ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

 บทเรียนที่     1 เดือนกรกฎาคม 1997

หัวข้อเรื่อง     ทำไมพระเยซูคริสต์จึงเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์

จุดมุ่งหมาย   เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นพระเยซูคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์แห่งความรอด  โดยทรงเป็นจุดเชื่อมโยงพันธสัญญาเก่าและพันธสัญญาใหม่ ทำให้ทุกสิ่งบริบูรณ์


ขั้นที่ 1 กิจกรรม
 ครูนำเสนอภาพต่อไปนี้ (ดูภาพจากปก)
        -ภาพที่ 1 ภาพจากปกหน้าใน (ความหวัง ความใฝ่ฝัน การรอคอย)
                     มนุษย์กำลังรอคอยอะไร? ทำไม?
        -ภาพที่ 2 ภาพจากปกหลังใน (ความพยายาม)
                     มนุษย์พยายามทำอะไร? อย่างไร?
        -ภาพที่ 3 ภาพจากปกหลัง (ความล้มเหลว)
                     ผลเป็นอย่างไร? ทำไม?

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
 1.ความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ก็คือ หลุดพ้นจากสภาพทุกข์ทรมานไปสู่สภาพสุขสันต์หรรษา
 2.แต่ช่องว่างระหว่างสภาพทั้งสองนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เกินกำลังมนุษย์จะก้าวข้ามไปโดยลำพังตนเอง
 3.มนุษย์ทุกรูปทุกนามได้เพียรพยายามมานักต่อนักแล้ว แต่ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงคำตอบอยู่ที่ไหน?

สรุป           ความใฝ่ฝันนั้นฝังอยู่ในจิตใจมนุษย์จนกลายเป็นธรรมชาติ แสดงว่ามนุษย์ถูกสร้างมา
                เพื่อความสุข ใครเล่าเป็นคนสร้างมนุษย์มา? เขาผู้นั้นจะต้องรู้และให้คำตอบนี้ได้
                เขาผู้นั้นคือ “พระเป็นเจ้า”

ขั้นที่ 3 คำสอน
 1.ตามแผนการของพระเป็นเจ้าแต่ดั้งเดิม พระองค์ทรงสร้างมนุษย์มาเพื่อให้มามีส่วนในความสุขกับพระองค์ แต่มนุษย์กลับทำบาปซึ่งเป็นต้นเหตุนำความทุกข์มาให้ ถึงกระนั้น พระเป็นเจ้าก็มิได้ทรงท้อถอย แต่ทรงปรับแผนการความรอดเสียใหม่ โดยทรงเปลี่ยนความทุกข์ที่เป็นโทษของบาปนั้น ให้กลายมาเป็นสะพานเชื่อมนำไปสู่ความสุข ดังภาพที่เห็นอยู่นี้ (ภาพที่ 4 ภาพหน้าปก – กางเขนคือสะพานเชื่อมนำไปสู่ความสุข) ซึ่งสำเร็จไปโดยอาศัยพระเยซู
คริสต์ ผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อไถ่เรามนุษย์
 
 2.การไถ่สำเร็จไปโดยผ่านทางไม้กางเขน ซึ่งเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างสภาพมนุษย์เก่ากับสภาพมนุษย์ใหม่ เรามนุษย์จึงได้รับผลจากการไถ่กู้นั้น คือได้ผ่านจากสภาพเก่าเข้าสู่สภาพใหม่ โดยผ่านทางไม้กางเขนนี้ ไม่มีทางรอดอื่นใดนอกจากผ่านทางไม้กางเขน ดังที่เปโตรได้กล่าวต่อหน้าสภาว่า “มีนามมากมายในใต้หล้านี้ แต่มีนามเดียวเท่านั้นที่บันดาลความรอดให้เราได้” (กจ 4:12) นามนั้นคือ “พระเยซูคริสต์” ชาวนาซาแร็ธ สังคายนาวาติกันที่ 2 กล่าวว่า “พระคริสต์ผู้ทรงเป็นคนกลางแต่เพียงผู้เดียว ได้ทรงแต่งตั้งและทะนุบำรุงพระศาสนจักร ประชากรผู้มีความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก ให้เป็นเครื่องหมายที่มองเห็นได้ในโลกนี้ และโดยทางพระศาสนจักรนี้แหละพระองค์จะทรงแจกจ่ายพระหรรษทานและความจริงแก่มนุษย์ทุกคน” (พระศาสนจักรข้อ 8) ดังนั้น จึงไม่มีทางรอดอื่นใดนอกจากในองค์พระเยซูคริสต์ ไม่มีความรอดอื่นใดนอกจากในไม้กางเขนของพระองค์
 
 3.พระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ทรงเล็งเห็นความจริงประการนี้ จึงทรงกำหนดให้ปีแรกในไตรวรรษ เตรียมฉลองปี 2000 คือปี 1997 นี้เป็นปีของ “พระเยซูคริสต์” ผู้ทรงเป็น“หนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน 14:6) และทรงเป็นคนกลางแต่เพียงผู้เดียวที่นำเราไปสู่พระบิดา “ไม่มีใครไปถึงพระบิดาได้ นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6)ปีของพระเยซูหมายความว่าอะไร? หมายความว่า เป็นปีที่เราคริสตชนจะยกย่องเทิดทูนพระเยซูคริสต์ให้เป็นเจ้าผู้ครอบครองชีวิตของเราทั้งหมดในปี 1997 นี้เป็นพิเศษ จะคิดถึงพระองค์โดยศึกษา ทำความเข้าใจชีวิตของพระองค์ในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะในพระวรสารอย่างขะมักเขม้น จะพูดถึงพระองค์ โดยประกาศพระนามของพระองค์ให้เป็นที่รู้จักทั้งด้วยวาจาและกิจการ จะรักพระองค์ โดยเจริญชีวิตสนิทแนบแน่นกับพระองค์ ผ่านทางพระคัมภีร์และศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีลล้างบาปซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการที่เราได้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ในนามว่า “คริสตชน” เราจะต้องมารื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของศีลล้างบาป ซึ่งเป็นประตูแห่งความรอดที่เราได้ผ่านเข้ามาอย่างค่อนข้างจะผิดเผิน ไม่ลึกซึ้งถึงแก่นใน จึงทำให้ชีวิตคริสตชนของเราลุ่มๆ ดอนๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้เพราะขาดความเชื่อที่มีชีวิต
 
