ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

คุณค่าพระวรสารฯ บทเรียนที่ 13 มีใจกตัญญู

คุณค่าพระวรสารฯ บทเรียนที่ 13
มีใจกตัญญู

จุดประสงค์
เมื่อจบบทเรียนแล้ว ผู้เรียนสามารถ
        1. รู้และอธิบายความหมายของคำว่ากตัญญูได้
        2. มีใจกตัญญูและเห็นคุณค่าของความกตัญญู
        3. แสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

 

กิจกรรม  สำหรับคุณ “ความกตัญญู” มีค่าเท่ากับอะไร

ให้ผู้เรียนดูคลิปวิดีโอ สำหรับคุณ “ความกตัญญู” มีค่าเท่ากับอะไร


 วิเคราะห์ ผู้สอนสนทนากับผู้เรียน
                1. ผู้เรียนเห็นอะไรจากคลิปวิดีโอบ้าง (เรื่องราวเป็นอย่างไร ให้ผู้เรียนช่วยกันตอบ)
                2. ผู้เรียนมีความรู้สึกอย่างไร (ประทับใจ/ซึ้งใจ/ดีใจ ฯลฯ)
                3. ผู้เรียนประทับใจ ชอบและไม่ชอบตอนใด
                4. ผู้เรียนอยากจะเปลี่ยนแปลงตนเองในเรื่องใด
                5. ข้อคิดที่ผู้เรียนได้รับจากการดูคลิปวิดีโอเรื่องนี้

            สรุป  เราได้เห็นความกตัญญูของเด็กสาวคนนี้ที่มีต่อบิดาของตน แม้จะพิการแต่ก็ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เพื่อที่จะหาเงินมาซื้ออาหารและซื้อยาให้กับบิดา ซึ่งกำลังป่วยอยู่นอกจากนี้เรายังได้เห็นความเมตตาใจดีของผู้เข้าแข่งขันทุกคน ที่ไม่มีใครวิ่งเข้าเส้นชัยไปก่อน ทุกคนรอเพื่อให้เด็กคนนี้ได้เข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งเพื่อเธอจะได้รับรางวัลดังที่หวังไว้ เป็นความเมตตาในจิตใจของมนุษย์ที่งดงามเหนือกว่าชัยชนะ

 ***หรืออาจใช้คลิปวิดีโอ ซีพีสานฝัน ปันโอกาส ของ CPG
"ความกตัญญู"

คำสอน            

             1. ความกตัญญู เป็นคุณธรรมที่อยู่ในจิตใจของคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อยุคสมัยและค่านิยมในการใช้ชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการให้ความสําคัญกับวัตถุสิ่งของมากกว่าความสำคัญของบุคคล ทำให้วัฒนธรรมของความกตัญญู ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมไทยเริ่มถูกลดความสําคัญลงด้วย คนรุ่นใหม่บางคนเริ่มมีความเห็นว่า ความกตัญญูเป็นภาระของชีวิต ซึ่งเราพบว่าผู้สูงอายุที่ถูกละเลยจากคนในครอบครัว มีปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจ และถูกลูกหลานทอดทิ้ง ซึ่งข้อมูลสถิติจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม ปี ค.ศ. 2018 ระบุว่ามีผู้สูงอายุสูญหาย เร่ร่อนเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในรอบ 3 ปี และถูกทำร้ายเพื่อเอาประโยชน์โดยคนในครอบครัวเพิ่มขึ้น 1,000 เท่า ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ดังนั้นเรื่องความกตัญญูจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญ ที่เราจะต้องปลูกฝังไว้ในจิตใจของเรา

 

             2. สำหรับคริสตชน ความกตัญญูคือความรู้คุณต่อพระเจ้า สิ่งสร้างและผู้มีพระคุณ และตระหนักในความดีที่ผู้อื่นมอบให้ตน พร้อมตอบแทนคุณในทุกโอกาส โดยการนบนอบ เคารพ เชื่อฟัง ให้เกียรติ ส่วนความกตัญญูในความหมายของคนทั่วไป คือการตอบแทนพระคุณผู้มีพระคุณต่อตนเท่านั้น เช่น ยอมรับพ่อแม่ว่ามีพระคุณเพราะเลี้ยงดูมา ยอมรับครูว่ามีพระคุณเพราะสั่งสอนให้ความรู้ ยอมรับว่าญาติมีพระคุณเพราะเคยให้ข้าวให้ขนม เป็นต้น

 

