในปัจจุบัน คามิลโลสิ้นสิ้นชีวิตเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1614 ขณะมีอายุ 65 ปี และได้อุทิศชีวิตรับใช้คนป่วยมาเป็นเวลาถึง 40 ปี พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้แต่งตั้งท่านเป็นนักบุญในปี 1886 และเป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงพยาบาลและคนป่วยทั้งหลาย

3. ในประเทศไทยเราก็มีนักบวชคณะคามิลเลียนมาทำงานรักษาพยาบาลคนป่วยตามจิตตารมณ์ของนักบุญคามิลโลอยู่หลายแห่ง เช่น ที่โรงพยาบาลซานคามิลโล บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และที่โรงพยาบาลคามิลเลียนซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55 กรุงเทพฯ เป็นต้น โรงพยาบาลและสถานพยาบาลของคณะคามิลเลียนแตกต่างจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วไป คือนอกจากจะเอาใจใส่รักษาโรคภัยฝ่ายกายของคนป่วยอย่างดีและใกล้ชิดแล้วยังให้ความช่วยเหลือและความทุเลาบรรเทาทางฝ่ายวิญญาณด้วยตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ ที่ทุกครั้งที่ทรงรักษาคนเจ็บคนป่วยนั้น พระองค์จะทรงมุ่งรักษาวิญญาณของเขาเป็นสำคัญเสมอ การดูและคนดีมีสุขภาพแข็งแรงก็นับว่ายากและเสียสละมากโขแล้ว แต่การดูและรักษาคนป่วยนั้นยากกว่ามากนัก เพราะคนป่วยอยู่ในสภาพที่ทุกข์ทรมาน ท้อแท้ ขาดความเพียร บ่นว่าโชคชะตาของตน คนที่รักษาพยาบาลจำเป็นที่จะต้องมีความเห็นอกเห็นใจ มีเมตตาและความอดทนเป็นพิเศษ และนักบวชคณะคามิลเลียนก็ได้รับการฝึกอบรมมาให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพการณ์ดังกล่าว ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ถ้าไม่มีพระพร ความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้ามาสนับสนุน อย่างไรก็ตาม “เป็นบุญของผู้ที่มีใจเมตตากรุณา เหตุว่าเขาจะได้รับความเมตตากรุณาดุจกัน” (มธ 5:7) พระวาจาของพระเยซูคริสต์นี้คงจะเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้เป็นอย่างดี และพระสัญญาของพระองค์ที่ว่า “เราเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็มาเยี่ยม..... เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ที่ท่านกระทำแก่คนใดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเราแม้จะต่ำต้อยเพียงไร ก็เหมือนได้กระทำต่อเราเอง..... จงมารับเอาพระอาณาจักซึ่งได้ตระเตรียมไว้สำหรับท่านตั้งแต่แรกสร้างโลกมาแล้ว” (มธ 25:34-36 และ 40) ก็คงจะทำให้อุ่นใจว่าการเสียสละอุทิศชีวิตเพื่อคนป่วยนั้นจะได้รับบำเหน็จตอบแทนจากพระเป็นเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม

4. ที่จริง เราคริสตชนทุกคนก็มีหน้าที่ที่จะต้องเอาใจใส่ดูและคนเจ็บคนป่วยอยู่แล้ว มันคือหน้าที่แห่งความรักซึ่งเป็นบัญญัติสูงสุดของพระเป็นเจ้า เริ่มต้นตั้งแต่คนป่วยในบ้านเราเอง หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง อย่างน้อยที่สุดการให้ความสนใจไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจก็เป็นสิ่งที่คนป่วยต้องการมากที่สุด และอย่าลืมอุดหนุนด้วยการสวดภาวนาและการกล่าววาจาอัญเชิญพระเป็นเจ้ามาเป็นแพทย์ฝ่ายวิญญาณที่ใจดี มีความรักและเมตตาต่อคนเจ็บคนป่วยเป็นพิเศษ เพราะถ้าจะพูดกันไปแล้ว โอสถฝ่ายวิญญาณนั้นสำคัญและจำเป็นยิ่งกว่าโอสถฝ่ายกายเสียอีก

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก.ข้อควรจำ
1. “บุญของผู้ที่มีใจเมตตากรุณา เหตุว่าเขาจะได้รับความเมตตากรุณาเช่นเดียวกัน” (มธ 5:7)
2. “จงมารับเอาพระอาณาจักรซึ่งได้ตระเตรียมไว้สำหรับท่านตั้งแต่สร้างโลกมาแล้วเถิด เพราะเมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็มาเยี่ยม” (มธ 25:34-35)
3. สิ่งที่คนป่วยต้องการมากที่สุดก็คือ การมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง
4. พระเยซูคริสต์ทรงรักษาโรคฝ่ายกาย เพื่อเป็นเครื่องหมายของการรักษาโรคฝ่ายวิญญาณ
ข.กิจกรรม 
ให้ผู้เรียนสงบจิตใจ อยู่ในความเงียบสักครู่ คิดถึงคนป่วยที่รู้จัก สวดภาวนาอุทิศให้เขา
ค.การบ้าน
ชักชวนเพื่อนๆ ไปเยี่ยมคนเจ็บคนป่วยที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลนำของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ไปมอบให้

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์