 4. ทั่วพระศาสนจักร ทั้งวัดวาอาราม หน่วยงาน และองค์การต่างๆ ต่างก็ขานรับปีของพระเยซูคริสต์โดยพร้อมเพรียงกัน และต่างก็ลงมือวางแผนและปฏิบัติกันในระดับต่างๆ มีความตื่นตัวเตรียมต้อนรับศักราชใหม่กันอย่างคึกคักแม้กระทั่งในหมู่ชาวโลก บรรยากาศแห่งความหวัง ความสุข กำลังคืบคลานเข้ามา เราที่เป็นคริสตชนจะมัวเศร้าสร้อยอยู่ไย “จงชื่มชมยินดีในองค์พระเป็นเจ้าทุกเวลาเถิด ข้าพเจ้าขอย้ำว่า จงชื่นชมยินดีเถิด จงให้จิตใจที่อ่อนโยนสุภาพของท่านประจักษืแก่สายตาของคนทั้งปวง องค์พระเป็นเจ้าทรงอยู่ใกล้แล้ว อย่างทุกข์ร้อนในสิ่งใดเลย แต่จงทูลสิ่งที่ท่านปรารถนาต่อพระเจ้าด้วยการอธิษฐานวิงวอนด้วยการขอบพระคุณ แล้วสันติสุขของพระเจ้าซึ่งเกินความเข้าใจของมนุษย์จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของท่านไว้ในพระเยซูคริสต์” (ฟป 4:4-7)

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก.ข้อควรจำ
 1.พระเป็นเจ้ามิได้ทรงทองทิ้งมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างมาด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง
 2.พระเยซูคริสต์ทรงเป็นคนกลางและสะพานเชื่อมมนุษย์กับพระเป็นเจ้าผ่านทางไม้กางเขน คือการสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่กู้เรา
 3.ไม่มีความรอดอื่นใดนอกจากในพระเยซูคริสต์ ไม่มีความรอดอื่นใดนอกจากในไม้กางเขน
 4.“จงชื่นชมยิดีในพระเป็นเจ้าทุกเวลาเถิด ข้าพเจ้าขอย้ำว่า จงชื่นชมยินดีเถิด” (ฟป 4:4)
ข.กิจกรรม 
เล่นเกม “สะพาน หรือเหว”
ให้ผู้เรียนเข้าแถวตอนลึก 2 แถวหันหน้าหาครู
ครูกล่าวประโยคอะไรก็ได้ (ดูตัวอย่างข้างล่าง)
ถ้าคำกล่าวนั้นดี ถูกต้องให้ผู้เรียนหันหน้าเข้าหากัน จับมือเป็นคู่ยกสูงขึ้นเป็นสะพาน
ถ้าคำกล่าวนั้นไม่ดี ไม่ถูกต้อง ให้ผู้เรียนหันหลังเข้าหากัน ยื่นมือทั้งสองข้างลงเป็นรูปเหว
ใครทำผิดคัดออก เมื่อได้จำนวนพอสมควรก็ให้ทำกิจกรรมตามคำสั่งของกลุ่ม เช่น รำวง เดินเป็ด ฯลฯ

ตัวอย่างคำกล่าวสำหรับครู
                        นายหมีต่อยกับนายเขียว            ครูให้รางวัลนักเรียนประพฤติดี
                        คุณพ่อเจ้าวัดอบรมสัตบุรุษ         สุภาขโมยดินสอเพื่อน
                        วันเพ็ญช่วยแม่ทำงาน               วันดีหนีเรียนคำสอน
                        แดงพูดจาไพเราะ                    สิงหาทะเลาะกับกลัยา
                        พ่อแม่พาลูกไปหาหมอ             ตำรวจจับคนติดยาบ้า
                                          ฯลฯ                                ฯลฯ
บทสอน           สะพาน หมายถึง ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งกัน การเป็นผู้เชื่อมโยงสิ่งที่แตกแยกกัน
                                           ให้มาเป็นทองแผ่นเดียวกัน อันจะยังให้เกิดสันติสุข
                     เหว หมายถึง ความแนกแยก ความเป็นอริศัตรูกัน อันจะยังให้เกิดความทุกข์
                                      เราจงทำตนเป็นสะพานในสังคมอย่างทำตนเป็นเหว
 สวด “บทภาวนาสู่ปี 2000” พร้อมๆ กัน
ค.การบ้าน
             ให้ผู้เรียนทำตนเป็นสะพานเชื่อมความสามัคคีในครอบครัว (กับพี่ๆ น้องๆ)
              ในโรงเรียน (กับเพื่อนๆ) ชักนำเพื่อนๆ ไปในทางที่ดี

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025

ปีศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 2025 "บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง"

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์