              3. มีเรื่องราวความกตัญญูในพระคัมภีร์เล่าว่า ขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังกรุงเยรูซาเล็มนั้น พระองค์เสด็จผ่านแคว้นสะมาเรียและกาลิลี เมื่อเสด็จเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คนโรคเรื้อนสิบคนเข้ามาเฝ้าพระองค์ ยืนอยู่ห่าง ๆ ร้องตะโกนว่า “พระเยซู พระอาจารย์ โปรดสงสารพวกเราเถิด” พระองค์ทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสกับเขาว่า “จงไปแสดงตนแก่บรรดาสมณะเถิด” ขณะที่เขากำลังไป เขาก็หายจากโรค คนหนึ่งในสิบคนนี้เมื่อพบว่าตนหายจากโรคแล้ว ก็กลับมาพลางร้องตะโกนสรรเสริญพระเจ้า ซบหน้าลงแทบพระบาทขอบพระคุณพระองค์ เขาผู้นี้เป็นชาวสะมาเรีย พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ทั้งสิบคนหายจากโรคมิใช่หรือ อีกเก้าคนอยู่ที่ใด ไม่มีใครกลับมาถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า นอกจากคนต่างชาติคนนี้หรือ”แล้วพระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงลุกขึ้น ไปเถิด ความเชื่อของท่าน ทำให้ท่านรอดพ้นแล้ว” (ลูกา 17:17-19) เรื่องนี้สอนเราให้รู้จักกตัญญูรู้คุณต่อพระเจ้าและต่อทุกคนที่มีบุญคุณต่อเรา

 

             4. เราคริสตชนจึงควรขอบพระคุณพระเจ้า ภาวนาถึงพระองค์ทุกวัน และตระหนักว่าเราได้รับพระพรจากพระเจ้ามากมาย ทุกสิ่งในชีวิตที่เรามีและทุกอย่างที่เราเป็น ล้วนแต่เป็นของประทานจากพระเจ้าทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงขอบคุณพระเจ้าสำหรับความรักอันยิ่งใหญ่สุดพรรณนาของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามองดูกางเขนของพระเยซูเจ้า เราเห็นถึงความรักอันหาที่สุดมิได้ของพระเจ้าที่มีต่อเราแต่ละคน เราไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้เลยโดยลำพัง ดังพระวาจาที่ว่า “เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยอห์น 15:5) ดังนั้นจงขอบพระคุณพระเจ้าเสมอ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตชน เราขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับผู้ที่จัดเตรียมอาหารสำหรับเรา ด้วยการสวดภาวนาก่อนและหลังอาหาร เรายังขอบพระคุณพระเจ้าพร้อม ๆ กันก่อนนอนในครอบครัวในแต่ละวันด้วย

 

             5. เราแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ได้เลี้ยงดูเรา ด้วยการช่วยเหลือท่าน ไม่ทำให้ท่านเสียใจ ดูแลเมื่อท่านป่วยไข้หรือเมื่อท่านเข้าสู่วัยชรา และควรกตัญญูต่อผู้ที่ทำสิ่งที่ดีให้กับเราด้วย เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในโรงเรียน ผู้ที่่ดูแลความสะอาดในโรงเรียนและชุมชน เจ้าหน้าที่จราจรและคนอื่น ๆ อีกมากมายให้เราหาโอกาสไปขอบคุณพวกท่านเหล่านี้ด้วยใจกตัญญูด้วย

 

ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
          1. ความกตัญญู คือความรู้คุณต่อพระเจ้า สิ่งสร้างและผู้มีพระคุณ และตระหนักในความดีที่ผู้อื่นมอบให้กับเรา
          2. เราต้องพร้อมตอบแทนคุณผู้มีพระคุณในทุกโอกาส โดยการนบนอบ เคารพ เชื่อฟัง และให้เกียรติแก่ท่าน
          3. พระเยซูเจ้าสอนเราในเรื่องของคนโรคเรื้อนสิบคน เพื่อให้เรากตัญญูรู้คุณต่อพระเจ้าและต่อทุกคนที่มีพระคุณต่อเรา
          4. คริสตชนต้องขอบพระคุณพระเจ้า ภาวนาถึงพระเจ้าทุกวันเพราะเราได้รับพระพรจากพระเจ้ามากมาย
          5. เราสามารถแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ด้วยการช่วยเหลือท่าน ไม่ทำให้ท่านเสียใจ ดูแลเมื่อท่านป่วยไข้หรือเมื่อท่านเข้าสู่วัยชรา และเราควรกตัญญูต่อผู้ที่ทำสิ่งที่ดีให้กับเราด้วย

ข. กิจกรรมสรุปบทเรียน

   1. พูดคุยกับผู้เรียน ถึงผู้มีพระคุณในชีวิตแต่ละคน และให้ผู้เรียนยกตัวอย่างบุคคล ที่เป็นผู้มีพระคุณของเขาและคิดว่าจะตอบแทนบุคคลที่มีพระคุณท่านนั้นได้อย่างไรบ้าง
    2. พาผู้เรียนไปขอบคุณบุคคลที่มีส่วนช่วยเหลือผู้เรียน ไม่ว่าจะในโรงเรียนและในชุมชม เช่น พนักงานทำความสะอาด หรือเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัย

ค. การบ้าน
       ให้ผู้เรียนการเขียนบันทึกว่า ตลอด 1 สัปดาห์ ผู้เรียนได้ขอบคุณใครบ้างและในเรื่องอะไร

::: Download  บทเรียนที่ 13 ::

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์